บันทึกรายรับรายจ่ายของครัวเรือนหนึ่งในเครื่องมือวิจัยชุมชนอินทรีย์


ในสายตาของ สสส. แหล่งทุนที่สำคัญของโครงการวิจัยนี้เขามองว่าบันทึกรายรับรายจ่ายรายครัวเรือนนี้เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินของครัวเรือน

เมื่อ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ผมในฐานะคณะทำงานโครงการวิจัยความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะจังหวัดนครศรีธรรมราช คนหนึ่ง ได้เข้าร่วมร่วมรับฟังคำชี้แจงเครื่องมือที่ใช้ในโครงการตลอดทั้งวัน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน จากนครศรีฯ สงขลา ตรัง สตูล และพัทลุง ที่ห้องประชุมศูนย์สาธารณสุขชุมชนจังหวัดนครศรีรรมราช

ผู้มาทำการชี้แจงเครื่องมือมาจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ศ.ดร.ปราโมทย์ ปราสาทกุล ดร.อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์ คุณสุธิดา ชวนวัน คุณปัญญา ทองคุ่ย คุณปิยวัฒน์ เกตุวงศา และมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2 ท่าน คือ คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช และคุณอังคณา ใจเลี้ยง

เครื่องมือที่ทำการชี้แจงวันนั้นคือแบบบันทึกรายรับรายจ่ายรายครัวเรือนและโปรแกรมสำเร็จรูปแบบบันทึกรายรับรายจ่ายรายครัวเรือน ซึ่งเครื่องมือนี้เชื่อว่าถ้าครัวเรือนทำอย่างจริงจังเป็นนิสัยแล้วจะเป็นพฤติกรรมต้นทางที่สำคัญสำหรับนำมาใช้ในการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง

สำหรับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการที่จะมาบันทึกรายรับการจ่ายของครัวเรือนตนเองจะต้องเต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการ ไม่บังคับกัน มาแล้วก็ต้องบันทึกรายการรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ตลอดระยะเวลา 15 เดือน ของโครงการวิจัย(หรือตลอดไปหลังสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการวิจัยแล้ว)

เมื่อครัวเรือนบันทึกเสร็จก็จะมีคน(ครู ข ประมาณว่าหัวหน้าคุ้ม หัวหน้ากลุ่มครัวเรือนกลุ่มย่อย) นำมาส่งให้ จนท.ระดับตำบล ซึ่งคือ อบต.เพื่อบันทึกและประมวลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปดังกล่าว เมื่อประมวลผลเสร็จจากนั้นก็รายงานผลสถานะการรับจ่ายของครัวเรือนให้ครัวเรือนทราบ ผ่านทางครู ข ที่ว่า ซึ่งในการแจ้งผลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของครัวเรือนจะมีการใช้รหัสครัวเรือนแทนชื่อจริง จึงไม่มีใครทราบสถานะทางการเงินของใคร คล้ายๆกับออกใบสลิปเงินเดือนส่งให้ครัวเรือนทราบทุกๆ 3 เดือน ไม่เหมือนอย่างการจัดเก็บข้อมูลที่ผ่านๆมาที่ให้ข้อมูลแล้วก็ไม่ได้รับทราบอะไรต่อจากนั้นอีกเลย ทำให้ครัวเรือนได้มีกิจกรรมวิเคราะห์เปรียบเทียบเรียนรู้กันเองในครัวเรือน เปรียบเทียบสถานะทางการเงินของครัวเรือนตนเองกับค่าเฉลี่ยของหมู่บ้าน เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับที่กว้างขึ้นๆ นำเสนอเปรียบเทียบเป็นกราฟชนิดต่างๆให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ครัวเรือนได้นำข้อมูลนี้มาจัดแจงกับสถานะทางการเงินของครัวเรือนของตนซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากภายในครัวเรือนเอง ทันทีที่ จนท.อบต.บันทึกข้อมูลสถานะทางการเงินของครัวเรือนเสร็จก็จะคืนกลับแบบบันทึกรายรับรายจ่ายนี้ให้ครัวเรือนได้บันทึกต่อเนื่องต่อไป

ในสายตาของ สสส. แหล่งทุนที่สำคัญของโครงการวิจัยนี้เขามองว่าบันทึกรายรับรายจ่ายรายครัวเรือนนี้เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินของครัวเรือน

ผมฟังคำชี้แจงแล้วเห็นว่าแบบบันทึกรายรับรายจ่ายครัวเรือนและโปรแกรมสำเร็จรูปนี้มีประโยชน์มากมาย เป็นเครื่องมือที่ดีมากๆ ใช้ง่าย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ สกว.หลังจากรับฟังความคิดเห็นที่ประชุมที่ให้ปรับแก้รายการในแบบบันทึก ที่ประสงค์ให้ลงรายการที่ละเอียดปลีกย่อยมากกว่านี้แล้ว ก็รับว่าจะไปปรับให้ตามนั้น ซึ่งอีก 15 วันหลังจากนี้ไปเมื่อปรับเสร็จก็จะได้จัดส่งมาให้คณะทำงาน เมื่อถึงตอนนั้นผมก็จะได้บันทึกให้ทราบต่อไป

ประชุมกันวันนั้นผมได้ศัพท์คำใหม่มาคำหนึ่งครับคือคำว่า ตรวจสุขภาพทางการเงินของครัวเรือน

ใครจะนำไปใช้บ้างก็ยินดีนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 88713เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ตอนนี้หลายๆหน่วยงานก็เน้นการทำบัญชีครัวเรือนกันนะค่ะ   แต่จากการพบหรือเห็นข้อเสียของคนไทย(ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ)ไม่ชอบการเขียนหรือจดบันทึก  เพราะพอจับปากกาหรือดินสอก็สั่นเหมือนเจ้าเข้า  และบางครัวเรือนไม่กล้าที่จะเขียนอายและไม่ยอมรับความจริง

ผมใช้การทำงานแบบนี้วัดระดับ "ความพอเพียง" และพยายามจะนำผลและวิธีการสู่แผนและนโยบายระดับชาติครับ

ผมลองทำดูทั้งๆที่ไม่มีความรู้ แต่คนที่รู้เขาคงไม่กล้าทำมั้งครับ

  • ครอบครัวผมก็บันทึกรายจ่ายเหมือนกันครับ ทำมานานแล้วใช้แบบง่ายๆ จนติดครับว่าเข้าบ้านต้องบันทึกก่อนว่าได้จ่ายอะไรมาบ้าง
  • แต่หากมีเครื่องมือดีๆ โอกาสต่อไปจะเข้ามาขอความรู้ต่อนะครับ

ครูตุ๊กตา

         พื้นฐานคนไทยไม่ชอบเขียนไม่ชอบจดไม่ชอบบันทึก....แถมให้อีกอย่างคือการอ่านก็ไม่ชอบอ่านด้วยครับ ผลการสำรวจบอกว่าคนไทยอ่านเฉลี่ยปีละ 8 บรรทัด เท่านั้น เศร้า.....เรา ครู กศน.ด้วยกันจะทำอะไรกันดีละครับ มาเริ่มที่ตัวครู  กศน.กันดีไหมเอ่ย

ดร.แสวง ครับ

          ชื่นชมวิธีการและความตั้งใจดีของอาจารย์ครับ

          ทราบว่าสงกรานต์(วันว่าง)อาจารย์จะมาเยี่ยมบ้านที่พัทลุง....ไหว้พระธาตุเมืองนครศรีฯ อย่าลืมบอกผมด้วยนะครับ จะได้อยู่รอต้อนรับอาจารย์ตอนมาไว้พระธาตุ

น้องสิงห์ป่าสักครับ

         พี่เองยังไม่ไปถึงไหนครับเรื่องบันทึกรายรับรายจ่าย ดีใจกับน้องด้วยจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท