พอกันทีกับความยากจน The End of Poverty


สวัสดีครับ

วันนี้มาคุยกันเรื่องสงครามต่อสู้กับความยากจนกันดีกว่านะครับ หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า The End of Poverty เขียนโดย Dr. Jeffery Sachs อาจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการยูเอ็นที่ชื่อว่า โคฟี่ อันนัน และผู้ริเริ่มโครงการ Millennium Developments Goals ซึ่งเป็นโครงการที่พยายามจะกำจัดความยากจนแบบสุดๆ (extreme poverty) ให้หมดโลกไปภายในปี 2025

หนังสือเล่มนี้ผมว่าเป็นไบเบิลเล่มหนึ่งสำหรับคนที่สนใจด้านเศรษฐศาสตร์แบบมหภาค (macroeconomics) Dr. Sachs นั้นได้เอาประสบการณ์การทำงานกว่าสามสิบปีที่มีส่วนช่วยเหลือประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ด้วยวิธีที่เรียกว่า unorthodox หรือวิธีการแบบที่แตกต่างกับชาวบ้านชาวช่องครับ

หนังสือเล่มจากว่าตอนแรกนั้นประเทศทุกประเทศในโลกนั้นจนเท่ากันหมด แล้วอยู่ๆ เมื่อประมาณ 200-300 ปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางเศรษฐกิจก็เริ่มแยกออกจากกัน ประเทศตะวันตกก็เริ่มรวยขึ้น ประเทศที่จนก็จนลง

อ่านแล้วผมก็บอกว่า เพราะการล่าอาณานิคมนี่แหละที่ทำให้ประเทศนั้นจนลงๆ :D ซึ่งพออ่านต่อไปอีกสามหน้า Dr. Sachs นั้นบอกว่าใช่ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักซะทีเดียวที่ประเทศที่จนก็จนต่อไป และประเทศที่รวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลสนับสนุนความคิดนี้ก็คือ โลกนั้นสามารถผลิตของได้มากขึ้น ไม่ได้คงที่ เพราะถ้าเกิดจากการล่าอาณานิคมนั้น ความสามารถในการผลิตของโลกนั้นต้องคงที่ เพียงแต่ย้ายถิ่นเท่านั้น

เหตุผลหลักๆที่ประเทศนั้นรวยไปเรื่อยๆ

Dr. Sachs ยกตัวอย่างถึงประเทศอังกฤษที่ทำไม ถึงรวยเร็วกว่าชาวบ้านชาวช่อง

  1. อังกฤษนั้นมีสังคมเปิด อังกฤษนั้นพอปี 1500s ก็ไม่มีระบบศักดินา
  2. มีอิสรภาพและเสรีภาพ เมื่อเป็นลักษณะสังคมเปิด ก็มีอิสรภาพ เสรีภาพ หรือ freedom of speech
  3. เป็นศูนย์กลางความเจริญวิทยาการ (แต่น่าสังเกตนะครับ อังกฤษไม่ค่อยมีนักคณิตศาสตร์เก่งๆครับ นอกจากนิวตัว ส่วนมากนั้นเป็นคนเก่งด้านการประดิษฐ์)
  4. มีลักษณะภูมิประเทศที่ดี เพราะว่าประเทศเป็นเกาะ และมีแม่น้ำไหลไปทั่ว ทำให้ไม่ต้องลงทุนในระบบขนส่งมากนั้น และชาวบ้านเข้าถึงสินค้า และเดินทางแบบไปมาหาสู่กันได้ง่าย
  5. เพราะเป็นเกาะนี่แหละครับ ไม่ค่อยมีใครจะมาบุกรุก
  6. อุดมไปด้วยทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนา เช่นถ่านหิน

จาก 6 ข้อ ถ้าจะสรุป ให้ง่ายๆ ก็คืออังกฤษนั้นมีพร้อมทั้งทางด้านการเมืองและสังคม ภูมิประเทศและทรัพยากร และความสามารถด้านนวัตกรรม

และข้อสรุปแค่สามข้อนี่แหละครับ ที่ Dr. Sachs มองต่อไปว่า แล้วประเทศบางประเทศทำไมถึงจนจัง มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศนั้นจน

ทำไมถึงจน

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงความเจริญ เรามาดูกันก่อนนะครับว่า แล้วความยากจนมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วทำไมบางประเทศก็จนแสนจน

  • ความสามารถไม่พอ เมื่อคนนั้นไม่มีความสามารถที่จะฉุดตัวเองออกมาจากความยากจน คำว่าความสามารถในที่นี่ พูดรวมไปหมดทั้งเงินทุน ความรู้ โอกาส เรียกว่าพอจนแล้ว มันก็เป็นวัฏจักรหมุนเวียนกันอยู่ตรงนี้แหละครับ ทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นออกจากวงจรนี้ได้
  • ลักษณะภูมิประเทศ  หลายคนอาจจะงงๆซักหน่อยที่ว่าทำไม ลักษณะภูมิประเทศนั้น มีผลต่อเศรษฐกิจ จริงๆแล้วก็ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอกครับ ดูอย่างกรุงเทพหรือเมืองหลวงใหญ่ๆของโลกก็ได้ เมืองที่เจริญ มักตั้งอยู่ในทำเลทองทางการค้า คือตั้งอยู่ที่ที่สามารถเดินทางติดต่อได้สะดวก เช่นใกล้แม่น้ำ จริงๆก็ไล่กันดูก็ได้นะครับว่า เมืองหลวงของโลกนั้น ก็ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเป็นส่วนมาก นอกจากมีผลต่อการสร้างสาธารณูปโภคแล้ว (เช่นที่ลุ่มก็สร้างถนน หรือขุดคลองที่ถูกกว่าสร้างบทภูเขา) ภูมิประเทศ ก็ยังมีผลต่อการเกษตรกรรมอีกด้วย นี่รวมไปถึงภูมิอากาศด้วยครับ
  • งบดุลการเงิน งบการเงินนั้นมีผลต่อความยากจนของประเทศอย่างมาก Dr. Sachs เรียกว่า Fiscal Trap ก็คือกับดักด้านการเงินของประเทศ ก็คิดดูสิครับ ถ้าประเทศนั้นหนี้เยอะ เงินงบประมาณนั้นนั้นก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้หมด หรือว่า งบประมาณที่ตั้ง เป็นงบที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
  • ความล้มเหลวของรัฐบาล อันนี้ชัดเจนกันอยู่ในตัวนะครับ รัฐบาลที่ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ ก็ย่อมจะมีผลทำให้ชาตินั้นจนลงได้เรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้นั้นรวมไปถึงการดำเนินนโยบายผิดพลาด คอรัปชั่น ความไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้
  • วัฒนธรรม หลายคนอาจจะคิดว่าวัฒนธรรมมีผลยังไงต่อความยากจน อันนี้ลองย้อนกลับไปอ่านเรื่องอินเดียดูครับ ในตอนนั้นได้พูดว่า การแบ่งชนชั้นและวรรณะ ทำให้ชนชั้นบางชนชั้นไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ เมื่อเข้าถึงทรัพยากรไม่ได้ หรือเข้าถึงโอกาส ไม่ได้ก็ทำให้ประเทศนั้นจนลงๆได้เรื่อยถูกไหมครับ ก็ในเมื่อคนจน เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี่ครับ
  • การเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศนั้นมีผลเรื่องการค้าครับ เมื่อไม่มีการค้า การพัฒนาก็ไม่เกิดครับ
  • ขาดนวัตกรรม สิ่งหนึ่งที่ Dr. Sachs ได้พูดไว้ว่า นี่แหละปัจจัยสำคัญเลย ที่ประเทศนั้นไม่เจริญ ก็คือไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะฉุดประเทศให้เจริญต่อไปได้ แต่ Dr. Sachs ก็บอกว่าจริงๆมันก็เป็นกับดับความจน ในเมื่อไม่มีเงิน ไม่มีกินแล้วจะมีนวัตกรรมใหม่ๆได้ยังไง
  • กับดักประชากร จริงๆแล้วการพัฒนาของประเทศนั้นต้องสัมพันธ์กับประชากรครับ ตอนนี้ประเทศเรากำลังก้าวไปข้างหน้า เพราะว่าประชากรยุคเบบี้บูม (ช่วงที่มีคนเกิดเยอะ) นั้นกำลังโตเป็นยุคคนทำงาน แต่ถ้าต่อจากนี้อีกสามสิบปี เป็นยุคที่คนที่เกิดในช่วงเบบี้บูมนั้นเริ่มแก่ลง จะเป็นยังไง หรือว่าอย่างสิงคโปร์ที่ตอนนี้อัตราการเกิดลดลงอย่างน่าใจหาย (ก็ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาที่สูงขึ้นของคุณผู้หญิง) อีกไม่นานประเทศอาจจะเป็นประเทศคนแก่ก็ได้

ปัจจัยเหล่านี้แหละครับที่มีผลต่อความยากจนทั้งนั้น แล้วความเจริญ มีหน้าตาเป็นยังไง

หน้าตาความเจริญ

Dr. Sachs มองว่าความเจริญนั้นมีลักษณะต่อไปนี้ครับ

  • ประเทศมีลักษณะ urbanization นั่นหมายความว่าประเทศนั้นมีประชากรมาอยู่ในเมืองมาก ประชากรอยู่ในท้องถิ่นน้อย ก็ในเมื่อประเทศที่เจริญนั้น ลักษณะของเศรษฐกิจ เงินมาจากงานบริการเป็นส่วนมาก ไม่ใช่มาจากการผลิต หรือถ้าเป็นการผลิต ก็มาจากการผลิตของที่มีมูลค่าสูง ทำให้ประชากรนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในชนบท ทำนา อีกต่อไป
  • ลักษณะทางสังคมที่เปลี่ยนไป คนจะมีการย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นไปตามแหล่งงาน ครอบครัวที่เล็กลง เพราะคนมีความรู้มากขึ้น ก็แต่งงานกันช้าลง รู้ว่าการมีลูกน้อย พ่อแม่ก็ให้การศึกษากับลูกได้มากขึ้น
  • เศรษฐกิจมีการแข่งขัน เพราะเมื่อมีการแข่งขันก็จะเกิดการพัฒนา การก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต่อไป มีการแบ่งด้านความเชี่ยวชาญด้านแรงงาน ก็ทำให้คนต้องแข่งขันกันเพิ่มขึ้น  

ส่งท้าย 

โดยสรุป Dr. Sachs บอกว่าประเทศที่ยากจนนั้น เนื่องจากไม่สามารถที่จะก้าวเท้าขึ้นมาสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนได้ ในหนังสือใช้คำว่า step on a ladder นะครับ คือขึ้นบันไดไปสู่ความเจริญ

แต่หนังสือนั้นเน้นในมุมมองของ Dr. Sachs เป็นหลักครับ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะในหนังสือก็บอกว่า ก็ในเมื่อประเทศนั้นเจริญ คนกินดีอยู่ดี ก็ย่อมที่จะต้องคิดว่า ระบบที่ใช้กับประเทศอื่นนั้นไม่ดีเท่า และต้องการที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดคนอื่น เพื่อให้คนอื่นเจริญเหมือนตัวเอง

แล้วก็มองต่อไปอีกว่า ถ้าจะทำให้ความยากจนนั้นหมดไปได้ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องช่วยกัน

นอกจากนี้ Dr. Sachs ยังบอกต่อไปว่า จริงแล้วการรักษาโรคทางเศรษฐกิจนั้น ต้องทำตัวให้เหมือนหมอรักษาโรคครับ ไม่มียาอะไรก็ตามที่จะแก้โรคได้ทุกโรค และระบบเศรษฐกิจนั้นซับซ้อนเหมือนร่างกายคนเรานั่นแหละ เช่นเรื่องเงินเฟ้อนั้น ก็อาจจะเหมือนกับคนเป็นไข้ มันไม่ได้หมายความว่า เป็นไข้แล้วจะเป็นหวัดกันทุกคน เงินเฟ้อนั้นก็อาจจะไม่ได้มาจากสาเหตุเดียวกัน

นี่แหละครับที่ทำให้ Dr. Sachs นั้นวิจารณ์ว่า การเรียนเศรษฐศาสตร์แบบไม่เคยเห็นของจริง ไม่เคยลงพื้นที่ และที่สำคัญที่สุด การไม่ศึกษาถึงประวัติศาสตร์พื้นฐาน และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆหรือชุมชนนั้นๆ จะไม่สามารถหาวิธีที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ 

ถ้าอ่านย่อหน้าที่แล้วดีๆ เราจะเห็นภาพของคำว่าเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจพอเพียง ในการต่อสู้กับความยากจน ถึงแม้หนังสือเล่มนี้นั้น พูดถึงเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก โดยมองแต่เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ

แต่ผมคิดว่า เราสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่เขียนในหนังสือกับประเทศได้ โดยมองว่าจังหวัดนั้น เป็นเหมือนประเทศ แล้วลองดูว่าเราจะสามารถจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ยังไง ให้สอดคล้องกับปัญหาของจังหวัดนั้นๆและสภาพพื้นที่ของแต่ละจังหวัด

ยกตัวอย่างง่ายๆครับ อย่างเช่นประเทศโบลิเวีย ที่ Dr. Sachs บอกว่า เพราะความสูงของพื้นที่ และการที่เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล สินค้าที่จะขายนั้น ต้องเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงครับ เพราะไม่งั้น มันไม่คุ้ม กับค่าส่งสินค้าครับ (เรื่องนี้นั้น ไอเอ็มเอฟ หรือเวิลด์แบงค์ ค่อนข้างมองข้ามครับ)

อ่านหนังสือเล่มนี้อ่านไปเรื่อยๆแล้ว รู้สึกว่า Dr. Sachs นั้นเป็นพวกนิยมการยกหนี้ให้ประเทศยากจนครับ :D

ทำไม ไว้เดี๋ยวคราวหน้ามาพูดกันต่อครับ

สวัสดีวันเถลิงศกครับ

ที่มา Sachs, J. D. The end of poverty: Economic possibility of our time, Penguin Books, NY 2006 ISBN 0-14-303658-0

หมายเลขบันทึก: 90486เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2007 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 05:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

ก็ดีนะคะ ที่เขาวิเคราะห์ จุดเด่น จุดด้อย ให้เห็น

การพัฒนาประเทศของแต่ละประเทศ ที่นำไปสู่ความรวย  ความจน ซึ่งหลักการแบบนี้ ( ข้อดี ข้อด้อย -)  นำไป

จับได้ กับทุกระดับ ที่ต้องมองให้เห็น ในทุกอย่างที่เรา

ต้องการวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้

ไปอ่านหนังสือ  ....

เข้ามาลงชื่อว่า อ่านแล้ว ...

เจริญพร

สวัสดีค่ะคุณต้น (ไปอ่านหนังสือ)

ดิฉันเห็นว่าเหตุผลที่ Dr.Sachs ระบุว่า "ทำไมถึงจน" นั้นบางข้อสัมพันธ์กัน เช่น ความสามารถไม่พอ ก็คงไม่มีนวัตกรรมหรอกค่ะ แค่เจอว่าคนมีความสามารถไม่พอเรื่องเดียวก็เป็นสาเหตุของเกือบทุกเรื่องแล้ว เพราะฉะนั้น การแก้ไขต้องมีการศึกษาเข้าไปควบคู่ด้วยเสมอ แต่การศึกษาเหมือนกับปลูกต้นไม้ มันใช้เวลา และลงทุนสูง

ดิฉันคิดว่าความเจริญ หรือความร่ำรวยของประเทศ ควรจะมีมุมมองของความเจริญทางจิตใจของประชากรด้วยค่ะ

ฝากเป็นความเห็นค่ะเพิ่มเติมเพื่อ ลปรร ค่ะ ; )

 

ผมค่อนข้างไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  สำหรับงานชิ้นนี้  อ่านดูทำให้รู้สึกว่า ใช้สังคมตะวันตกเป็นตัวแบบ ของความไม่ยากจน ทั้งที่บอกว่าต้องมาศึกษาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ท้องถิ่นจึงจะเข้าใจและแก้ปัญหาได้ แต่ผู้เขียนกลับบอกในสิ่งที่เป็น global เป็นเรื่องของตะวันตก โดยเฉพาะ  คำอธิบายว่าทำไมจึงจน   ก่อนอื่นผมคิดว่าน่าจะต้องมาทบทวนก่อนว่าความจนคืออะไร ปัจจุบันเราวัดกันที่รายได้ โดยใช้เส้นความยากจน เป็นการวัดแบบเรียกว่า ความยากจนแบบสัมบูรณ์ อันนี้ฝรั่งกำหนดให้ทึ่ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ที่ว่าเป็นโครงการของโคฟี อันนัน นั่นแหละครับ  การวัดอีกแบบคือการเปรียบเทียบสัดส่วนของรายได้ที่คนแต่ละกลุ่มได้รับ จากรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด (GDP) ซึ่งไม่ค่อยใช้กันเพราะตัวเลขถ่างห่างออกมากขึ้นทุกทีระหว่างคนรวยกับคนจน

แต่วันนี้เรากำลังคิดในส่งที่ไปไกลกว่าเรื่องของรายได้แล้ว เพราะรายได้เป็นเพียงเครื่องมือ เป็นวัตถุที่ใช้เป็นสื่อกลางสนองตอบต่อความสุข  ในหลาย ๆ สังคมการไม่มีรายได้ไม่ได้สะท้อนความจนเสมอไป เศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่ได้เอารายได้เป็นตัวตั้ง หรือที่เรากำหลังเห่อ ๆ กันก็คือ GDH ของภูฏาน ที่เอาความสุขเป็นตัวตั้ง

ผมคิดว่าความยากจน เป็นเรื่องของการกำหนดนิยาม ให้คุณค่า กับสังคม กลุ่มคนที่ตัวเองเห็นว่าด้อยกว่า ต่ำกว่า เป็นคนอีกประเภท ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยา แต่การฟื้นฟูเยียวยานั้นเต็มไปด้วยการฉวยเอาผลประโยชน์ให้กับผู้ที่เข้ามาฟื้นฟูช่วยเหลือ สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือ ช่องว่างของรายได้ที่นับวันยิ่งถ่างออกกว้างขึ้นทุกที ๆ คือ ยิ่งช่วยเหลือประเทศยากจน กลับยิ่งทำให้ประเทศพัฒนาแล้วร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้น

สิ่งที่ฝรั่งทำกับประเทศของเรา และเพื่อนบ้านที่ถูกมองว่าจนเหมือน ๆ กันมาตลอดก็คือ

ทำให้เราไร้รากเหง้า (Unfounded)คือ ทำให้สิ่งที่เรามีอยู่ เป็นอยู่ และสั่งสมมา กลายเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเก็บมันไว้ ด้อยพัฒนาบ้าง ล้าหลังบ้าง บ้านป่าเมืองเถื่อนบ้าง (ลองมองย้อนกลับไปนะครับ) แล้วก็ยัดเยียดสิ่งใหม่ให้เราเรียกมันว่า ความทันสมัย

 ประการต่อมาคือ ทำให้สิ่งที่เราผลิตในทางเศรษฐกิจของเราเป็นสิ่งไร้คุณค่า  (Unvalued)โดยอ้างว่าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กดราคาของเราลงโดยใช้อำนาจการเมืองควบคุมกลไกราคา หากจะทำให้ผลผลิตได้ราคาคือ ต้องรับเทคโนโลยีและวิทยาการที่ทันสมัยจากฝรั่ง (อันนี้ก็เกิดการพึ่งพา) และสิ่งที่เป็นของดั้งเดิมของเรา แม้แต่ ภาษา สีผิว และเผ่าพันธ์ของเราก็พลอยเป็นสิ่งเร้คุณค่าไปด้วย

สุดท้ายคือ เมื่อเรายอมรับสิ่งที่ฝรั่งบอกเราก็กลายเป็นหุ่นยนต์ เกิด มีชีวิต เรียน และดำเนินชีวิตอันมีเป้าหมายเพื่อเงิน ตามสิ่งที่ฝรั่งบอก มันก็ทำให้เราเป็นมนุษย์พันธ์หนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้น และตั้งโปรแกรมให้โตและตาย อย่างไร้ความสำนึกคิด และความสามารถ (Unautomated)

ลองมองย้อนดูนะครับ จริงหรือ เราไม่มีความสามารถ เราทำในสิ่งที่ฝรั่งทำไม่ได้ตั้งมากมาย  จริงหรือที่ภูมิประเทศเราไม่เหมาะสม อาหารการกินเราอุดมสมบูรณ์จนใคร ๆ ก็พากันอิจฉา

งบดุลยการเงิน ? ก็เมื่อวัดด้วยเงินแล้ว การเล่นกับงบดุลยมันก็ทำให้รวยขึ้นได้อยู่แล้ว ดูบริษัทที่ตกแต่งตัวเลขสิครับ

วัฒนธรรม ? แถบด้อยพัฒนาเนี่ยเกิดอารยธรรมก่อนตะวันตกนะครับ /ประชากร ? อัตราการเกิดขึ้นไทยกำลังจะเป็นศูนย์  แล้วกรณีจำนวนประชากรระหว่าง อเมริกา กับอินเดีย หรือจีน ที่มีประชากรมากจะอธิบายอย่างไร ทำไมประเทศหนึ่งถึงรวยกว่า...

คงไม่สนทนายาวไปกว่านี้ แต่สรุปว่า สิ่งที่ Dr. Jeffery Sachs ยกมาทั้งหมดก็ตั้งอยู่บนฐานคิด 3 ประการของการที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายากจน แล้วก็ไปยอมรับความคิดเขามาแล้วนั่งว่าตัวเองนั่นแหละครับ คือยิ่งเรายอมรับความคิดเขามาเท่าไหร่ เราก็ด่าตัวเองมาเท่านั้น และเราก็จะจนลง ๆ

เขียนซะยาว เพียงอยากแลกเปลี่ยนความเห็นครับ

สวัสดีครับพี่หน่อย

การวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยย่อมจะทำให้เราสามารถที่จะหาศักยภาพของประเทศ (และของเรา) รวมไปถึงการวางแผนที่ถูกต้องเพื่อขจัดความยากจนได้ครับ

แต่ปัญหานั้นมีมิติมากกว่าที่หนังสือเล่มนี้บอกมาแน่นอน และหนังสือเล่มนี้ก็แค่บอกถึงหลักใหญ่ใจความเท่านั้นครับ :D

ต้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากครับที่ได้กรุณาสละเวลามาอ่านครับ

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

ต้น

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. กมลวัลย์ ลือประเสริฐ

จริงๆแล้วต้นว่ามันก็สัมพันธ์กันมากไปหมดครับ และตัวเริ่มต้นก็คงมาจากการที่เราไม่มีความสามารถ และหมดโอกาสในการแข่งขันครับ

การแก้ไขนั้นต้นก็มองว่าการศึกษานั้นสำคัญที่สุดครับ แต่อย่างที่อาจารย์บอกว่าการศึกษานั้น เป็นการลงทุนในระยะยาวนั้นก็ถูกครับ ก็คงจะอย่างที่เราจะรู้ว่า ก็เพราะว่ามันเป็นการลงทุนในระยะยาว มันก็เลยไม่ค่อยเห็นผลทันใจ และไอ้การที่มันไม่เห็นผลทันใจนี่แหละครับ ที่บางครั้งเราละเลยมันไป

ดังนั้นวิธีหนึ่งก็คือ การจัดสัดส่วนของการศึกษากับงบประมาณ เพื่อทำให้เห็นผลของการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วยครับ

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจนกับประชากร ขอตอบในประเด็นรวมกับของอาจารย์สามชายนะครับ

ขอบพระคุณครับ

ต้น

สวัสดีครับอาจารย์ สามชาย ศรีสันต์

ขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นและการแลกเปลี่ยนความรู้ครับ

ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์บอกว่า จริงๆแล้วความจนนั้นขึ้นอยู่กับการนิยาม

จริงๆแล้ว การแก้ปัญหาที่ถูกต้องในระยะยาวนั้น ย่อมจำเป็นที่จะต้องนิยามปัญหา และการหาตัววัดที่เหมาะสมก่อนครับ

ผมไม่รู้ว่า GNH นั้นนิยามคำว่า "ความสุข" อย่างไร ดังนั้นผมไม่ขอวิจารณ์ครับ แต่ผมอยากจะทิ้งความเห็นไว้นิดหนึ่งว่า ความสุขมันขึ้นอยู่กับคนนะครับ ดังนั้นการจะนิยามความสุขมันก็ยากไม่ใช่เล่นนะครับ

เอาล่ะคราวนี้มาพูดถึงความจนกันบ้าง ตามหลักแล้ว ความจนนั้นนิยามโดยเส้น poverty line ซึ่งบอกว่า ถ้าคนมีรายได้ต่ำไปกว่านี้ จะประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตอย่างที่สุด เช่นไม่สามารถหาข้าวกินได้ในหลายๆมื้อ ไม่สามารถหาหมอได้ ครับ

เพียงแต่ว่า ความยากจนมันต้องสัมพันธ์กับค่าครองชีพของความเป็นอยู่ในชาตินั้นๆครับ (ซึ่งผมไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว สหประชาชาตินั้นหาเส้น poverty line ยังไง) ผมรู้แต่ว่าเส้นนี้มันออกมาเป็น dollar (แต่ผมก็คิดต่อไปอีกว่า เขาทำการปรับค่าพวกนี้แน่นอนแล้วหล่ะครับ)

อีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือว่า เส้นนี้มันเป็นค่าเฉลี่ยครับ เพราะมันหามาจากทุกชาติ ดังนั้นมันก็เลยอาจจะคลาดเคลื่อนไปในแต่ละชาติบ้าง

แต่ผมเห็นด้วยที่เราต้องมีค่า objective ครับ เพราะว่า การที่มีค่า objective หรือค่าที่เราเห็นชัดๆนั้น มันทำให้เราแก้ปัญหาได้ชัดครับ ถ้าเราไม่สามารถนิยามออกมาได้ว่า ความจนคืออะไร และเทียบว่ามันอยู่สมควรอยู่ในระดับรายได้เท่าไร การแก้ปัญหานั้นยากมากครับ (ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แก้ได้ครับ เพียงแต่แก้ยาก เหมือนคนตาบอดคลำช้างครับ)

เอาละ แล้วที่อาจารย์บอกว่า พวกนี้เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกกำหนด ผมก็เข้าใจและเห็นด้วยครับ แต่คำนิยามนี้เราสามารถปรับได้ครับ เช่นว่า เราอาจจะเทียบกับปัจจัยสี่ก็ได้ว่า

ถ้าประชากรไทย ไม่มีข้าวกินครบสามมื้อ ไม่มีเงินไปซื้อยารักษาโรค เสื้อผ้าไม่มี ปะแล้วปะอีก (ที่อยู่คงไม่พูดนะครับ) เราสามารถที่จะหารายได้จากพวกนี้ออกมา แล้วก็นิยามคำว่าความจนของประเทศได้ครับ (เรื่องระดับความจนจะเท่าไร ผมว่าคงไม่ใช่ประเด็นครับ)

ที่อาจารย์บอกต่อมาว่า หนังสือนั้นมองในมุมมองของคนตะวันตก อันนี้ผมก็ว่าไม่แปลกครับ เพราะ ว่าหนึ่ง Dr. Sachs เองก็เป็นคนตะวันตก อีกทั้งเขาก็บอกออกมาว่า "ก็ในเมื่อประเทศนั้นเจริญ คนกินดีอยู่ดี ก็ย่อมที่จะต้องคิดว่า ระบบที่ใช้กับประเทศอื่นนั้นไม่ดีเท่า และต้องการที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดคนอื่น เพื่อให้คนอื่นเจริญเหมือนตัวเอง"

แน่นอนครับ คำว่าความเจริญให้เหมือนประเทศตะวันตกนั้น ย่อมจะทำให้เรามองว่าเรากำลังทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรมลงไป และอีกหลายๆสิ่งที่เรา "เชื่อ" ว่ามันมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องให้การศึกษากับประชาชนครับ และสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีให้กับประชาชนครับ

ดูอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีสิครับ แต่ก่อนก็ถูกประเทศตะวันตกครอบครอง แต่สิ่งที่อาจารย์ได้พูดมาทั้งสามอย่างนั้น กลับไม่เห็น

หรือยกตัวอย่างใกล้มาอีกหน่อยอย่างอินเดีย ซึ่งเพราะกลไลการตลาดทำให้ตัวเองกลายเป็น outsource hub ของ service sector ในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ฐานทางวัฒนธรรมก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่หายไปเลย

แต่แน่นอนครับว่า ฐานทางวัฒนธรรมนั้นมันกัดกร่อนลง แต่การกัดกร่อนทางวัฒนธรรมของคนในชาตินั้น ผมไม่คิดว่ามาจากตะวันตกเพียงอย่างเดียวครับ ผมคิดว่าเพราะการศึกษาเป็นหลักครับ การศึกษาที่ทำให้คนคิดว่าตัวเอง"คิดเป็น" ตัวเองนั้นเก่ง บางครั้งอาจจะทำให้เราลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมไปบางส่วน

ลองคิดดูนะครับว่า พอคนมีการศึกษาสูงขึ้น เราก็พร้อมที่จะแสดงออกมากขึ้น ดังนั้นวัฒนธรรมบางอย่างที่ปิดกั้นการแสดงออก (อย่างเช่นการแสดงความรักในที่สาธารณะ (เช่นการจับมือถือแขน)) ก็ถูกลบเลือนออกไปมากขึ้น

ที่อาจารย์ถามว่า ทำไมประเทศตะวันตกนั้นรวยกว่า ผมคิดว่า Dr. Sachs นั้นเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว ในการยกตัวอย่างของการที่อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก

แต่ถ้าจะให้ผมสรุปเอาเอง เพราะว่าสังคมประเทศแบบเปิดครับ

ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์ได้อ่านเรื่องเจงกีสข่านที่ผมได้เขียนก่อนหน้านี้หรือไม่ ที่การเคลื่อนย้ายของประชากรนั้น ทำให้เกิดการถ่ายเททางด้านวิทยาการและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกมา ทุกครั้งที่ตัวเองไปยึดเมืองอื่นได้  

เมืองจีนนั้นเริ่มหยุดการเติบโตของประเทศหลังจาก จักรพรรดิหมิง สั่งยกเลิกการเดินเรือของเจิ้งเหอและปิดประเทศตัวเอง หลังจากนั้นเมืองจีนนั้นหยุดการเติบโตเรื่อยมาครับ

หรืออย่างรัสเซียและประเทศคอมมิวนิสต์ ที่หยุดการติดต่อการค้าทุกอย่างกับประเทศโลกตะวันตก และด้วยความคิดแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศเหล่านั้นไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆได้ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และถ่ายเทด้านเทคโนโลยี นั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับพวกชาติเสรีนิยม

อาจารย์อาจจะมองว่า นี่ผมมองแบบตะวันตกอีกแล้ว แต่อาจารย์ครับ แค่นี้ที่เรามานั่งคุยกันออนไลน์ แลกเปลี่ยนความคิดกันตอนนี้ นี่ไม่ใช่หรือแหละครับที่เรียกว่าสังคมแบบเปิด  

การที่ผมกับอาจารย์แลกเปลี่ยนความคิดอย่างคนมีการศึกษา ใช้เหตุผล มาพูดกัน นี่ไม่ใช่หรือครับ ที่ทำให้เราสามารถที่จะเปิดโลกทัศน์ของตัวเอง และทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆขึ้นมา เพื่อปรับปรุงความสามารถของตัวเอง สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา

ผมไม่เห็นด้วยกับที่อาจารย์บอกว่า "แต่สรุปว่า สิ่งที่ Dr. Jeffery Sachs ยกมาทั้งหมดก็ตั้งอยู่บนฐานคิด 3 ประการของการที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายากจน แล้วก็ไปยอมรับความคิดเขามาแล้วนั่งว่าตัวเองนั่นแหละครับ คือยิ่งเรายอมรับความคิดเขามาเท่าไหร่ เราก็ด่าตัวเองมาเท่านั้น และเราก็จะจนลง ๆ "

ผมกลับคิดว่าการแก้ปัญหาอะไรหลายๆอย่าง จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงวิธีการแก้ปัญหาหลายๆอย่าง แล้วดูว่าวิธีไหนน่าจะใช้แก้ปัญหาได้ดีที่สุด เหมาะสมกับคนในสังคมนั้นๆมากที่สุด

ดังนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบไหน จากที่ไหน เราก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาไว้และกลั่นเป็นความคิดของเราออกมาให้ได้ครับ ผมถึงสงสัยว่าทำไมเราต้องไปยอมรับความคิดเขานะครับ อันนี้ผมไม่เห็นด้วยแบบสุดๆและไม่เข้าใจด้วยครับ

แต่อาจจะเป็นเพราะว่าผมไม่สามารถถ่ายทอดตัวหนังสือและวิธีคิดของ Dr. Sachs ได้หมด เลยอาจจะทำให้อาจารย์เข้าใจไปแบบนั้นก็ได้ครับ

ผมเชื่อว่าถ้าจะให้ดีอาจารย์น่าจะลองไปหาอ่านหนังสือเล่มนี้ดูนะครับ หนังสือเล่มนี้มีเกร็ดหลายอย่างที่ผมไม่ได้เล่านะครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับสำหรับความคิดเห็น

ต้น

 

ถ้าความจนหมายถึงรายได้ไม่พอกับค่า่ใช้จ่าย อาจมีวิธีแก้ง่ายๆ สามวิธีโดยไม่ต้องโทษใครครับ

  1. เพิ่มรายได้ -- อันนี้เริ่มต้นต้องมีของดีอยู่กับตัวก่อน แล้วจึงแสวงหาโอกาสเพิ่มเติม; ที่วุ่นวายกันมากในปัจจุบันนี้ น่าจะเป็นเพราะคนเราพยายามหาทางเพิ่มรายได้ ยิ่งขวนขวาย ก็ยิ่งมีจิตใจที่วุ่นวาย
  2. ลดค่าใช้จ่าย -- ค่าใช้จ่ายควบคุมได้ครับ ไม่ได้มีใครมาบังคับให้เราซื้อ  เราเป็นคนยื่นเงินออกไปเอง; แม้แต่หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ ก็เป็นไปเพราะเราไม่ประมาณกำลังตัวเอง
  3. ทำทั้ง 1+2

 น่าสนใจดีครับเรื่องนี้ แล้วประเทศไทยในมุมมองของพี่ต้นเป็นแบบไหนครับ

 พี่ต้นนี่อดทนในการเขียนได้ยาวๆ แต่ก็มีคนอดทนในการ comment เช่นกัน อิอิ บล็อกนี่มีแต่คนอดทนทั้งนั้นเลย

 

สวัสดีครับอาจารย์Conductor

ขอบพระคุณมากครับที่อาจารย์ได้ให้เกียรติเข้ามาอ่าน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งครับที่ คนคนหนึ่งจะขจัดความยากจนนั้นต้องเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

 

สวัสดีครับคุณน้องเดอ

ผมติดไว้ก่อนว่าผมคิดยังไงกับมุมมองของประเทศนะครับ มันต้องใช้การเรียบเรียงความคิดกับมันยาวนะครับ :D

ส่วนเรื่องการเขียนอะไรยาวๆนั้น ไม่รู้จริงๆครับ บางทีไม่รู้สึกว่าที่เขียนมันยาว จนมันโพสท์ไปแล้วนะครับ

ส่วนเรื่องการตอบคอมเม้นท์นั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อ ผมค่อนข้างชอบนะครับ เพราะมันเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดดี และผมก็ชอบที่จะคิดต่อไปเรื่อยๆด้วยครับ แล้วก็เพราะคิดไปเรื่อยๆ มันก็เขียนไปเรื่อยๆ มันก็เลยยาวนะครับ

ไม่ได้อดทนอะไรเลยครับ :D

จริงๆแล้วออกจะเป็นคนขี้เกียจซะด้วยซ้ำ

 

เข้ามาเยี่ยมค่ะ และช่วยไปอ่านคำตอบเรื่องBrandด้วยนะคะ ตอบช้าไป พอดี ไปธุระมาทั้งวัน

อ่านกันมายาวมาก blogนี้ แต่ก็ได้สาระ ความเห็นส่วนตัวค่ะ

คนในชนบทการศึกษาน้อยไป ทำให้คิดอะไรสั้นๆ ไม่มีแผนในชีวิต   และชอบแข่งกันเช่นแข่งถอยรถปิ๊กอัพ /แข่งกันกินเหล้า /แข่งกันเก่ง ไม่ใส่หมวกกันน็อค เป็นต้น 

แต่จะให้ทิ้งการเกษตรมาในเมืองหมดไม่ได้หรอกค่ะ ไม่อยากให้ดูว่าการเกษตร เป็นสัญญลักษณ์ของความด้อยนะคะ

ขอเน้นที่การศึกษาแล้วกัน อย่างมันต้องพูดกันยาว และไม่เห็นหน้ากันด้วย ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

ขอบพระคุณมากครับที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยม ผมได้เข้าไปตอบเรียบร้อยแล้วนะครับ :D

การศึกษาคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ ที่จะทำให้เราสามารถที่จะฉุดคนจนให้ก้าวเข้ามามีศักยภาพได้

ผมว่าอาจารย์อาจจะเข้าใจคนเขียนผิดนะครับที่มองว่า การ urbanization นั้นเป็นการทิ้งการเกษตร และผมเองก็ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เราทิ้งการเกษตร ผมมองว่าการเกษตรนี่แหละคือจุดแข็งของประเทศ เพียงแต่ว่าเราต้องทำอะไรให้รอบคอบและรัดกุมกว่านี้ครับ

ผมมองว่า urbanization เป็นการปรับตัวของสังคม ให้สังคมก้าวไปสู่สังคมการบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเป็นสังคมที่มีความรู้มากขึ้นครับ

เพียงแต่ว่าในระดับเทคโนโลยีปัจจุบัน น่าคิดนะครับว่า คำว่า urbanization อาจจะไม่มีความหมายต่อไปก็ได้ เมื่อคนสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้และทำงานได้ รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อย้ายออกไปอยู่ต่างจังหวัด

แต่เชื่อไหมครับว่า มันก็ไม่จริงอยู่ดีครับ เพราะว่าด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ติดต่อกันได้ทั่วโลก คนก็ยังอยากเข้ามาอยู่ในเขตเมืองมากกว่าอยู่ตามชนบท เมืองใหญ่ๆทั่วโลก ก็ยังโตอยู่ครับ ผมก็เลยอยากเห็นว่าเมื่อไรคำว่า urbanization ในความหมายของการอพยพไปสู่สังคมเมือง ซึ่งผมก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อไรครับ  

ขอบพระคุณมากครับ

  • สวัสดีครับน้องต้น
  • ขอสรุปสั้นๆ ว่า
  • "หากยังไม่จน  อยู่อย่างคนจน  จะไม่มีวันจน ... หากยังไม่รวย  อยู่อย่างคนรวย จะไม่มีโอกาสรวย"
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับพี่เม้ง

ขอบพระคุณมากครับพี่ที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยมเยียน

ต้นเห็นด้วยกับคำพูดพี่ทุกประการครับ คุณพ่อเคยสอนไว้ว่า คนเราไม่ใช่อยู่ที่ว่าหาเงินได้เท่าไร แต่อยู่ที่ว่าใช้เงินไปเท่าไรครับ

แต่วันนี้ไปร้านหนังสือ เจอคำพูดหนึ่งแทงใจดำมากครับ จำไม่ได้แล้วว่าใครพูดฮ่าๆๆๆ ถ้าจำไม่ผิดชื่อ เอเรมีอุสมั้งครับ

เขาบอกว่า

"ถ้าผมมีเงิน ผมจะซื้อหนังสือ แล้วถ้ายังเหลือเงินอีก ผมถึงจะซื้ออาหารครับ" :D

สวัสดีนะครับพี่

ไปค้น quote มาแล้วครับ ที่ร้านหนังสือเขียนไว้แค่อาหาร (บางที่ก็เขียนถึงแค่อาหารไม่มีเสื้อผ้า)

When I have money, I buy books. If any money is left over, I buy food and clothes.
- Desiderius Erasmus

Desiderius Erasmus นักเทววิทยาชาวดัชช์ครับ

  • สวัสดีครับ น้องต้น
  • ยอดจริงๆ ครับ เดี๋ยวพี่จะพูดบ้าง อิๆ
  • หากพี่มีเงิน พี่จะลงทุนให้การศึกษากับเด็ก หากพี่ไม่มีเงินพี่จะให้การแนะแนวกับเด็กในทางการศึกษาแทน
  • เวอร์ไปไหมครับ
  • ขอบคุณมากครับผม

คุณต้นครับ

สิ่งที่ผมไม่ใคร่เห็นด้วยนักจากงานชิ้นนี้ก็คือ การระบุสาเหตุของความยากจน ที่อ้างตัวแบบที่ดีกว่า รวยกว่าของตะวันตก 

ส่วนการนิยามความยากจนด้วยรายได้นั้น ผมเห็นว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้ระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนา แต่มันก็ยังมีปัญหาอยู่มาก เพราะการนิยามรายได้ ก็ไม่ได้คำนึงถึงหนี้สิน ค่าใช้จ่าย ที่บางครั้งไม่มีรายได้ก็จริง แต่ก็ไม่มีรายจ่ายด้วย คือสามารถพึ่งตัวเองได้ไม่ต้องพึ่งสินค้าภายนอกชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่กินและใช้ของในชุมชน อยู่หลายชุมชน ทำให้ไม่เดือดร้อนเมื่อไม่มีรายได้ ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่มีรายได้มาก แต่ก็มีหนี้สินมากด้วยเช่นกัน

ผมไม่ต่อต้านความรู้ความคิดจากตะวันตกครับ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการใส่คุณค่าให้กับแนวคิตะวันตกว่ามันดีกว่า เลิศเลอสูงเด่นกว่า เพราะเมื่อใดที่เราไปให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมองตัวเองด้อยกว่า ต่ำกว่า เพราะตะวันตก กับตะวันออก ฝรั่งกับไทย มันเป็นขั้วตรงข้ามกันในวิถีชีวิต  และเขายกตัวเขาให้สูงขึ้นได้ ก็ด้วยการทำให้เราต่ำลง

การเปิดประเทศ สังคมเปิด ผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไม่จน อย่างอังกฤษร่ำรวยขึ้นมาได้ก็ไม่น่าจะเป็นเพราะเป็นสังคมเปิดรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากการเดินทาง ค้นหา หากแต่เป็นเพราะไปรุกราน ล่าเมืองขึ้นและกอบโกยเอาทรัพยากรจากที่ต่าง ๆ มามากกว่า

ยิ่งแนวคิดการกลายเป็นเมืองแล้วจะทำให้ชีวิตคนดีขึ้นนั้นผมยิ่งไม่เห็นด้วยใหญ่ เมืองใหญ่ ๆ มีปัญหาทั้งสิ้นนะครับ ทั้งอาชญากรรม สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด และสลัม อันเป็นผลจากการอพยพแรงงานเข้ามานั่นแหละครับ คนในเมืองไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูงเสมอไป คนหาเช้ากินค่ำ เร่ร่อนขอทานก็เกลื่อนกลาด

ลองถามฝรั่งดูว่า ทำไมชอบเมืองไทย ทำไมคนอังกฤษที่ได้เกียรติ์นิยม มาแต่งงานกับสาวไทย แล้วทำนา ทำสวน อยู่ที่บุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งผมว่าเขาคงเบื่อสังคมเมืองอย่างที่ว่ามาแหละครับ

กล่าวโดยสรุป ผมยอมรับนวตกรรม เทคโนโลยี ความรู้ความคิด จากตะวันตกครับ แต่ผมไม่ยอมรับนัยของการหมิ่นแคลนที่ฝรั่งมักมองสังคมอื่นด้อยกว่าตน โดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่าเรายากจน เพราะเราไม่เป็นเหมือนเขา...

 

เห็น คุณต้นชอบอ่านหนังสือ ผมอยากชวนให้อ่านหนังสือ แนว Post ดูนะครับ เช่น

Post Development , Post Colonial, ที่มองความยากจนในอีกมุมหนึ่ง หรืองานเรื่องวาทกรรมการพัฒนา

 หรือเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่ใช่แบบ neoclassic เช่น

small is beautiful, หรือภาษาไทยก็เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ หนังสือของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง ของจุฬา หรือกลุ่มวิถีทรรศ์ หรืออาจเป็นแนววัฒนธรรมชุมชน เศรษฐกิจชุมชน

งานเหล่านี้จะให้มุมมองอีกมุมหนึ่งที่น่าจะท้าทายความคิดในอีกแบบหนึ่งครับ...

สวัสดีครับพี่เม้ง

คำพูดนี้ประทับใจมากครับ เห็นตอนกำลังเดินออกมาจากร้านหนังสือ สุดยอดจริงๆครับ

ถ้าผมมีเงินเหลือ ผมว่าเรื่องการศึกษาคือสุดยอดการลงทุนครับ

 

  การศึกษาเป็นสุดยอดการลงทุนจริงครับพี่ต้น ไม่งั้นไม่มีชาวนาบางคนขายนา ขายควาย ขายอีแต๋น ส่งลูกไปเรียนหนังสือ ไม่มีแม่บ้านทำความสะอาดจำนำทองซื้อเสื้อผ้าให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่ยอมเป็นหนี้ เพราะลูกขอเงินไปจ่ายค่าเทอม

  แต่การลงทุนมีความเสี่ยงใช่มั้ยครับ ที่เราลงทุนไปจะได้กลับมามั้ย บางคนไม่ได้คิดหรอกครับ ต้องการแค่สร้างทุนรอนไว้ให้ลูกให้หลานไม่ต้องมาลำบากแบบตัวเองก็เท่านั้น

   สงสัยต้องสร้างแนวคิดใหม่ให้เด็กไทยบางกลุ่มซะแล้ว เพราะดูๆไปชักเข้าใจผิดเรื่องเรียนไปกันใหญ่ครับ

   เขียนๆไปชักงงตัวเองนะเนี่ย ขอโทษพี่ต้นถ้าผิดประเด็นครับ

สวัสดีครับอาจารย์สามชาย

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้ให้เกียรติเข้ามาอ่านครับ และแตกประเด็นทำให้ผมคิดต่อครับ :D

อาจารย์ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปดูว่า ปัจจัยและสาเหตุความยากจนที่เขียนไว้ข้างต้นนั้น ผมเป็นความคิดแบบตะวันตกจริงหรือ หรือว่าผมเขียนสื่อความหมายไม่ดี

อ่านแล้วผมก็คิดว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่มีผลต่อความยากจนครับ แล้วผมก็คิดว่าลักษณะต่างๆเหล่านี้นั้นก็ คล้ายๆกันทั้งตะวันออกและตะวันตก ผมคิดว่าอาจารย์คงไม่ได้ติดใจเรื่องนี้

ผมเดาว่าอาจารย์คงติดใจเรื่องหน้าตามากกว่าที่มี urbanization มีการย้ายถิ่นฐานและการแข่งขัน ผมเดาว่านี่เป็นสิ่งทีอาจารย์อาจจะอ่านแล้ว ตะขิดตะขวงใจ แล้วอาจจะคิดว่าเป็นการมองอย่างตะวันตก และเป็นการใส่คุณค่าให้เห็นว่าตะวันตกนั้นดีกว่าตะวันออก

จริงๆแล้วผมกลับคิดว่านี่เป็นความจริงนะครับ เพราะมีตัวเลขทางสถิติเปรียบเทียบถึงสัดส่วนคนอยู่ในชนบทกับคนอยู่ในตัวเมืองระหว่างประเทศต่างๆ

อาจารย์อาจจะบอกว่า เอาอีกแล้ว ตะวันตกนิยมอีกแล้ว แต่ผมกลับมองว่ามันเป็นเรื่อง สถานที่ และโอกาสครับ เมื่อภาวะพื้นที่บางพื้นที่แห้งแล้งอย่างมาก หรือว่าพื้นที่นั้นไม่มีทรัพยาการ หรือมีตลาดรองรับ พูดง่ายๆ ไม่มีงานทำแหละครับ แล้วทำไมคนจะไม่อพยพย้ายถิ่น เพื่อไปหาที่อยู่ที่ดีขึ้น และหาโอกาสที่มากกว่า

ผมเห็นด้วยนะครับและก็ดีใจอย่างยิ่งที่เรามีชุมชนที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองได้ และแน่นอนครับ นั่นไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นยากจน ผมเห็นด้วยกับการพึ่งพาตนเองครับ

อาจารย์ครับ อังกฤษนั้นรวยมาตั้งแต่ยุคก่อนล่าอาณานิคมครับ ก็ถ้าไม่รวยแล้วจะส่งกองเรือออกมาค้าขายก่อนได้อย่างไรละครับ แต่พอหลังจากล่าอาณานิคมแล้ว ความรวยค่อยพุ่งกระฉูดเพิ่มขั้นครับ

แต่อาจารย์ครับไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศที่ล่าอาณานิคมแล้วรวยนะครับ มองสเปนกับโปรตุเกสสิครับ แต่ก่อนก็ล่าอาณานิคมอันดับต้นๆเลยถึงขนาดไปตกลงกับโป้ปเลยด้วยซ้ำว่า แบ่งผลประโยชน์กันยังไง

แล้วอยู่ดีๆ ทำไมสเปนกับโปรตุเกส กลับไม่เจริญเท่าอังกฤษ หรือฝรั่งเศส เป็นอย่างน้อยครับ ทั้งๆที่สเปนกับโปรตุเกส ไม่ได้โดนอะไรเท่าไรช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

เพราะว่าสเปนมีฟรังโก้ไงครับอาจารย์ ที่เป็นเผด็จการชาวบ้านต้องหวาดผวา ปิดประเทศหน่อยๆ (โปรตุเกสก็มีเผด็จการเหมือนกัน)

หรือว่าญี่ปุ่นที่ก้าวเข้ามาเป็นประเทศมหาอำนาจก่อนและหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เหตุผลคล้ายๆกันครับ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมขนานใหญ่ ยอมให้สังคมนั้นเป็นสังคมเปิดมากขึ้น

หรือว่าแม้แต่ประเทศไทยเองที่วิทยาการต่างๆก็มาจากการแลกเปลี่ยน ดังนั้นสังคมแบบเปิดนี่แหละครับที่ทำให้โลกนั้นก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น (ไม่อย่างนั้นแล้ว จะมีหลายคนหรือครับที่บอกว่า เสียดายความรู้ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่บางอย่างได้สาบสูญไป)

เรื่องเมืองใหญ่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ร้อยเปอเซ็นต์ครับ ที่ว่ามีปัญหามากมาย ถ้าเทียบ Green GDP (GDP- ค่าบำบัดสิ่งแวดล้อม) ประเทศที่กำลังเจริญเติบโต อาจจะไม่ได้โตเลยก็ได้ หรือถ้าคิดว่า มี Social Green GDP = GDP- ค่าบำบัดทางสิ่งแวดล้อม - ค่าแก้ปัญหาเยียวยาทางสังคม (อันนี้ผมคิดเองนะครับ) อาจจะติดลบมากเข้าไปอีกก็ได้

อาจารย์ครับ ผมว่าคนนั้นนานาจิตตังครับ คนไทยคุณภาพหลายคนก็อยากไปอยู่เมืองนอก ในขณะเดียวกันมันก็ไม่แปลกครับ ที่จะมีฝรั่งคุณภาพอยากมาอยู่เมืองไทย

อาจารย์ครับ ผมคิดว่าในโลกนี้ไม่มีใครหรอกครับที่ชอบการคิดแบบดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น และสังคมทุกสังคมก็มีคนไร้การศึกษาอยู่ที่จะดูถูกดูแคลนคนอื่น ผมเองก็มีประสบการณ์ตรงด้วยครับ

แต่ผมคิดว่าในฐานะคนที่มีการศึกษา เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และศึกษาว่าการแก้ปัญหาแบบใดนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดครับ หนังสือเล่มนี้นั้น Dr. Sachs นั้นเขียนที่จะเรียกร้องให้คนอเมริกามากดดันรัฐบาลตัวเองให้ช่วยเหลือประเทศที่ยากจนครับ

และจุดประสงค์ที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะผมต้องการแนวคิดว่า แล้วเขามีวิธีไหนที่จะแก้ปัญหาความยากจนออกมาได้ครับ

หนังสือที่อาจารย์กรุณาแนะนำนั้น อยู่ในรายการที่ผมอยากอ่านมานานแล้วครับ เพียงแต่ว่ารายการหนังสือที่ผมอยากอ่านมันเติบโตไม่มีวันหยุดครับ (ภาษาเลขเรียกว่า exponentially) นะครับ เลยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอ่านอีกเมื่อไรครับ

ขอบพระคุณมากสำหรับคำแนะนำครับอาจารย์

ต้น  

สวัสดีครับคุณน้องเดอ

ผมว่าคุณน้องเดอต้องมาแซวที่ผมตอบยาวอีกแน่ๆเลย :D

เรื่องการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของความยากจนครับ และแน่นอนครับ การศึกษาก็เป็นการลงทุนที่เสี่ยงครับ ต่อให้รัฐบาลให้การศึกษาฟรี ก็ยังเสี่ยงอยู่ดีครับ

เพราะเราไม่รู้ว่า สาขาที่เราจบไป จะหางานทำได้ง่ายหรือเปล่า เราจะจบไปแล้วตกงานหรือเปล่า หรือว่าอื่นๆอีกมากมาย รวมไปถึงค่าเสียโอกาสด้วย

ผมคิดว่าการศึกษานั้นมีสองแนวคิดครับ คือเรียนเพื่อให้รู้ กับเรียนเพื่อไปใช้ ว่าแต่ผมไม่ทราบนะครับว่าเด็กไทยนั้นเรียนเพื่ออะไร เพราะถ้าเขารู้แล้ว เขาก็คงไม่เข้าใจผิดใช่ไหมครับ

สวัสดีครับ :D

 

 

 ความเสี่ยงในการลงทุนที่ผมระบุหมายถึงความเสี่ยงที่พ่อแม่ลงทุนไปแล้ว ลูกไม่ยอมเรียน เรียนไม่เต็มที่ เรียนแล้วไม่เป็นคนดี เรียนแล้วไม่กลับมาเลี้ยงพ่อแม่

  เสี่ยงมากขึ้นทุกวันครับสมัยนี้

 ผมไม่แซวพี่ต้นแล้วครับ ยอมแพ้ความพยายามครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณน้องเดอ

ที่คุณน้องเดอยกตัวอย่างมาไม่เรียกว่าความเสี่ยงครับ

มันเป็นความแน่นอนครับ เรื่องลูกไม่ยอมเรียน เรียนไม่เต็มที่นะครับ อย่างผม วิชาศิลปะ กับชีวะ นี่ไม่เรียนตั้งแต่ต้นครับ

ส่วนเรื่องเรียนแล้วไม่เป็นคนดี กับไม่กลับมาเลี้ยงพ่อแม่นี่ ผมว่าน้อยมั้งครับ ผมยังเชื่อว่าพื้นฐานของคนเป็นคนดี และก็รู้หน้าที่ว่าอะไรคืออะไรครับ

ไม่เป็นไรหรอกครับ แซวได้ครับ :P

ต้น

สวัสดีค่ะพี่ต้น

แวะเข้ามาบอกว่ายังตามอ่านบันทึกพี่ต้นอยู่นะคะ แต่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ (ช่วงนี้ยุ่ง ๆ ค่ะ เลยอ่านอย่างเดียว ไม่ค่อยได้โพสต์ .. แบบว่าอู้อ่ะนะ :D)

นิสัยไม่ดีค่ะ ชอบอ่านแบบรวดเดียวจบ เช่น เรื่องเมืองจีนเขย่าโลก เจงกิสข่าน Overthrown พวกนี้ณิชอ่านแบบรวดเดียวจบครบทุกตอนประจำเลยค่ะ ฮ่าๆ เรื่องนี้ก็คงเช่นเดียวกัน ^_^

ณิช 

 

สวัสดีครับคุณน้องณิช

ไม่เป็นไรครับ เข้าใจครับว่ายุ่ง :D ดูแลสุขภาพด้วยล่ะกันครับ

ต้น

 หน้าตาความเจริญตามหลักของ Dr. Sachs

 ประเทศมีลักษณะ urbanization ทำให้ประชากรนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในชนบท ทำนา อีกต่อไป --->(เหมือนกรุงเทพของเราใช่มั้ยครับ คนย้ายเข้าเมือง เกิดความแออัด สภาพมลพิษ)

ครอบครัวที่เล็กลง เพราะคนมีความรู้มากขึ้น ก็แต่งงานกันช้าลง รู้ว่าการมีลูกน้อย พ่อแม่ก็ให้การศึกษากับลูกได้มากขึ้น--->(ใช่เลยครับเริ่มเหมือนกรุงเทพเข้าทุกที เพราะความแออัดและ สภาพมลพิษทางอากาศและสังคม ทำให้พ่อแม่คิดได้ สงสารลูกที่เกิดมา)

เศรษฐกิจมีการแข่งขัน ทำให้คนมีการแข่งขันกันมากขึ้น (ชัดเลย กรุงเทพเรานี่แหละ แข่งขันกันอยู่ในวังวน )

 

เจริญแบบนี้ไม่เอาละครับ DR.Sachs

มีขายที่ไหนครับผมหาซื้อทั่วกทม.แล้วไม่มีเลยอยากอ่านมากๆเพราะผมเคยอ่านเล่มนึงที่ผู้แต่งเขียนชื่อ Common Wealth ผมชื่นชอบมากๆเลยอยากอ่านเล่มนี้บ้าง ในกทม.มีที่ไหนขายบ้างช่วยบอกด้วยนะครับ ถ้าหาไม่ได้จริงๆคงต้องสั่งจากAmazon.comแต่ไม่อยากโดนชาร์ตค่าส่ง (แพงมากๆ แพงกว่าราคาหนังสืออีกบางที)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท