สวนโมกข์นานาชาติ


ชุมชนได้ร่วมกันจัดสวัสดิการทางจิตวิญญาณโดยที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ขอบคุณสังคมไทยที่ยังมีที่ทางให้กับคนไทยและผู้สนใจทุกเชื้อชาติได้มีโอกาสเรียนรู้จิตใจของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยการหยุดคิด หยุดพูด เพื่อตามดูลมหายใจของตนเองทุกลมหายใจเข้าออก

ผมไปสวนโมกข์นานาชาติมา9วันตั้งแต่วันที่19-27เมษายน2550

พาลูก2คนไปด้วย คนโตขึ้นม.3 คนเล็กขึ้นป.6 สวนโมกข์นานาชาติจัดอบรมอานาปนสติภาวนาทุกวันที่1-10ทุกเดือนสำหรับชาวต่างประเทศ และวันที่19-27ทุกเดือนสำหรับคนไทย คอร์ทคนไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไปลงทะเบียนวันที่19ก่อน4โมงเย็นได้เลย เกณฑ์ที่ตั้งไว้คืออายุระหว่าง20-65ปีซึ่งลูก2คนตกเกณฑ์ แต่พี่เลี้ยงจัดอบรมอนุโลมให้สำหรับคนโต ส่วนคนเล็กให้ผมฝากไว้กับพระอาจารย์เมธี พระภิกษุที่เป็นพระพี่เลี้ยงดูแลการฝึกอบรม ซึ่งผมต้องขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์เมธีและพี่เลี้ยงคือคุณจินตนาที่ให้โอกาสลูก2คนได้เข้าร่วมอบรมไว้ณ ที่นี้ด้วย

นอกจากข้อปฏิบัติตามตารางการฝึกที่ให้ไว้แล้ว เรื่องสำคัญคือ อาหาร 2 มื้อ และงดพูดคุยกันตลอดการอบรม

เดือนเมษายนทุกปีจะมีคนเข้าอบรมค่อนข้างมาก ปีนี้ผู้จัดบอกว่ามีมากเป็นพิเศษจำนวนกว่า200คน มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ4เท่า เรา3คนผ่านการอบรมด้วยดี ตอนขากลับผมพาลูกไปชมสวนโมกข์ ไปดูที่พักของอาจารย์พุทธทาส ไปดูที่อาบน้ำซึ่งเป็นตุ่มใบหนึ่งกับขันอาบน้ำ ข้างๆเป็นห้องนอนซึ่งมีห้องส้วมอยู่ด้วยขนาดประมาณ 4เมตร*4เมตร โถงทางเดินซึ่งใช้เป็นที่ทำงานหนังสือยังเป็นพื้นดินอยู่เลย อาจารย์พุทธทาสบอกว่ากินอยู่อย่างต่ำ เมื่อเด็กๆไปเห็นก็เป็นจริงอย่างที่อาจารย์พูด สภาพเป็นอยู่ง่ายๆใกล้ชิดธรรมชาติ เน้นการฝึกฝนทางจิตคือแนวปฏิบัติของสวนโมกข์

แต่การเป็นอยู่อย่างต่ำก็ใช่ว่าจะต้องมักง่ายสกปรกรกรุงรัง ซึ่งดร.นิค(ผู้เข้าอบรมท่านหนึ่ง) เคยจินตนาการเอาไว้ และได้ออกมาเล่าให้เพื่อนๆฟังในวันสุดท้ายของการอบรม เขาประทับใจในความสะอาดสะอ้านแต่เรียบง่ายของสวนโมกข์

ผมเห็นว่าชุมชนได้ร่วมกันจัดสวัสดิการทางจิตวิญญาณโดยที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ แต่รัฐอาจให้การสนับสนุน เช่น ทราบว่าเทศบาลตำบลสะเดาจัดงบให้กับผู้สนใจเข้าร่วมอบรมทุกปี

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองก็ให้การสนับสนุน โดยจัดรถบริการทั้งไปและกลับโดยไม่ถือเป็นวันลา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นทั้งสวัสดิการพนักงานและเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่ามาก

ขอบคุณสังคมไทยที่ยังมีที่ทางให้กับคนไทยและผู้สนใจทุกเชื้อชาติได้มีโอกาสเรียนรู้จิตใจของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยการหยุดคิด หยุดพูด เพื่อตามดูลมหายใจของตนเองทุกลมหายใจเข้าออก ซึ่งมีทั้งลมหายใจสั้นและลมหายใจยาว

ตามดูและกำหนดลมหายใจให้ละเอียด รำงับ ซึ่งเป็นเคล็ดลับของธรรมชาติที่จะทำให้ร่างกายสงบรำงับขึ้นด้วย และเมื่อร่างกายสงบรำงับถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดปิติและความสุข

ตามดูปิติและความสุขทุกลมหายใจเข้าออก

ตามดูความสุขที่ปรุงแต่งจิตทุกลมหายใจเข้าออก

กำหนดความสุขที่ปรุงแต่งจิตให้รำงับลงเพื่อเข้าไปดูตัวจิตซึ่งมีสภาพต่างๆกันมากมายทุกลมหายใจเข้าออก

กำหนดหรือตามรู้จิตเกิดปราโมทย์ ตั้งมั่นและจางคายทุกลมหายใจเข้าออก

สุดท้ายคือตามดูความไม่เที่ยงของจิต ความบีบคั้นจากความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน และความเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งจะนำไปสู่อตัมมยตา(ถอนออกจากความเป็นตัวตน คืนกลับให้ธรรมชาติ)

ท่านอาจารย์พุทธทาสยืนยันว่าอานาปนสติตามลำดับดังกล่าวเป็นเคล็ดวิชาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

(ฉบับเดิม 16 ขั้นไม่ตรงกับที่ผมสรุป ต้องอ่านจากหนังสือของอาจารย์เอง ผมเอามาสังเคราะห์กับ 9 ตาของอาจารย์)

อย่างผมปัญญาน้อยไป4ครั้งก็ไม่คืบหน้า เขียนสรุปอย่างวิชาการ แต่ไม่ได้เขียนจากประจักษ์แจ้งหรือตามดูจนเห็นความเป็นไปของธรรมชาติตามที่ถอดมาเป็นข้อความเพื่อใช้อธิบาย "ธรรมชาติจริงๆ"  

พูดแบบนักวิทยาศาตร์คือ ได้เพียงเงาของความจริง

แต่เคล็ดวิชาลมหายใจปรุงแต่งร่างกายเพียงเรื่องเดียว ถ้าทำได้ก็ช่วยให้คนเราไม่หุนหันพลันแล่นจนทำเรื่องร้ายๆที่เมื่อทำไปแล้วต้องเสียใจหรือไม่อาจเสียใจได้อีก เช่นฆ่าผู้อื่นหรือฆ่าตัวตายด้วยความโมโห

เคล็ดวิชานี้ควรเป็นสิกขาหรือแบบเรียนภาคปฏิบัติของเด็กนักเรียนทุกคนทุกๆปี ที่เพิ่มการเรียนรู้ความสัมพันธ์ของ(กาย)ลมกับกายเนื้อ และความสัมพันธ์ของกายกับจิต จนสามารถควบคุมจิตได้ในระดับที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือการเข้าใจธรรมชาติของจิตที่เป็นอนิจจัง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา

ความพอเพียงแห่งจิตในระดับที่สูงขึ้นจึงจะตามทันความเจริญทางวัตถุที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้จิตหลงไหลติดยึดเป็นทาสผ่านช่องทางโฆษณาเชิงพานิช จึงจะสามารถเดินไปตามแนวทางปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง

ถ้าไม่ลดปัจจัยที่ทำให้จิตหลงยึด และเพิ่มปัจจัยที่ทำให้จิตควบคุมให้วัตถุอยู่ในอำนาจได้จนกระทั่งเป็นอิสระจากวัตถุโดยสิ้นเชิง

วิถีโลกก็ต้องดำเนินไปตามกฏอิทัปปัจจยตาคือ

เพราะสิ่งนี้นี้มี สิ่งนี้นี้จึงมีขึ้น

หมายเลขบันทึก: 94538เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

แนวทางของวลัยลักษณ์ดีนะครับ  ผมจะไปปรึกษาหน่วยงานของผมบ้าง    ตัวเองก็หวังว่า (ตั้งใจว่า) จะไปฝึกปฏิบัติที่นั่นอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต

"ถ้าไม่ลดปัจจัยที่ทำให้จิตหลงยึด และเพิ่มปัจจัยที่ทำให้จิตควบคุมให้วัตถุอยู่ในอำนาจได้จนกระทั่งเป็นอิสระจากวัตถุโดยสิ้นเชิง วิถีโลกก็ต้องดำเนินไปตามกฏอิทัปปัจจยตาคือ เพราะสิ่งนี้นี้มี สิ่งนี้นี้จึงมีขึ้น"

มีอยู่ 2-3 คำที่ผมเลือกจำ  เมื่อครั้งไปอ่านป้ายที่วัดแห่งหนึ่งที่หาดใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว 

"เป็นอิสระ    เสียสละ  ไม่เห็นแก่ตัว" 

คำแรกนั้น เป็นคำคำเดียวกันเลยครับ

เรียน อ.ภีม

         ผมยังไม่เคยไปฝึกที่สวนโมกข์  แต่รู้ได้ว่า อ.ไปแล้วมีความสุข  ผมเคยอบรม ที่โรงเรียนผู้นำ โดยมูลนิธิ พลตรี จำลอง  ศรีเมือง  ในความเป็นอยู่ตามกฎที่นั้นแม้นจะไม่ลึกเหมือนที่ อ.ไปฝึกแต่ก็เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตว่าจะค้นหา ปฏิบัติตนให้มีความสุขจากความเป็นจริงของธรรมชาติได้อย่างไร   จิตและร่างกาย  อาหารการกินกินที่พอเพียง กินแบบฉลาด  ความเป็นอยู่ที่พอเพียง  ระเบียบวินัยที่ต้องฝึกกับตนเอง  อะไรประมาณนั้นครับ

อยากไปบ้างจังเลยครับ

สวัสดีครับ อ.ภีม
    อ่านแล้วคิดถึงบ้าน คิดถึงสวนโมกข์ครับ ท่านเมธีนั้นเล่าก็บวชร่วมรุ่นกับผมนี่แหละ เมื่อปี 31 ครับ  รุ่นนั้นผมได้รับฉันทานุมัติให้เป็นประธานรุ่น ก็ได้ช่วยกันทำอะไรกันไว้เยอะเหมือนกัน  รวมทั้งการขนดินปรับพื้นที่สร้างสวนโมกข์นานาชาติ และออกหนังสือรุ่น ชื่อ ความแข็งแกร่งของชีวิต เป็นต้น รุ่นเดียวที่ยังอยู่นอกจาก ท่านเมธี ยังมี ท่านสำราญ และ ท่านจ้อย อีกด้วยครับ
     ผมมีบันทึกเรื่องราวอ้างอิงถึงสวนโมกข์อยู่บ้างครับ  ไปดูที่ หน้านี้ ก็คงเจอครับ  แต่กระจัดกระจายอยู่ไม่เป็นที่เป็นทางนะครับ
    ด้วยความระลึกถึงครับ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ของพี่ภีมมากคะ เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย อยากร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่ภีมเพิ่มเติมคะ เนื่องจากเป็นคนขี้สงสัย..."ทำไมเราต้องเรียนรู้จิตของเราคะ"

จิตของเรา ขีดเส้นใต้เป็นคำที่ใช้กันเพื่อความเข้าใจ อาจารย์พุทธทาสเรียกว่าภาษาคน

ในตำราบอกว่าจิตมิได้มีอยู่หรือไม่มีอยู่ แต่เพราะเกิดผัสสะคือการกระทบของสวิสต์6ตัวคือตาหูจมูกลิ้นกายใจกับแดนรับรู้ภายนอกที่สอดคล้องกับแดนรับรู้ภายใน6ตัวนี้กับวิญญาณในแต่ละแดนรับรู้ เช่นผัสสะทางตาคือตากับวัตถุและจักขุวิญญาณพบกัน

จากผัสสะทำให้เกิดชีวิตที่ประกอบด้วยขันธ์5ขึ้นเต็มตัวคือรูปเวทนาสัญญาสังขารและวิญญาณหรือกายกับจิต 4 ขันธ์หลังคือองค์ประกอบของจิตซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกนี้กำเนิดขึ้นมา และเรื่องวุ่นๆที่มีอยู่ในโลกก็มาจากผัสสะโง่หรือจิตโง่นั่นเอง

การเรียนรู้เรื่องจิตจึงมีความสำคัญ

เจ้าชายสิทธัตถะเรียนรู้เรื่องจิตจากbest practiceในสมัยนั้นในสำนักอาฬารดาบสและอุทกดาบส จนสำเร็จ แต่ความทุกข์ยังไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง      ทรงทราบว่ากายเกี่ยวเนื่องกับจิตซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานมีมาก่อน จึงทรงทรมานกายอย่างเต็มที่เพื่อให้จิตอ่อนกำลัง แต่ก็ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงกลับมาใช้ทางสายกลาง ตามดูจิตทุกลมหายใจเข้าออก(อานาปานสติ)จนประสบผลสำเร็จ หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง

ทรงรำพึงว่า "นี่แน่ะนายช่างผู้ปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว ..."

อ.พินิจครับ สวนโมกข์นานาชาติตอนนี้ขยายไปมาก  ทีเดียว   มีศาลาทรายอนุสรณ์100ปรท่านอาจารย์พุทธทาส มีโครงการอาศรมธรรมะมาตาบูชาพระคุณแม่ของท่านอาจารย์เพื่อการฝึกฝนอย่างจริงจังของผู้หญิงด้วย ขอบคุณอาจารย์ที่เป็นกำลังในการสร้างสวนโมกข์นานาชาติให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส

ถ้าคุณนนท์สามารถนำเข้าไปในหน่วยงานของคุณนนท์ได้ก็จะเป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณคุณนนท์ ที่เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ และมีฉันทะที่จะเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งๆขึ้นครับ

พี่ชาญวิทย์ครับ ผมทราบว่าหลักสูตรผู้นำของพลตรีจำลองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้นำชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่ง

ผมเห็นด้วยว่าการทำงานพัฒนาชุมชนมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นครับ

ขอเชียร์และอวยพรให้คุณman in flame มีโอกาสเข้าอบรมที่สวนโมกข์นานาชาติโดยไวครับ

"กระบวนการเรียนรู้" ของเจ้าชายสิทธัตถะ น่าสนใจมากค่ะ  คิดถึงตอนสมัยเรียนวิชา "ศีลธรรม" ซึ่งสรุปการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแบบรวบรัด  ยังสงสัยมาตลอดว่า ทรงผ่านการเรียนรู้อะไรที่นำไปสู่การตรัสรู้ได้ (ตำราเขียนไม่ถ่องแท้).... เหตุผลของการทรงทำทุกรกิริยา   "ทรงทรมานกายอย่างเต็มที่เพื่อให้จิตอ่อนกำลัง"  เป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากอาจารย์ภีมค่ะ

การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตนี่เองกระมังคะที่เป็นเรื่องสำคัญ  และเรื่องนี้เป็นองค์ความรู้ชั้นสูงทีเดียว ที่ไม่คิดว่าจะมีทฤษฎีตะวันตกใดๆอธิบายได้ลึกซึ้ง  

อ่านหนังสือ "อานาปนสติ"  16 ขั้น แล้วชื่นชม  ได้ข้อคิดความเข้าใจมาก  แต่ปฏิบัติเองยังไม่ถึงไหน  จะพยายามค่ะ

สวัสดีค่ะ ได้อ่านข้อความแล้วคิดถึงสวนโมกข์มาก

เคยไปวิปัสนาที่ฝั่งนานาชาติ เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งจะ เรียนจบใหม่ ๆ เลยมีเวลา แต่ก็ไม่ได้กลับไปที่ฝั่งนั้นอีกเลย ถ้าจะไปก็ไปอีกฝั่งหนึ่งค่ะได้แค่ไปเยี่ยมเยียน ด้วยการงานบังคับ ไม่สามารถหาเวลาได้เลย ตอนนี้พยายามเก็บวันหยุดอยู่ค่ะ   แต่แปลกน่ะค่ะขนาดเวลาผ่านมานานขนาดนี้แต่ก็ยังคิดถึงสวนโมกข์ตลอด คิดถึงความสงบ และธรรมที่ใกล้กับธรรมชาติที่นั่น เป็นจุดเริ่มต้นอะไรหลาย ๆ อย่างของดิฉัน ทำให้อยากพัฒนาตัวเองไปในด้านที่ดีมากขึ้น และสวนโมกข์ก็อยู่ในใจตลอดเลยค่ะ หากมีโอกาสจะกลับไปฝึกจิตที่นั่นอีกค่ะ

ไปมาแล้วดีมากๆ อยากไปอีก...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท