BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๒๒ : ตัวแทนทางศีลธรรม (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

สำนวนไทยว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา ... นั่นคือ แม้สำนวนนี้จะบ่งบอกให้คนเรามีความมุ่งมั่นพยายาม... แต่นัยตรงกันข้าม ก็บ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าถือเอาสำนวนนี้ก็อาจไปสู่วิธีการที่เป็นบาปได้ง่าย ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไว้ในครั้งก่อน ดู ปรัชญามงคลสูตร ๒๑ : ตัวแทนทางศีลธรรม (ต่อ) ...

ส่วนบางคนที่ขาดความมุ่งมั่นหรือเกิดความท้อถอย ไม่อาจยอมรับต่อบางสิ่งบางอย่างได้ ก็อาจเข้าหาสุราหรือยาเสพติตอื่นๆ เพื่อหลีกหนีโลกแห่งความเป็นจริงและเข้าไปสู่โลกแห่งความเพ้อฝัน... ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวยหรือคลายความขึ้งเครียดต่างๆ ลงได้บ้าง... แต่ถ้าหมกหมุ่นหรือหลงใหลในสุรายาเสพติดเหล่านั้นแล้วก็อาจกลายเป็นปัญหาใหม่ต่อตนเองและคนอื่นๆ ได้ .... ดังนั้น มงคลข้อต่อมาในคาถานี้จึงบอกว่า มัชชะปานา จะ สัญญะโม และการสำรวมจากการเดิมน้ำเมา ...

คำว่า มัชชะ แปลว่า ของเมา ซึ่งในที่นี้หมายถึงสุราหรือเหล้าเท่านั้น... แต่ความหมายโดยอ้อมจะรวมความถึงของเมาทุกชนิด ซึ่งได้แก่ยาเสพติต นั่นเอง ...

ด้วยเหตุว่า สุราหรือของเมาอื่นๆ มิใช่ว่าจะมีแต่โทษอย่างสิ้นเชิง ถ้ารู้จักในการใช้ก็อาจมีคุณอยู่บ้าง (ฟังว่า ยาเสพติดบางอย่าง สามารถใช้ได้ตามแพทย์สั่ง) ดังนั้น ในพระคาถานี้จึงใช้คำว่า สัญญะโม หมายถึง การสำรวม ... นั่นคือ รู้จักระวัง อย่าพลั้งเผลอ ดื่มหรือเสพจนเกินขนาด ... ประมาณนี้

ในคัมภีร์ได้วิจารณ์ประเด็นว่า ทำไมการละเมิดศีล ๔ ข้อเบื้องต้นจึงจัดเป็นกรรมกิเลสหรือเป็นบาป แต่ทำไมการละเมิดศีลข้อ ๕ จึงไม่จัดเป็นกรรมกิเลสหรือบาปด้วย ... ซึ่งอาจสรุปให้ย่อที่สุดได้ว่า กรรมกิเลสเบื้องต้นจัดเป็นบาปจะตัองงดเว้นอย่างเดียว... ส่วนการดื่มสุราหรือเสพของเมา ไม่จัดเป็นบาป (เพราะอาจมีคุณอยู่บ้าง เป็นต้น) แต่จัดเป็น อบายมุข กล่าวคือ เป็นแนวทางแห่งความเสื่อม...  

การดื่มสุราหรือเสพของเมาต่างๆ จัดเป็นอบายมุข มีโทษ ๖ ประการ กล่าวคือ

  •  ทำให้เสียทรัพย์
  • ก่อการทะเลาะวิวาท
  • บ่อเกิดแห่งโรคต่างๆ
  • เสื่อมเสียเกียรติหรือชื่อเสียง
  • ไม่รู้จักอายหรือหน้าด้าน
  • ทอนกำลังสติปัญญา

ดังนั้น ใครก็ตามเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้จะมีการดื่มเหล้าหรือเสพของเมาอื่นๆ บ้าง... แต่รู้จักยับยั้ง ไม่หลงใหลมัวเมาในสิ่งนั้นๆ ที่เรียกันว่า รู้จักสำรวมแล้ว... ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลานหรือเยาวชนอื่นๆ ได้...

นั่นคือ ผู้สำรวมในการดื่มน้ำเมา จัดเป็น ตัวแทนทางศีลธรรม ได้โดยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 94433เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอน้อมรับ คำชี้แนะจากพระคุณเจ้าครับ .. อ่านแล้วได้ประโยชน์มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท