BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

น้ำเต้าหู้ (อีกแล้ว)


น้ำเต้าหู้

ที่กุฏิตอนนี้ มีพระใหม่มาอยู่ด้วย ๑ รูป ซึ่งเป็นทั้งญาติและทั้งเพื่อนของผู้เขียน... ถ้านับคืนนี้ด้วยก็ได้ ๕ คืนแล้ว ท่านคงจะพักอยู่อีก ๒ คืน เนื่องจากท่านบวชแก้บนเพียงเจ็ดวันแล้วก็จะลาสิกขาหรือสึกไปใช้ชีวิตฆราวาสตามปรกติ... ตอนนี้ผู้เขียนจึงทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงไปด้วย....

ตามธรรมดาของพระแรกบวช มักจะมีบรรดาญาติหรือเพื่อนๆ มาเยี่ยมมิได้ขาด และในการไปเยี่ยมพระก็ต้องมีอะไรไปถวายท่านเอาบุญบ้างตามธรรมเนียมทั่วไป...

ถ้าไปเยี่ยมพระใหม่ตอนเย็นๆ ค่ำๆ สิ่งที่จะนำไปถวายท่าน น้ำเต้าหู้ มักจะเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเรามักจะระลึกได้ สำหรับสังคมในเมืองที่จะนำไปถวายพระยามวิกาล... ดังนั้น ที่กุฏิตอนนี้ จึงมีน้ำเต้าหู้เหลืออยู่จนกระทั้งตอนเช้าต้องนำไปทิ้งหลายวันมาแล้ว...

ปรกติผู้เขียนไม่ค่อยโปรดน้ำเต้าหู้ แต่ก็ฉันได้ ไม่ถึงกับรังเกียจ... ผู้เขียนจะโปรด เต้าฮวย มากกว่า...

โชคดีที่ผู้เขียนนั่งอยู่ด้วยเมื่อคืนก่อน พรรคพวกพระใหม่โทรเข้ามาแล้วบอกว่า จะนำน้ำเต้าหู้ถวาย (ตอนนั้นก็มีคณะเก่าทิ้งน้ำเต้าหู้ไว้หลายถุงแล้วที่กุฏิ) ผู้เขียนจึงบอกว่า เปลี่ยนเป็นเต้าฮวยดีกว่า... และยืนยันว่า ฉันได้ ไม่ผิด แต่ก็กำชับไปว่า ห้ามใส่ไข่หรือปาท่องโก้มาด้วย (......) ดังนั้น เมื่อคืนก่อนจึงได้ฉันเต้าฮวย...

ของที่พระฉันได้โดยไม่ผิดยามวิกาลนั้นมีหลายอย่าง ซึ่งในบรรดาหลายอย่างนี้ บางท้องถิ่นหรือบางรูปก็อาจถือว่าผิด บางรูปหรือบางท้องถิ่นก็อาจถือว่าไม่ผิด... ซึ่งเรื่องทำนองนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยมส่วนตัวว่าทำตัวเป็น พระเคร่งหรือไม่เคร่ง และค่านิยมท้องถิ่นนั้นๆ ว่ายอมรับสิ่งนั้นๆ หรือไม่....อาทิเช่น

ไอสครีมล้วน (ไม่มีขนมปังหรือข้าวเหนียวผสม เป็นต้น) บางรูปก็ฉัน บางรูปก็ไม่ฉัน...ส่วนผู้เขียนมิใช่พระเคร่ง จึงนิยมฉัน...

 เนยแข็ง หรือ cheese สามารถฉันกับน้ำชาหรือน้ำร้อนได้.... แต่บางกลุ่มที่นิยมนำมาเพิ่ม หอมซอย พริกสด และน้ำมะนาว เข้าไปด้วย อย่างนั้น ผู้เขียนว่า เกินไป ให้พวกเค้าล้อมวงกันฉันไปเถิด...

น้ำถั่วเขียวต้มเหลวๆ  แถวปักษ์ใต้บ้านเราไม่นิยมทำถวายพระ-เณร ดังนั้น พระปักษ์ใต้ส่วนมากจึงไม่นิยมฉัน... แต่บางท้องถิ่นเค้าก็นิยมทำถวายพระ-เณร...

อื่นๆ เช่น นมสด นมเปรี้ยว น้ำผลไม้กระป๋องชนิด ๑๐๐% เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ โดยมากพระ-เณรจะนิยมฉัน แต่บางรูปที่อ้างตัวว่าเคร่งก็ไม่นิยมฉัน...

อนึ่ง สิ่งใหม่ๆ เช่น น้ำนมข้าวโอตหรือน้ำนมข้าวโพตสำเร็จรูปในกล่อง หรือเป็นผงอยู่ในซองซึ่งต้องนำมาชงละลายกับน้ำร้อนก่อน... สิ่งเหล่านี้ก็คาบเกี่ยวในทางวินัยว่า ฉันได้หรือไม่ ?

ผู้เขียนเคยคุยกับเพื่อนพระ-เณรด้วยกันว่า สิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ ไม่เหมือนกับสิ่งเก่าๆ เช่น นมข้นหวาน น้ำตาลแว่น (น้ำผึ้งแว่น)... กล่าวคือ สิ่งเก่าๆ นั้น ผ่านการวินิจฉันมาแล้วว่าฉันได้หรือไม่ ... ส่วนสิ่งใหม่ๆ ก็ต้องวินิจฉัยทุกครั้ง เมื่อแรกเจอ...เคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนพระ-เณรด้วยกันว่า มหาเถรสมาคม กรมการศาสนา หรือสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ น่าจะมีหน่วยงานเพื่อพิจารณาสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ แล้วก็มีเครื่องหมายข้างกล่องหรือซองว่าควรจะถวายพระหรือไม่ ...

ตามที่เล่ามานี้ ก็เพื่อเป็นข้อคิดสำหรับบรรดาญาติโยม เมื่อจะไปเยี่ยมพระใหม่ก็ควรจะสอบถามสักเล็กน้อย ก่อนจะนำบางอย่างไปถวายท่าน มิใช่รู้จักแต่ น้ำเต้าหู้ เท่านั้น...  

 

คำสำคัญ (Tags): #น้ำเต้าหู้
หมายเลขบันทึก: 92304เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2007 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)

สาธุค่ะ

น่าจะมีพนักงานที่วัด บอกให้ญาติโยมทราบด้วยนะคะ ไม่งั้น ท่านก็คงต้องฉันแต่น้ำเต้าหู้ละค่ะ

  • ตอนกลางคืนฉันได้ทุกมะ ที่เป็นคำหน้าใช่ไหมครับ
  • มะม่า นี่ฉันได้ไหมครับ
  • ฮ่าๆๆๆ
P

พนักงานที่วัด ?

พระ-เณรโดยมาก มักจะไม่มีพนักงาน... ยกเว้นพระที่มีศักดินาหรือบารมีสูงๆ ก็อาจมีพนักงานล้อมหน้าล้อมหลัง....

คุณโยมเขียน น้ำเต้าหู้ น่าจะถูกต้องกว่า... อาตมาจะเปลี่ยนใหม่ตามคุณโยม....

เจริญพร

P

มีนิทานเรื่อง มะ... ฉันได้ นี้แหละ...

แต่นึกไม่ออกตอนนี้.. อาจารย์ขจิตช่วยเล่าแทนก็ได้ (........)

เจริญพร

  • นมัสการหลวงพี่
  • ให้หลวงพี่เล่าเองดีกว่า
  • ผมมีเรื่องสนุกกว่านั้นครับ
  • เรื่องลาบดึก เคยได้ยินไหมครับ
P

ลาบดึก ?

เป็นค่านิยมทางภาคเหนือ...เคยได้ยิน แต่เสียดาย ยังไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ (......)

บางอย่างไม่ควรนำมาเล่า เพราะอาจกระทบต่อความคิดเห็นและค่านิยมจากสังคมในท้องถิ่นนั้นๆ ได้...

เจริญพร

พระอาจารย์พูดถึงพระบวชใหม่ ชวนให้นึกขึ้นได้เรื่องหนึ่ง

อาทิตย์ที่แล้วไปงานบวชเพื่อนที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้นั่งฟังพระเทศน์ 3 ธรรมมาส (ไม่แน่ใจว่าเรียกและเขียนถูกหนือเปล่า ขออภัยด้วย) เป็นเรื่องราวนิทานสอนใจ แต่แปลกใจและไม่เคนเห็น คือ พระที่เทศน์จะออก "ลีลา" ตามตัวละครที่สมมติด้วย เช่น บทผู้หญิงสาวง้อแฟน เป็นต้น ลีลาที่ว่าจะออกทางน้ำเสียงเป็นส่วนใหญ่ บางท่อนมีการร้องเพลงประกอบตามท้องเรื่อง เป็นที่ถูกอกถูกใจญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง

แบบนี้จริงๆ แล้วเข้าเรียกว่าอะไร พระทำได้หรือไม่? ครับ แต่โดยเนื้อหาก็มีคติสอนใจ แต่คนที่ฟั่งส่วนมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มากกว่า

ส่วนเรื่องพระบวชใหม่นี่ ประสบการณ์ตรงตอนที่บวช 7 วัน คือ โยมพี่นำโอวันตินมาถวายครับ แต่ก็ไม้ได้ฉัน เพราะมื้อเพลอิ่มมากๆ

ด้วยความเคารพ 

 แนวคิดที่ว่า น่าจะเขียนไว้ข้างกล่อง น่าสนับสนุน เดี๋ยวนี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมามาก คนรุ่นใหม่ก็ไม่สันทัด การถวายของพระ

     เหมือนอาหารฮาราล

      แค่ไม่กี่คำ   "พระฉันได้ยามวิกาล"

P

คำว่า ธรรมาสน์ (มี น.หนูการันต์)... เขียนว่า ธัมมาสน์ ก็มีบ้าง 

ธรรม + อาสน์ = ธรรมมาสน์

อาสน์ แปลว่า ที่นั่ง ... รวมความ ธรรมาสน์ แปลว่า ที่นั่งเพื่อแสดงธรรม...

.......

การแสดงธรรมแบบหลายธรรมาสน์ นอกจาก ๓ ธรรมาสน์ แล้ว ๕ ธรรมาสน์ก็มี... เพียงแต่สมัยปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นเท่านั้น..... โดยนำนิทานชาตก หรือนิทานธรรมบทมาแสดงเป็นเรื่องๆ โดยบรรดาพระนักเทสก์จะสมมุติตนเองเป็นตัวละครตามสมควร... ดังนั้น การฟังธรรมทำนองนี้ ก็คล้ายๆ การฟังละครวิทยุ ประมาณนั้น...

ธรรมเทศนาแนวนี้ ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะมีสิ่งบันเทิงอื่นๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์... ซึ่งหลายๆ อย่าง อาตมาก็ไม่ทันได้เห็น เพียงแต่เคยได้ฟังครูอาจารย์เล่ามา หรืออ่านมาจากที่มีผู้บันทึกไว้เท่านั้น...

.........

ส่วนประเด็นว่า เหมาะสมหรือไม่ ? ... คำภีร์อธิบายไว้ทำนอง ธรรมประกอบด้วยเพลงสมควร เพลงประกอบด้วยธรรมไม่สมควร ทำนองนี้แหละ... มีการวินิจฉัยเรื่องนี้อยู่ในคัมภีร์ ซึ่งอาตมาจะต้องไปปัดฝุ่นคัมภีร์อีกครั้ง ถ้าจะต้องอธิบายละเอียด...

เจริญพร 

ไม่มีรูป
นายวรชัย หลักคำ

ประเด็นนี้ ถ้ามีผู้นำเสนอเป็นบทความเชิงวิชาการ ก็อาจเป็นไปได้....

อนุโมทนาต่อคุณโยม...

เจริญพร

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ครับ

เป็นความรู้เพิ่มเติมอีกเรื่อง และดีใจที่ได้พบประสบการณ์นี้ครับ

เห็นด้วยกับการที่อาจจะต้องมีหน่วยงานช่วยเหลือและแนะนำอาหาร/ปานะ(นวัตกรรมอาหารใหม่ๆ)ที่พึงถวายได้แด่พระภิกษุ..

สารภาพว่ารู้จักแต่ถวายน้ำเต้าหู้.+ปาท่องโก๋(อีกในบางครั้ง).คราวนี้ได้ข้อมูลใหม่ว่าเต้าฮวยหรือไอศครีมนมก็พอจะถวายได้..ดีค่ะที่มีพระ/ผู้รู้ท่านบอกออกมาตรงๆถึงอาหารที่พระท่านพอจะฉันได้หรือไม่ได้,หรืออะไรที่ท่านล้นแล้ว..จะได้ไม่ต้องมีนิทานหรือเรื่องเล่าของขบฉันแบบแปลกชวนให้เราสงสัยว่าจริงหรือมั่ว..

P

ถ้าสนิทหรือคุ้นเคยกับพระเณร ก็ควรจะเรียนถามท่านก่อน..เพราะหลายๆ ท้องถิ่น ธรรมเนียมปฏิบัติมิได้เป็นหนึ่งเดียวกัน....

แม้จะเป็นคัมภีร์เดียวกัน แต่การแปลความหมายก็อาจแตกต่างกัน...

อีกอย่าง แม้อาตมาจะมั่นใจว่าสิ่งนั้นผิดไม่ผิด แต่เราก็ไม่สามารถรื้อฟื้นหรือถอนความเชื่อความเห็นของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ง่ายๆ...

เจริญพร

นึกถึงตอนบวชใหม่ครับพระอาจารย์...

 

เคร่งหรือไม่เคร่ง...ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาอ่ะครับ...

 

ผมเคยถูกถามว่า...แล้วบวชกับไม่บวช...แตกต่างกันอย่างไร....

 

 

เวลาใส่บาตร (ไม่ได้ทำอาหารเอง) เวลาซื้อกับข้าวถุง เมื่อคนใส่บาตรซื้อเหมือนๆ กันใส่บาตร รวมๆ หลายๆ ถุง ได้เยอะทีเดียวค่ะ เผอิญ ที่บ้านอยู่กลางกรุงเทพฯ ในซอกซอย ไม่มีวัดค่ะ มีหลวงพ่อองค์นึง (ญาติโยมในซอยนิมนต์มาทุกวัน) ก็จะมีคนใส่บาตรเยอะมาก มีเด็กวัดติดตาม  ดังนั้น หุย จะใส่ขนมอื่นๆ ที่ไม่ซ้ำบ้าง น้ำกล่อง ชาเขียว (อินเทรนด์) บ้าง ยิ่งถ้าไปตจว. ไปตลาด จะนึกๆ แทนที่จะใส่แต่ข้าวแกง ก็เปลี่ยนเป็นบะหมี่ บ้างค่ะ เคยตั้งใจจริงๆ คือทำเต้าฮวยเย็นฟรุตสลัด แช่เย็นไว้ ตื่นเช้ามาใส่บาตร บอกหลวงพ่อว่า อันนี้หนูทำเองนะ ฮ่าๆๆ ไม่มีขายนะ สิบอกหั่ย 

ผมเคยฟันเรื่องเล่ามา..."ฉันอะไรก็ได้ แต่ห้ามเคี้ยว"

มีพระบวชใหม่ บวชเพื่อแก้บน คืนแรก พอตกกลา่งคืนก็หิวมาก

แต่เนื่องจากพระไม่สามารถฉันอาหารตอนกลางคืนได้ จึงได้แต่ดื่มน้ำเปล่า 

คืนที่ 2 ก็เิกิดอาการหิวอีกเช่นเคย ก็ฉันน้ำเปล่าอีกตามเคย

วันรุ่นขึ้นจึงตัดสินใจถามพระพี่เลี้ยงไปว่า ตอนกลางคืนฉันอะไรได้บ้างนอกจากน้ำ

พระพี่เลี้ยงก็ตอบไปประมาณว่า ฉันอะไรก็ได้ แต่ห้ามเคี้ยว 

พอได้ยินดังนั้น พระใหม่จึงตัดสินใจว่า คืนนี้จะต้องหาอะไรฉันให้ได้ถ้าเกิดหิว

พอถึงตอนกลางคืนของวันที่ 3 พระใหม่ก็เกิดอาการหิวอีก จึงมองหาของที่พอจะฉันได้

พอดีหันไปเห็น กล้วยหอม ที่ญาติโยมนำมาถวายตอนกลางวัน

จึงตัดสินใจ หยิบกล้วยหอมขึ้นมา ปลอกเปลือกจนหมด ใส่ปาก แล้วก็กลืนลงไป

คืนนั้น พระใหม่ไม่หิวอีกเลย

 ^_^

P

กล้วยสุกงอม จัดเป็นยาระบาย สามารถฉันได้ ในแง่ของ ผลเภสัข...

เคยเห็นพระเถระบางรูป จะนำกล้วยมาแขวนไว้ จนกระทั้ง เปลือกดำปี้ จึงจะฉันเล่นเป็นยา ครั้งละลูกสองลูก...

......

กล้วย ถ้าทำถูกวิธีก็ฉันได้ มีระบุไว้ในเรื่องน้ำปานะ ว่า กล้วยมีเมล็ด และ กล้วยไม่มีเมล็ด

แต่ หลวงพี่ก็ไม่เคยฉัน และไม่เคยเห็นพระ-เณรรูปใดทำฉัน

..........

ส่วนที่เล่ามา น่าจะไม่ถูกต้อง....

นิทานในวัด มีมากมาย แต่บางเรื่องบางประเด็นก็เขียนไม่ได้....

เจริญพร

ครับหลวงพี่...

ว่าแต่ไวตามิน นี่ฉันได้มั้ยครับ

 

 

P

ไวตามิน ?

ถ้าหมายถึงเภสัชหรือยาก็ฉันได้ทั่วไป...

ถ้าหมายถึงยี่ห้อของนมถั่วเหลืองชนิดหนึ่ง... โดยทั่วไปก็ฉันได้ ยกเว้นบางรูปที่ทำเป็น เคร่ง... ท่านอาจจะไม่ฉัน...

เจริญพร

ขอโอกาส ท่านอาจารย์

ผมไม่อยากให้ท่านใช้คำว่า ทำเป็นเคร่ง ในพระวินัย เพราะอ่านดูแล้วเหมือนจะล้อเลียนพระที่ท่านตั้งใจปฏิบัตินะครับ...และแม้แต่นมถั่วเหลือง ตามการแพทย์เขาก็จัดเป็นอาหารไม้ใช่หรือครับ...อย่าว่าแต่ไอสครีม (ทั่วไป) ซึ่งมีส่วนผสมของมะพร้าว ตามวินัยจัดเป็นมหาผล ท่านห้ามนี่ครับ..สุดท้าย อะไรที่ท่านปฏิบัติไม่ได้..."ก็อย่าไปล้อเลียนผู้อื่นสิครับ" กราบขออภัยท่านด้วนที่ต้องว่ากันตรง ๆ เพราะคนเรานั้นต้องรับฟังคนอื่นบ้าง เพื่อป้องกันการลืมตัว...ทางใต้เรียกว่า  "เหลิง"

คุณเผือกคงเป็นผู้รู้ท่านหนึ่ง แต่เล่นตอกกันตรงๆก็ทำให้หลวงพี่ลำบากใจพอควร แต่เอาล่ะผมก็เข้าใจหลวงพี่พอควรที่ไม่ต่อความ และคิดว่าหลวงพี่คงไม่มีเจตนา อย่างไรก็ต้องขอขอบคุณสำหรับทุกคนที่เข้ามาเสนอความคิดเห็นนะครับ ที่ช่วยกันบูรณาการ ทำให้สมบูรณ์ครับ

ไม่มีรูป นนท์

 

อ้างชื่อแฝงลอยๆ ตำหนิคนอื่นทำนองนี้ มิใช่นักเลงจริง สำนวนปักษ์ใต้เค้าว่า พวกไม่สาไหร่ อย่าไปสนใจให้มากนัก...

เจริญพร

นมัสการหลวงพี่ มีข้อสอบถามครับ คือถ้าบวชพระธรรมยุต ต้องฉันในบาตรจะสามารถใช้ช้อนได้หรือเปล่าครับ แล้วถ้าดึกๆหิว จะสามารถฉันโอวัลติน หรือกาแฟได้ไหมครับ ขอรบกวนเท่านี้ก่อนครับ

ไม่มีรูปคนอยากบวช

 

หลวงพี่ฝ่ายมหานิกาย ถ้าใคร่จะบวชธรรมยุต ก็ต้องไปถามฝ่ายธรรมยุต...

หลวงพี่บอกตามตรงนะ เบื่อจะตอบคำถามคุณโยมแล้ว ถ้าศรัทธาจะบวชก็ไปบวชดู เรื่องต่างๆ ไปเรียนรู้เอาตอนใกล้จะบวชหรือเมื่อบวชแล้วโน้นแหละ...

สุดท้ายใคร่จะบอกว่า สิ่งที่เราคิดไว้กับสิ่งที่เราไปเห็นนะ หลายอย่างจะไม่เหมือนกัน...

เจริญพร

นมัสการค่ะหลวงพี่

มาอ่านน้ำเต้าฮวย กะ น้ำเต้าหู้ จริงๆ บางทีก็ไม่รู้ว่าพระฉันได้ไม่ได้เหมือนกันน่ะค่ะ เพราะเห็นว่าเป็นน้ำๆ ก็น่าจะฉันได้

อย่างนี้ ต้องอิงพระไตรปิฎก อยู่เล่มไหนค่ะ หลวงพี่ เด่วตุ๊กจะไปหามาทำเิชิงวิชาการค่ะ

:)

PDhamma

 

ไม่แน่ใจว่าอยู่เล่มไหน แต่ถ้าจะค้น ก็ให้ไปค้นเรื่อง น้ำปานะ ๘ ชนิด เรียกว่า อัฎฐปาน จุดหนึ่ง

ไปค้นวินัยปาฏิโมกข์ข้อว่า สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ (นมสด นมส้ม น้ำมัน น้ำผึ้ง น้าอ้อย) ซึ่งจัดเป็นเภสัชให้ฉันได้...

อีกจุดก็คำว่า กาลิก ซึ่งแปลว่า ของสำหรับกลืนกินตามกาล ลองค้นดูว่ามีรายละเอียดอย่างไร

หลวงพี่ไม่ค่อยได้ค้น ปกติก็ใช้ความจำความเข้าใจหรือมั่วเอาเป็นการส่วนตัว ยกเว้นจำเป็นจะต้องอ้างอิงเท่านั้น

เจริญพร

แหมผมก็นึกว่าจะได้คำตอบ แบบวันสต็อบ พระอาจารย์ให้ไปหาในที่อื่นอีกและ แต่ไม่เป็นไร ท่านโปรดมาหลายคำถามแล้ว บางครั้งก็รู้สึกเกรงเหมือนกัน เลยต้องเปลี่ยนชื่อคนถามไปเรื่อยขอรับ แต่ไม่เป็นไรคราวหน้าจะหาข้อมูลเองก่อน จนด้วยเกล้าจริงๆถึงถาม ขอบพระคุณอีกครั้งครับ นมัสการพระอาจารย์

เอาอะไรมาเป็นตัวตัดสินครับว่าเคร่งหรือเคร่งหามิได้

ไม่มีรูป พระ

 

คำว่า เคร่ง เป็นสำนวนพูดทั่วไป มิใช่สำนวนที่ลอกเลียนมาจากศัพท์ทางพระธรรมวินัย... ตามความเห็นส่วนตัว คำว่า เคร่ง นี้ จะมีความหมายเป็นไปได้ทั้งเชิงบวกเชิงลบ โดยเชิงบวกหมายถึงผู้ยึดถือหนักแน่นตามหลักธรรมวินัย ควรแก่การยกย่องเชิดชู ส่วนความหมายเชิงลบหมายถึงผู้ที่จู้จี้จุกจิกไร้สาระ ทำตัวเป็นที่รำคาญของเพื่อนสหธัมมิก...

ดังนั้น การตัดสินว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง ต้องพิจารณาด้วยว่าใช้ในความหมายเชิงไหน  ซึ่ง ธรรมเท่านั้น ย่อมพิจารณาเห็นเองโดยธรรมว่าเคร่งหรือไม่... ส่วนความเห็นส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ของคนอื่นๆ หรือความเห็นของสังคมนั้น มิใช่ประมาณ...

อามันตา

ผมว่าถ้าเราไม่คิดเลี่ยงพระวินัยกันนันดีกว่านะครับ เพราะเราต่างรู้แล้วว่าอะไรควรไม่ควรแก่กาลครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท