วิธีการเชิญชวนชาวบ้านให้เข้าร่วมกิจกรรม กศน.


กศน.ต้องปรับการทำงานตรงจุดนี้ อย่าเอาระดับการศึกษาไปล่อชาวบ้าน

         ผมตั้งใจจะเขียนถึงกลยุทย์การทำงานของ กศน.ทั้งหมด 5 ข้อ ให้จบตั้งนานแล้ว ว่า กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราชเราแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกลยุทธ์ 5 ข้อมาปรับใช้ในโครงการจัดการความรู้สู่ชุมชนอินทรีย์ แต่ก็เขียนมาได้แค่สองกลยุทธ์คือ กลยุทธ์ลุยถึงที่ของ กศน.ในโครงการ KM สู่ชุมชนอินทรีย์ ลิ้งค์  และกลยุทธ์ตอบโจทย์ในใจผู้เรียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการชุมชนอินทรีย์นครศรีฯ ลิ้งค์ 

         ส่วนอีก 3กลยุทธ์ที่เหลือคือการขยายเครือข่าย การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารยังไมได้พูดถึง ยังค้างคาอยู่ เพราะมันมีเหตุการณ์มีปรากฏการณ์อื่นเข้ามาแทรกจนได้ ไม่อยากจะเป็นทุกข์ใจกับการที่จะต้องเขียนอะไรตามลำดับก่อนหลัง อะไรเข้ามาเห็นว่าอยากเขียนก็เขียน ให้เป็นอิสระของใจไปเลย อย่างวันนี้ก็อีกเช่นกัน

        วันนี้อยากเขียนกลยุทธ์ที่สามเรื่องการขยายเครือข่าย กศน. ก็บังเอิญมีเรื่องการเชิญชวนคนกลุ่มเป้าหมายมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ของ กศน.สนใจเรื่องนี้แทรกขึ้นมาอีก  เรื่องกลยุทธ์ที่สามว่าด้วยการขยายเครือข่าย กศน.เป็นต้องหลบไว้ก่อนอีกเช่นเคย

        เหตุที่สนใจเรื่องการเชิญชวนคนกลุ่มเป้าหมายมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ กศน.ก็เนื่องจากว่าได้อ่านกลยุทธ์ที่หนึ่งเรื่อง กศน.ต้องลุยถึงที่และกลยุทธ์สองเรื่อง กศน.จะต้องตอบโจทย์ในใจผู้เรียนแล้วคิดต่อไปว่าเมื่อทำทั้งสองอย่างแล้วจะชวนเขาเข้าร่วมโครงการจะต้องพูดว่าอย่างไรดี เมื่อพูดแล้วเชิญชวนแล้วจะเป็นการตอบโจทย์ในใจผู้เรียนจริงๆ คนหรือกลุ่มเป้าหมายเขาอยากจะเข้ามาร่วมมากขึ้น

       เพราะผมคิดว่าเรื่องการเชิญชวนนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก การเชิญชวนเขามาเรียนไม่เหมือนเชิญชวนเข้ามาทำอย่างอื่น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อเชิญชวนเขามาเรียนเขาจะต่อต้าน ร้อยคนจะมาสัก 1 คนจะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้  เข็ดเขี้ยวที่จะเข้ามาเรียน เข็ดเขี้ยวที่จะต้องปฏิบัติตัวอย่างผู้เรียน ฯลฯ มันไม่สนุกเลยกับการที่จะต้องเข้าเรียน อดีตเมื่อสมัยไหนมันฝังใจอยู่ก็ได้

        แล้วเราจะเชิญชวนเขาอย่างไรดีให้ใจเขาเข้ามา ให้ได้ใจเขามา ให้เขาเข้ามาแล้วเขาได้เรียนอย่างมีความสุข อยากเรียนรู้เนื้อหาเรื่องอะไร ด้วยวิธีเรียนรู้ใดก็ค่อนข้างจะได้ตามนั้น

        ก็ให้นึกถึงคำกล่าวของ ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ที่ท่านกล่าวเปิดงานนิทรรศการมหกรรมยกระดับการศึกษาประชากรวัยแรงงาน  ณ อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อ 7 กันยายน 2549

         ดร.รุ่ง แก้วแดง รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กศน.จะต้องนำเอาเรื่องราวในวิถีชีวิตของชาวบ้านมาเป็นเนื้อหาในการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของรายได้ อาชีพ สุขภาพ ฯลฯ ให้เขาได้เรียนรู้จนชาวบ้านเขามีความชำนาญเชี่ยวชาญในความเป็นอยู่ของเขา แล้ว จากนั้นสกัดความรู้เขา นำความรู้ดังกล่าวมาเทียบโอน เพื่อการยกระดับการศึกษา ให้ กศน.เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าความรู้เป็นผลพลอยได้ มิใช่เป้าหมายหลัก เป้าหมายหลักคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ อาชีพ สุขภาพ ฯลฯ กศน.ต้องปรับการทำงานตรงจุดนี้ อย่าเอาระดับการศึกษาไปล่อชาวบ้าน

         ผมคิดว่าถ้าเชิญชวนเขามาเรียนเขาไม่อยากจะมา แต่ถ้าเชิญชวนเขามาทำงาน มาทำการปรับปรุงอาชีพ มาทำสังคมอยู่ดีมีสุข มาทำสุขภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นฯลฯ เขามา แล้วเราจะไม่เลือกวิธีเชิญชวนให้เขาให้มาปรับปรุงวิถีชีวิตสังคมชุมชนของเขาหรือ

           เห็นด้วยกับ ดร.รุ่ง แก้วแดง ไหมครับ สำหรับผมแล้วเห็นด้วยเต็มที่

หมายเลขบันทึก: 92528เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2007 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เห็นด้วย ทั้ง ดร.รุ่ง และ ครูนง
  • ผมก็น่าจะนำไปใช้กับเกษตรกรได้นะ
  • ว่าแต่ เวลานี้ ท่านท้าวจตุคาม มาแรงเหลือเกินครับครู

คุณชัยพร หนุ่มเมืองร้อยเกาะ

            ผมนึกถึงเวลาเราดึงหางแมวครับ แมวมันจะไม่ยอมมาตามแรงดึงของเราหรอกกนะครับ แต่แมวมันจะดันตัวเองไปข้างหน้าเเสมอ สวนทางกับแรงดึงของเรา ชักชวนให้เขามาเรียนก็ทำนองเดียวกันครับ เปลี่ยนใหม่เป็นชักชวนเขามาทำปุ๋ยหมัก ปลูกหญ้าเลี้ยงโค ฯลฯ ดูบ้างมันจะเป็นอย่างไง

สุดยอดไอเดียเลยครับ พี่นง เพราะทุกครั้งเรามัวแต่ชวนเค้าไปเรียนเพื่อเอาวุฒิ  คราวนี้มาลองชวนให้เค้ามาพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ แล้วให้วุฒิฯ เป็นของแถม .......... น่าจะได้ผล..........แต่การจะเปลี่ยนพาราดามชิพในหัวของคนที่เคยทำแบบเดิม ๆ มาแล้วนี่ น่าท้าทายนะครับ......

ตอนนี้ผมอยู่ที่วัดไร่ขิงครับ มาประชุมเรื่องหลักธรรมาภิบาลของ สป.(สำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งมี กศน.อยู่ด้วย) โดยรูปแบบเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และการแลกเปลี่ยนความรู้ในพื้นที่เสมือน ซึ่งก็คือเวปบล็อกนั่นแหละ  แต่ทีนี้ ชาว สป.ยังไม่มีการจัดทำบล็อก (เค้าตั้งใจจะทำเวปบล็อกขึ้น แต่ยังไม่มีเงินฯลฯ) เลยได้โอกาสแนะนำให้ไปใช้ของ gotoknow.org  โดยผมได้อธิบายหลักการของบล็อกเรา และการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้มองเห็นเป็นภาพรวม โดยอาศัยแพลนเน็ต เป็นตัวเชื่อมโยง  เค้าสนใจกันมากครับ และคาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ จะอบรมการใช้งานเวปบล็อกของ gotoknow.org เพื่ออาศัยพื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่เสมือนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านหลักธรรมาภิบาลของชาว สป.ครับ......จึงแจ้งมาเพื่อทราบ.......

ท่านรองรัฐเขต ครับ

          เป็นข้อเสนอของท่านรองรัฐเขตที่เยี่ยมมากเลยนะครับ ผมต้องขอชมเชยเอาไว้นะที่นี้ สมแล้วที่ท่านเป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ กศน. ชาว gotoKnow ได้อ่านความเห็นนี้แล้วก็คงจะดีใจเช่นกัน  

          รับทราบและดีใจครับ

แวะมาเยี่ยมค่ะ อ่านข้อคิดของครูนงแล้วทำให้ตั้งคำถามต่อว่า แล้วทำอย่างไรสถาบันการศึกษาในระบบจะไม่ใช้ "ระดับการศึกษา" เป็น "เครื่องล่อ" ให้ผู้คนในสังคมมาเข้าเรียนเหมือนดังที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้าง "ตัวชี้วัด" ที่เป็นทางเลือกใหม่ของวงการศึกษา อยากเห็นสังคมที่ผู้คนเคารพและยอมรับกันด้วย"คุณค่า" มากกว่าปริญญาบัตรค่ะ

อ.ดร.ทิพวัลย์ ครับ

             ขอบคุณในความเห็นที่มีประโยชน์ยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท