(telling story) OVERHEAT เครื่องร้อนจัด


เสีย "ค่าสบาย" เป็นแสน

หุๆๆ  ผมเอง ผมเป็นใคร รู้ๆ ก็กันอยู่ ?

สาเหตุของเครื่องยนต์ร้อนเกินปกติ
         ตั้งแต่จำความได้ผมเห็นรถที่เครื่องยนต์ชำรุดเพราะร้อนจัดมามากมายถ้านับอาจจะหลายร้อยหรือไม่ก็เกินหนึ่งพันคัน คำว่าร้อนจัดอาจจะชวนให้เข้าใจผิด เพราะความหมายยังไม่ถูกต้องนัก กรณีนี้ภาษาอังกฤษจะสั้นและเข้าใจได้ง่ายกว่า คือ OVERHEATED หมายถึงร้อนเกินระดับใช้งานปกตินั่นเองครับ มีสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น พัดลมไฟฟ้าไม่ทำงาน คลัทช์ความหนืดชองพัดลมเสื่อมสภาพ สายพานขาด ท่อน้ำรั่วหรือแตก ฯลฯ

         ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม สาเหตุบั้นปลายก็คือเครื่องยนต์ถูกใช้งานโดยขาดของเหลว (น้ำ) ช่วยระบายความร้อน เพราะตราบใดที่ยังมีน้ำหล่อเย็น เครื่องยนต์ก็ยังไม่ OVERHEATED จนถึงชั้นชำรุด เช่น พัดลมไฟฟ้าเสีย ความร้อนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อน จนเกิดจุดเดือดของน้ำในระบบ พอน้ำเดือดก็จะกลายเป็นไอทะลักออกมา เมื่อน้ำในระบบขาดไป เครื่องยนต์จึงจะชำรุด อาการประจำส่วนใหญ่ก็คือฝาสูบโก่ง เติมน้ำเข้าไปใหม่แล้วรั่ว บางทีอาจมีรายการปะเก็น (GASKET) ชำรุดพ่วงด้วย
          ทำไมฝาสูบของรถสมัยนี้ซึ่งทำด้วยอลูมิเนียมจึงโก่ง เมื่อเครื่องยนต์ถูกใช้งาน โดยมีน้ำหล่อเย็นไม่เพียงพอ เพราะฝาสูบรับความร้อนจากการเผาไหม้ในกระบอกสูบ จนเนื้ออลูมิเนียมร้อนถึงจุดที่อ่อนตัวแบบไม่คืบกลับครับ ตรงไหนถูกดันหรือตัดมากก็งอมาก พอเครื่องเย็นก็อยู่ในสภาพนั้น แรงบีบระหว่างฝาสูบและเรือนหรือเสื้อเครื่องยนต์ซึ่งมีปะเก็นฝาสูบคั่นอยู่ จึงลดลงมากในบางจุด ไม่สามารถ "กันน้ำ" ได้อีกต่อไป
         ความเสียหายทำนองนี้ค่อนข้างหนักครับ เพราะต้องรื้อฝาสูบออกมา "กัด" ให้เรียบ ช่างชอบเรียกว่า "ไส" ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะถ้าไสจะได้ผิวเป็นเส้นและไม่เรียบพอ ถ้ามีเนื้อฝาสูบเหลือให้ไสก็ยังโชคดีครับ แต่รถราคาสูงยุคนี้ เครื่องยนต์ถูกออกแบบให้มีห้องเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพสูง คือประหยัดเชื้อเพลิง ให้กำลังสูง สารพิษในไอเสียน้อย ห้องเผาไหม้จึงมีรูปทรงเฉพาะ คลาดเคลื่อนไม่ได้ คือเอาเนื้อมันออกไม่ได้นั่นเองครับ ต้องเปลี่ยนฝาสูบอันใหม่เท่านั้น หลายรุ่นราคาเกินหนึ่งแสนบาทนะครับ
         เพราะฉะนั้นจะถือเป็นเรื่องเล็กหรือไม่สนใจไม่ได้ ถึงถือว่ามีเงิน ก็อาจจะได้คำตอบจากตัวแทนจำหน่ายว่า ไม่ได้เตรียมฝาสูบรุ่นนี้ไว้ในคลังอะไหล่เลย ต้องสั่งใหม่จากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ครับ วิธีป้องกันความเสียหายและเสียเงินระดับนี้ก็คือ หมั่นชำเลืองดูมาตรวัดความร้อนเป็นระยะครับ ใหม่ๆ อาจจะรู้สึกว่าใครจะทำไหว แต่ถ้ารู้ความสำคัญจนเกิดสำนึกและฝึกจนชินในเวลาไม่กี่วันแล้ว ก็จะติดเป็นนิสัยที่ดีตลอดไป โดยเฉพาะเมื่อขับที่ความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ต้องหมั่นมองให้ถี่หน่อยครับ เพราะถ้าน้ำแห้งสักไม่กี่นาทีก็พังแล้ว

      ปัญหาที่ผมพบอยู่ไม่น้อย คือพวกที่รู้แล้วว่าเครื่องยนต์ร้อนจัด แต่ "ไม่กลัว" หรือไม่ก็ขี้เกียจจอด หรือไม่ก็ประมาทเข้าข้างตัวเองว่า อีกไม่เท่าไรก็ถึงที่หมายแล้ว ผลเสียหายที่ตามมานั้นบางทีเกินร้อยเท่าครับ แทนที่จะโทรศัพท์ให้ศูนย์บริการส่

ช่างมาซ่อม หรือลากไปเข้าอู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับหนึ่งพันถึงสามพันบาท กลับต้องเสีย "ค่าสบาย" เป็นแสน

          วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือรีบหยุดรถและดับเครื่องยนต์ทันที ห้ามรองน้ำไปราดบนเครื่องยนต์เด็ดขาด ตามช่างจากศูนย์บริการหรืออู่ประจำที่ไว้ใจได้มาจัดการและขึ้นแท็กซี่ไปทำธุระแทนครับ ห้ามใช้ช่างจรที่มันชอบโผล่มาหาเราได้อย่างรวดเร็วน่าทึ่งเหมือนไม่ใช่คนเด็ดขาดครับ พวกนี้มักต้มมนุษย์ทั้งนั้น ถ้าการจราจรไม่ติดขัด มีประสบการณ์และความกล้าพอ ก็สามารถขับต่อได้ครับ
         ถ้าพักจนความร้อนลดลง ตราบใดที่ "เข็มความร้อน" ชี้ยังไม่สุดหรือยังไม่ถึงขีดแดงหรือแถบแดง เครื่องยนต์จะไม่ชำรุด ใช้วิธีพักดับเครื่องยนต์เป็นระยะได้ ถ้ามีปัญหาความร้อนสูงเพราะพัดลมไม่ทำงาน ตรวจน้ำให้เพียงพอแล้วขับให้เร็วพอในเกียร์สูง เช่น เกิน 50 กม./ชม. ในเกียร์ 4 หรือ 5 ก็จะขับต่อเนื่องได้ครับ เพราะอาศัยลมปะทะผ่านหม้อน้ำก็เพียงพอแล้ว เมื่อใดรถติดค่อยใช้วิธีพักดับเครื่องยนต์เป็นระยะ
          จำไว้เป็นหลักง่ายๆ ครับว่า ถ้าไม่ฝืนขับทั้งๆ ที่เครื่องยนต์ร้อนเกินเกณฑ์ปกติ เครื่องยนต์จะไม่มีวันชำรุด และเราก็จะไม่มีวันต้องเสียค่าซ่อมมากมายด้วย
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 945เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2005 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท