KM สัญจร


5 - 7 กค. 48
KM สัญจร
ธวัช  หมัดเต๊ะ  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม 

            กิจกรรมพิเศษของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) อีกรายการหนึ่งในปี 2548   ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นไปตามที่คณะทีมงานของเราได้ตั้งเป้าเอาไว้  นั่นก็คือ  ไปดู  ไปเห็น การจัดการความรู้ (KM) ให้ถึงที่  ในพื้นที่จริง   และขอความคิดเห็น มุมมองของลูกทัวร์ที่เก็บเกี่ยวได้จากในพื้นที่  ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ   หลากหลายบริบท         คณะลูกทัวร์ประกอบด้วย  ผู้ทรงคุณวุฒิ  นำโดย  อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม,  ศ.นพ.เทพ  หิมะทองคำ, ดร. สุวัฒน์  เงินฉ่ำ,  ดร.เลขา  ปิยะอัจฉริยะ, นพ.สุวิทย์ วิบุลย์ผลประเสริฐ, ครูสุรินทร์  กิจนิตย์ชีว์, ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด,  และ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช      อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่อายุโดยเฉลี่ยน้อยกว่ากว่ากลุ่มแรกประมาณครึ่งหนึ่ง  เป็นกลุ่มสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์   นิตยสาร  และสาขาอื่นๆ  ได้แก่ ทีมพานอรามา, หนังสือสร้างงาน สร้างเงิน, นิตยสารกินรี, นิตยสารสานปฏิรูป, สำนักข่าวประชาไท, นสพ.บางกอกโพสต์, และ นสพ.กรุงเทพธรกิจ    ส่วนที่เหลือก็เป็นเจ้าหน้าที่ของ  สคส.  แบบว่าปิดสำนักงานไปดู KM ของจริงครับ   โปรแกรมของทัวร์เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 5 กรกฎาคม  และเสร็จสิ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2548

            เริ่มตั้งแต่จุดแรกที่เราไปแวะชม  คือ กลุ่มโรงเรียนชาวนา   ต้องขออนุญาตเรียกว่ากลุ่มนะครับ  เพราะเขามาจากหลายโรงเรียน  (แต่ละอำเภอ  ก็แยกโรงเรียนออกไป)    โรงเรียนที่ว่านั้น  ไม่ได้เป็นอย่างโรงเรียนประถม  มัธยม ที่เราเห็นตามปกติทั่วไปดอกครับ    โรงเรียนชาวนาที่สุพรรณฯ เขาไม่มีอาคาร  สถานที่ของตัวโรงเรียน   ชาวนาทุกคนต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสลับกันเป็นครูบ้างบางครั้ง  เป็นนักเรียนบ้างบางครั้ง   ใช้สถานที่สาธารณะ  เช่น  วัด   บริเวณบ้านของสมาชิก   ท้องทุ่งนา  หรืออื่นๆที่พอจะหาได้ในพื้นที่   เป็นการเรียนจากชีวิตจริง  ผ่านการสังเกต   จดบันทึก  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเอง   จนพบข้อไขก๊อกปัญหาต่างๆในการทำนา  และที่สำคัญพบปะกันสม่ำเสมอ   จนเกิดเป็นความเคยชิน   ไม่รู้สึกว่ามาคุยกันแล้วเสียเวลาทำมาหากิน  แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นประโยชน์ต่อการทำมาหากินของตนเสียด้วยซ้ำ   

            เสน่ห์ของ KM ที่โรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น   เห็นจะเป็นเรื่องของการทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน   วิธีการเรียนรู้ร่วมกัน   ทดลองทำกิจกรรมร่วมกัน  ทั้งหมดอยู่บนฐานของการใช้ชีวิตจริง และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่แปลกแยกตัวเองออกจากสภาพความเป็นอยู่จริง  โดยไม่ทิ้งความรู้เดิมที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว  เสริมความรู้ใหม่จากสายวิชาการเข้ามาเป็นระยะๆ   และที่ไม่กล่าวเสียเลยคงไม่ได้  นั่นก็คือ การสร้างความรู้ใหม่เพื่อการทำนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นชุดความรู้การควบคุมศัตรูพืชทั้งแมลงและวัชพืช   ชุดความรู้การเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร  ชุดความรู้การพัฒนาพันธุ์ข้าวของตนเอง   เป็นสิ่งที่นักเรียนชาวนาทุกคนภูมิใจในผลงานเหล่านั้น   ชาวนาที่นี่สร้างความรู้ไว้ใช้เองได้  อนาคตก็คงจะสดใสขึ้นเป็นลำดับหละครับ      นอกจากนั้นยังมีสิ่งต่างๆอีกมากที่ได้จากการมาเข้าโรงเรียนชาวนา    ชาวนาบอกเราว่าคนในตำบล  ในหมู่บ้านได้พูดคุยกันมากขึ้น   มีความเป็นเพื่อนกันมากขึ้น  ต่างจากเดิมซึ่งต่างคนต่างยุ่งอยู่กับงานของตัวเอง   ได้ความเป็นชุมชนกลับคืนมา   ได้ธรรมชาติดีๆกลับคืนมา  และยังได้สุขภาพไร้สารเคมีกลับคืนมาดังเดิม  

            หลังจากได้ชื่นชมธรรมชาติแห่งท้องทุ่งสุพรรณฯคลุกเคล้าเรื่องราว KM ที่บางคนเห็นมาก  ขณะบางคนเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง   เราก็ออกเดินทางต่อหลังจากเสร็จสรรพจากอาหารเที่ยงที่วัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  มุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลอำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์   ซึ่งเป็นจุดนัดพบช่วงถัดไป   ระหว่างเดินทางออกจากบางปลาม้าได้สักพักหนึ่ง   เราก็ชวนคณะลูกทัวร์ได้แสดงความรู้สึกส่วนตัว  ความคิดเห็นต่อสิ่งที่เราได้ไปพบเห็นมา  โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า  AAR  (After Action Review)   จริงๆแล้วเป็นความตั้งใจของ  สคส. ว่าเราจะทำ AAR  ของทุกพื้นที่ที่ได้แวะดูมา    การทำ AAR ของเราเริ่มทำในเวลาที่ทุกคนอยู่บนรถระหว่างเส้นทางไปยังจุดพื้นที่ดูงานตามโปรแกรมช่วงถัดไป    เรามักจะเริ่มโดยให้คนที่นั่งด้านท้ายรถบัสพูดก่อนแล้วค่อยไล่ขึ้นมาที่นั่งด้านหน้าตามลำดับ     เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่นั่งด้านหลังจะเป็นคนที่อายุน้อยกว่า  มีบ้างบางครั้งที่ต้องสลับเพื่อป้องกันการหลับก่อนเมื่อแสดงความคิดเห็นผ่านไปแล้ว  ด้วยวิธีการนี้ทำให้เราเห็นถึงวิธีคิด  การมอง KM  ที่ต่างนานาทัศนะ   แต่ทั้งหมดเราก็ถือเป็นสิ่งเรียนรู้ร่วมกัน  ที่สื่อมวลชนร้องขอมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง  จัดทัวร์พื้นที่แบบเต็มวัน  มีเวลาในพื้นที่มากๆ  เพื่อจะได้พูดคุยให้เต็มที่

            ตอนบ่ายแก่ๆ เราเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตาคลี    ทราบว่าคณะตัวแทนจากโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดนครสวรรค์มาคอยคณะทัวร์ของเราตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว   ตั้งแต่หน้าห้องประชุมตลอดไปจนรอบห้องประชุมมีป้ายแสดงนิทรรศการของแต่ละโรงพยาบาล  ตั้งเป็นทิวแถวขบวนยาวทีเดียว     บรรยากาศดูจะเป็นทางการนิดหน่อย   มีการแนะนำคณะเย้า-เยือน   ก่อนที่จะนำเสนอว่าเครือข่าย สสจ.นครสวรรค์นั้นได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำ  workshop KM มากกว่า การทำ KM จริงๆในหน่วยงาน หรือในเครือข่าย    แต่ตอนหลังจากที่เดินดูนิทรรศการของแต่ละโรงพยาบาลก็เห็นว่าจริงแล้วภายในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีกระบวนการ KM แฝงอยู่บ้างแล้ว  แต่ในเวทีใหญ่ไม่ได้ยกขึ้นมานำเสนอ     ต่อจากนั้นอีกรายการหนึ่งคือ  “นครสวรรค์ฟอรั่ม”  โดย นพ.สมพงษ์  ยูงทอง   เป็นเรื่องราวของโรงเรียนชาวนา ภาค 2   ทราบว่าเป็นรุ่นน้องจากโรงเรียนชาวนาที่สุพรรณบุรี    เพราะได้ไปพูดคุยเรียนรู้วิธีการโรงเรียนชาวนาจากสุพรรณบุรีมาก่อน    เป็นที่น่าเสียดายว่าจุดที่นครสวรรค์  ชาวนา (คุณกิจตัวจริง) ไม่ได้ขึ้นมานำเสนอด้วย  อาจเป็นเพราะเวลาค่อนข้างน้อย  ไหนจะเครือข่าย สสจ.นครสวรรค์   ไหนจะนครสวรรค์ฟอรั่มอีก  ต้องชมความตั้งใจของเครือข่าย  สสจ.นครสวรรค์ครับ  ที่จัดเตรียมกิจกรรมมากมายเอาไว้ต้อนรับคณะทัวร์ของเรา  จนไม่สามารถพูดคุยในรายละเอียดของแต่ละเรื่องได้เลย  จากนั้นเราก็มุ่งหน้าไปยัง จังหวัดตาก  มื้อค่ำวันนี้เราแวะรับประทานกันแถวๆอุทยานสวรรค์      คืนแรกเราไปพักในเมืองตาก   เนื่องจากตอนเช้าเราจะได้มีเวลาให้กับโรงพยาบาลบ้านตากมากขึ้น  ลดเวลาเดินทางให้น้อยลง   

            ตอนเช้า    ม้าเร็วของโรงพยาบาลบ้านตากเดินทางมารับคณะทัวร์ของเรา   ถึงหน้าโรงแรมเวียงตาก   และนำทางไปยังโรงพยาบาลบ้านตาก      เมื่อถึงโรงพยาบาลทุกคนชื่นชมในบรรยากาศของสถานที่ที่ดูสบายตา  เห็นสีหน้าเปื้อนยิ้มของเจ้าหน้าที่    เราเริ่มการพูดคุยที่ห้องประชุมชั้นสอง  เริ่มจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากกล่าวต้อนรับแนะนำจังหวัดตากนิดหน่อย    ก่อนที่จะโยนเวทีให้กับหมอพิเชฐ บัญญัติ  (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก) ขวัญใจพ่อยก-แม่ยกในวงการ KM   คุณหมอเล่าให้คณะทัวร์ของเราฟังว่าที่โรงพยาบาลบ้านตาก ทำอะไร  อย่างไร     คุณหมอพิเชฐกล่าวชัดเจนว่า  ทุกอย่างที่ทำเพื่อความอยู่รอดของโรงพยาบาล  และความอยู่ดีมีสุขของคนที่บ้านตาก   ทำทุกอย่างที่เข้ามาใหม่ให้เป็นเรื่องเดียวกัน   มีการแบ่งงานเป็นคณะกรรมการชุดย่อย   ให้ความเป็นอิสระในการคิดสร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ๆที่ตอบสนองเป้า  “ถูกกว่า  ดีกว่า  เร็วกว่า”   ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง  คือที่นี้เขาสร้างโมเดล การจัดการความรู้ของเขาเอง  เขาเรียกมันว่าโมเดล  LKASA บวก EEG หรือโมเดลไข่แบบง่ายๆ     โมเดล LKASA มาจาก 1) การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ (Learning)  2) การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ (Knowledge Organizing)  3) การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ (Knowledge Acting)  4) การจัดการให้เกิดการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing)  5) การจัดการให้เกิดการจัดเก็บองค์ความรู้ (Knowledge Assets)    ส่วนโมเดลไข่นั้นก็นำองค์ประกอบทั้ง 5 ตัวที่กล่าวมาแล้วนั้นวางเป็นรูปทรงรี  เหมือนอยู่ในไข่เป็ด ไข่ไก่นั่นเองครับ      จากนั้นคุณเกศราภรณ์  ภักดีวงศ์  ฐานะคุณอำนวยใหญ่ประจำโรงพยาบาลมาเล่าวิธีการทำงานให้เราฟัง  และต่อด้วยเภสัชกรเล่าถึงวิธีการทำงานภายใต้การทำงานที่มีการใช้ระบบ KM        จะเห็นว่าลึกๆแล้วโรงพยาบาลบ้านตากเรียนรู้ตลอดเวลา   เรียนรู้เกาะติดสถานการณ์   เกาะติดความรู้ใหม่ๆ   รู้จักใช้เครื่องมือใหม่ๆ  (ทางการจัดการ เช่น  BSC  SWOT  Six Sigma  Benchmarking)  หลายชนิดมากและประยุกต์วิธีการให้เหมาะกับสถานภาพตัวเอง  เรียนรู้เรื่องจิตใจคนในองค์กรอยู่เสมอ  กระตุ้นให้คนทำงานช่วยกันคิดค้นวิธีการทำงานใหม่ๆ  จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนที่นี่ทำไมขยันกันสร้างวิธีการทำงานใหม่ๆ  หรือเครื่องมือเครื่องไม้ทางการแพทย์ใหม่ๆออกมาใช้เอง  ประหยัดงบหลวงไปเยอะ   จุดนี้แหละครับที่อยากจะให้จับตามอง หากใครคิดจะแกะรอย KM   ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้  แทนที่จะไปถามคุณหมอตรงๆว่า  “ทำ KM จะต้องทำอะไรบ้าง?   1…2…3…4…?”      

            จากนั้น  คณะทัวร์ KM  ต้องรีบเดินทางต่อไปยัง  อำเภอวชิรบารมี  จังหวัดพิจิตร   คณะทัวร์ของเราจำเป็นต้องทานอาหาร (กล่อง) กลางวันบนรถบัส  เนื่องจากว่าเวลาของเรานั้นจำกัดจริงๆ   จุดนัดพบจุดถัดไปนั้นทราบว่าเป็นบริเวณวัดและบ้านเกษตรกรในพื้นที่   เมื่อเดินทางไปถึงจุดนัดหมายก็จำเป็นต้องย้ายจากเดิมบริเวณลานวัด  ขึ้นไปบนศาลาวัดแทนเนื่องจากฝนฟ้าไม่อำนวย     การพูดคุยที่นี่ได้ถูกแยกออกเป็น 2 วง  วงแรกเป็นกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกร    วงที่สองเป็นกลุ่มหมออนามัยและ สสจ.พิจิตร   ส่วนคณะของเราก็แยกย้ายไปตามความสนใจ    พูดคุยกันพอประมาณ  วงเกษตรกรก็มีเสียงคุยที่ดังขึ้นเรื่องๆ เข้าใจว่าเริ่มได้อรรถรส  จากนั้นก็ออกเดินเท้าไปเยี่ยมบ้านป้ามุ้ย  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัด   เป็นบ้านธรรมดาๆในแถบชนบททั่วๆไป  แต่วิธีการเกษตรที่ทำนั้นไม่ธรรมดาเลย  มีบ่อเลี้ยงปลา  เลี้ยงกบ  โรงเพาะเห็ด  เลี้ยงเป็ด  เลี้ยงไก่  (รวมทั้งห่าน) ทำนา  สีข้าวเอาไว้กินเอง  อื่นๆอีกหลายอย่าง นี่แหละครับเข้าตามตำราที่ว่า  “บริโภคสิ่งที่เราผลิตเองได้  ผลิตสิ่งที่เราบริโภคเองได้”   อย่างนี้แล้วจะไปเป็นหนี้สินใครได้หล่ะครับ   อันนี้เป็นชุดความรู้ของความเป็นอยู่ที่พอเพียงจริงๆครับ   ความรู้แบบนี้แหละครับที่เกษตรกรชาวพิจิตรเอาไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเกิดเป็นเครือข่ายต่างๆขึ้นมา           จากวชิระบารมี  มายังตัวเมืองพิษณุโลก  ระยะทางไม่ไกลมาก  เราก็มาถึงตามเวลาที่กำหนด  คืนที่สองคณะของเราพักค้างแรมกันที่ โรงแรมแกรนด์ รีเวอร์ไซด์  ริมฝั่งแม่น้ำน่าน   

            วันสุดท้ายของโปรแกรมเราเดินทางไปยัง สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ   มหาวิทยาลัยนเรศวร  เพื่อไปร่วมงานเปิดศูนย์รับรองคุณภาพโรงพยาบาลเขตภาคเหนือตอนล่าง   ในงานก็มีหยิบยกเรื่องราวการจัดการความรู้เพื่อการรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน  ลูกทัวร์ของเราท่านหนึ่ง คือ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ได้รับเชิญเป็นวิทยากรเรื่อง “เส้นทางแห่งการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศในการบริการสุขภาพ” ในงานนี้ด้วย     พอช่วงสายคณะของเราก็แยกตัวออกมาจากงานมาฟังเรื่องราวการจัดการความรู้ของเครือข่ายโรงพยาบาลเขตภาคเหนือตอนล่าง  และเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  (กรณีมหาวิทยาลัยนเรศวร)   ได้เห็นความเป็นไปเป็นมาของเครือข่าย  ร่วมทั้งเทคนิคการนำ KM เข้าไปประยุกต์ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง  ซึ่งต่างก็มีกลเม็ดเด็ดพรายที่แตกต่างกัน    ส่วนมหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเสนอภาพการจัดการความรู้ที่ปรับเข้ากับส่วนงานพัฒนาคุณภาพ  และงานวิจัยของมหาวิทยาลัย    ทั้งยังมีแผนงานขยายขีดความสามารถของบุคลากรเพื่อเป็น “คุณอำนวย” (Knowledge facilitator) เพื่อสร้างขยายวง “ชุมชนนักปฏิบัติ” (Community of Practice: CoP) ภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

            ช่วงปิดท้ายของโปรแกรมทัวร์เป็นการทำ AAR  อีกครั้ง  แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงความคิดเห็น  ความรู้สึกโดยรวมต่อโปรแกรมทั้งสามวันที่ผ่านมา    ซึ่งเช่นเคยเริ่มจากผู้อาวุโสน้อยก่อน    เริ่มจากคำถามที่ทุกคนคุ้นเคยกันแล้วเพราะทำกันมาหลายรอบในรถระหว่างเดินทาง  รายละเอียดของการทำ AAR   ลองเข้าไปอ่านดูที่ blog  gotoknow  ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ได้เขียนเอาไว้ที่    http://thaikm.gotoknow.org     บันทึกลงวันที่ 12/07/2005
21 กันยายน 2548
หมายเลขบันทึก: 8683เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2005 05:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท