เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย (15.1)


ผู้ป่วยนอก ซึ่งไม่มีอยู่ในโรงพยาบาลแทมเวอร์ธ เพราะเขาให้ผู้ป่วยนอกไปรักษาในคลินิก ถ้าจะมาที่โรงพยาบาลต้องเป็นฉุกเฉินเท่านั้น แพทย์ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจึงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่จะดูแลคนไข้ทุติยภูมิ ไม่ต้องมาออกตรวจผู้ป่วยนอกมากๆ เป็นการรับการส่งตัวมาจากคลินิก
           โรงพยาบาลศูนย์แทมเวอร์ธ (Tamworth Base Hospital & Health  services) เป็น Rural referral Hospital เป็นโรงพยาบาลขนาด 270 เตียง เหมือนโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลจังหวัดบ้านเรา ที่มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลและมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ในการศึกษาฝึกอบรมบุคลากรทางด้านสุขภาพในระดับหลังปริญญาโดยเฉพาะการผลิตแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือGP เพื่อรองรับงานในเขตพื้นที่ มีการบริหารจัดการขึ้นกับผู้บริหารสูงสุดของเขตแล้วแบ่งการบริหารออกเป็นผู้จัดการส่วนต่างๆเช่นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาอบรม ผู้อำนวยการด้านบริการการแพทย์ ผู้อำนวยการทั่วไป ผู้อำนวยการด้านการพยาบาล เป็นต้น  ส่วนของศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลก็คล้ายๆกับศูนย์แพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่โรงพยาบาลพุทธชินราช อุตรดิตถ์ ตาก แพร่ พิจิตร มีห้องเรียนสำหรับสาขาวิชาชีพทางด้านสุขภาพโดยมีหุ่นจำลองที่สามารถตรวจหรือวัดหรือทำได้เหมือนกับคนจริง มีห้องเรียนแบบทางไกลหรือTelemedicine มีห้องสมุด ห้องเรียน  ห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องเรียนกลุ่มย่อย เป็นต้น ในส่วนของการบริการ

            ส่วนที่เป็นศูนย์HNERTUของหมอจอห์นก็อยู่ในส่วนที่เป็นอาคารทำการเดิมของโรงพยาบาลแทมเวอร์ธ ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ในส่วนของอาคารโรงพยาบาลที่เห็นอันหนึ่งก็คือการเก็บและติดภาพประวัติศาสตร์ของโรงพยาบาล พยาบาล ผู้บริหารไว้ที่ผนังริมทางเดิน เก็บชุดพยาบาลเก่าๆไว้เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ในโรงพยาบาลแต่จัดได้เข้ากับอาคาร ดูแล้วไม่เกะกะ ได้เห็นรูปของคุณเดวิด บริ๊กส์ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารเขตด้วย

            โรงพยาบาลแทมเวอร์ธได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพหลายอย่าง หลายรางวัล ได้รับการรับรองจากAustralian Council on Healthcare Standard ใบรับรองมีอายุ 4 ปี การจัดอาคารสถานที่ก็แบ่งแผนกคล้ายๆเมืองไทยมีส่วนที่เป็นบริหารจัดการ เวชระเบียน ห้องให้การรักษา หอผู้ป่วยทั่วไป  หอฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย บริเวณใกล้ๆกันจะมีสระว่ายน้ำ (Hydrotherapy pool) เป็นสระน้ำอุ่น เพื่อให้คนที่มีความเจ็บป่วยเช่นภูมิแพ้หรือโรคข้อมาว่ายออกกำลังกายเป็นธาราบำบัดแต่ก็เป็นสระสาธารณะสำหรับการออกกำลังกายทั่วไปด้วย ส่วนของห้องฉุกเฉินมีจุดที่เรียกว่าพยาบาลคัดกรอง(Triage Nurse) คอยคัดกรองว่าฉุกเฉินหรือไม่ ถ้าฉุกเฉินมากน้อยก็เป็นตัวบอกเวลาว่าจะได้พบแพทย์เพื่อการรักษาเร็วมากแค่ไหน ในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในออสเตรเลียจะมีความสำคัญมากโดยจะต้องมีไกด์ไลน์ในการทำงานอย่างชัดเจน มีการศึกษาที่เรียกว่าRural Critical Care Educationในลักษณะของสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Approach) จะมีการแบ่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาโรงพยาบาลเป็น 5 ระดับคือต้องดูแลโดยแพทย์ภายในเวลาเท่าไหร่คือทันที,10 นาที,30 นาที,1 ชั่วโมง, 2 ชั่วโมง ถ้าดูตามแนวทางปฏิบัติแล้วไม่ฉุกเฉินก็จะนัดมาพบแพทย์ตามเวลาทำงาน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากบ้านเราที่เมื่อไหร่ที่มาโรงพยาบาลถ้าให้กลับโดยไม่ให้การรักษาจะถือเป็นเรื่องใหญ่ มีส่วนรังสีวิทยา ศูนย์รับผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล หน่วยจ่ายกลาง หอผู้ป่วยจะมีความเป็นส่วนตัวสูงเป็นแบบห้องสองเตียงและห้องสี่เตียง จะไม่มีแบบห้องสามัญ 12 เตียงเหมือนบ้านเรา คนไข้ในหอผู้ป่วยก็จะไม่มาก จะมีเฉพาะผู้ป่วยมี่ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่สามารถดูแลได้ต้องอาศัยการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง  มีส่วนที่เป็นกิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด สังคมสงเคราะห์ การดูแลผู้สูงอายุ

            โรงพยาบาลนี้อยู่บนเนินเขา เป็นทางขึ้นๆลงๆสูงบ้างต่ำบ้าง โดยมีการออกแบบอาคารและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากันได้กับพื้นที่ บรรยากาศดี ทิวทัศน์สวยงาม นอกจากอาคารบริการแล้ว ในโรงพยาบาลยังป็นที่ตั้งของสำนักงานกาชาด บริการสุขภาพชุมชน บริเวณอาคารสถานที่สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น  หลายท่านอาจสงสัยว่ามีอยู่จุดหนึ่งที่ในโรงพยาบาลของไทยจะสำคัญเพราะจะมีความพลุกพล่านแออัดมากคือผู้ป่วยนอก ซึ่งไม่มีอยู่ในโรงพยาบาลแทมเวอร์ธ เพราะเขาให้ผู้ป่วยนอกไปรักษาในคลินิก ถ้าจะมาที่โรงพยาบาลต้องเป็นฉุกเฉินเท่านั้น  แพทย์ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจึงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่จะดูแลคนไข้ทุติยภูมิ ไม่ต้องมาออกตรวจผู้ป่วยนอกมากๆ เป็นการรับการส่งตัวมาจากคลินิก แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลจะได้รับเงินเดือนจากโรงพยาบาล ส่วนแพทย์ที่อยู่คลินิกจะได้รับเงินจากการตรวจผู้ป่วยนอกผ่านทางระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล เมื่อไม่มีแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลจึงดูสงบ ไม่พลุกพล่านไม่แออัด แพทย์ที่จะเปิดคลินิกจะเป็นแพทย์เฉพาะทางเวชปฏิบัติทั่วไปหรือGP ส่วนแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะอยู่ในโรงพยาบาล แต่แพทย์ทั้งสองกลุ่มก็มีความพึงพอใจในงานโดยทำงานไม่มากนักแต่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ การมีคลินิกมาช่วยดูแลผู้ป่วยนอกให้ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจ้างแพทย์เหมือนบ้านเราที่เกือบ 60 % ขอเงินประกันสุขภาพต่อหัวประชากรเป็นค่าจ้างเจ้าหน้าที่

            เพื่อให้การดูงานบริการสุขภาพของเมืองแทมเวอร์ธสมบูรณ์ทีมงานจึงได้จัดให้เราไปดูคลินิกของGPด้วย เขาเรียกคลินิกว่า Surgery โดยไปที่คลินิกของหมอโบ วง ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ที่รับนักเรียนแพทย์และแพทย์ฝึกหัดจีพีไปเรียนที่คลินิกด้วย ซึ่งผมได้เล่าไว้ในตอนที่ 10-11 แล้ว
หมายเลขบันทึก: 9412เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท