พอกันทีกับความยากจน The End of Poverty ตอนจบ


บันทึกที่แล้ว ได้พูดถึงหน้าตาความยากจนกันไว้นะครับ พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อ่านหนังสือเรื่อง The End of Poverty แล้ว รู้สึกว่าคนเขียนคือ Dr. Sachs นั้น สนับสนุนให้ตัดหนี้ของประเทศที่ยากจนออก

เหตุผลที่ Dr. Sachs นั้นสนับสนุนให้ประเทศเจ้าหนี้นั้นยกยอดให้ประเทศลูกหนี้ก็เพราะว่า ประเทศลูกหนี้นั้นไม่เหลืองบประมาณอะไรเลย หลังจากที่จ่ายหนี้ให้กับประเทศเจ้าหนี้ (งบประมาณนี่รวมไปถึงเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติแล้วนะครับ) บ่อยครั้งที่ Dr. Sachs นั้นยกแผนมาแชล ที่ใช้ช่วยประเทศแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ประเทศที่แพ้สงครามนั้นไม่ต้องจ่ายหนี้ครับ  

เมื่อไม่เหลืองบประมาณอะไรเลย ทำให้ประเทศด้อยโอกาสเหล่านี้นั้น ไม่เหลือเงินที่จะมาพัฒนาสิ่งที่จำเป็นของประเทศต่อไป โดยที่สิ่งจำเป็นต่างๆนั้นมีดังต่อไปนี้ครับ

  1. ทุนด้านมนุษย์ เช่นสุขภาพ โภชนาการ การศึกษา
  2. ทุนด้านธุรกิจ เช่นเครื่องจักร งานด้านบริการและการผลิต
  3. ระบบสาธารณูปโภค เช่นถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา
  4. ทุนด้านธรรมชาติ เช่นพื้นที่เพาะปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของดิน  ระบบนิเวศน์ที่สมดุลย์
  5. ทุนด้านสังคม เช่นกฏหมาย รัฐบาล
  6. ทุนด้านความรู้ เช่นนวัตกรรมต่างๆ

ซึ่งแน่นอนครับ ถ้าเราสามารถพัฒนาทั้งหกด้านนี้ได้ เราก็จะทำให้ตัวเองนั้นสามารถก้าวให้หลุดพ้นจากวงจรยากจนได้ครับ ก็ในเมื่อวงจรความยากจนนั้นอยู่ตรงที่เราไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความจำเป็น เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่มีส่วนเกิน ไปขาย หรือไปทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น

นอกจากการตัดหนี้ Dr. Sachs นั้นก็บอกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือประเทศด้อยโอกาส เท่ากับ 0.7% ของ GNP นั้น ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ครับ (สัญญาพวกนี้นั้นให้มาเป็นสิบปีแล้ว) ผมว่านี่แหละครับคือจุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ พยายามเรียกร้องให้คนนั้นเห็นภาพความยากจน และให้เห็นภาพที่คนอื่นมองประเทศสหรัฐในเรื่องการต่อสู้กับความยากจน บ่อยครั้งที่หนังสือได้กล่าวโทษ และแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ IMF และ World Bank

แต่เมื่อได้เงินแล้ว รัฐบาลประเทศเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆให้ดีครับ โดยเฉพาะโครงการบางอย่างเช่นในข้อสอง รัฐบาลก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องไปลงทุน  

ในขณะเดียวกันโครงการบางอย่างก็สมควรที่จะเป็นโครงการของกลุ่มประเทศมากกว่าโครงการของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับเรื่องระบบสาธารณูปโภคด้านการขนส่ง 

ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่ยากจนมากๆนั้น รัฐบาลก็สมควรที่จะให้การช่วยเหลือ อย่างเช่นไฟฟ้า หรือประปา ซึ่งรัฐบาลก็น่าจะกำหนดลิมิตสูงสุดให้คนด้อยโอกาส แต่ถ้าใช่เกินก็จำเป็นที่จะต้องคิดค่าใช้

มุมมองส่วนตัว

ผมมองว่าประเทศไทยโชคดีครับที่ไม่ได้เจอความโหดร้ายของภูมิประเทศอย่างหลายๆประเทศในแอฟริกา เรามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศ แล้วก็สามารถที่จะผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างดี  

แต่ผมว่าในความโชคดีนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการที่สมบูรณ์แบบด้วยครับ

เช่นเรื่องระบบชลประทาน ที่เราจำเป็นที่จะต้องวางแผน เรื่องการใช้น้ำ ทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการใช้น้ำในครัวเรือน ซึ่งผมว่าเรื่องนี้สำคัญมากครับ 

ผมอยากเห็นรัฐบาลนั้นแก้ปัญหาให้ครบวงจรครับ เช่นปัญหาเรื่องราคาพืชผลตกต่ำ  ในโลกปัจจุบันนั้น มีเทคโนโลยีหลายต่อหลายอย่างที่เราสามารถนำมาใช้ได้

เช่น แต่ละปี กระทรวงพาณิชย์นั้นพยายามคาดการณ์และพยากรณ์ว่า พืชผลชนิดไหน ที่ราคาจะดี และสมควรจะปลูกเท่าไร ตามหลักเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์อุปทาน ครับ  รวมไปถึงการซื้อตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือตลาดออปชั่น เพื่อประกันราคาขายขั้นต่ำได้

เมื่อได้แล้ว กระทรวงเกษตรก็อาจจะศึกษาว่าสมควรจะปลูกอะไร ในพื้นที่ตรงไหน เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราสามารถคาดการณ์ว่าอากาศจะเป็นยังไงได้พอสมควรครับ เราก็สามารถที่จะเอาเทคโนโลยีตรงนี้มาใช้ได้

พอคาดการณ์ได้แล้ว กระทรวงเกษตร ก็ออกประกาศออกมาว่าในแต่ละพื้นที่ สมควรจะปลูกอะไรบ้าง ปลูกเท่าไร แล้วก็ออกประกาศให้เกษตรกรมาลงทะเบียนไว้ว่าจะปลูกอะไร ปลูกเท่าไร (เพื่อการกระจายความเสี่ยง อาจจะต้องบังคับให้เกษตรกร ปลูกพืชมากกว่าหนึ่งชนิด) โดยที่เกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้รัฐบาลก็ประกันราคาขั้นต่ำไปตั้งแต่ต้น เพราะว่าราคาพวกนี้กระทรวงพาณิชย์ก็จะรู้แล้ว ตั้งแต่ตอนทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

หมดสมัยที่จะปล่อยให้เกษตรกรจะปลูกอะไรก็ปลูก แล้วพอถึงเวลาก็เจอปัญหาพืชผลตกต่ำครับ

หลายคนอาจจะบอกว่า เราอาจจะเจอตลาดเกษตรจากเมืองจีน เราก็จำเป็นที่จะต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมาครับ สร้างแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่ Made in Thailand  แต่เป็นการสร้างแบรนด์ว่ามาจากตรงไหนของเมืองไทย เช่นข้าวหอมมะลิต้องมาจากทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วเมื่อสร้างได้แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาคุณภาพให้ได้ครับ

สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล และที่สำคัญคือรัฐบาลต้องกล้าครับ เพราะอยู่ๆจะบังคับให้เกษตรกรนั้นจำกัดว่าจะปลูกอะไรได้บ้างนั้น และปลูกเท่าไรนั้น มันอาจจะเสียคะแนนนิยมแน่นอนครับ

อันนั้นเป็นมุมมองของผมนะครับ ทำยังไงให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเรามากที่สุด ทำยังไงให้เราแก้ปัญหาให้ครบวงจรครับ และคำว่าครบวงจรนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายๆฝ่าย  

หลายท่านอาจจะมองว่ามุมมองที่ผมมองนั้น ดูจะเป็นแบบทุนนิยมไปหน่อย ดูไม่เหมือนเศรษฐกิจพอเพียงเลย

ผมว่าคำว่าพอเพียงอยู่ตรงที่เกษตรกรนั้นจะไปลงทะเบียนปลูกอะไรและพื้นที่เท่าไรครับ เพราะตรงนี้นั้นเป็นเรื่องของส่วนเกินแล้วครับ เกษตรกรสามารถที่จะปลูกพืชผล หรือส่วนต่างๆให้พอกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ และใช้พื้นที่ส่วนเกินที่เหลือ เพื่อประโยชน์สูงสุดครับ

แน่นอนครับ วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดครับ อาจจะมีมุมมองต่างๆที่ดีกว่านี้ก็ได้ เพราะว่ามุมมองนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลจริงใจ ไม่มีการกำหนดการเพาะปลูกให้กับพวกพ้อง หรือพ่อค้ารายใหญ่ ใช้ระบบใครมาลงทะเบียนก่อนก็ได้ก่อน มีการใช้เทคคโนโลยีที่ถูกต้อง ไม่หมกเม็ด เกษตรกรก็จริงใจ ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาเก็บเกี่ยว แล้วมาเจอว่าตลาดให้ราคาดีกว่า ก็ไม่ขายให้รัฐบาลครับ

ในโลกนี้ไม่มีอุตสาหกรรมที่ล้าหลังครับ มีแต่วิธีการประกอบการที่ล้าหลัง

ที่มา Sachs, J. D. The end of poverty: Economic possibility of our time, Penguin Books, NY 2006 ISBN 0-14-303658-0


เล่มต่อไป หลังจากติดเรื่องนี้กับคนสองคนครับ

เล่มต่อไปจะยังวนเวียนอยู่กับเศรษฐศาสตร์เหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเงินที่สัมพันธ์กับการเมืองครับ

หนังสือชื่อว่า The cash nexus เขียนโดย Prof. Niall Ferfusan ครับ อาจารย์สอนประวัติศาสตร์การเงินและการเมืองของมหาวิทยาลัย Oxford

 

หมายเลขบันทึก: 91333เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2007 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • เป็นโชคดีของประเทศไทยมากๆๆเลยครับ
  • ที่ไม่เป็นเหมือนประเทศอื่นๆ
  • ขอบคุณครับผม

สวัสดีค่ะพี่ต้น

พอเห็นคำว่าตอนจบ มีงงนิดหน่อยค่ะ เพราะหนังสือเล่มนี้หนาพอตัว และเนื้อหาค่อนข้างเยอะ สามารถอ่านแล้วสรุปจบในสองตอน ขอชมค่ะ

ขอตัวไปนอนก่อน แล้วจะมาอ่านละเอียดอีกรอบนะคะ

ณิช 

ไปอ่านหนังสือ.....

เข้ามาเยี่ยม....

เจริญพร

  อยากขยันได้ครึ่งพี่ต้นก็ยังดี

  ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ "ไปอ่านหนังสือ"

  • บันทึกนี้ที่ทำ "ที่มา" หรือ reference ไว้อย่างดีมาก ทำให้ผู้สนใจเข้าไปสืบค้นข้อมูล หรือเลือกอ่านหนังสือได้... สาธุ สาธุ สาธุ

สวัสดีค่ะคุณต้น (ไปอ่านหนังสือ)

ช่วงหลังสงกรานต์นี้ยุ่งมากเลยค่ะ

ยังไม่ได้อ่านละเอียดเลย แวะมาแปะโป้งไว้ก่อนค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

มีประสบการณ์นิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร

ปัญหาเรื่องราคาพืชผลตกต่ำ  

.ตัวเองทำอุตสาหกรรมอาหารมา และผลิต

เมล็ดพันธ์ให้ด้วยในบางอย่าง1. เห็นซ้ำซากแทบทุก2ปี เป็นวงจรคือ ถ้าปีไหนพืชผลใดราคาขายดี ของน้อย โรงงานต้องง้อ  ปีหน้า หรือปีต่อไป รับรองได้ของถูก เพราะเกษตรจะแห่กันไปปลูก แล้วก็ล้นตลาด ทางการพุดก็ไม่เชื่อ เพราะทางการชอบมาบอกให้ปลูกโน่นนี่ พอล้นตลาด ก็ไม่รับผิดชอบ ไปสัมภาษณ์ชาวนาชาวสวนแถวสุพรรณบ่อย บางทีไปให้เขาปลูกเห็ด จนล้นตลาด ราคาตกก็ขาดทุน

2.การที่ส่วนใหญ่ ปลูกในเนื้อที่น้อยไป 5-10ไร่ และไม่ค่อยมีเครื่องทุ่นแรง ทำให้ต้นทุนสูง แต่ละวัน ไม่ค่อยได้งาน กว่าจะออกไปไร่ ก็สาย เย็นก็กลับ ทำให้ไม่ค่อยได้อะไรเป็นกอบเป็นกำเท่าไร แถมบางปีเจอ

ราคาตก เลยแย่เข้าไปอีก

  ควรต้องมีการลงทะเบียน เพื่อมิให้มีส่วนเกินมาก ราคาจะได้ไม่ตก แตจะควบคุมเขาอย่างไร เกษตรดื้อนะ

ปัญหาที่พบมากคือ พอราคาดี ชอบแอบไปขายให้เจ้าอื่น ทั้งๆที่เราทำสัญญาไว้ก่อน และเมล็ดพันธ์ของเราด้วย

เรารู้ทุกที เพราะเราประเมิน yield/ไร่ได้ง่ายๆ ชอบแอบขายตอนดึกๆ  ตรงนี้จะแก้อย่างไรคะ

การสร้างbrand

 เห็นด้วยอย่างยิ่ง เหมือนWashington Apples  ของอเมริกา

ที่เราทำมา จะเป็นbrandของเรา River Kwai-King of Sweet Corn ขายทั่วยุโรปและญี่ปุ่น บางที ก็เป็นbrand ของลูกค้าเอง   เพราะเราผลิตเมล็ดพันธ์ hybridเอง โดยทีมนักวิชาการ

พันธ์ของเราที่มีลักษณะเด่นคือ  Sweet and crisp ปรับสายพันธ์มานาน กว่าจะได้เป็นที่ถูกใจของลูกค้า  เมื่อbrandติดตลาด เราเลือกลูกค้า ไม่ใช่ลูกค้าเลือกเรา

คุณต้นคะ เรื่องที่คุณเขียนในบันทึกดีมาก แต่เวลาทำไม่ง่ายค่ะ admireคุณจริงๆนะ อยากเห็นตัวจริงแล้วนะ เก่งจังเลย

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

ขอบพระคุณมากครับที่ได้กรุณาเข้ามาอ่านครับ ประเทศไทยนั้นโชคดีมากจริงๆครับที่เรามีทรัพยากรมากมาย มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมอันประเสริฐครับ

หน้าที่ในการพัฒนาชาติก็เป็นของพวกเราทุกๆคนที่จะต้องร่วมมือกันครับ อย่าให้เราตกไปอยู่ในกับดักความยากจนได้ครับ

ต้น

สวัสดีครับคุณน้องณิช

ไม่ต้องเรียกคุณพี่ก็ได้ครับ มันฟังดูตลกครับ

หนังสือเล่มนี้รายละเอียดเยอะนะครับ อ่านแล้วก็สนุกและได้ความรู้เยอะมาก แต่ช่วงนี้วุ่นๆนะครับ เลยไม่ค่อยได้โน้ตแล้วมาเขียนเหมือนกับหนังสือบางเล่มครับ เลยทำให้เป็นการเขียนแบบสองตอนจบ (เรียกว่าสรุปแบบสุดๆ)

ถ้ารายละเอียดไม่ได้ดั่งใจคุณน้องณิช ก็เชิญคุณน้องณิชทิ้งประเด็นไว้ได้เลยครับ เราจะได้มาคุยกันต่อครับ

โชคดีนะครับ

ต้น  

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากครับที่ได้กรุณาสละเวลาเข้ามาอ่านครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้ามาด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

ต้น

สวัสดีครับคุณน้องเดอ

อย่าเอาครึ่งหนึ่งของความขยันของผมเลยครับ เพราะมันไม่มีครับ limit เข้าสู่ศูนย์ครับ เอาของคนอื่นจะดีครับ :D

ต้น

กราบสวัสดีครับอาจารย์หมอวัลลภ

กราบขอบพระคุณคุณหมอมากครับที่ได้กรุณาสละเวลาเข้ามาเยี่ยมบล็อกของผมอีกครั้งครับ :D

 

สวัสดีครับอาจารย์ด็อกเตอร์กมลวัลย์

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้กรุณาเข้ามาลงชื่อไว้ก่อน

ถ้าอาจารย์ไม่ได้ยุ่งจนเกินไปนัก และเห็นว่ามีข้อบกพร่องบางประการ ขอเชิญอาจารย์ช่วยทิ้งความเห็นอันมีค่าไว้ด้วยนะครับ เผื่อผมจะได้แตกประเด็นความคิดอะไรๆได้มากขึ้นครับ

ขอบพระคุณครับ

ต้น

สวัสดีครับอาจารย์ sasinanda

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับสำหรับความเห็นและคำถามครับ

อาจารย์พูดเหมือนที่ผมทิ้งท้ายไว้ตรงข้อสมมติฐานครับ ว่าความเห็นผมตั้งอยู่ในสมมติฐานว่าทุกคนมีความจริงใจต่อกัน

แต่เมื่ออาจารย์ได้กรุณาแลกเปลี่ยนมาและถามมา

ขั้นแรก รัฐบาลต้องเน้นทางวางแผนครับ แผนที่สอดคล้องและประสานกันระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากร (ที่จัดการเรื่องน้ำ) และกระทรวงมหาดไทย (เพื่อช่วยในการจัดการเรื่องลงทะเบียนขึ้น)

ขั้นสองครับ เมื่อมีการลงทะเบียนแล้ว ถือว่าเกษตรกรนั้นได้ทำสัญญากับรัฐบาลแล้วครับ อันนี้รัฐบาลอาจจะตั้งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจมาจัดการตรงนี้ก็ได้ครับ

แต่มีความคิดผมมีความแตกต่างกับอาจารย์นิดหนึ่งครับ ตรงที่การลงทะเบียนนั้นลงทะเบียนเหมือนส่งส่วยครับ คือสามารถส่งให้ทางการได้เท่าไรครับ

เมื่อเกษตรกรไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ต้องเสียค่าปรับครับ หรืออาจจะตัดสิทธิไม่ให้มาลงทะเบียนอีก แต่เรื่องนี้ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยครับ เช่นถ้าฝนแล้ง แถมรัฐบาลก็ไม่ทำการส่งน้ำให้เพียงพอ อันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสียครับ แต่ให้รัฐบาลจ่ายให้เป็นค่าชดเชยในส่วนที่เกษตรกรลงทะเบียนไว้แต่ผลได้ไม่พอครับ (ไม่ต้องชดเชยทั้งหมด)

วิธีการที่รัฐบาลมาจัดการตรงนี้นั้น อาจจะดีอย่างตรงที่รัฐบาลอาจจะคุมราคาได้ครับ

เรื่องแบรนด์นั้น ผมว่าจำเป็นมากครับ ผมคิดว่าถ้าเราจะทำใช้คำว่า localization สู้กับ globablization เราต้องสร้างแบรนด์ท้องถิ่นครับ ทำยังไงก็ได้ให้เราสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นของท้องถิ่น ก็ OTOP นั่นแหละครับ แต่ต้องทำให้มันดีกว่านั้น พิเศษกว่านั้น

ทำให้แต่ละท้องถิ่นนั้นมีสินค้าพิเศษ เหมือกับไวน์นะครับ ที่ไวน์นั้นจะมี region ปลูกไวน์ที่ดัง เช่น บอโดในฝรั่งเศส Napa Valley ของอเมริกา

ซึ่งมันไม่ได้แตกต่างอะไรกับ การที่เรามีเงาะโรงเรียน ที่สุราษฏร์ ลิ้นจี่ที่อัมพวา ทุเรียนเมืองนนท์ ผมคิดว่าพันธุ์พวกนี้ต้องรักษาไว้ ทำเป็นแบรนด์เนมขึ้นมาครับ อาจจะต้องใช้เวลาครับ แต่ก็ต้องเริ่มทำครับ

อาจารย์ครับ ผมยอมรับครับว่าเป็นเหมือนฝัน มันยาก แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเริ่มครับ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ขั้นแรกที่ยากที่สุดก็คือการเริ่มครับ พอเริ่มได้ ผมว่าอะไรๆมันก็น่าจะดีขึ้นครับ ว่าแต่จะมีรัฐบาลไหนจะกล้าเริ่ม และอีกนานขนาดไหนก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

อาจารย์ครับ ผมต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์จริงๆครับที่ได้กรุณาชมและให้เกียรติผมครับ

ผมแค่คนขายฝันครับ :D

ต้น

สวัสดีค่ะพี่ต้น

อ่านจบสองตอนแล้วค่ะ ต้องขอโทษด้วยที่จะต้องบอกว่า มีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก ๆ มากจนไม่สามารถที่แสดงความคิดเห็นใด ๆ และหนังสือเล่มนี้ได้แค่หยิบดูค่ะ ไม่ได้ซื้อมา (เปลี่ยนใจไปซื้ออีกเล่มที่เราสนใจมากกว่า ฮ่าๆๆ)

ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แบบไม่มีหลักวิชาการอ้างอิง แต่ได้จากประสบการณ์การเล่นเกมส์ฟาโรต์นะคะ

ถ้าเราเริ่มต้นเกมส์ด้วยเมืองที่ภูมิประเทศไม่ดี โดยเฉพาะถ้าไม่มีพื้นที่เพาะปลูก มีหิน ภูเขาสูง หรือแห้งแล้งมาก น้ำท่วมบ่อย หรือว่าไม่มีแม่น้ำผ่าน จะทำให้การพัฒนาเมืองนั้นยากมาก

เหตุผลแรกเลย คนเราทุกคนต้องกินต้องอยู่ การเริ่มพัฒนาเมืองต้องเริ่มให้คนกินอิ่มนอนหลับ เมื่ออาหารการกินขาดแคลน การพัฒนาด้านอื่นก็มีปัญหาตามมา จะให้คนมากินทองแดงทองคำก็คงไม่ได้

เหตุผลต่อมาคือ เมื่อสภาพภูมิประเทศไม่ดี การลงทุนสร้างเมืองก็จะสูงด้วยเช่นกัน เช่นต้องแก้ปัญหากับหินแข็ง ภูเขาสูงก่อนลงมือทำสิ่งปลูกสร้าง หรือสร้างทุกอย่างเสร็จสรรพแต่น้ำท่วมหรือแผ่นดินไหวทำให้ทุกอย่างพัง กลายเป็นสูญเปล่า

สุดท้าย ถ้าเมืองไม่มีการติดต่อคมนาคมที่ดี เช่นไม่มีแม่น้ำ ไม่มีการกระจายสินค้า การแลกเปลี่ยนสินค้า ก็ทำให้เมืองเจริญได้ช้าเช่นกัน

สำหรับวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น สินแร่ พืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ละเมืองต้องรู้จักใช้วัตถุดิบนี้ให้คุ้มค่าและสร้างมูลค่าให้มากที่สุด โดยเฉพาะการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ก่อนที่จะส่งออกไปขาย

การติดต่อการค้ากับเพื่อนบ้าน ก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม คู่ค้าทั้งสองพอใจ แต่จะทำอย่างนั้น เมืองเราเองต้องมีเศรษฐกิจที่มั่นคงระดับนึง โดยอาศัยปัจจัยข้างบนที่บอกไว้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการเสียเปรียบ โดยเฉพาะการเสียดุลการค้า ถ้าเราเสียดุลจากสินค้าอย่างนึง เราต้องหาวิธีให้ได้ดุลกลับมาจากสินค้าอื่นหรือวิธีอื่น เพื่อให้เมืองเรารักษาระดับการคลังไว้ได้

ปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน คือสงคราม เมืองที่มีสงครามบ่อย ต้องแบ่งงบประมาณมาใช้ในการสร้างอาวุธ ป้องกันเมือง ฝึกคน ใช้เงินสูง ขาดแรงงาน และผู้คนไม่มีความสุข

อีกนิดนึงค่ะ คือเรื่องการเก็บภาษี ถ้าคนในเมืองเรามีฐานะดี เราก็สามารถเรียกเก็บภาษีได้และนำเงินส่วนนั้นมาพัฒนาเมืองต่อไป แต่ถ้าประชาชนยากจน เรียกเก็บภาษีไปก็ไม่ได้อะไร รายได้ที่เราจะมาใช้พัฒนาเมืองก็น้อยลงไปด้วยเช่นกัน

อันนี้คือสิ่งที่ได้จากการเล่นเกมส์นี้ค่ะ ไม่มีทฤษฎีหรือหลักการที่เรียนมาจากวิชาเศรษฐศาสตร์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเท่าที่จำความได้ ไม่เคยมีโอกาสเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เลยค่ะ ฮ่าๆๆๆ

ขอบคุณมากค่ะ และรออ่านหนังสือเล่มใหม่อยู่นะคะ วันนี้ก็ได้หนังสือมาเล่มนึงค่ะ เนื้อหาเกี่ยวกับ World politics & Economics ไม่กล้าบอกว่าอ่านจบแล้วจะมาเล่า เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะจบ ฮ่าๆๆๆ ^_^

ณิช

สวัสดีครับคุณน้องณิช

ขอโทษนะครับที่มาตอบช้ามาก ช่วงนี้วุ่นจริงๆครับ

เรื่องที่คุณน้องณิชพูดมานั้น จะเกมส์หรือจะหลักความเป็นจริงก็คล้ายๆกันครับ ไม่งั้นคนจีนคงไม่ถือเรื่องฮวยจุ้ยหรอกจริงไหมครับ

หลายคนอาจจะคิดว่ามันงมงาย แต่ผมกลับคิดว่า ศาสตร์อะไรก็ตามถ้ามันอยู่ได้ถึงพันปี ศาสตร์นั้นต้องมีคุณค่าแน่นอนครับ แต่ในความเป็นจริงฮวงจุ้ยนั้น เป็นเรื่องของการสร้างสิ่งปลูกสร้างให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม

เรื่องเก็บภาษีกับสงครามกำลังอ่านอยู่เลยครับ เรื่อง cash nexus แล้วจะมาเล่าให้ฟังทีหลังล่ะกันนะครับ

แล้วจะรออ่านเรื่องที่คุณน้องณิชอ่านจบนะครับ

สวัสดีครับ แล้วก็ขอโทษทีนะครับ ที่ตอบช้ามาก

ต้น

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท