บทเรียนจากค่ายอาสา


การทำงานสมัยนักศึกษานั้นจะไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น นักศึกษาทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีรายได้ให้ ไม่มีสองขั้น มีแต่การขัดกันทางความคิด ไม่มีการขัดผลประโยชน์ ทำให้เราทำงานด้วยกันได้

ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเหมือนโลกกว้างใหญ่สำหรับนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยม ในมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมต่างๆให้เลือกเข้าร่วมอยู่มากมายตามความสมัครใจนอกเหนือจากกิจกรรมการเรียนตามปกติซึ่งเป็นหน้าที่หลัก  ผมเข้าเรียนแพทย์เชียงใหม่เมื่อปี 2530 ถือเป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 30 ตอนอยู่ปี 1 ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในมหาวิทยาลัยอย่างมากอาทิชมรมโรตาแรคส์ ชมรมรักบี้-ว่ายน้ำ ทำกิจกรรมวันมหิดล แต่ที่ชอบเป็นชีวิตจิตใจเลยคือการออกค่ายอาสาพัฒนา ที่ตลอด 6 ปี ผมออกค่ายอาสาพัฒนาถึง 11 ครั้ง

                ค่ายอาสาพัฒนาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอยู่หลายชมรมทั้งของมหาวิทยาลัยเองและของคณะต่างๆ ผมเคยไปออกค่ายอาสากลางของสโมสรนักศึกษา มช. ออกค่ายคณะศึกษาศาสตร์ ค่ายอาสาพัฒนาของนักศึกษา 5 คณะสวนดอก(ปัจจุบันมีมากกว่า 5 คณะ) ค่ายอาสาของแต่ละคณะก็จะมีความแตกต่างกันไปบ้างโดยจะเน้นในส่วนที่คณะหรือวิชาชีพของตนเองเกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากการสร้างสิ่งก่อสร้างให้แก่หมู่บ้าน ซึ่งหลายครั้งเราชาวค่ายที่ออกค่ายบ่อยๆจะเริ่มมีความคิดเปลี่ยนไปจากการไปสร้างอะไรให้ชาวบ้านไปสู่การเรียนรู้อะไรจากชาวบ้าน แต่คนที่เพิ่มออกค่ายครั้งแรกๆจะสนุกและภูมิใจกับการไปสร้างส้วม สร้างประปาหมู่บ้าน ยุ้งข้าว อาคารเรียนให้ชาวบ้าน และเราก็พบว่าหลายครั้งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นอนุสรณ์สถานของชาวค่ายที่ชาวบ้านไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์จริง  อาสาคณะศึกษาก็เน้นการสร้างอาคารเรียนและการเรียนการสอนของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล อาสากลางของมช.จะเน้นการเรียนรู้วิถีชาวบ้าน การขบคิด ถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต ปัญหาสังคม ส่วนอาสาของ 5 คณะสวนดอกก็เน้นไปทางด้านสุขภาพอนามัย

                ค่ายอาสา พอชหรือชมรมพัฒนาอนามัยและชนบท เป็นค่ายอาสาของนักศึกษา 5 คณะสวนดอก ที่สังกัดโดยตรงกับคณะแพทยศาสตร์  ถือกำเนิดตั้งแต่อาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นนักศึกษาแพทย์ (อาจารย์เป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 4 และเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนแรก  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดทีหลังคณะแพทย์เชียงใหม่ 7 ปี) ประมาณ 2507-2508 ขณะอาจารย์เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 ได้จัดกิจกรรมออกค่ายอาสาเป็นรุ่นแรก และก็ได้ขยายวงเป็นที่รวมการทำกิจกรรมเพื่อชนบทของนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพจนถึงปัจจุบัน

                ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับค่ายอาสา พอช. ตั้งแต่ปี 1 โดยเป็นชาวค่ายที่อ.แม่แจ่มแล้วเกิดความประทับใจในทีมงานและกิจกรรมของชมรม ตอนอยุ่ปี 2 ก็เลยได้เข้าร่วมเป็นทีมงานค่ายเต็มตัวและขึ้นปี 3 เมื่อ 2532 ก็ได้รับเลือกเป็นประธานชมรม พอช. (คุณหมอขจร วินัยพานิช ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิชัย จ.อุตรดิตถ์ ชอบแซวเล่นว่า พอช. แปลว่า พวกไอ้เชฐ) ตอนอยู่ชั้นปี 2 มีพี่ดิเรก(ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางคล้า ฉะเชิงเทรา) เป็นประธาน แต่ผมก็ได้ลงไปร่วมทีมด้วย(ปกติปี 2 จะเรียนหนัก มักไม่ค่อยได้รับผิดชอบกิจกรรมชมรมของคณะ) ได้ฝึกการทำโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง พอมาเป็นประธานเองในปีต่อมาก็เลยรู้ช่องทางดี ไม่ต้องเริ่มใหม่  ค่ายพอช.สมัยนั้นจะรับทีมงานและชาวค่ายจาก 5 คณะฝั่งสวนดอก(ฝั่งคณะแพทย์) ที่มีคณะแพทย์ เภสัช ทันตะ พยาบาล เทคนิคการแพทย์

                การทำค่าย พอช.ในปีที่ผมเป็นประธานนั้น มีข้อดีคือเรามีทีมงานที่ผนึกกำลังกันแน่นมากทั้งในส่วนเพื่อนร่วมรุ่นคณะแพทย์ด้วยกันและน้องๆจากคณะอื่นๆ(ทีมงานที่ทำค่ายของคณะแพทย์จะเป็นปี 3 ซึ่งเป็นปีที่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมชมรมต่างๆของคณะ ส่วนคณะอื่นๆจะเป็นปี1-2 ซึ่งเป็นรุ่นน้อง) ปีนั้นเรามีการออกค่ายทั้งหมด 5 ครั้ง(ครั้งละ 5-8 วัน) ทำให้เราสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านได้ครบทั้งปี ออกค่ายที่บ้านแม่ลายเตียนอาง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ การเปิดรับสมัครชาวค่ายแต่ละครั้งจะมีนักศึกษาแย่งกันสมัครจำนวนมากเป็น 2-3 เท่าของจำนวนที่รับได้และรับเฉพาะกลุ่ม 5 คณะสวนดอก เวลารับสมัคร 12.10 น. ปรากฎว่า 11.30 น. นักศึกษาก็จะมาเข้าแถวสมัครกันเต็มเหยียดแล้ว หลายค่ายต้องขยายจำนวนคน จากรับ 60 คนเป็น 80 คน หรือจาก 80 คนเป็น 120 คน การขยายจำนวนแบบนี้จะส่งผลต่อการบริหารจัดการค่ายเพราะงบประมาณไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ในการออกค่ายส่วนใหญ่เราจึงไปจำกัดประเภทอาหารการกินเพื่อให้ได้จำนวนเพียงพอกับคนที่เพิ่มขึ้น โปรตีนเกษตรจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาทดแทนอาหารประเภทหมูหรือเนื้อ

                ตอนที่เราคัดเลือกหมู่บ้านว่าจะออกค่ายที่ไหนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม เราจะกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกหมู่บ้านไว้ก่อนแล้วหาข้อมูลเบื้องต้นจากแหล่งต่างๆ  นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันเพื่อคัดเลือกหมู่บ้านจำนวนหนึ่งประมาณ 10 หมู่บ้านไว้สำหรับการออกสำรวจหมู่บ้านจริงว่าข้อมูลจากกระดาษกับของจริงไปด้วยกันไหมและเหมาะจะออกค่ายอาสาจริงไหม ช่วงของการถกเถียงเพื่อเลือกหมู่บ้านจะทำกันอย่างจริงจัง เรียกว่าเถียงกันเอาเป็นเอาตายตามเหตุผลที่แต่ละคนมี พอปิดประชุมก็จบออกไปกินข้าวด้วยกันต่อได้ ไม่โกรธกัน การทำงานสมัยนักศึกษานั้นจะไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น นักศึกษาทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีรายได้ให้ ไม่มีสองขั้น มีแต่การขัดกันทางความคิด ไม่มีการขัดผลประโยชน์ ทำให้เราทำงานด้วยกันได้  อาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่านบอกว่าการขัดแย้งที่น่ากลัวที่สุดคือการขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์

                 ตอนออกสำรวจหมู่บ้านเพื่อคัดเลือกหมู่บ้านก็จะสนุกมากและทรหดพอควร ออกกันเป็นสัปดาห์ 10 หมู่บ้านพร้อมกับความรับผิดชอบของทุกคนที่ออกสำรวจว่าใครรับผิดชอบการหาข้อมูลด้านไหน ต้องหามาให้ได้ละเอียดมากที่สุด หลังจากออกสำรวจครบก็นำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาเพื่อคัดเลือกหมู่บ้าน ก็ได้ที่บ้านแม่ลายเตียนอาง หมู่บ้านกระเหรี่ยงที่อยู่อำเภอฮอดเกือบถึงเขตอำเภออมก๋อย พอตัดสินใจเลือกหมู่บ้านได้แล้วก็ต้องออกไปสำรวจเชิงลึกในหมู่บ้านที่เลือกเพื่อต้องการหาข้อมูลความต้องการที่แท้จริงหรือFelt needs ของชาวบ้าน โดยออกไปคุยกับชาวบ้าน กับผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาล สถานีอนามัย ที่ว่าการอำเภอ เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็เอามาจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยและมีข้อมูลประกอบเพื่อDefend งบประมาณ

                ก่อนออกค่ายครั้งแรกซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี เพราะเราต้องออกค่าย 5 ครั้ง ถ้าออกค่ายครั้งแรกแล้วไม่ประทับใจทั้งชาวบ้าน ชาวค่ายก็จะมีปัญหาในการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ จึงต้องมีการเตรียมพื้นที่กันก่อนโดยการสำรวจหมู่บ้าน สร้างความสัมพันธ์เบื้องต้น จัดทำแผนที่หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเรื่องเครื่องมือทางเวชศาสตร์ครอบครัวเรียกว่าแผนที่เดินดิน  เราก็ทำผังบ้านทุกหลังในหมู่บ้านโดยการเดินสำรวจจริงและปีนต้นไม้สูงเพื่อสังเกตคงวามเชื่อโยงต่างๆด้วย โดยผมมักจะเป็นคนปีนเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นเด็กบ้านนอกและอยู่บ้านก็ปีนเก็บมะพร้าวอยู่บ่อยๆ) ในหน้าแล้งจะทำง่ายเพราะหญ้าไม่รกแต่พอหน้าฝนต้องมาเดินสำรวจกันใหม่เพราะทางเดินในหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงและหญ้ารกขึ้นมาก  การสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านต้องใช้เวลา ครั้งแรกที่เข้าหมู่บ้านเขาวิ่งหนีเข้าป่ากันหมดคิดว่าเราเป็นป่าไม้จะมาจับเขา แต่พอหลายๆครั้งเขาก็รับรู้ได้ว่าเราเป็นมิตรกับเขา ความคุ้นเคยไว้วางใจก็เกิดขึ้นเรื่อยๆจนเป็นความรู้สึกดีๆและคราบน้ำตาเมื่อเราเสร็จสิ้นค่ายที่ 5 และการเริ่มสร้างสัมพันธ์ที่ง่ายก็คือเข้าหาเด็กๆก่อน ทำกิจกรรมกับเด็กๆ จนเกิดความคุ้นเคยแล้วเขาจะดึงพ่อแม่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราได้

                การบริหารงานชมรมอาสาของผมจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายๆคือฝ่ายโยธา ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายศึกษาและฝ่ายสร้างสัมพันธ์ มีหัวหน้าฝ่ายรับผิดชอบโครงการของฝ่ายตนและมีทีมกลางเป็นเสมือนฝ่ายบริหารงานทั่วไปคอยอำนวยความสะดวก หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนๆกับการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนเลย แต่ในการออกค่ายแต่ละครั้งถือเป็นโครงการๆหนึ่ง ผมจะจัดให้มีประธานค่ายขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบและตัดสินใจในการออกค่ายครั้งนั้นๆ  มีทีมงาน5-6 คนของประธานค่ายเรียกว่าประสานงานเป็นทีมบริหารจัดการ และฝ่ายต่างๆก็จะมีการตั้งผู้รับผิดชอบงานของฝ่ายในค่ายนั้นๆ ที่จัดแบบนี้เพราะผมเชื่อว่าเพื่อนๆน้องๆมีความสามารถกันหลายคน หากเราทำเองอยู่เรื่อยก็จะได้ประสบการณ์คนเดียวแต่ถ้าทำแบบนี้ก็จะเหมือนมีประธานค่าย 5 คน เป็นการแบ่งอำนาจให้คนอื่นๆด้วย โดยหากมีปัญหาในการตัดสินใจผมก็จะยกให้ประธานค่ายเขาเป็นคนตัดสินใจ ส่วนผมเป็นแค่ที่ปรึกษาและชาวค่ายเท่านั้น ไม่เข้าไปก้าวก่ายการตัดสินใจของเขา

                งานในค่ายของโยธาก็มีการสร้างอาคารเรียน 1 หลัง ขุดบ่อน้ำตื้นให้โรงเรียน ฝ่ายสาธารณสุขก็มีการตรวจรักษา การตรวจพยาธิให้แก่ชาวบ้าน ฝ่ายศึกษาก็มีกิจกรรมเสริมความรู้สำหรับเด็ก ส่วนสร้างเสริมสัมพันธ์จะเป็นกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ที่ดีของชาวค่ายและชาวบ้าน มีการจัดให้ชาวค่ายได้ตามชาวบ้านไปทำงานในไร่นาของเขา แบ่งกลุ่มๆละ 5-6 คนไปกินนอนที่บ้านชาวบ้านโดยนำเครื่องนอนและอาหารไปทำกินกับชาวบ้าน เป็นการเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด  กิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลต์เพราะต้องใช้ฝีมือมากหน่อยก็คือการให้ชาวบ้านกระเหรี่ยงซึ่งขี้อายนำอุจจาระมาให้ตรวจได้ซึ่งทำได้ถึง 80-90 % ของชาวบ้าน

            การออกค่ายอาสาเป็นการออกจากความสะดวกสบายในชีวิตในเมืองไปสู่ความลำบากในชนบท ชาวค่ายจึงมีความใกล้ชิดผูกพันกันเพราะต้องทำงานร่วมกัน กินนอนด้วยกัน ช่วยเหลือแบ่งปันกันดี จึงมีโอกาสเกิดตำนานรักชาวค่ายขึ้นมาได้ เพราะความประทับใจที่มีต่อกัน ได้เห็นความรู้ความสามารถในการทำงาน ในการแก้ปัญหาของกันและกัน แต่ขณะอยู่ในค่ายเราจะมีกฎข้อบังคับชัดเจนและจะมีหัวหน้ากลุ่มที่เป็นทีมงานของชมรมเป็นพี่เลี้ยงอยู่  ปัญหาเรื่องดื่มเหล้าหรือปัญหาล่วงละเมิดทางเพศจึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้น
                การทำกิจกรรมค่ายอาสา พอช. จึงเป็นการฝึกทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพตั้งแต่เป็นนักศึกษา เป็นการจำลองชีวิตการทำงานจริงในพื้นที่ชนบท เหมือนกับการทำงานในโรงพยาบาลชุมชน เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทีมงานด้านสาธารณสุขที่จะมาทำงานเป็นแพทย์หรือเภสัชหรือพยาบาลหรือเทคนิคการแพทย์หรือทันตแพทย์ชนบทเพื่อการมีสุขภาพดีของคนในชนบทหรือRural Health ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์แต่ละแห่งน่าจะนำไปใช้ปรับเปลี่ยนเป็นวิชาๆหนึ่งในหลักสูตรการเรียนโดยเฉพาะคณะแพทย์ เพื่อเตรียมนักศึกษาแพทย์ให้เป็นแพทย์ชนบท (Rural doctors) ต่อไป 
หมายเลขบันทึก: 9409เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบทความนี้แล้วเศร้ามาก

เพราะ เป็นรุ้นพี่รหัส สามหก คณะเทคนิคการแพทย์ พี่

เป็นหนึ่งในสตาฟของ พอช. วันนี้ บังเอิญฟังเพลงจาก internet เพลงมช รำลึก

แล้วก็นึกถึง พอช ขึ้นมา

พยายาม search คำว่า พอช ค่ายอาสา จาก google

จนมาพบบทความนี้ เพ่ิงทราบว่ามีรุ่นน้องเสียชีวิต และบาดเจ็บ กลัวมาก คือ

กลัวว่า ชมรม พอช อาจจะโดนยุบไปแล้วแน่เลย ใึครรู้บ้างว่า ค่ายอาสา คณะแพทย์ยังอยู่ไหมค่ะ

ช่วยบอกด้วยนะค่ะ

[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท