KM ม. แม่โจ้
ขอสื่อสารผ่าน บล็อก ไปยังผู้ที่จะเข้า workshop KM
วันที่ ๗ ธค. ๔๘ ที่ ม. แม่โจ้
ให้ทำความเข้าใจการเล่าเรื่อง
ตามที่ผมคัดลอกมาจากหนังสือ “การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ”
ดังนี้
การเล่าเรื่อง
(storytelling)
เป้าหมายสำคัญที่สุดของการเล่าเรื่อง
คือให้
ผู้มีความรู้จากการปฏิบัติ
ปลดปล่อยความรู้ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ (ความเชื่อ),
ในส่วนลึกของสมอง (ความคิด), และในส่วนลึกของร่างกาย
(การปฏิบัติ) ออกมาเป็นคำพูด และหน้าตาท่าทาง (non-verbal
communication) การปล่อย
ความรู้จากการปฏิบัติ นี้
ผู้ปล่อยจะอยู่ในสภาพที่มีทั้งจิตใต้สำนึก และจิตสำนึก
(subconscious & conscious)
ย้ำว่าเรามีเป้าหมายให้เกิดการสื่อสารทั้งโดยใช้จิตสำนึก
และจิตใต้สำนึก ดังนั้นถ้าฝึกปฏิบัติจนมีความชำนาญ
การเล่าเรื่องจะปลดปล่อยความรู้ออกมาอย่างทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ
วิธีการและขั้นตอนของการเล่าเรื่องมีดังต่อไปนี้
1. กำหนด “หัวปลา”
ให้ชัด
ซึ่งหมายถึงเป้าหมายของการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ดังตัวอย่างการประชุมในตลาดนัดความรู้ของชาวนา จ. พิจิตร
เมื่อเดือนธันวาคม 2547 “หัวปลา” คือ
การทำนาแบบธรรมชาติ
ไม่ใช้สารเคมี
2. กำหนดให้กลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก
ไม่เกิน 10 คน เพื่อให้มีความรู้สึกใกล้ชิด
เป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ
สร้างความรู้สึกเป็นอิสระได้ง่าย
ความรู้สึกแบบนี้เอื้อต่อการเล่าเรื่องอย่างมีพลัง
ทำให้ความรู้ฝังลึก และซ่อนอยู่มิดชิดจนตัวเองก็ไม่รู้ว่าตนรู้
ถูกปลดปล่อยออกมาได้ง่ายขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยบรรยากาศ
3. สมาชิกกลุ่มเป็น
“ตัวจริง” ซึ่งหมายความว่า
เป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่อการบรรลุ “หัวปลา” ที่ตกลงกัน ด้วยตนเอง
4. ถ้าเป็นไปได้
จัดแบ่งกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มประกอบด้วยคนที่มีความแตกต่างกัน
เช่นคิดต่างกัน ทำงานต่างหน่วยงาน อยู่คนละอำเภอ
เรียนหนังสือคนละสาขา เป็นต้น
เนื่องจากในการประชุมกลุ่มนี้เราต้องการใช้
พลังของความแตกต่างหลากหลาย
5. มีการเลือกหรือแต่งตั้ง
ประธานกลุ่ม ทำหน้าที่ดำเนินการประชุม
และสรุปประเด็นเป็นระยะๆ และเลือกเลขานุการกลุ่ม
ทำหน้าที่จดประเด็น และบันทึก
ขุมความรู้ (Knowledge Assets)
เพื่อการบรรลุหัวปลา หรือมีการเตรียม “คุณลิขิต”
(Note Taker) ไว้ล่วงหน้า
และเตรียมฝึกทักษะสำหรับทำหน้าที่จดบันทึกไว้ก่อนการประชุม
6.
สมาชิกกลุ่มเล่าเรื่องเกื่ยวกับความสำเร็จของตน ตาม “หัวปลา”
7. สมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ ช่วยกัน
“สกัด” หรือ “ถอด” ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลาออกมา
และให้เลขานุการกลุ่ม (หรือ “คุณลิขิต”) เขียนขึ้นกระดาน flip chart
ให้ได้เห็นทั่วกัน และแก้ไขตกแต่งได้ง่าย
8. มี “คุณอำนวย” (Group
Facilitator) ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้การประชุมราบรื่น
สร้างบรรยากาศของความชื่นชม ความคิดเชิงบวก
การซักถามด้วยความชื่นชม (Appreciative Inquiry)
ให้สมาชิกกลุ่มได้หมุนเวียนกันเล่าเรื่องถ้วนหน้ากัน
ไม่มีคนใดคนหนึ่งผูกขาดการพูด คอยช่วยตั้งคำถาม
“ทำไม่จึงทำเช่นนั้น” “คิดอย่างไร จึงทำเช่นนั้น”
เพื่อช่วยให้
“ความรู้เพื่อการปฏิบัติ”
ถูกปลดปล่อยออกมา
และคอยกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มช่วยกัน “สกัด” หรือ “ถอด”
ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลา ออกมา และมีผู้บันทึกไว้
9. การเล่าเรื่อง
ให้เล่าเพียงประเด็นเดียวต่อหนึ่งเรื่อง
และเล่าสั้นๆ เล่าตามความเป็นจริง
ไม่ตีไข่ใส่สี เล่าให้เห็นตัวคน หรือตัวละคร
เห็นพฤติกรรมหรือการกระทำ
เห็นความคิดหรือความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง
เล่าให้เห็นชีวิตและความสัมพันธ์ที่อยู่ในเรื่อง
เล่าให้มีชีวิตชีวา เห็นภาพพจน์
เห็นสภาพแวดล้อมหรือบริบทของเรื่อง
10. ในการเล่าเรื่องต้องเล่าแบบให้ข้อมูลดิบ
ที่ไม่ผ่านการตีความของผู้เล่า คือเล่าเหตุการณ์
ไม่ใช่เล่าความเข้าใจของผู้เล่าที่ได้จากเหตุการณ์
ไม่ใช่เล่าการตีความของผู้เล่า
ถือว่าเรื่องเล่าเป็นข้อมูลดิบ
สำหรับให้สมาชิกกลุ่มผลัดกันตีความ เพื่อดึง
“ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลา” ออกมา
คำแนะนำเกี่ยวกับการเล่าเรื่องจากหนังสือ
“บริษัท กระรอกน้อย
จำกัด”
·
เรื่องเล่าต้องไม่มีรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้อง ·
เรื่องเล่าต้องจบอย่างมีความสุข · ผู้เล่าพึงทำให้ตัวเองอยู่ในโลกของผู้ฟัง ทั้งในเรื่องภาษา
พฤติกรรม ความวิตก และความฝัน · ผู้เล่าต้องทำให้เรื่องฟังดูใหม่อยู่เสมอ
โดยสร้างความมีชีวิตชีวาขณะที่เล่า · ผู้เล่าพึงเสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่องโดยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้เรื่องที่เล่าฟังดูเป็นธรรมชาติ
ราวกับเพื่อนกำลังเล่าเรื่องที่น่าสนใจที่เพิ่งนึกขึ้นได้ใหม่ๆ
ให้เพื่อนฟัง · ผู้เล่าเรื่องพึงเข้าใจว่า
ต้องมีความสมดุลระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง ดังนั้น
แม้ว่าผู้เล่าจะมีประสบการณ์มากกว่าผู้ฟังในตอนแรก
แต่ผู้เล่าต้องเชื่อมั่นว่า
ผู้ฟังจะสามารถไปถึงบทสรุปเดียวกับผู้เล่าเมื่อได้รับการบอกเล่าประสบการณ์เดียวกันแล้ว
จุดประสงค์ของผู้เล่าคือ
การทำให้ผู้ฟังอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากับผู้เล่า
ผู้เล่าเล่าเรื่องเพื่อทำให้ผู้ฟังค้นพบแนวคิดได้ด้วยตนเอง ·
ในการเรียกความสนใจของผู้ฟังก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่อง
ผู้เล่าสามารถตีกรอบของเรื่องได้
โดยการพูดถึงปัญหาของผู้ฟัง
หรือโดยการเปิดเผยความอ่อนแอของตนเอง · ใช้การประชุม “แบบเปิด (open space)”
เพื่อกระตุ้นให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไป · เล่าให้เห็นรายละเอียดของสภาพแวดล้อม
|
การเล่าเรื่องจะประสบความสำเร็จมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๓
ประการ คือ ผู้เล่า ผู้รับฟัง
และบรรยากาศขณะเล่า
ผู้เล่าที่มีอารมณ์แจ่มใส มีความรู้สึกเอื้ออาทร (care)
ต่อกลุ่มผู้ฟัง มีความรู้สึกว่าผู้ฟังเป็นกัลยาณมิตร
มีจิตใจพร้อมจะให้
มีความภูมิใจในความสำเร็จที่ตนกำลังเล่า
เป็นผู้ประสบเหตุการณ์ในเรื่องที่เล่าด้วยตนเอง
คิดทบทวนเรื่องราวที่จะเล่ามาเป็นอย่างดี
และมีทักษะในการเล่าออกมาจากใจ คือเล่าแบบไม่ตีความ
จะมีความสามารถเล่าเรื่องออกมาได้อย่างทรงพลัง โดยที่
“เรื่องราว” จะไม่ใช่แค่ออกมาเป็นคำพูดเท่านั้น
จะแสดงออกมาในหน้าตา แววตา ท่าทาง น้ำเสียง
และการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูดอื่นๆ รวมทั้ง “ความเงียบ” เป็นช่วงๆ ด้วย
(ถ้ามี) โปรดสังเกตว่าสภาพจิตอันเป็นกุศล
เป็นจิตที่มีพลัง
สามารถทำหน้าที่แบ่งปันความรู้ที่ลึกและซับซ้อนได้ดีกว่าสภาพจิตธรรมดาๆ
ผู้รับฟังที่เป็น “ผู้ฟังอย่างตั้งใจ” ที่เรียกว่า active
listening หรือ deep listening
จะช่วยส่งกระแสจิตไปกระตุ้นให้ผู้เล่าเกิดอารมณ์ในการเล่า
ทำให้สามารถเล่าออกมาจากใจได้ลึกยิ่งขึ้น
คำถามที่แสดงความสนใจและชื่นชม (appreciative inquiry)
จะช่วยกระตุ้นอารมณ์สร้างสรรค์เช่นเดียวกัน
และยังจะช่วยทำให้การเล่าเรื่องครบถ้วนมากขึ้น
ในกรณีที่การเล่าเรื่องมีการข้ามขั้นตอน ผู้อำนวยความสะดวกในการประชุม
(group facilitator) อาจช่วยถาม ว่า “ทำไมจึงทำเช่นนั้น”
“คิดอย่างไรจึงทำสิ่งนั้น” ก็จะช่วยให้ ความรู้สึกนึกคิด
ในขณะเกิดเหตุการณ์ถูกเล่าออกมา
บรรยากาศของการประชุม มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการเล่าเรื่อง
ห้องประชุมที่ให้ความสงบ รับฟังเสียงจากการเล่าได้ดี
มีที่จดบันทึก บรรยากาศที่เป็นอิสระ ผ่อนคลาย
ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจใดๆ
บรรยากาศที่มีความเป็นกัลยาณมิตรเอื้ออาทรต่อกัน
จะช่วยให้การสื่อสาระโดยการเล่าเรื่องมีคุณภาพสูง กระจ่างชัด
และลึก
หนังสือที่เป็นเรื่องเล่าที่ดีที่ผู้เขียนมีอยู่ 2 เล่มคือ
· การเยียวยาด้วยหัวใจ
ถักทอข่ายใยชีวิต. สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล, 2548
· เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.
เรื่องเล่า เขย่าคิด. บริษัท ซัคเซส มีเดีย จำกัด, 2547
โปรดสังเกตว่าความสำเร็จจากเรื่องเล่า ขึ้นอยู่กับ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายเล่า
กับฝ่ายรับ คล้ายๆ
การสื่อสารทางวิทยุขึ้นอยู่กับทั้งเครื่องส่งและเครื่องรับ
และเมื่อรับสารแล้วก็ต้องมีการตีความอย่างดี
การสื่อสารนั้นจึงจะประสบความสำเร็จ
แต่การเปรียบเทียบฝ่ายเล่ากับฝ่ายรับกับเครื่องส่งกับเครื่องรับวิทยุอาจไม่ถูกต้อง
เพราะว่าในกรณีเครื่องส่งกับเครื่องรับวิทยุ
เครื่องรับทำหน้าที่รับสารอย่างเดียว
แต่ในกรณีฝ่ายรับฟังเรื่องเล่า ถ้าสถานการณ์เหมาะสม
ฝ่ายรับจะเป็นผู้ส่งสัญญาณแห่งความชื่นชมกลับไปกระตุ้นให้ฝ่ายเล่าเกิดอารมณ์ด้านบวก
ด้านความมั่นใจ ทำให้เล่าความรู้ที่ซ่อนอยู่ลึกมาก ออกมาได้
เพราะเป็นการเล่าออกมาจากใจ
จะเห็นว่าเราต้องการพัฒนาทักษะของสมาชิกกลุ่มให้สามารถใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในลักษณะ
“ใจถึงใจ” คือมีความเอื้ออาทร
และมีความเชื่อถือเชื่อมั่น (trust) ระหว่างกัน
ผู้ที่จะเข้า workshop
ได้ส่งเรื่องเล่าให้ผมกับคุณธวัชแล้ว ๑๕ คน
พบว่าแทบไม่มีเรื่องเล่าที่ดีเลย
เรื่องเล่าที่ดีจะต้อง
1. เล่าเรื่องตามหัวข้อที่กำหนด
ซึ่งในที่นี้คือความสำเร็จในการบริหารงาน
ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
2. เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง
เล่าเหตุการณ์ ไม่ใช่เล่าหลักการ
การบ้านที่ส่ง ส่วนใหญ่สอบตกข้อนี้
3. เล่าเรื่องที่เป็นความสำเร็จ
น่าภาคภูมิใจ
4. ควรเป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่ช่วยให้เห็น
“ความรู้ฝังลึก” ที่อยู่ในการปฏิบัติ
ตามเหตุการณ์นั้น
ผมขอแนะนำให้ผู้ที่จะเข้า workshop เข้ามาอ่าน บล็อก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บล็อก
ของผู้ได้รับรางวัลสุดคะนึง
ท่านจะได้สัมผัสวิธีเขียนแบบเล่าเรื่อง
วิจารณ์ พานิช
๓ ธค. ๔๘