มหัศจรรย์สังสรรค์สนทนา (3): สู่ชีวิตวัยเยาว์ เรื่องเล่าเร้าพลัง


สู่ชีวิตวัยเยาว์ เรื่องเล่าเร้าพลัง

ณ จุดที่ท่านหยุดยืนอยู่ ส่งสายตาไปยังคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ยิ้มให้ ยิ้มทางปาก ยิ้มด้วยดวงตา ยิ้มด้วยหัวใจ ทุกคนเดินไปหาคนที่ยืนอยู่ข้างๆหนึ่งคน เสร็จแล้วนั่งลงหันหน้าเข้าหากัน นั่งใกล้ชิดกัน เข่าชนเข่า (ไม่ต้องถึงขนาดเกยกัน จะเมื่อยซะเปล่าๆ) พอพูดกันเบาๆก็ได้ยิน คนๆนี้ ที่นั่งต่อหน้าเรานี้ เราอาจจะคิดว่ารู้จักกันเป็นอย่างดี แต่นั่นก็เพียงแต่เรื่องราวภายนอก เรื่องที่ที่ทำงาน ซึ่งเป็นแค่เศษเสี้ยวชีวิตของเขา ถ้าเราจะรู้จักเขาจริงๆ นั่นคือไม่ได้รู้จักเพียงแค่หน้าตา ชื่อนามสกุล หรือทำงานอะไรอยู่ที่ไหนเท่านั้น เรามาลองฟังชีวิตวัยเยาว์ของเพื่อนดูซิ ว่าก่อนจะมาถึงวันนี้ ก่อนจะมาเป็นตำแหน่งหัวหน้าคน ครูคน แม่คน เขาเป็นอย่างไรมาก่อน อะไรที่เป็นความประทับใจตั้งแต่วัยเด้กบ้าง

กติกาง่ายๆ

  • ให้คนที่อายุน้อยกว่าเล่าก่อน (ซื่อสัตย์หน่อยนะครับ)
  • คนฟังต้องไม่ขัด ไม่แทรกแซง ใดๆทั้งสิ้น ทำหน้าตาท่าทางได้ แต่ห้ามด้วยคำพูด
  • คนฟังพยายามตั้งใจฟังให้ดี

เดี๋ยวจะมีเคาะระฆัง ให้เริ่มได้ หลังจากนั้นก็ให้หยุดเมื่อได้ยินเสียงระฆังอีกครั้งหนึ่ง

เนื่องจากโดยธรรมชาตืแล้ว ผมเด็กสุด ณ ที่นี้ (ดีใจเอ๊ยดีใจจัง) จับกับใครก็จะได้เล่าก่อนแน่อน ก็ได้จับเข่า (ผมเอง) คุยกับพี่น้อยหน่าแห่ง ward ตา ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่ดีมากๆ เพราะภรรยาผม หมอเพ็นนีก็เป็นหมอตาอยู่ ward เดียวกัน แถมพี่เขายังเป็น The other half ของพี่รุ่งโรจน์ อดีตรับราชการเป้นอาจารย์แพทย์ภาคศัลย์ สั่งสอนผมมาตั้งแต่วัยเยาว์ไร้เดียงสา (บอกแล้วว่าเด็กจริงๆ ไม่เชื่ออีกแล้วเออ)

"ชีวิตวัยเด็กนั้นช่างเป็นชีวิตที่น่าสนุกสนานเสียนี้กระไร ผมเป็นลูกคนสุดท้องในห้าคน นอกเหนือจากพ่อแม่แล้ว ก็มีพี่ชาย 3 คนและพี่สาวหนึ่งคน เนื่องจากพี่คนก่อนหน้านี้ (ท้องที่ห้า) ของแม่แท้งซะ ผมก็เลยถูกฝากเป็นลูกหลวงพ่อที่เป็นพระประธานอยู่ที่วัดเครือวัลย์เป็นการแก้เคล็ด ผมก็เลยมีทั้งพ่อคน และพ่อพระตั้งแต่นั้นมา

ที่บ้านมีห้องสมุดของพ่อหนึ่งห้อง มีหนังสือจิปาถะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนิยายต่างๆ วรรณคดีไทย ไซอิ๊ว ซ้องกั๋ง เปาบุ้นจิ้น พระรถเมรี นางสิบสอง สุธนมโนห์รา ชุดหนังสือของพนมเทียน หรือล่องไพร ชุดของหม่อมคึกฤทธิ์ แต่เหนืออื่นใดก็คือหนังสือกำลังภายในทุกเรื่องของจำลอง พิศนาคะ ว. ณ เมืองลุง และสองพี่น้อง น. นพรัตน์ ทั้งรวมเล่ม และที่ออกเป็นเล่มเล็กๆอาทิตย์ละเล่ม ทีละสีห้าเรื่อง ก็ได้ตะลุยอ่านตั้งแต่ทำความรู้จักตัวอักษรไทย จนโตมานิด ถึงพึ่งรู้ว่าไอ้ที่เรียนๆที่โรงเรียนก็ตัดต่อมาจากหนังสือเหล่านี่เอง วิชาวรรณคดีจึงเป็นวิชาที่โปรดปราน เพราะง่ายมาก เล่าได้ทั้งเรื่องเกือบทุกเรื่องมาก่อนแล้วทั้งนั้น อย่างรามเกียรตินี่ผมอ่านจบไปแล้วประมาณ 4 รอบ ก่อนจะได้เรียนตอนหอกโมกขศักดิ์ ตอนนั้นผมมักจะอาสาทำรายงานวรรณคดีให้เพื่อน ออกไปบรรยาหน้าชั้น ทีละทั้งเรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นอิเหนา หรืออะไร แถมด้วยการวาดรูปประกอบบนกระดานดำ บางทีเล่าจนเกินเวลาหมดคาบเรียน หันไปอ้าว อาจารย์ของอีกชั่วโมงกำลังยืนกระดิกเท้าฟังอยู่นี่หว่า รีบกราบบังคมลา แต่อาจารย์ที่รอมีการบอกว่าไม่เป็นไร ให้เล่าต่อให้จบ กำลังมัน!!

เนื่องจากเป็นลูกคนเล็ก พี่ๆเขาโตกันมาเป็นคู่ๆ เขาก็จับคู่กันไปเรียนว่ายน้ำ เรียนขี่จักรยาน ผมคนเดียวที่ไม่มีคู่เรียน ต้องเรียนคนเดียว ผลก็คือว่ายน้ำกะท่อนกะแท่น แถมขี่จักรยานก็ไม่เป็นด้วย ตอนเด็กๆจะเจ้าอารมณ์ (อืม.... ไม่เชิงแบบนั้น แบบว่าอารมณ์อ่อนไหวมากกว่า) ดูหนังไทยหลังข่าวสามารถร้องไห้ได้ทุกเรื่อง นัยว่ามี voluntary tear gland ซึ่งสามารถนำมาใช้ควบคุมบรรยากาศในบ้านได้ด้วย ไม่ว่าจะเอาอะไร ดูทีวีช่องไหน เอาขนม ไม่กินข้าว ฯลฯ ร้องไห้อย่างเดียว แล้วได้ด้วย ก็เลยใช้เป็นเครื่องมือมานานมากจนหมดความน่ารักไร้เดียงสา จำเป็นต้องเลิกใช้ไป (น่าเสียดายจริงๆ) ปรากฏว่าพื้นฐานแห่งการสะเทือนใจต่อเรื่องราวชีวิต (ของนางเมรี ของตะเพียนทอง โสนน้อย ฯลฯ) ได้ง่ายๆนั้น กำลังมาเป็น ต้นทุนสำคัญ ในการทำ palliative care ที่เป็นงานหลักตอนนี้อย่างไม่น่าเชื่อ (acausal connection principle, aka Synchronicity)

เต๊ง!! หมดเวลา !

อ้าว หมดเวลาซะแล้ว ใส่เบรคเกือบไม่ทัน พูดต่อไปตามโมเมนตัมอีกสองสามสี่ห้าประโยค เพราะความทรงจำไหลลื่นที่ตนเองก็ยังไม่ทราบว่าจำได้เยอะขนาดนี้ มันหลั่งไหลพรั่งพรูแบบทำนบแตก พี่น้อยหน่าพยักหน้าประกอบการฟังแทบจะกลายเป็นตุ๊กตาหลังรถที่หัวกระดกด๊กๆตามการสั่นสะเทือนไปแล้ว น่าเมื่อยคอแทน (ต้องขอโทษด้วยนะคร้าบ)

อาจารย์น้องบอกว่า ขออภัยที่ขัดจังหวะ แต่ถ้าปล่อยให้แต่ละคนเล่าไปเรื่อยๆ สงสัยจะไม่ได้ทำอย่างอื่นกัน ปรากฏว่าทุกกลุ่มกำลังน้ำไหลไฟดับเหมือนๆกันหลายกลุ่มทีเดียว เสียงเซ็งแซ่ ไม่มีหยุดเลยตั้งแต่ระฆังดังครั้งแรก ทีนี้จะขอให้คนที่นั่งฟังเมื่อตะกี้นี้ ลองพยายามเล่ากลับ เรื่องที่ได้ยินมาทั้งหมด โดยเจ้าของเรื่องให้นั่งฟังเฉยๆ ไม่ต้องขัดแย้ง (แม้ว่าประวัติส่วนตัวของเราจะบิดเบี้ยวแค่ไหนไปจากเดิม หรือตอนที่เขาบังอาจเล่าข้าม "highlight" ชีวิตของเราไปได้ยังไง ฮึ ตรงอื่นขาดได้ ตรงนี้ขาดไม่ได้ ไม่ยอมๆ) ก็ไม่เป็นไรทั้งสิ้น ให้อดกลั้นและตั้งใจฟังให้ดี

ปรากฏว่าพี่น้อยหน่าสามารถเรียงร้อยประวัติเล่าสดของผมมาได้เกือบจะสมบูรณ์ 100% เลยทีเดียว ซึ่งน่าประหลาดใจมาก ตอนผมเล่าก็ไม่ได้มี chronological หรือตามลำดับเวลาแต่อย่างใด เหลือแต่รายละเอียดบางอย่างที่เล่าข้ามไป นั่นคงเป็นเพราะมี technical term หรืออะไรที่เรามักไม่ค่อย share ออกมาต่อสาธารณะเท่าไร แต่ (เข้าใจว่า) ด้วยความเป็นเซียน พี่น้อยหน่าจึงจำและเล่าได้ฉอดๆไม่แพ้เจ้าของเรื่องเลยทีเดียว (ฉอดๆนี่ผมใส่ไข่ลงไปเล็กน้อยเอาเองนะครับ) เดี๋ยวพี่น้อยหน่าหรือเพื่อนสนิทจะท้วงติงว่าฉันไม่เคย (เห็น) ฉอดๆอย่างนั้นหรอกย่ะ!!

ถึงตอนนี้ก็พอจะทราบเป็นเลาๆแล้วว่า We are not alone แต่เป็นการ breaking the bad news แบบไม่รอผลนานหรือเร่งรัดมากไปนิด ในจริตของผมเองนะครับ (การบอกว่าหมดเวลาก็เป็น bad news เหมือนกันนะครับ เวลาคนเรากำลังเพลินๆทำอะไร ลองนึกถึงจิตใจเด็กทีเราบอกว่า เอ้า หมดเวลา เข้านอนได้สิ ว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร)

ดูท่าจะเชิดลงโรงยาก เอาเป็นพรุ่งนี้มาต่อกิจกรรมนี้กันก็แล้วกัน

ขอบพระคุณครับ

 

หมายเลขบันทึก: 91895เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2007 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มิน่า อาจารย์ จึงเล่าเรื่องราว ได้ยาวๆ อธิบายได้ ลึกซึ้ง สละสลวย สวยงาม

พอดีเข้าทางตอนที่ 2 ไม่ได้เข้าทางสารบัญหน้าหลัก จึงยังไม่ทันเห็นบันทึกนี้

ลองคลิกปุ่ม next ถึงได้รู้ว่ามี

อยากรู้ว่ากิจกรรมนี้เขาต้องการอะไรจัง

สงสัยต้องรอคอยตอนต่อไป

^__^

อ่านเรื่องราวด้วยความเพลิดเพลิน และมีอมยิ้มน้อยๆ เปื้อนบนใบหน้า

 ขอบคุณนะคะที่ช่วยให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ และมีพลังในเช้าวันจันทร์

คุณจูนครับ P

ยังอีกหลายตอนกว่าจะจบครับ (หรือไม่ก็จนกว่าเจ้าของเรื่องที่เอามาเล่า [เผา] จะมาทำร้ายร่างกาย) ใจเย็นๆ กินอะไรให้อร่อย ต้องทีละน้อยๆครับ

คุณ "ไม่แสดงตน" ครับ

เป็นรอยเปื้อนแบบไม่ต้องเช็ดออกนะครับ เปื้อนให้ตลอดทั้งอาทิตย์เลยยิ่งดี :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท