GotoKnow

KM กับเครือข่ายกองทุนชุมชน

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2548 10:02 น. ()
แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2555 22:33 น. ()

KM กับเครือข่ายกองทุนชุมชน

         วันที่ 30 พ.ย.48   ผมเข้าร่วมเวทีวิชาการของโครงการ "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน"  ที่หน่วยประสานงาน มวล. ชั้น 19  อาคาร SM  เพื่อเสนอรายงานความก้าวหน้าในรอบ 6 เดือนของโครงการวิจัยย่อยใน 5 พื้นที่   ได้แก่  จ.สงขลา,  ลำปาง,  ตราด,  นครศรีฯ, และสมุทรปราการ

                                   

                                            บรรยากาศห้องประชุม

         โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนขบวนการองค์กรการเงินชุมชนบนฐานความรู้     ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับตำบล

         ผมตีความว่าสิ่งที่เกิดใน 5 พื้นที่   คือการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ   ในกลุ่มคนหลากหลายระดับ  หลากหลายชั้น  หลากหลายบทบาท  ในแต่ละพื้นที่ผ่านกิจกรรมออมเงินเป็นกลุ่ม   สลับไปมาระหว่างการทำกิจกรรมกับการนัดมาประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติ

โครงการย่อยใน 5 พื้นที่ได้แก่
     1. เครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท   ทำสวัสดิการภาคประชาชนแก้จนอย่างยั่งยืน  จังหวัดสงขลา   โดย ดร. ครูชบ  ยอดแก้วและคณะ   ในนามมูลนิธิ ดร. ครูชบ-ปราณี  ยอดแก้ว
     2. เครือข่ายออมทรัพย์เพื่อสร้างสวัสดิการวันละบาท  จ.ลำปาง   โดย อ. วิไลลักษณ์  อยู่สำราญและคณะ   ในนาม มธ.ศูนย์ลำปาง
     3. เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต  ต.เขาสมิง  อ.เขาสมิง  จ.ตราด   โดยนายธีระ  วัชรปราณีและคณะ   ในนามสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
     4. เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.กะหรอ  ถึง อ.นบพิตำ  จ.นครศรีธรรมราช   โดย อ. พรเพ็ญ  ทิพยนาและคณะ   ในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
     5. เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.ในคลองบางปลากด   อ.พระสมุทรเจดีย์  จ.สมุทรปราการ  โดย อ. นิสา  พักตร์วิไลและคณะ   ในนาม มรภ. วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

         ในการประชุม   มี "ปลาทู" ว่ายเพ่นพ่านอยู่ใน "ธารปัญญา" โดยมี "คุณกิจ",  "คุณอำนวย",  "คุณเอื้อ" เดินเพ่นพ่าน  เป็นที่ชื่นชมยินดีสำหรับผม   เพราะเขาใช้เครื่องมือ KM ของ สคส. เต็มรูปทีเดียว

         ผมมองว่ากิจกรรมที่นำเสนอของแต่ละพื้นที่เป็นกิจกรรมที่กว้างกว่าเรื่องกองทุนชุมชน   ขยายออกไปครอบคลุมสวัสดิการชุมชน   การอาชีพ  รายได้  ลดรายจ่ายและการเรียนรู้ภายในชุมชน  เป็นต้น

         ดังนั้นเครือข่ายนี้น่าจะเรียกว่าเป็นเครือข่าย KM ชุมชน  ได้อย่างเต็มปากและสิ่งหนึ่งที่ทีมวิจัยต้องการเรียนรู้คือ   เรื่อง KM

         สิ่งที่ผมเห็นไม่ชัดคือ   การเน้นการเสาะหาความสำเร็จเล็ก ๆ นำเอาเรื่องราวของความสำเร็จมาทำ storytelling   ตรงนี้ไม่ค่อยชัด   และรู้สึกว่าทีมนี้จะยึดติดเครื่องมือมากไป   ถึงขนาดเอาแผนภูมิธารปัญญาไปให้ชาวบ้านดู   ทำให้ชาวบ้านงง

         ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้น่าจะได้ไปดูงาน   ศึกษาวิธีประยุกต์ใช้ KM ของทีมมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร   ที่นำโดยคุณสุรเดช  เดชคุ้มวงศ์   ว่าทีมพิจิตรมีวิธีสร้างความเข้มแข็งของ CoP 7 CoP อย่างไร   โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการหาผู้นำชาวบ้านระดับ 5 ดาว,  4 ดาว  ตามประเด็นและเป้าหมาย "หัวปลา"   รวมทั้งวิธีการสร้างความมุ่งมั่นต่อ "หัวปลา" โดยใช้การอบรม วปอ. ภาคประชาชน

         ท่านที่สนใจรายละเอียด   ศึกษาได้จาก km4fc.gotoknow.org

วิจารณ์  พานิช
 30 พ.ย.48



ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย