บทนำ


การทำ “ฮัจย์” เป็นกิจกรรมหนึ่งในห้าประการ ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ สำหรับผู้ที่มีความสามารถ

ช่วงปลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก (ไม่นับมาเลเซีย) คือประเทศซาอุดิอารเบีย เป้าหมายคือไปทำฮัจย์ที่นั่น คำว่า ไปเมกกะ” (เมกกะเป็นเมืองหนึ่งของประเทศซาอุดิอารเบีย) เป็นคำที่มุสลิมทุกคนอยากได้ยิน อยากสัมผัส จะตื่นเต้นทุกครั้งเวลาได้รับทราบว่าคนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก ไปเมกกะปีนี้ผู้เขียนโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นแขกรับเชิญของพระเจ้า เพราะที่นั่น เปรียบเสมือนบ้านของพระองค์ และการไปครั้งนี้ก็ด้วยการอนุมัติของพระองค์เช่นกัน           

การทำ ฮัจย์เป็นกิจกรรมหนึ่งในห้าประการ ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ สำหรับผู้ที่มีความสามารถ  ความสามารถในที่นี้หมายถึง มีเงินใช้จ่ายเพียงพอในการไป ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และมีความปลอดภัยในการเดินทางไปและกลับ  ถ้าหากมีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสามเรื่องนี้ก็ไม่เป็นที่บังคับ สำหรับการทำฮัจย์แก่บุคคลนั้น การทำฮัจย์จะประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆอีกหลายกิจกรรม ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป           

 หลายคนถามผู้เขียนว่า คนมากมายขนาดนั้นประเทศซาอุฯเขาบริหารจัดการอย่างไร คืออย่างนี้ค่ะ คนที่จะไปทำฮัจย์จะต้องสังกัดแซะห์ แซะห์หมายถึงหัวหน้ากรุ๊ปทัวร์ แต่ละคนจะมีลูกทัวร์มากน้อยต่างกันไปแล้วแต่ใครจะหาได้ มีตั้งแต่ 5-6 คนไปจนถึงหลักร้อย แซะห์แต่ละคนจะสังกัดบริษัททัวร์อีกต่อหนึ่ง  บริษัททัวร์มีหน้าที่รับผิดชอบการเดินทาง จัดหาที่พัก รวมทั้งประสานงานกับทางการประเทศซาอุฯร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย ส่วนแซะห์จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลผู้ไปทำฮัจย์ในทุกๆเรื่อง เริ่มตั้งแต่ออกจากบ้าน จนกว่าจะกลับถึงบ้าน ทั้งเรื่องการกิน การอยู่ การทำกิจกรรมทางศาสนา ทุกเรื่องรวมทั้งเจ็บไข้ได้ป่วย แซะห์ต้องดูแลหมด และถ้าหากผู้ไปทำฮัจย์เสียชีวิต แซะห์จะต้องรับผิดชอบทรัพย์สินของผู้ตายและต้องส่งคืนทรัพย์สินให้ถึงบ้านด้วย ซึ่งหน้าที่อันนี้จะระบุไว้ชัดเจน           

ก่อนที่เราจะเดินทางไป  บริษัททัวร์จะจองที่พักไว้แล้ว เกือบทั้งหมดจะเป็นโรงแรม มีบ้างที่เป็นบ้านเช่าแต่น้อยมาก ในช่วงฤดูทำฮัจย์ชาวซาอุฯบางส่วนเขาจะอพยพไปอยู่นอกเมือง โดยแปลงสภาพบ้านของตัวเองเป็นบ้านเช่าแทน แต่เดี๋ยวนี้มีน้อยลงเพราะโรงแรมผุดขึ้นเยอะมาก ปกติเวลาเราพักโรงแรมจะมีแค่หนึ่งหรือสองเตียง แต่ไปทำฮัจย์ที่ผู้เขียนเจอมามีตั้งแต่สี่เตียงจนถึงเจ็ดเตียงแล้วแต่ขนาดของห้อง โดยแยกนอนคนละเตียงหมดเลย ในหนึ่งชั้นของโรงแรม จะมีห้องครัวให้หนึ่งห้อง มีทั้งตู้เย็น เตาแก๊สพร้อม แซะห์เขาจะเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารไปจากเมืองไทย เช่นข้าวสาร น้ำพริกแกงต่างๆ แล้วทำอาหารกินเองโดยแซะห์เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องกินทั้งหมด แซะห์ส่วนใหญ่จะทำงานกันสองคนคือ ภรรยาเป็นแม่ครัว ส่วนตัวแซะห์จะนำลูกทัวร์ออกทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากแซะห์ที่มีลูกทัวร์มากๆเขาจะจ้างคนทำงานในแต่ละหน้าที่ไปเลย แซะห์บางคนไม่มีแม่ครัวไป ก็จะจ้างคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ที่โน่นเป็นแม่ครัวให้ ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้มีรายได้ดีพอสมควร 

การไปครั้งนี้กำหนดเดินทางวันที่ 4 ธค.2549 -  20 มค.2550  รวม 45 วัน

  • เราอยู่ที่มะดีนะห์ 8 วัน เพื่อละหมาดที่มัสยิดอัลนาบาวี ให้ครบ 40 ครั้ง
  • จึงเข้าเมกกะ หลังจากใช้เวลาปรับสภาพร่างกายเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศที่นั่น และเตรียมตัวสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆของการทำฮัจย์ เป็นเวลา 10 วัน
  • จึงได้เวลาออกเดินทางไปมีนาเพื่อขว้างลูกหิน  ไปทุ่งอารอฟะห์ ค้างคืนที่มุชดาลีฟะห์ รวม 8 วัน
  • จึงกลับมาที่เมกกะอีกครั้งเพื่อเตาวัฟและซาแอ ทำฮัจย์เสร็จสมบูรณ์ (ยกเว้นเตาวัฟลา)ในวันที่ 2 มค.50
  • เวลาที่เหลือ จึงเป็นการทำอุมเราะห์ ซึ่งเป็นภาคแต่งเติม จนกว่าจะเดินทางกลับ ในวันที่ 20 มค.2550
คำสำคัญ (Tags): #ฮัจย์
หมายเลขบันทึก: 88712เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท