ผู้รับบริการที่รักและศรัทธาเรา มักมาพร้อมความ "คาดหวัง"
ทีอย่างที่เคยได้รับ
ผู้รับบริการที่มาเพราะความจำเป็น ร้อนรนที่จะได้อย่างที่"คาดหวัง"
และทันใจ
ผู้รับบริการที่บังเอิญผ่านเข้ามา คง "คาดหวัง"
ว่าน่าจะได้อะไรดีๆกว่าที่เคยได้รับจากที่อื่น
ผู้รับบริการที่ไม่ชอบเราแต่สามสิบบาทบังคับให้ต้องมา ได้แต่หวังว่า
สิทธิที่มีคงพอให้ได้สักเศษเสี้ยวของ "คาดหวัง"
ท่านเองแทบจะไม่สามารถ "คาดหวัง" ว่า ผู้รับบริการจะ "ไม่คาดหวัง"
"อาจารย์ขา จะค้นหาความคาดหวัง หรือตอบสนองความคาดหวังนั้น ได้อย่างไร และเท่าไหร่จะพอ"คำถามที่ถูกถามบ่อยเมื่อไปเยี่ยมน้องในพื้นที่ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะตอบ
ผมได้ไปอ่านพบบทความสั้นๆ เรื่องความคาดหวัง เลยจดจำมาเล่าสู่กันฟัง เท่าที่พอจำได้นะครับ
ไม่ใช่เพื่อตอบคำถาม แต่ให้อ่านเล่นๆ อาจพอมีอะไรที่เสริมความคิดคำนึงของเราได้บ้าง
ลองจินตนาการดู เมื่อวันที่ท่านเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า (หรือในตลาดก็ได้)
ท่านเกิดสนใจที่จะซื้อลูกอมชั่งกิโล และ ถั่วทอด
"เอาลูกอม นี่ ยี่สิบบาทครับ (ได้ครึ่งกิโลพอดี) นะครับ" ตอนนั้น อะไรคือความคาดหวังของท่าน
สาวน้อยแม่ค้าหน้าใส บรรจงตักด้วยกระบวยขนาดใหญ่ เทลงบนตาชั่ง ว้าว! ได้เยอะขนาดนี้เชียวหรือ ในใจท่านอุทานออกมาดังๆเมื่อเห็นจำนวนลูกอม ที่สาวน้อยตักอย่างเต็มที่เต็มถาดบนตามชั่ง
ว่าแล้ว สาวน้อย ก็บรรจงตักออก ตักออก ตักออก เมื่อเห็นว่าน้ำหนักเกินครึ่งกิโลไปมาก ตักไปตั้งหลายทียังไม่แ้ล้วใจ แถมเอามือหยิบออกทีละเม็ดสองเม็ด โดยไม่สนใจความรู้สึกของท่าน ที่เสมือน ความคาดหวังถูกตักออกที่ละน้อยๆ อย่างโหดร้าย ตอนนี้สาวน้อยแม่ค้าหน้าไม่ค่อยใสเหมือนเดิมแล้ว (ท่านรู้สึกเอง!!)
หลังจ่ายเงินเมื่อได้ของครึ่งกิโลแล้ว ท่านก็เดินจากไป ในใจก็คงคิดว่า ช่างมันเถอะ ค้าขายก็อย่างนี้แหละ ขอให้ตาชั่งไม่โกงก็แล้วกัน
อีกครู่หนึ่ง ก็แวบเห็นร้านขายถั่วทอด ที่ตั้งใจจะมาซื้อเหมือนกัน จึงเดินรี่เข้าไป
"เอาถั่วทอด ยี่สิบบาท
(ได้ครึ่งกิโลเหมือนกันแฮะ) ครับ"
ตอนนี้ท่านคงไม่คาดหวังเหมือนคราวซื้อลูกอมแล้ว
สาวใหญ่แม่ค้าหน้ามัน เพราะความร้อนของเตาไฟและน้ำมันถั่วทอด ก็บรรจงเอาเอาทัพพีอันเล็กๆตักถั่วทอดไม่มากนักใส่บนตาชั่ง ท่านสะดุ้งในใจ แย่ล่ะหว่า ทำไมมันแพงอย่างนี้ล่ะ สงสัยจะผิดหวังซ้ำสอง
ยังไม่ทันได้ต่อว่า แม่ค้า
ก็บรรจงตักถั่วทอดใส่เข้า ใส่เข้า เหมือนอยากจะขายให้อย่างเต็มใจ
แถมแล้วแถมอีก ตอนนี้ท่านคงรู้สึกว่า แม่ค้าน่ารักขึ้นๆ
ตามจำนวนถั่ว ที่เธอตักใส่ตักใส่
จนครบครึ่งกิโล ยี่สิบบาทเหมือนเดิม
ท่านลืมคิดเหมือนเมื่อครู่ว่า แม่ค้าถั่วทอด จะโกงตาชั่งหรือเปล่า ท่านรับถุงถั่วพร้อมรอยยิ้ม แถมยังจินตนาการเห็นรอยยิ้มของแม่ค้าด้วยเหมือนกัน ความคาดหวังที่พร่องไปจากร้านลูกอม มาถูกเติมเต็มอีกครั้งที่ร้านถั่วทอด กระมัง
อะไรที่มันแตกต่าง ระหว่าง ลูกอมครึ่งกิโล ยี่สิบบาท และ ถั่วทอดครึ่งกิโล ยี่สิบบาท ที่มีต่อความคาดหวังตั้งต้น และสิ่งที่ได้รับ
วิพากษ์วิจารณ์มาเพื่อการเรียนรู้กันและกันนะครับ ผมก็แค่ไปจำเขามาเล่าครับ
วราวุธ
ปล.ช่วงนี้เกเรครับ ไม่ค่อยทำการบ้าน บริหาร blog ครับ
ขออภัยอย่างสูงครับ จะปรับปรุงตัวครับ
เปรียบเสมือนเราพกทัศนคติแบบไหนไปด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะอาจารย์
บางคนเห็นน้ำเหลือครึ่งแก้ว จะโวยวายว่าเหลือแค่ครึ่งแก้วเอง แต่บางคนมองต่างมุม บอกว่าเหลืออีกครึ่งแก้วแหนะ
การจะตอบสนองความคาดหวังของลุกค้า ก่อนอ่นอก็ต้งรับรู้ว่าลูกค้าคาดหวังอะไรก่อนจริงมั๊ยคะพระอาจารย์?
ทั้งเขาและเรา คาดหวังต่างกัน และความคาดหวังก็เป็นเรื่องที่อยู่ภายใน ให้บอกให้หมด ยังไงก็บอกได้ไม่หมดในคราวเดียว แถมเปลี่ยนแปลงตามเวลาได้อีก ความคาดหวังนี้ทำให้เกิดข้อเสียได้เยอะต่อระบบบริการสาธารณสุขเหมือนกัน );
ภายใต้ความพอดีที่ว่าไม่เกินขอบเขตที่เราจะจัดไว้ให้เขาได้ และเขาควรจะต้องได้ (Need) ซึ่งเราก็ต้องมีให้ตามนั้น และเขาก็ต้องไม่ได้ตามคาดหวังทั้งหมด (เกินไปจากที่ควรจะต้องได้) ความพอดีที่ว่าน่าจะเป็น Desirable Health Sevice ครับ
Desirable Health Sevice จึงหมายถึง บริการสุขภาพที่มีความเป็นไปได้จริง ตามสิทธิพึงมีพึงได้ของเขา และไม่เกินความสามารถของเราที่จะจัดให้เขาได้อย่างเป็นธรรมในสังคม หรือคนอื่นไม่รู้สึกเสียประโยชน์ไปเพราะอีกคนหนึ่งได้รับบริการนั้น