วันที่ 24 มิ.ย.ก่อนไปสัมมนาการจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชนที่ลำปาง ผมแวะงาน 10 ปีสภาพัฒนาฯที่เมืองทองธานี ได้ฟังนายกฯพูดจับความได้ดังนี้
บนลู่วิ่งประเทศไทยในกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์สิ่งที่ต้องรับรู้ ตระหนักและวางบทบาทคือ1)รู้จักตัวเอง 2)กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 3)โลก
ผมสรุปตามความเข้าใจของผมเองว่า 1)ตัวเราเองต้องจัดการการเงินให้เป็น ต้องทำบัญชีรับ-จ่ายเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายรับและเสริมความเข้มแข็งภาคผลิตจริงโดยการปรับโครงสร้าง ระบบสนับสนุนและกฏหมาย 2)ขนาดเศรษฐกิจของไทยประมาณ 90 % ขณะที่กัมพูชา พม่า ลาวรวมกันเพียง 10 % เราต้องพัฒนาตัวเองเป็นภาคจัดการและบริการโดยให้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานการผลิตในลักษณะสมประโยชน์ 3)การแข่งขันของโลกที่ใช้นโยบาย กฏหมาย เทคโนโลยี ฯลฯเป็นเครื่องมือ เราต้องรู้เท่าทันและสร้างความสัมพันธ์อย่างเท่าเทียม
ฟังแล้วรู้สึกชื่นชมวิสัยทัศน์ของท่านและเห็นว่านายกฯของเราเก่งจริง ๆ เรื่องอื่น ๆก็ว่ากันไป(ฮา)
ผมย้อนมาดูสิ่งที่เราพยายามทำในระดับชุมชน/ครัวเรือน ถ้าหากสามารถทำให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ทั้ง 3 ระดับก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ในโลกโลกาภิวัฒน์ไม่น้อย
ก่อนจบ ผมมีเรื่องเล่าจากปัตตานีซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทุนนิยมไม่เข้าใจ
มีร้านน้ำชาและขายข้าวหมกไก่ที่ปัตตานีร้านหนึ่งขายดีมาก เพราะคนขายอัธยาศัยดีและอาหารอร่อย แต่แกจะปิดเวลา10.00น. แม้ว่าจะมีคนมาก และดูท่าหากขยายกิจการคนก็จะเต็มร้านตลอด มีคนสงสัยไปถามแกว่า ทำไมไม่ขยายเวลาหรือเปิดร้านเพิ่ม แกบอกว่า คนเราต้องมีเวลาอยู่กับพระเจ้าบ้าง