การศึกษากับการเมืองควรรวมหรือแยกกันบริหาร คุณคิดอย่างไร


บทความนี้มีเป้าหมายหลักคือ จะนำพาการศึกษาไทยอย่างไรให้หลุดพ้นและเดินได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป ไม่หยุดชะงักในบางช่วงเวลาที่เกิดจากการเมือง

กราบสวัสดีงามๆ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

      วันนี้ขอยกประเด็นเรื่องหนักมาหนึ่งเรื่องที่ประกอบไปด้วยเรื่องหนักด้วยกันสองเรื่องครับ นั่นคือการศึกษา และการเมือง คุณคิดว่าการศึกษาไทย กับการเมืองไทย ควรจะบริหารแยกกัน หรือรวมกันดีครับ เพื่อเป้าหมายในการองค์ความรู้และพัฒนาสมองไทยอย่างยั่งยืน

      ผมเองขอบอกก่อนว่าไม่มีประสบการณ์อะไรมาก ทุกอย่างที่เขียนต่อไปนี้ จะเป็นการประมวลจากตะกอนในสมองที่พอจะมีเศษดินให้ตกลงมากระทบก้นสมองอยู่เพียงนิดเดียวครับ

      ผมจะบอกกับสิ่งที่ผมคาดหวังกับการศึกษานะครับ ส่วนการเมืองผมจะพยายามไปกระทบให้น้อยที่สุดครับ แต่สำหรับความคิดเห็นของท่าน เชิญได้เต็มที่ครับ

      สิ่งที่ผมคาดหวังกับการศึกษาไทยคือ

  1. ไม่ว่าการเมืองจะเสถียรหรือไม่ก็ตาม แต่การศึกษาจะต้องเสถียรและเดินต่อไปได้
  2. ไม่ว่าการเมืองโดนโค่นล้มไปกี่ครั้งก็ตาม หรือวนเวียนแบบซ้ำหรือไม่ซ้ำกับอดีตก็ตาม แต่การศึกษาจะต้องพัฒนานำไปสู่สิ่งที่ดี ต่อยอดก้าวต่อไป อย่างต่อเนื่อง
  3. ผมมองว่าการเมืองสามารถที่จะอยู่ในวงการเวียนว่ายตายเกิดได้ แต่การศึกษาน่าจะไปไกลกว่านั้น คือเวียนว่ายตายเกิดแบบหลุดพ้น นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่า
  4. การเมืองมีวาระในการเกิดดับตามจำนวนปี แต่การศึกษาต้องอยู่ต่อไป ไม่สามารถจะแตกดับได้ ต้องเดินต่อไปแบบไม่ยึดติดกับวาระทางการเมือง

      สิ่งที่ผมนั่งคิดไปเล่นๆ ผมกำลังคิดว่า หากเราจะเอาการศึกษาออกมาบริหารแยกต่างๆหากจากการเมือง จะเป็นไปได้ไหม เพื่อจะให้การศึกษามันยั่งยืน โดยที่การเมืองอาจจะหมดไปตามวาระกี่ปี แต่การศึกษาน่าจะต้องต่อเนื่องตลอดไป โดยทีมบริหารการศึกษาน่าจะบริหารไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเมืองเป็นฝ่ายสนับสนุนการศึกษาอยู่อีกทอดหนึ่ง

      บทความนี้มีเป้าหมายหลักคือ จะนำพาการศึกษาไทยอย่างไรให้หลุดพ้นและเดินได้อย่างต่อเนื่องตลอดไป ไม่หยุดชะงักในบางช่วงเวลาที่เกิดปัญหาจากทางการเมือง

      หากท่านเห็นเป็นประการใด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

กราบขอบพระคุณครับ

สมพร ช่วยอารีย์

 

หมายเลขบันทึก: 86688เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

สวัสดีครับพี่เม้ง

ยังไม่นอนอีกหรอครับพี่ รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

มาตอบในฐานะคนที่ไม่ใช่ทั้งนักการเมืองและนักการศึกษาครับ แต่หวังไว้ว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสอยากไปสอนหนังสือเหมือนกันครับ

ก่อนจะตอบคำถามเรื่องการศึกษา ผมว่าเราต้องแยกระดับการศึกษาออกมาก่อนครับ ว่าการศึกษานั้นมีกี่ระดับ และต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น อนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา อาชีวะ

จากนั้นเราค่อยมาคิดว่าในพอจบการศึกษาในแต่ละระดับเราคาดหวังว่าเด็กนั้นจะสัมฤทธิ์ผลด้านใดบ้าง (เอาแค่ประโยคเดียวนะครับ ขอแค่ตอบมาได้ในประโยคเดียวเท่านั้น)

ผมคิดว่าการศึกษานั้นสมควรจะอิงกับชุมชนมากกว่าส่วนกลางครับ ส่วนกลางนั้นควรจะกำหนดแค่โครงร่างหลักสูตรหลัก เช่น เลข ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แต่หลักสูตรเสริมเช่น สังคมศึกษา นั้นสมควรกำหนดโดยชุมชนครับ

นั้นพูดในมุมมองของระดับประถม มัธยมนะครับ

ส่วนอุดมศึกษา อาชีวะนั้น ผมคิดว่าวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสมควรที่จะมีสิทธิในการกำหนดหลักสูตรของตัวเองพอสมควรครับ ผมอยากเห็นความหลากลายทางหลักสูตรในสังคมไทยครับ แต่ในขณะเดียวกันส่วนกลางก็สมควรที่จะมีหน่วยกำกับควบคุมหลักสูตรขึ้นมา

ผมมองถึงความมีอิสระของมหาวิทยาลัยในการสร้างหลักสูตร และบริหาร แต่ส่วนกลางทำให้หลักสูตรนั้นมีประสิทธิภาพ จากการควบคุม กำกับและดูแลของส่วนกลางครับ แต่ในขณะเดียวกับก็มีความยืดหยุ่นในตัวเองครับ

เช่นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เอาแค่วิศวะโยธา อย่างเดียว ปริญญาตรี ก็สามารถแยกออกไปหลายด้านแล้วครับ แต่ตอนผมเรียนนั้น ปริญญาตรีวิศวโยธานั้น ถ้าจะไปขอ กว แล้วให้ได้แบบประเภท ก นั้นต้องจบหลักสูตรวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยที่กำหนดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นวิศวกรรมโยธาแต่แยกย่อยออกไปอย่างอื่นก็จะไม่ได้ประเภท ก ครับ จำได้ว่าอาจารย์ที่คณะต้องไปออกแรงกันน่าดูทีเดียว

การเมืองกับการศึกษานั้นผมว่าคงจะแยกออกจากกันยากครับ ผมคิดว่าวิธีการแยกออกมาจากส่วนกลาง ก็คือทำให้ชุมชนมีส่วนกับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นครับ

P

สวัสดีครับน้องต้น

  • ยังไม่นอนครับ นั่งปั่นเปเปอร์อยู่เลยครับ
  • ปั่นกันให้หัวหมุนเลยครับ เขียนไว้อีกนะครับในอันนี้ หากมีคนมาร่วมถกกันเยอะก็คงสนุกครับ แม้ว่าถกกันแล้วจะจบกันอยู่ในกอซังข้าวก็ตาม
  • ยังไงเราก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมครับ
  • พี่มองถึงการบริหารนะครับ ว่าจะบริหารแยกส่วนกันได้ไหม เพราะการศึกษามันควรจะต่อเนื่องไม่มีวันหยุดในการพัฒนา ส่วนการเมืองพี่ไม่ถนัดครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีค่ะน้องชาย
  • วันนี้มีความห่วงใยของท่าน รศ.ดร. บุญสม ศิริบำรุงสข อธิการบดีที่ห่วงใยเพื่อนฝูงเราชาวชุมชนวิทยาเขตปัตตานี เชิญคลิกที่นี่ค่ะ
P

สวัสดีครับพี่อัมพร

  • อยากจะแสดงความเห็นนะครับ แต่เรื่องนี้มันหนักหนาครับพี่
  • แต่ผมเชื่อว่ามันจะเข้าสู่สภาวะที่สมดุลได้ในวันหนึ่งครับ
  • ขอเป็นกำลังใจอย่างเดียวตอนนี้ครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีครับพี่เม้ง

"พี่มองถึงการบริหารนะครับ ว่าจะบริหารแยกส่วนกันได้ไหม เพราะการศึกษามันควรจะต่อเนื่องไม่มีวันหยุดในการพัฒนา ส่วนการเมืองพี่ไม่ถนัดครับ"

ถ้าการบริหารการศึกษาไม่ต้องการเงินจากการเมือง การศึกษากับการเมืองก็จะไม่มายุ่งกันครับ (คำตอบสุดท้ายครับ)  :D

เพราะฉะนั้นถ้าจะให้แยกกัน ก็คงต้องทำให้ระบบการบริหารการศึกษานั้นมีกระเป๋าตังค์เป็นของตัวเอง ไม่ขึ้นกับการเมืองครับ

P

สวัสดีครับ น้องต้น

  • การศึกษาบริหารแยกออกจากการเมือง โดยที่การเมืองสนับสนุนการศึกษา แล้วอนุญาตให้การศึกษาบริหารไปได้เอง (ประมาณว่าการเมืองใจกว้างที่จะไม่เอาการศึกษามาทำให้เสียระบบ เพียงแต่จะสนับสนุนให้การศึกษานำประเทศ)
  • ก็เหมือนรัฐบาลสนับสนุนให้เงินก้อนหนึ่ง กี่เปอร์เซนต์ก็แล้วแต่ของเงินแผ่นดิน เพื่อการศึกษาไปเลยครับ เหมือนกับ ร.ร.ที่บริหารกันภายในไม่ขึ้นกับ อบต. หรือ อบท. นะครับ
  • เพียงแต่รับเงินมาจากส่วนกลาง เพื่อพัฒนาชาติในด้านการศึกษาครับ
  • ผมพยายามมองไปให้หลุดวงจรที่เราก็รู้กันอยู่นะครับ
  • แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หากคนสร้างระบบให้ระบบดี ไม่ว่าอะไรแยกหรือรวม ก็คงดีทั้งนั้น เพียงแต่อยากให้ศึกษาตัวคนไทยเราเองด้วยครับ ว่าจะผ่านระบบนี้ได้หรือไม่อย่างไรครับ
  • บ้านเราการศึกษา จะพัฒนาไปได้อย่างไรครับ เมื่อ ร.ร.ติวเปิดกันทั่วประเทศ แทนที่จะไปอยู่ในรั้วการศึกษาระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย
  • ปัญหามันเยอะ เลยคิดว่าหากแยกการศึกษาไม่ให้เอาไปมั่วกับการเมืองในเรื่องการบริหารจัดการ จะเป็นอย่างไร แต่ต้องมีงบสนับสนุนจากประเทศครับ
  • การเมืองได้เงินมาจากไหนครับ ก็เงินคนในประเทศทั้งนั้นครับ ก็คืนกลับคนในประเทศในรูปแบบของการศึกษาไม่ใช่หรือครับ
  • ผมไม่อยากเห็นการศึกษาอยู่ในอุ้งมือของการเมืองก็แค่นั้นครับ ผมว่ามันจะให้การศึกษาไม่โต (จากความคิดส่วนตัวนะครับ) เพราะเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองครับ ซึ่งมีผลต่อระบบการศึกษา
  • แล้วหากเราคิดสวนทางกันหล่ะครับ เช่น การศึกษาไปคุมการเมืองแทน เหมือนหลายๆ ประเทศที่ คนระดับโปรเฟสเซอร์มีบทบาทต่อการชี้นำการเมืองได้ เพราะประเทศจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีโปรเฟสเซอร์ดีๆ เหล่านั้นผลิตงานวิจัย เพื่อให้เกิดผลผลิตให้กับประเทศ แล้วนักการเมืองจะเอาเงินที่ไหนมาบริหาร เอาง่ายๆ เยอรมันเลยครับ หากไม่มีการวิจัยเด่นๆ แล้วนำไปใช้ได้จริง ถามว่านักการเมืองเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
  • ดังนั้นการที่คนที่มีบทบาททางการศึกษามีบทบาทในการชี้นำสังคม ชี้นำการเมืองได้ก็ควรจะดีไม่น้อย จริงๆ แล้ว ชาวนาก็ต้องชี้นำการเมืองได้ หรือไม่ว่าชนชั้นใดๆ ก็ตาม เพราะหากมองการเมืองคือ กลุ่มคนที่เข้าไปรับใช้ประเทศ แต่ไม่ใช่กลุ่มคนที่เข้าไปทำลายประเทศ เพื่อทะเลาะทำเรื่องไม่เป็นเรื่องให้กลายเป็นเรื่องไม่ได้เรื่องนะครับ
  • อิๆ ลองแย้งมาดูกันนะครับ จะได้ไอเดียสนุกๆ กันครับ เราก็แค่พล่ามกันได้แค่ในระดับเราครับ ในวันนี้ วันหนึ่งเรามีโอกาสดีๆ เข้าไปทำตรงนั้น เราจะลืมตัวไปเสียก่อนก็แล้วกันครับ (เตือนตัวพี่เองด้วยครับ)
  • ขอบคุณมากนะครับ อิๆ
เห็นด้วยที่บอกว่าหากคนสร้างระบบให้ระบบดี ไม่ว่าอะไรแยกหรือรวม ก็คงดีทั้งนั้น
ทุกวันนี้ที่มันสับสนวุ่นวายก้อเพราะคนเราเองนี่แหละ
ก้อนะ ชื่อมันก้อบอกความหมายอยู่แล้วว่า "คน" ใครก้อไม่รู้นิยามคำนี้ เหมาะจริงๆ
จะแยกการเมืองออกจากการศึกษา ถ้าเป็นไปได้ก้อเห็นด้วยนะ แบบถึงการเมืองจะเป็นยังงัย แต่ก้อไม่กระทบกับการศึกษา
เพราะการศึกษาเป็นส่วนสำคัญมากตัวหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเราพัฒนาและอยู่รอดได้
แต่ก้อนั้นแหละนะ ถึงแยกออกมาได้ อย่าลืมนะว่าในระบบการศึกษามันก้อยังมีการเมืองภายในของมันแฝงตัวอยู่ดี
แล้วแบบนี้เราจะแยากออกได้งัย จริงไหม
ไม่มีรูป
ลีย์

สวัสดีครับ น้องลีย์

  • ขอบคุณมากครับสำหรับความเห็นครับ
  • การศึกษาที่แท้จริง ไม่มีการเมืองอยู่ภายในครับ แต่ที่บ้านเรามีการเมืองภายใน เพราะว่าการเมืองคุมการศึกษาแล้วทำให้บทบาทของการเมืองไปแทรกซึมอยู่ในทุกๆ องค์กรหรือเปล่าครับ เลยมีการเมืองทุกระดับกันเลยเช่น ป่วยการเมือง โกหกการเมือง เล่นการเมือง ฮ่าๆ (เล่นไง สงสัยต้องเปลี่ยนเป็น ทำการเมืองแล้วกระมัง จะได้เลิกเล่น)
  •  การศึกษาเท่านั้นหล่ะที่จะช่วยชาติได้ในความเห็นของผมนะครับ แต่นั่นคือ คุณธรรม การจัดการอารมณ์ จินตนาการ และอื่นๆ ก็รวมอยู่ในการศึกษานะครับ
  • การศึกษาที่ว่านี้ รวมไปถึงการจัดการองค์ความรู้ทั้งในด้านการเรียนการถ่ายทอด ไม่ยึดติดกับใบปริญญาด้วยครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • พี่เม้งคะ
  • ถ้าพูดถึงตอนนี้คงยังแยกกันไม่ได้หรอกค่ะ
  • จากการที่หว้าได้ไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในหลายอำเภอก็พูดถึงเรื่องนี้เช่นกันค่ะ
  • แต่อาจจะพูดมากนักไม่ได้นะคะ  ประเด็นหลักคือเราต้องพึ่งพางบประมาณในการจัดการด้านการศึกษา
  • จากเสียงของภาควิชาการในท้องถิ่นก็อยากได้งบสนับสนุนจากส่วนกลาง  แต่อยากให้ชุมชนได้มีโอกาสบริหารจัดการเองค่ะ  เอ่อ..บอกได้คร่าวๆนะคะ  รายละเอียดขอเก็บไว้ก่อนค่ะ  เพราะเขาเม้าท์กันมันทีเดียว
  • แต่ทั้งนี้ถ้าให้แยกจากกันแล้วจะบริหารจัดการกันอย่างไร
  • เมื่อวันก่อนได้ฟังเสียงของเด็กมัธยมเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้คุณครูชอบสอนแบบกั๊กๆแล้วบอกให้ไปเรียนพิเศษต่อตอนเย็น
  • ส่วนบางรายก็บอกว่าใครอยากได้คะแนนดีต้องไปเรียนพิเศษกับครู
  • ส่วนเดี๋ยวนี้ที่ให้การเรียนการสอนยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ทำให้ครูสอนน้อยลง  ให้งานเด็กแล้วครูนั่งคุยโทรศัพท์  เอาเวลาไปขายของ..
  • ส่วนระดับอุดมศึกษาก็บอกว่าอาจารย์ชอบเอาเวลาไปทำวิจัยแล้วก็ให้งานเด็ก..ไม่ค่อยสอน
  • แหะ..แหะ..ก็เล่าเสียงของเด็กๆให้ทราบบ้างค่ะ
  • จะได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้เด็กๆเขาก็คิดเป็นเหมือนกันนะ
  • อันนี้เป็นเสียงจากท้องถิ่นนะคะ  อาจจะเป็นมุมมองเล็กๆได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

สวัสดีค่ะคุณเม้ง..คุณเม้งเป็นห่วงในเรื่องนโยบายการศึกษาที่มักเปลี่ยนไปมาตามนักการเมือง ซึ่งถ้าต้องการให้การศึกษาเติบโตต่อเนื่องจึงไม่ควรอยู่ใต้การเมืองในทุกกรณี.. แต่ก็ไม่ขัดข้องถ้าการเมืองจะสนับสนุนเงินให้การศึกษาได้จัดการระบบของตนเอง ...ใช่มั้ยคะ..( ถามเพื่อทำประเด็นให้ชัดเจน ^ ^ )ถ้าเราดึงการศึกษาออกมาคืนให้กับชุมชนโดยได้รับงบสนับสนุนจากรัฐที่ไม่ใช่การผ่าน อบต.( ลดการควบคุมจากการเมือง ) โดยเงินที่ได้นั้นถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้เพื่อการพัฒนา..ส่วนหน่วยงานอื่นๆ จะร่วมสนับสนุนด้วยก็ไม่ว่าแต่การศึกษาไม่ขึ้นกับใครนอกจากตัวเอง....ถ้าทำได้ก็น่าสนใจค่ะเพราะระบบรายงานขึ้นไปตามลำดับชั้นจะน้อยลงเยอะ งานก็น่าจะเดินได้เร็วและดีขึ้นเพราะมีอิสระในการคิดงาน และมีเงินในการทำงาน นอกจากนี้ยังสามารถรายงานผลการทำงานกลับสู่ชุมชนได้อีกด้วยแต่ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่การจัดสรรเงินเพื่อให้การศึกษาได้ทำงาน..จะจัดสรรอย่างไรให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด  และมีงบประมาณเพียงพอ..หรือจะลองแบบนี้ดูรัฐสนับสนุน 60 %  และรัฐออกกฎบังคับให้ อบต.ต้องให้งบสนับสนุนการศึกษาอีก 40 % ที่เหลือ โดยแบ่งจากรายได้ของ อบต.แต่ละแห่ง ( ถือเป็นหน้าที่ของ อบต. )..จะลงสมัครรับเลือกตั้งมั้ยคะท่าน..เพื่อจะได้ผลักดันได้สะดวก ^ ^.. 
P

สวัสดีครับ อ.ลูกหว้า

  • ขอบคุณครับ สำหรับประเด็นมากมายนะครับ
  • หากเราไม่รอเงินจากการเมือง แสดงว่าเราแยกได้หรือเปล่าครับ หรือเราไม่กล้าแยกเพราะเราไม่มีอำนาจปกครองเงินครับ อิๆ
  • ผมรอคนทำการเมืองใจปั้มมองงานของประเทศเป็นหลัก
  • สำหรับการบริหารจัดการอย่างไรนั้น ก็มาจัดการเรื่องการศึกษาแต่ละระดับเอาจริงเอาจัง
  • การจัดการเรื่องการศึกษาเพื่อชุมชน เพื่อเอกชน เพื่อการเมือง เพื่ออะไรก็แล้วแต่ ทำให้จริงจัง ผมว่าทำได้ คิดว่ามีคนในสายการศึกษาเมืองไทย ฝีมือดีเยอะๆ แน่ๆครับ เพียงแต่ไม่มีโอกาสครับ
  • คือต้องฟังจากทุกๆ ระดับเหมือนที่ อ.ลูกหว้าไปฟังจากชุมชนมาด้วยนะครับ ไม่ว่าจะชุมชนเล็กหรือใหญ่ก็มีค่าในเรื่องความคิดเช่นกันครับ
  • เราเคยคิดว่าเราเหนือชาติอื่นในเพื่อนบ้านในเรื่องการศึกษา ต้องลองเช็คกันดูใหม่ครับตอนนี้
  • หากครูต้องไปขาย I am a way เพื่อหารายได้เสริมมากกว่าเน้นการสอน ปัญหาก็เกิด แต่หากครูไม่ทำ ครูก็เกิดปัญหา หากครูทำจนมากไป เด็กก็เกิดปัญหา การศึกษาระดับสูงก็เกิดปัญหา ใช่ไหมครับ
  • ต้องช่วยๆ กันคิดครับ ไม่งั้น ก็ทำให้คนในชุมชนรู้ทัน รอบรู้ให้มากขึ้นครับ แล้วการศึกษาจะดีเองครับ ไม่ว่าจะแยกหรือรวม
  • เหมือนบางหน่วยงานไงครับ ยุบๆ แยกๆ อยู่อย่างนั้นหล่ะครับ ยุคนี้แยก ยุคหน้ารวม แล้วก็แยก รวม อยู่แบบนี้ เลยคิดว่าคำตอบสุดท้ายควรจะอยู่ตรงไหน
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
P

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ที่คุณทบทวนมานั้นเข้าใจถูกต้องแล้วครับ
  • สรุปง่ายๆ ว่าตอนนี้ผมสนใจแต่การศึกษาเป็นหลักครับ ด้วยความเป็นห่วงจริงๆครับ
  • คุณเชื่อไหมว่า เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น เกรดเกินสามกัน ครูปล่อยเกรดเด็กกัน แล้วจะเป็นอย่างไร
  • แล้วเด็กที่ครูไม่ปล่อย เกรดเฉลี่ย ม.ปลาย อาจจะไม่ถึง 1.0 คุณคิดอย่างไร
  • เราจะจัดการสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรในปัญหา คือตัวการศึกษามันก็มีปัญหาของมันอยู่แล้วครับ และมีหลายๆ อย่างที่ต้องเร่งแก้ไข เราจะมามัวรอปัญหาอย่างอื่นอยู่ไม่ได้ครับ ผมว่ามันไม่ทันนะครับ (เอ ว่าไปแล้วเร่งไปหาอะไรหนอ เดินช้าๆ ทีละก้าวอย่างมีสติก็คงได้เหมือนกัน อิๆ)
  • เคยคุยกับนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์ท่านหนึ่งครับ ท่านบอกว่า บ้านเราเล่นหวยกันหนัก หรือเกิดอะไรขึ้นมาแปลกคนก็วิ่งไปหาตัวเลขกัน เราต้องการอะไรกันแน่ แนวทางการพัฒนาประเทศเราจะเดินไปอย่างไร
  • ผมอยากจะปลูกกล้วยแล้วให้มันออกช่อดอก ออกทางด้านข้างลำต้นจังครับ เผื่อจะได้ขายเอาไปหลอกคนที่ชอบเล่นของแปลก แล้วโปรโมทให้ถึง ว่ามีสรรพคุณล้านแปด ขายต้นละแสนห้า ตามขนาดความสูงหรืออายุ จะมีใครหลงซื้อกล้วยต้นนี้ของผมไหมครับ
  • ผมอยากให้ชาวบ้านรู้ทัน ตอนนี้ชาวบ้านฉลาดกันมากแล้วครับ รู้ทันคนมากขึ้น บางชุมชนเค้าตั้งเป็นแบบว่า ไม่มีคนชั่ว ไม่มีคนเมา ไม่มีอบายมุข แล้วทำมาหากินแบบพอเพียง จนเป็นหมู่บ้านตัวอย่างครับ
  • บ้านเราหากนักวิชาการ ไปยุ่งการเมืองก็จะโดนตำหนิจากนักการเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้ามากๆ นักวิชาการเองก็ต้องให้ชุมชนติด้วย มหาวิทยาลัยก็ต้องสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมรอบข้างที่อยู่ด้วย
  • สรุปว่าทุกคนก็ต้องฟังจากทุกๆ คนครับแล้วเอาไปประมวลหาแนวทางร่วมกันครับ ฟังดูจะเป็นนามธรรมเกินไปหรือเปล่าครับ แต่ผมว่าทำได้หากจะทำ
  • ขอบคุณมากนะครับ ผมร่ายมนต์ไปได้เรื่อยหล่ะครับ ตอนนี้

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

หัวเราะเลย..ถ้าปลูกกล้วยแล้วมีดอกออกด้านข้างได้นะคะ..สิ่งเดียวที่เบิร์ดจะซื้อคือคนที่คิดเทคนิคนี้..มิใช่ต้นกล้วยค่ะ.. อิ อิ..

  • บางครั้ง "การเมืองก็ไม่ค่อยอยากยุ่งกับการศึกษาเท่าไหร่หรอก  เพราะ

บางครั้ง "การเมืองก็ไม่ค่อยอยากยุ่งกับการศึกษาเท่าไหร่หรอก"  เพราะปวดหัวกับคนในวงการศึกษา

  • ใช้งบประมาณในการพัฒนาเยอะ
  • ผลสำเร็จของการพัฒนาไม่เห็นทันตา  เอาไปหาเสียงก็ไม่ได้
  • ครูก็หนี้เยอะ  หาสารพัดวิธีแก้  ก็ไม่มีวันลด มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม
  • ชาวบ้านเชื่อครูมากกว่านักการเมือง   บางครั้งต้องเสียเงิน เสียเวลาไปกวาดต้อน ครู-อาจารย์  ทั้งหลาย มาอยู่ในคอก ของตน  เพื่อที่จะได้หาเสียงผ่านครู ไปที่เด็กและผู้ปกครอง 
P

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • โห คุณนี่ฉลาดไม่เบานะ รวบทั้งกิจการเลยหรือครับ อิๆ
  • มีเทคนิคครับ หากสนใจ อิๆ ต้องไปหากล้วยแบบสีแปลกมาก่อนครับ แบบให้แตกต่างหน่อย ส่วนการให้มันแทงเครือออกด้านข้างไม่ยากครับ
  • หายขำยังครับ โชคดีครับ
P

สวัสดีครับคุณย่ามแดง

  • ฮ่าๆ โดนนะครับ
  • บางคนเค้าบอกว่า เป็นครูหน่ะ ข้อดีคือได้เป็นอาจารย์กู้ ไง คนนิยมเป็นกัน กู้แหลก
  • ผมก็ยังกู้เลย ซื้อคอมพ์ ตอน ป.โทครับ
  • ดีครับ ที่ทำให้มองหลากหลายครับ ขอบคุณครับผม
  • ผมไม่ใช่นักการศึกษา จึงไม่ค่อยรู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกกันอย่างไรครับ
  • ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และยากนะครับ
  • เรื่องสองเรื่องนี้จะว่ากันแล้วไม่นาจะแยกจากกันได้นะครับ คงต้องพึ่งพาอาศัยกัน
  • แต่ฟังดูแล้วเหมือนกับบอกว่า การเมืองนั้นไม่ดี  การศึกษานั้นดี (อ๊ะๆ ผมไม่ใช่นักการเมืองนะ)
  • งั้นเอางี้ไหมครับ ยังไงมันก็ต้องยากอยู่แล้ว ทำนักการเมืองหรือระบบการเมืองให้มีการศึกษาเสียเลย ดีไหมครับ?
  • อ้าว แล้วตอนนี้นักการเมืองไม่มีการศึกษาหรือไง?
  • อันนี้ผมก็ไม่ทราบครับ  แต่ถ้ามีการศึกษาจริง หรือการศึกษาที่เขา(นักการเมือง, ผู้สร้างระบบการเมือง) ได้รับมาเป็นการศึกษาที่แท้จริง เราคงไม่ต้องมานั่งขบปัญหาเรื่องนี้กันหรอกครับ
  • เอ๊ะ  หรือมันมีปัญหากันทั้งคู่  อ.เม้ง ช่วยตอบหน่อยครับ

เข้ามาลงชื่อ....

เจริญพรทุกท่าน

P

สวัสดีครับน้องชาย

  • ผมตอบให้ไม่ได้ครับน้องธรรมาวุธ เพียงแต่ขบคิดกันเท่านั้น รู้แต่ว่าหากระบบดีปัญหาคงลดน้อยลงครับ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าดีแล้วจะไม่มีปัญหาเลย
  • จริงๆปัญหานำไปสู่การแก้ไขเพื่อในสถานะที่ดีกว่า แต่มีปัญหามากเกินไปก็แก้ไขกันไม่ทันมั้งครับ
  • ขอเป็นกำลังใจให้ดวงใจทุกดวงร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคมไทยนะครับ ขอบคุณมากครับ
P

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • ผมโดนคุณเบิร์ดถามมาเมื่อวานครับ ว่าทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงให้ละอาหารมื้อเย็น เรียนถามหลวงพี่ได้ไหมครับ ในศีลแปด
  • เพราะผมไม่ได้ไปหาเลยครับ แบบว่าไหนๆ หลวงพี่ก็เข้ามาลงชื่อแล้ว น่าประทับใจจริงๆครับ
  • ผมกลับไปเมืองไทยแล้วจะเข้าไปกราบนมัสการที่วัดนะครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ

อาจารย์เม้ง...

หลวงพี่จำไม่ได้แล้ว...

ต้นบัญญัติ คือ สาเหตุที่จะบัญญัติเรื่องนั้นๆ อาจารย์เม้ง พิมพ์คำนี้แล้วค้นหาในกูเกิ้ลก็จะรู้สาเหตุประเด็นนี้ หรือประเด็นอื่นๆ ได้....

ลองไปค้นแล้ว คำนี้มีเยอะ ไม่นานก็คงจะเจอ...

เจริญพร

P

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • กราบขอบพระคุณมากครับที่ให้โอกาสผมได้เจอ ได้ต่อยอดอีกมากมายครับ จะค้นหาเดี๋ยวนี้ครับ
  • แล้วกระผมจะหาโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนบ้างนะครับ
  • กราบขอบพระคุณครับ

เรื่องนี้ ฝันหวาน ไม่ใช่ฝันจริง

  • การศึกษาสอนคนไม่ได้ดี เมื่อคนไม่ดี ไปเป็นนักการเมือง ก็เป็นนักกินเมือง การศึกษาผลิตแต่นักการเมื่องโง่ๆ
  • คนโง่ก็ไปสร้างกฎเกณฑ์โง่ๆ ล้วงลูก ทำลายระบบการศึกษา
  • นี่คือผลกรรมที่สอนคนไม่ดี ไม่มีคุณธรรม วิชาศีลธรรมไม่สอนอย่างจริงจัง ไปเน้นแต่วิชามาร
  • ถ้าการศึกษาสอนคนให้เป็นคนดีได้
  • เมืองไทยเจริญแซงญี่ปุ่นไปนานแล้วละเม้งเอ๊ย
  • ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่ไปคิดแยกการเมือง การศึกษา ถ้ามันดีจะไปแยกทำไมละ
  • นักกินเมืองเขาไปปล่อยหรอก การศึกษาเป็นหม้อข้าวหม้อแกงเขา ย้ายใครที เลื่อนใครที เป็นตำแหน่ง(เพื่อ) (เพราะ) การเมืองทั้งนั้น
  • ที่นั่งชูคอ ก็ไม่รู้ว่าซื้อเก้าอี้ไปกี่ล้าน
  • ราคาเก้าอี้ขึ้นลงยิ่งกว่าราคาหุ้น
  • รีบๆกลับมาอย่าฝันหวานอยู่ที่โน่นนาน
  • โลกความจริงมันแย่จนยุ่ย แหย่ไปตรงไหนก็เน่า

P
กราบสวัสดีครับท่านครู
  • ใช่แล้วครับผมฝันหวานมานานแล้วครับ เพราะพูดถึงเรื่องการศึกษาทีไรเดือดปุดๆ อิๆๆ คำตอบของท่านครู โดนครับ เพราะว่านั่นคือความจริง
  • สิ่งที่ผมจะถามคำถามง่ายๆ ครับ คือ
  • อันแรกคือ ใครจะมาเป็นครู กว่าจะได้มาซึ่งครูมาได้อย่างไร การได้มาซึ่งครูมามีกระบวนการอย่างไร
  • อันที่สอง หากใครมีลูก ก็อยากจะให้ลูกเรียนกับครูเก่งๆ กันใช่ไหมครับ ครูที่สอนดีๆ แต่พอมีลูกดีๆ เรียนดีๆ ก็ไม่ได้อยากให้เป็นครูกัน กลับให้เลือกเรียนสาขาอื่นกัน เค้าผิดหรือที่เลือกสาขาอื่น ไม่ผิดเลย
  • อันที่สาม การสร้างแรงจูงใจให้คนไปเป็นครู สร้างอย่างไร คนว่าเข้าไปเป็นครูแล้วได้สิทธิพิเศษอย่างอื่น หากจะเน้นพัฒนาชาติก็ต้องพัฒนาองค์ความรู้ชาติ จะพัฒนาองค์ความรู้ก็ต้องสนับสนุนการวิจัยทุกภาพแล้วผู้ถ่ายทอดและคิดหาวิธีการก็ควรจะอยู่ในตัวครูด้วย
  • อันที่สี่ จะพัฒนาองค์ความรู้ได้อย่างไร หากครูก็ต้องหาเช้ากินค่ำเช่นกัน เพราะค่าตอบแทนเหมือนว่าจะไม่พอหรืออย่างไร เลยต้องทำให้ครูมีเทคนิคในการหารายได้แบบที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ทุกคนนะครับ แต่ส่วนหนึ่ง แต่กระทบกับประเทศชาติมาก
  • ส่วนเรื่องการเมืองหรือนักการเมืองมีที่มาอย่างไร คงไม่ต้องพูดไรมากครับ อันนี้ผมไม่ขอพิมพ์ครับ เมื่อยมือ อิๆ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ

เคยเสนอให้สอบผู้บริหารโรงเรียนใหม่ทั้งประเทศ

 เขาไม่กล้าทำ ไม่กล้าเสียอย่างเดียวก็จบ

ก็อย่างที่บอก ระบบมันเน่า ไม่กล้ากระดิก คิดแต่เรื่องตรงกันข้าม หลอกให้ครูทำผลงานบ้าๆ ทั้งๆที่ไม่เคยมีผลงาน เข็นขืนเสียเงินเสียทองเสียเวลา ทิ้งเด็ก ทิ้งโรงเรียน มีผู้บริหารโรงเรียนสักกี่คนที่เราอยากเสียเงินจ้าง 

ทุกองค์กรการศึกษาติดบ่วงตัวเอง คุณภาพของเด็กแย่ๆลงๆๆ เขากลับไปคิดเพิ่มซี.ผู้บริหารด้วยวิธีการที่เขียนไม่ลง มันฝืนความจริง สร้างวิกฤตศรัทธามากขึ้นๆ ไม่เป็นที่ยอมรับ โรงเรียนดังที่นี่บริหารไม่ดี เปิดรับเด็กหลายรอบแล้วก็ยังไม่มีใครไปเรียนครบจำนวน ตรงกันข้ามกับโรงเรียนมัธยมอำเภอ เด็กไปสมัครจนล้นไม่รู้กี่ห้อง ถามว่ายังจะเลี้ยงพวกไร้สาระให้บริหารการศึกษาอยู่อย่างนี้หรือ บางแห่งเดินขบวนไล่กันไม่เว้นแต่ละวัน ตรงจุดนี้มีใครคิดใครแก้ เลวที่นี่ก็ย้ายให้ไปเลวต่อที่อื่น กลัวเหลือเกินถ้าหมดความอดทน ชาวบ้านจะเผาโรงเรียนเป็นว่าเล่น

P

กราบสวัสดีท่านครูครับ

  • เสนอให้มีการสอบประมวลความรู้ครูด้วยครับ ทุกๆ สามปี ด้วยครับ นอกจากสอบผู้บริหาร
  • ผมจึงแนะนำให้การศึกษาหลุดออกมาจากการเมืองก่อนไงครับ เพื่อมาหาจุดอ่อนจุดแข็งกันภายในระบบ แล้วซ่อมแซมในส่วนที่มันมีปัญหาแล้วปรับปรุงผลิตคนดีๆ ออกไปให้ไปอยู่ในองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นฐานให้กับการศึกษา รับรองว่าการเมืองจะได้คนน้ำดีเป็นผลผลิตทางการศึกษาไปอยู่จริงๆ ไม่ใช่เอาเงินมาซื้อการศึกษาซึ่งทำไม่ได้ มีเงินแต่ซื้อสมองทำไม่ได้ ซื้อได้แค่หนังสือเท่านั้น
  • จริงๆ แล้ว โรงเรียนในระดับสิบสองปี คือ จบ ม.หก หรือ ปวช. จะสามารถทำให้มีคุณภาพได้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ ไม่ต้องไปกองกระจุกกันในเมืองหากมีการบริหารจัดการคนที่ดี
  • แล้วตอนนี้เรามีมหาวิทยาลัยกระจายทั่วประเทศหลังจากการยกระดับสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัย ก็ต้องปรับปรุงในเรื่องคุณภาพกันต่อไป ให้ทัดเทียมในเรื่ององค์ความรู้เป็นที่ตั้ง
  • ยังไงผมก็ยังแอบฝันหวานอยู่ครับ ยังมีปัญหาอีกล้านแปดเช่น
  • นศ. เข้าสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ได้เกรดเกินสาม แต่เรื่องคุณภาพมีปัญหา
  • หรือ เข้ามหาวิทยาลัยได้ ด้วยเกรดเฉลี่ย ม. ปลาย ไม่ถึง 1.0 เรื่องคุณภาพไม่ต้องพูดถึง
  • หากคุณเป็นผู้บริหาร คุณจะจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร ให้เค้าอยู่ในมหาวิทยาลัย หากคนเหล่านั้นคือคนที่อยากจะเรียนและตั้งใจเรียนแต่โอกาสที่ผ่านมาไม่อำนวย แล้วให้เค้าสามารถจบไปทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำงานในองค์กรต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ

สถานการณ์ สภาพการณ์ ผิดปกติ

จะมานั่งคิดโจทย์ปกติมันก็ไม่มีประโยชน์

คงต้องรอให้เกิดสงครามเสียละมั๊ง มันถึงจะมีโอกาสล้างชำระ ตั้งแท่นทำอะไรใหม่ๆได้ แต่ในสภาวะการณ์เดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่ได้หรอก

  1. ไม่มีคนกล้าทำ
  2. ไม่มีคนกล้าทำ
  3. ไม่มีคนกล้าทำ

โรคมันต้องผ่าตัด แต่รักษามาทายาแดง 

ไม่ได้เหมาโหลต่อว่า ผู้บริหารดีๆก็มี ไม่น้อย หวานอมขมกลืนอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว

พวกไม่ดีมากกว่าพวกดี จึงลากฉุดการศึกษาลงเหว การที่ตั้งคำถามให้ตอบ เสียเวลาเปล่า เพราะปัญหามันวิ่งล่วงหน้าจุดนั้นไปนานแล้ว ควรตั้งประเด็นให้สอดรับกับสถานการณ์ และความเป็นจริง

ปฏิลูบ ปฏิแร๊ด ก็ทำมาแล้ว

คุรุทายาทก็ทำมาแล้ว เด็กเรียนแทบตายจบมาไม่มีตำแหน่งบรรจุ แล้วบอกว่าขาดครูวิทย์ ครูคณิต

หลายโรงเรียนขาดอัตรากำลัง จัดให้ไม่ได้

ครูอัตราจ้าง ก็จ้างพวกมีเงินซื้อตำแหน่ง เด็กเก่งๆดีๆไม่ได้แอ้มหรอก

ถ้าเสกได้อยากจะให้อีตาเม้งมาเป็นรัฐมนตรีศึกษา แล้วจะหนาว เรื่องภายในซับซ้อนมากนัก

เคยถามอีตานายกฯคนก่อน

เขาตอบว่า การศึกษาแหย่ไปตรงไหนก็เน่า?

นั่นก็แสดงว่าเขารู้ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เอาแค่โอนไม่โอน ออกนอกระบบไม่ออก นี่ก็คางเหลืองแล้วละเม้งเอ๊ย

ผมฝันนะ อยากให้นักศึกษารุ่นใหม่ กับรุ่นอาวุโส จับมือกันตั้งโรงเรียน สอนให้ดี สอนให้เป็นคนดี ค่อยๆทำไป เมื่อเกิดความนิยมก็ค่อยๆขยายตัว ถ้าคิดทำนอกระบบอย่างนี้ยังพอมีหวัง

เมื่อเดือนที่แล้วพวกนายกอบจ.มาคุยด้วย เขาบอกว่า ไม่รอแล้วเรื่องโอนเอนอะไรนั้น ควักเงินสร้างโรงเรียนเอง ตอนนี้เป็นที่พอใจผู้ปกครอง เรียกร้องให้ขยายโรงเรียนในอัตราก้าวหน้า อย่างนี้ยังพอเห็นทางบ้าง ดีกว่าที่จะไปคิดแก้ในระบบ

P

สวัสดีครับท่านครู

  • น่าสนใจครับผมในทุกๆ ประเด็นครับ รู้สึกว่านั่งถกในเวลานี้ ชักจะดีมากครับ
  • เคยคิดเรื่องเหล่านี้เหมือนกันครับ เรื่องตั้งเองเริ่มสร้างกันเอง แล้วทำเป็นตัวอย่างให้ได้ อยากสร้าง โรงเรียนทำมาหากิน ฝันดีแล้ว
  • แต่ผมขอทำในระบบให้หมดแรงก่อนครับ อยากจะรู้เหมือนกันครับ ว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ให้เรียบร้อยทุกอย่างก่อน คงได้ลุยได้บ้างการศึกษาในระดับล่าง ประถมมัธยมก่อนเลย
  • หากเด็กมีพื้นฐานที่ดี การรับช่วงส่งต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องหนักมาก จะให้ในมหาวิทยาลัย ต้องลงไปสอนพื้นฐาน ม.ต้นอยู่มันก็กระไรที่จะปูพื้นฐานให้เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัย
  • ผมเองก็ยังอ่อนต่อโลกการศึกษาครับ รบกวนช่วยขี้แนะต่อไปครับ สำหรับตำแหน่งทางการเมืองกระผมขอลาครับ ให้เดือนละร้อยล้านตอนนี้ผมก็ไม่เอาครับ เพราะผมเชื่อว่าการทำอะไรต้องมีเครือข่ายที่ดี และทำเป็นระบบแล้วสิ่งต่างๆ จะง่ายขึ้นครับ (เอ หรือว่าจะเอาดี ได้เงินร้อยล้านไปพัฒนาการศึกษาในระดับประถมมันธยม เน้นการแนะแนวสร้างแรงจูงใจต่อการเรียนการศึกษา เหมือนที่เคยทำมา)
  • กราบขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีครับพี่เม้ง

ผมค่อนข้างสนใจที่พี่พูดว่า "การศึกษาบริหารแยกออกจากการเมือง โดยที่การเมืองสนับสนุนการศึกษา แล้วอนุญาตให้การศึกษาบริหารไปได้เอง"

เพราะผมไม่ทราบว่าคำว่าบริหารแยก นี่รวมไปถึงอะไรบ้างครับพี่ แล้วเมื่อเราพูดถึงระบบการศึกษา เรารวมตั้งแต่อนุบาลยันปริญญาเอก หรือว่าอะไรครับ เพราะผมคิดว่า ส่วนกลางจะต้องมีส่วนในการบริหารที่ในระดับการศึกษาที่ต่างกันครับ เช่นอาจจะต้องควบคุมการศึกษาระดับอนุบาล มากกว่าระดับอุดมศึกษาครับ

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าระบบการศึกษาไทยนั้นล้มเหลวตั้งแต่สมมติฐานแล้วครับ ผมว่าเหมือนเราจะตั้งสมมติฐานว่าเราต้องการเด็กเก่งทุกเรื่อง เหมือนเป็ดนะครับ ไม่เชื่อก็ดูสิครับ พละยังต้องบังคับให้เด็กเล่นกีฬาเลย มันออกจะประหลาดไปหน่อยนะครับ

เรื่องโรงเรียนติวเตอร์ ผมขออนุญาตมองต่างมุมครับพี่

ผมเชื่อว่าพี่เองก็ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน โรงเรียนแต่ละโรงเรียน และครูแต่ละท่านมีศักยภาพไม่เท่ากัน ผมมีเพื่อนหลายคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษอะไรเลย แต่ก็เอ็นติดหมอได้ แล้วผมก็มีเพื่อนบางคนที่เอ็นไม่ติด

ผมไม่ค่อยจะเข้าใจว่าทำไม คนไทยชอบมองโรงเรียนติวเตอร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการศึกษาครับ ผมว่าติวเตอร์นี่เหมือนแพะรับบาปเลยครับ ผมมองง่ายๆแค่นี้ครับ

ผมมองว่า ก็ในเมื่อเด็กจะไปยุ่งเกี่ยวกับการเรียน ไปเรียนพิเศษ มันไม่ดีตรงไหนหรือครับ อันนี้ผมไม่เข้าใจครับ

คนชอบบอกว่าก็เพราะเด็กไปโรงเรียนกวดวิชาแล้วเห็นผลนี่แหละ คนก็ตามแห่กันไป ผมว่าคนที่เชื่อแบบนั้น คงจะลืมคิดอะไรไปบางอย่างครับ

คุณลืมคิดว่า ก็เด็กที่ไปเรียนพิเศษนั้นจะได้เจอโจทย์มากกว่า อยู่กับหนังสือมากกว่า คนที่ไม่ได้ไปเรียนพิเศษ

ทำให้สำหรับผม ผมคิดว่ามันไม่แปลกครับ ที่คนจะพูดเช่นนั้น นอกจากว่าจะมีการทำวิจัยเอาเด็กมาแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียนพิเศษ อ่านหนังสือ, กลุ่มสอง เรียนพิเศษ ไม่อ่านหนังสือ, กลุ่มสาน ไม่เรียนพิเศษ อ่านหนังสือ, กลุ่มสี่ ไม่ทำทั้งคู่ ถ้าควบคุมว่า โอเคนะ เด็กมีพื้นฐานเดียวกัน คือเกรดใกล้ๆกัน แล้วเวลาในการเรียนพิเศษและอ่านหนังสือเท่ากัน

พี่เม้งครับพี่ว่าผลมันจะออกมาเป็นอย่างไรครับ พี่คิดว่ามันจะขัดกับสมมติฐานที่พี่ตั้งไหมครับ (ถ้ามีใครสนใจอยากทำ ผมไม่สงวนไอเดียครับ ถ้าไม่มีใครไปสอนพิเศษ บอกผมก็ได้ครับ ถ้าว่างไปสอนให้)

คนชอบบอกว่า เนี่ยเพราะว่าโรงเรียนสอนไม่ดี เด็กเลยต้องไปเรียน ผมขอเถียงครับ ไม่ว่าโรงเรียนจะสอนดีหรือไม่ดี ถ้าคนเขาจะไป เขาก็ไปอยู่แล้วครับ

บางคนบอกว่าเด็กมันไปเรียนตามเพื่อน อันนี้ผมอยากจะยกมือไหว้โมนทนาด้วยเลยครับ คิดง่ายสิครับ ถ้าเรามีลูกมีหลาน แล้วลูกหลานเรามาขอตังค์บอกว่า พ่อครับแม่ครับ ขอตังค์จะตามเพื่อนไปเรียนพิเศษ เราจะไม่แอบยิ้มปนปลื้มหรือครับว่า เออ เว้ย ลูกเรารักเรียน ลูกเราคบเพื่อนดี

หรือว่าจะให้เพื่อนลูกเพื่อนหลานเรา มาชวนลูกชวนหลานเรา ไปปาตี้ ดูหนัง เที่ยว ไปมั่วยา แล้วเราถึงจะยิ้มแล้วบอกว่าเออ มันเป็นไปตามวัยของมัน

เด็กบางคนไม่อยากไปเรียนพิเศษ แต่พ่อแม่ก็อยาก หรือไม่ก็บังคับให้ลูกไป เพราะว่าการศึกษามันเป็นการลงทุนอนาคตของลูกครับ 

ดังนั้นเราก็จะเริ่มได้ยินเรื่องความอยุติธรรมของการศึกษาเพราะโรงเรียนสอนพิเศษ เรื่องนี้ผมไม่เถียงครับ แต่ใช่ว่าจะไม่มีเด็กที่ขยันเรียนไม่เรียนพิเศษแล้วเอ็นไม่ติดนี่ครับ แล้วอีกอย่าง ถ้าจะมองกันแบบยอมรับในความเป็นจริง เราไม่มีทางที่จะให้การศึกษาทุกคนแบบเท่าเทียมกันอยู่แล้วครับ แต่ผมไม่ได้หมายความว่า พอรู้ว่ามันทำไม่ได้แล้วไม่แก้นะครับ มันต้องแก้ครับ แต่เราต้องการการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับโรคครับ

ดังนั้นผมเลยคิดว่าบางทีเรามองเรื่องโรงเรียนกวดวิชาเพราะต้องการหาแพะซักตัวครับ ไม่ได้มองให้ลึกไปกว่านั้นครับ

คิดง่ายๆนะครับ วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง พ่อแม่ นั้นมีเวลาให้ลูกมากแค่ไหน แล้วถ้าไม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษ แค่ 3 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง ที่เขาว่างเพิ่มขึ้นต่อสัปดาห์ เขาทำอะไรได้พิสดาร เกินกว่าที่เราจะคาดฝันครับ ยาเสพย์ติดบางอย่างติดเพราะแค่ชั่วเข็มเดียวนะครับ  

ผมมองว่าระบบการศึกษาที่ดีคือสอนให้คุณเป็นคนดี และเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้องครับ ไม่ว่าการศึกษาจะบริหารจากส่วนไหน ผมว่านั่นปลีกย่อยครับพี่ นั่นคือคำถามที่เราน่าจะมาหาคำตอบมากกว่าครับ

ทุกคนบอกว่าผมเป็นคนขวางโลก (ซึ่งก็จริง) ไม่งั้นผมคงไม่ยกแม่น้ำทั้งห้ามาบอกว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นแพะรับบาป ทั้งๆที่ไม่ได้ตังค์ซักกะแดง :D แต่มีอยู่อย่างหนึ่งครับคือ ผมไม่ค่อยจะตามเพื่อนซักเท่าไร

สมัยปีหนึ่ง เพื่อนชวนไปเที่ยวเท็ค ทุกวันครับ อาซีเอ เนี่ย ชวนจัง ชวนทุกวัน ผมไม่เคยไปเลยครับ เพราะผมขี้เกียจไป หนวกหู ผมไม่ชอบ แต่พี่ทราบไหมครับว่าทำไม เพราะผมเคยเข้าเท็คตั้งแต่ ม 2 คร้บ เมื่อผมรู้แล้วว่ามันเป็นไง ผมไม่ชอบ ผมไม่คิดจะเข้ามันอีกเลยครับ พอปีสอง เพื่อนผมก็ไม่ชวนแล้วครับ เพราะมันรู้ว่า ผมเป็นคนยังไง

ผมใช้คำว่าผมโชคดีครับ ที่ได้รับโอกาสหลายๆอย่าง ทำให้ไปเจอโลกมาตั้งแต่เด็ก และทำให้ผมเข้าใจเอาเองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการศึกษาคือ

  1. สอนให้เป็นคนดี
  2. คิดเป็น
  3. ถ้าคิดว่าสิ่งที่ตนคิดนั้นดีแล้ว ชอบแล้ว ยืนหยัดกับมันครับ อย่าไปเขว (ซึ่งผมคิดว่า สิ่งนี้เราไม่ค่อยได้สอนครับ)

เพราะถ้าสอนข้อสามจริง ป่านนี้ประเทศไทยใสสะอาดไปแล้วใช่ไหมครับ

เดี๋ยวคนหาว่าผม ไม่ใช่พวก child center ผมเห็นด้วยกับการให้เด็กเป็นศูนย์รวมครับ แต่ใน สามข้อที่ผมบอก มันครอบคลุมทุกอย่างแล้วครับ

ต้องขอโทษนะครับพี่ ถ้าคำพูดต้นอาจจะดูรุนแรงเลยเถิดเกินไปบ้าง ต้นไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้นครับ เลยต้องกราบขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ต้น :D

 

 

 

P

สวัสดีครับน้องต้น

  • อันแรกขอชื่นชมน้องก่อนครับ ว่าน้องตั้งใจและจริงใจในเรื่องนี้มากๆ ครับ ในการที่น้องตอบมาหลายๆ อย่าง น่าสนใจมากครับ การมองแย้งพี่ชอบครับ เพราะจะนำไปสู่การแตกกิ่งก้านของทางออกที่ดีขึ้นครับ
  • จริงๆ ทุกระบบไม่มีดีหรือไม่ดีทั้งหมดครับ มันจะผสมๆ กันนะครับ
  • พี่จะขออนุญาตแลกเปลี่ยนจากเริ่มต้นไปจนจบทีละประเด็นไปเลยนะครับ

  • "การศึกษาบริหารแยกออกจากการเมือง โดยที่การเมืองสนับสนุนการศึกษา แล้วอนุญาตให้การศึกษาบริหารไปได้เอง" อันนี้พี่หมายถึงว่า การเมืองไม่ต้องมามีการกำหนดนโยบายอะไรสำหรับการศึกษาเลย ในทีมการศึกษาจะต้องมีคณะบริหารและจัดการทั้งทีมใหม่เองหมดเลือกคนคุณภาพมาบริหาร แบ่งตามระดับอย่างที่น้องว่านั่นหล่ะครับ จะกี่กลุ่มก็คิดกันครับ ตามระดับที่เหมาะสม
  • โดยเน้นการศึกษาในระดับพื้นฐานในอนุบาลและประถมเป็นสำคัญ เพราะถือนโยบายที่ว่า หากให้ปุ๋ยให้น้ำดีกับต้นไม้ในระยะแรก ต้นไม้จะให้ดอกออกผลดีในอนาคต นั่นคือ ระดับ มัธยม หรือ ปริญญา จะดีขึ้นไปเองครับ เพราะเราสร้างพื้นฐานระบบรากของต้นไม้ หรือพื้นฐานของบ้านไว้ดีแล้ว เด็กจะไม่มีปัญหาเรื่องเกลียดคณิตศาสตร์เพราะครู เพราะเราเน้นพัฒนาครูด้วย ในส่วนการบริหารด้านการศึกษา พัฒนาหลายๆ อย่างในด้านการศึกษา
  • ส่วนการเมืองสนับสนุนการศึกษาหมายถึง ให้เงินสนับสนุนในทุกๆ ด้านที่การศึกษาต้องการ ตลอดจนสนับสนุนการเป็นอยู่ในสังคมของครอบครัวไม่ให้มีปัญหามากเกินไป เป็นการลดปัญหาปากท้องการอดอยากในสังคม
  • เพราะว่าเป้าหมายเราจะให้การศึกษาสร้าง คน ครู นักศึกษา ระบบโรงเรียน มหาวิทยาลัยที่ดี และสร้างนักการเมืองที่ดี ด้วย ออกไปรับใช้สังคม

  • การสร้างคน คงไม่จำเป็นต้องให้เก่งทุกเรื่องเพราะคนจะเก่งแตกต่างกันไป ให้เค้าเดินในทางที่เค้าถนัดเพราะหากเค้าเดินในสายการถนัดเค้าจะเดินได้เร็วกว่าและทนทานกว่าครับ เพราะคนไม่ชอบการบังคับกดดัน ข่มขู่ เพราะคนรักอิสระ

  • สำหรับเรื่องติวเตอร์ จะโพสต์ต่อนะครับ

 

P
  • ต่อสำหรับเรื่องติวเตอร์นะครับ
  • ดีแล้วครับ ที่มองต่างมุม ทำให้เราได้พูดคุยกันได้มากขึ้น พี่ชอบครับ โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลครับ
  • ในสิ่งที่พี่เคยบอกว่า การมีสถาบันติวเต็มประเทศมันจะส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาหลัก หมายถึงว่า ระบบติวอะไรเหล่านี้ สามารถทำได้ดีในโรงเรียนอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าเราทำกันหรือเปล่าเท่านั้นเอง
  • เราต้องสร้างแนวทางการเรียนรู้ร่วม ให้เกิดในโรงเรียนครับ นั่นหมายถึงว่า การเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แข่งขันกัน ช่วยกันเรียนนะครับ ช่วยกันสอน พี่สอนน้องนะครับ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง ติวกันเอง หาหลักวิธีการเรียนรู้ ครูสอนเรา คุณครูก็อาจจะให้คนเก่งในชั้น มีการติวกันพิเศษ ฝึกโจทย์เพิ่มมันทำได้ใช่ไหมครับ แล้วเทคนิคการติวแต่รุ่นพี่หรือจากคุณครู ก็จะมีการพัฒนานำไปสู่การเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
  • การเชิญรุ่นพี่มาแนะแนว ประสบการณ์ เป็นการนำไปสู่การสร้างแรงจูงในให้เกิดในการเรียนรู้ด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้บรรยากาศในการเรียน น่าศึกษาน่าติดตาม น่าค้นคว้า แล้วหาความลงตัวของตัวเองได้ครับ
  • หากเรามีทุกอย่างเหล่านี้ เราจะไปหาแหล่งติวทำไมกันใช่ไหมครับ
  • พี่ก็ทำระบบการติวมาก่อนครับ แต่ไม่ใช่การติวแบบขอเงินบริการ แต่ติวให้ฟรีในโรงเรียน เพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง ทำให้เราค้นคว้ามาสอน ได้เทคนิคนำไปสอนเพื่อน แล้วได้ฉบับแบบการสอนของเราครับ นำไปสู่วันหนึ่งทำให้เราชอบและรักการสอน เพราะสอนแล้วเพื่อนเค้าใจ ทำให้เราสบายใจและสุขใจตามมา
  • นี่คือตัวอย่างของการให้แบบฟรี แค่เสริมสิ่งที่เป็นแรงจูงใจเข้าไปในระบบการเรียนรู้ครับ
  • ผมจำได้ว่า ผมเรียน ม.ปลายนะครับ แล้วตอนเช้าผมจะตื่นตั้งแต่ ตีสี่เพื่อมาเปิดทีวี แล้วดูรายการติวจากทีวี แล้วผมก็จดมันทุกวิชาเลย แล้วทบทวน จากนั้น เจ็ดโมงเช้าผมไปถึงโรงเรียนครับ ผมก็เอาสิ่งที่ผมเรียนนั้นหล่ะ ไปสอนเพื่อนต่อเราจะได้เทคนิคจากครูแล้วไปถ่ายทอด แล้วหัดสร้างโจทย์กันเอง แล้วทดสอบกัน ทำกันจนเป็นนิสัย
  • เราไม่ต้องไปหาแหล่งติวที่ไหนเลยครับ เราติวกันเองนี่หล่ะ
  • การเรียนจากครูในห้องเป็นเพียงการรับรู้เท่านั้น เรียนรู้เพียงแค่ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละคนจะตามทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่เราต้องทำการบ้านให้กับตัวเองหลังจากเรียนไปแล้วครับ โดยนั่นคือการทบทวนนั่นเอง ก็เหมือนกับการลับมีดนั่นหล่ะครับ ลับบ่อยๆ มีดก็คมมากขึ้น แต่ต้องลับให้เป็นด้วยนะครับ
  • น้องคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่พี่พูดมา แล้วจำเป็นไหมว่าจะต้องไปติวเสริม ในเมื่อข้อสอบเราก็หาได้ ตัวอย่างข้อสอบในโรงเรียนก็มีเต็มครับ ห้องสมุดมีเพียบ
  • หากไม่มี ไปบอกครูได้เลย รับรองโรงเรียนจะยินดีเป็นที่สุดในการซื้อหนังสือมาให้เด็กอ่านครับ นั่นคืองบประมาณที่การเมืองต้องช่วยเหลือครับ (หากคิดว่าการเมืองถือเงินของประเทศ)

  • ที่พูดมานี้ ทำได้ตั้งแต่ระดับ ประถม มัธยมต้น และปลาย มหาวิทยาลัย ได้ถึงระดับปริญญาเอกครับ

  • ต่อมาหันไปดูสถาบันติว ถามเล่นๆ ว่ามีสถาบันติวในปัจจุบัน ที่ทำกันเพื่ออะไร เพื่อธุรกิจหรือเปล่า  หากใช่ ก็ไม่ต้องตอบอะไรมากครับ หากไม่ใช่ก็ต้องนับถือเพราะติวเพื่อเสริมให้นักเรียนมีความรู้แบบให้ฟรี พี่เน้นว่าการศึกษาต้องให้ฟรีนะครับ
  • หากจะแย้งว่าหากให้ฟรีคนไม่อยากได้ เลยต้องคิดเงิน ตรงนี้จะมีผลเสียตามมา คือ การศึกษาคือการลงทุน พอเป็นการลงทุนแล้ว จะหาคนทำเพื่อส่วนรวมได้น้อยครับ เพราะต้องถอนทุนคืนครับ อาจจะมีคนบ้าอุดมการณ์ครับ แต่มากไหม คงต้องดูครับ
  • ครูในโรงเรียนเองที่ต้องไปเปิดตัวเองในการติวเพื่ออะไรครับ ฟรีหรือเปล่า หรือว่าเพื่อปากท้องตัวเอง อันนี้ก็ต้องดูครับ ว่าคืออะไร หากเพื่อปากท้อง เค้าคงไม่ผิดหรอกครับ เพราะระบบการศึกษาที่เป็นอยู่มันมีขีดจำกัดในการตอบแทนเค้า
  • ถามว่าหากระบบศาลยุติธรรม มีค่าตอบแทนน้อย ปัญหาก็จะเกิดเรื่องการโกงกันใช่ไหมครับ เลยต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เพื่อป้องกันปัญหาพวกนี้ที่จะเกิดตามมา แล้วทำไมทำในด้านการศึกษาไม่ได้หล่ะครับ ก็การศึกษาจะสร้างคนให้เป็นคนดีนี่ครับ ลงทุนกับครูผู้หาความรู้ให้เด็กเรียนรู้ศึกษาไปด้วยกันไม่น่าจะมีปัญหา
  • เชื่อไหมครับ ว่ามาเลย์กับเกาหลี ตอบแทนครูอย่างไร ลองไปค้นหาดูนะครับ ครูจะได้มีเวลาสอนเด็กมากขึ้น เตรียมการสอนให้เด็กต่อไปดีกว่าไปหาลูกค้าในการทำเครือข่าย I am a way อยู่นะครับ แต่หากตอบแทนเค้าน้อย ไม่เพียงพอก็ต้องไปหาลูกค้าไงครับ เพราะปากท้องไงครับ
  • เช่นเดียวกับ เด็กที่ยากจนและต้องเลี้ยงดูครอบครัวไงครับ เค้าไม่สนใจหรอกว่าจะได้เรียนหรือไม่ได้เรียนหนังสือ เค้ารู้แต่ว่าเค้าต้องไปรับจ้างเลี้ยงควายเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวให้ตาที่นอนป่วยอัมพาตอยู่มีข้าวกิน เพราะพ่อแม่แยกทางกันไปแล้วทิ้งเค้าไว้อยู่กับตาตามลำพัง

  • นี่คือส่วนหนึ่งที่พี่อยากจะบอกครับ
  • และพี่ก็สงสัยมาตลอดว่า ทำไมประเทศอย่างในยุโรป เค้ายังอยากจะให้เรียนฟรีกันอยู่ เน้นการเรียนฟรีให้มากที่สุด
  • แล้วระบบสอนติว โรงเรียนสอนติวส่วนใหญ่มีแต่ภาษาที่ติวให้กับคนต่างชาติ แต่สอนติวคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ทำไมมันไม่เห็นเลยหนอ แล้วระบบการเรียนเค้าหล่ะ ทำอย่างไร
  • การเรียนรู้เกิดในมหาวิทยาลัยทั้งนั้นครับ เกิดในรั้วโรงเรียน โดยเสริมพื้นฐานด้านล่างได้ดี ให้ดีตั้งแต่ให้น้ำดินปุ๋ย สภาพแวดล้อมในตอนที่ยังเด็กเพื่อจะให้ระบบรากหยั่งได้เองและมีประสบการณ์ที่ดีพอเพื่อรับมือกับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปครับ

  • มีอะไรสงสัยไหมครับ ว่าทำไมพี่ถึงมองการติวในภายนอกเป็นเพียงสิ่งแทบไม่มีความจำเป็นเลยครับ
  • แล้วคนรวยมีโอกาสติว แล้วคนจนหล่ะครับ ได้ติวไหม พี่อย่างดีก็นั่งดูทีวีเอาตอนเช้าอย่างที่ว่า
  • มันจะยิ่งสร้างค่านิยมให้สังคมหันไปติวกันใหญ่ เพราะสถาบันติวเน้นธุรกิจเป็นหลัก ตอนนี้เหมือนว่าจะมีการเริ่มติวกันตั้งแต่อนุบาลแล้วมั้งครับ
  • ทำให้เด็กเครียดคิ้วผูกโบว์กันตั้งแต่เยาว์วัย แทนที่จะได้มีเวลาวิ่งเล่นในยามเด็กบ้าง

  • มีประเด็นไหนแย้ง ว่ามาได้เลยนะครับ ยินดีตอบเต็มที่ หากพี่มองตรงไหนบอดไป เขียนได้เต็มที่เช่นกันครับ พี่ชอบเสมอครับ

  • หากระบบเราสร้างแล้วดีขึ้นมาก เราทำให้รุ่นพี่ในมหาลัยนะครับ ออกพื้นที่ไปเกื้อกูลชุมชน สร้างทีมติวสมัครเล่นลงพื้นที่ สร้างแรงจูงใจในการให้เด็กอ่านหนังสือ และฝึกทำโจทย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง
  • ลองไปอ่านแนวทางที่พี่เขียนไว้เรื่อง ทีมติวในจังหวัดสตูลก่อนหน้านี้นะครับ สองบทความ
  • นั่นบทพิสูจน์สองปี ที่เราทำกันแล้วให้ฟรี ในที่สุดก็สุขกับตามๆ กันมา ประทับใจกันมาได้ครับ
  • พี่เน้นสังคมเกื้อกูลมากกว่าการเน้นสังคมธุรกิจครับ ดังนั้นสิ่งที่ทำและเขียนเหมือนความฝัน
  • หากทำได้จริงจะทำให้เป็นตัวอย่าง เพราะจะพูดได้เต็มปากว่าทำได้

  • ประเด็นถัดไปจะตอบในชัดถัดไปนะครับ

 

P

ประเด็นที่น้องตั้งขึ้นมาว่า

  1. สอนให้เป็นคนดี
  2. คิดเป็น
  3. ถ้าคิดว่าสิ่งที่ตนคิดนั้นดีแล้ว ชอบแล้ว ยืนหยัดกับมันครับ อย่าไปเขว (ซึ่งผมคิดว่า สิ่งนี้เราไม่ค่อยได้สอนครับ)

อันนี้เห็นด้วยครับ ต้องฝึกให้แก้ปัญหาเป็นด้วยครับ นอกจาก จะคิดได้แล้ว ทำได้แล้ว ต้องแก้ปัญหาให้เป็นอย่างมีระบบ อยู่บนเหตุผลที่ดีครับ และมีคุณธรรม

สังคมไทย เราต้องสอนเพิ่มขึ้นคือ การเป็นผู้ให้ ให้โดยไม่ต้องหวังผลนะครับ

หากให้แล้วหวังผล การให้นั้นไม่สะอาด แต่ก็ดีกว่าคิดจะเอาอย่างเดียว

เปลี่ยนจาก   รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

เป็น ให้เขา ให้เรา ให้ร้อยครั้ง มีความสุขร้อยครั้ง

ไปเลยครับ

ไม่แน่ใจว่าตกประเด็นไหนไปบ้างครับ

มีอะไรเขียนเพิ่มไว้ครับ ความคิดน้องไม่ได้รุนแรงอะไรเลยครับ พี่ว่าดีแล้ว กล้าคิดต่าง คิดแย้ง อยู่บนเหตุผล

สำหรับเรื่องทำวิจัย สี่กรณีนั้น พี่ว่ามันปลายทาง เพื่อจะหาทางออกว่าติวดีกว่า แต่พี่ว่าจะดีกว่า หากติวแบบฟรีในโรงเรียนนะครับ ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มภาระให้พ่อแม่

รายได้ประจำปีของครอบครัวพี่ ไม่ถึงหกหมื่นเลยครับ จะเอาเงินที่ไหนให้ลูกสี่คนไปติวครับ

ขอบคุณมากๆ นะครับ

ด้วยรัก

พี่เม้ง

สวัสดีครับพี่เม้ง

ต้องขอโทษด้วยครับที่มาตอบช้าไปหน่อย

เรื่องการแยกการเมืองกับการศึกษานั้น เราต้องมองให้ละเอียดครับ เพราะผมมองว่าคนเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆปัญหาครับ

อย่างพี่ที่ทราบว่า การเมืองไทยนั้นไม่มีการยอมรับผลงานของคนอื่น ในเมื่อการไม่ยอมรับผลงานของคนอื่น มันก็เลยเป็นการตั้งไข่ล้ม ต้มไข่ยืน อยู่นี่แหละครับ ถ้ามีการยอมรับผลงานคนอื่น ผมว่ามันก็ดีขึ้นครับ

ถ้าจะทำให้เกิดตรงนี้ขึ้น ผมว่ามันก็คงจะดีขึ้นครับ แต่ก็ต้องสร้างตั้งแต่อนุบาลครับ

ผมว่าการศึกษาต่อให้ดีขนาดไหน ถ้าสภาพสังคมไม่สอดรับ มันก็อาจจะไม่สามารถสร้างเด็กให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ครับ ต้นว่ามันต้องสอดประสานกันครับ

ต้นชอบความคิดพี่นะครับ ที่ว่าเราจะแยกการศึกษากับการเมืองออกจากกัน แต่ยากครับ ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารโรงเรียน

เรื่องระบบติวเตอร์นั้น จริงๆแล้วต้นชอบระบบที่พี่บอกมากครับ ซึ่งต้นคิดว่าทำได้ ต้นเชื่อว่าก็มีหลายๆคนมาทำอยู่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของมหาวิทยาลัย เช่นของวิศวะลาดกระบังจะมีติวฟรี ทำทุกปีที่ตอนปิดเทอมใหญ่ แต่ที่อื่นๆก็คงจะมีด้วย

ซึ่งก็คงเป็นอีกครั้งที่ต่างจังหวัดจะมีปัญหา ต้นเห็นว่าการให้เพื่อนช่วยเพื่อน หรือครูมาช่วยก็เป็นวิธีที่ดีครับ แต่อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือคนที่เกษียณแล้วครับ ที่เป็นครูหรือคนที่เก่งมีความสามารถบางคนก็อาจจะอยากมาทำอะไรตรงนี้โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ก็ได้ครับ

เรื่องระบบการเรียนในยุโรป นี่ดีจริงๆครับ ต้นไม่เถียงครับ แต่ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดในระบบล่ะครับพี่ แล้ววัฒนธรรมการศึกษาของยุโรปด้วย มันสัมพันธ์กันหมดครับ พี่ก็ทราบว่าภาษียุโรป เก็บกันโหดขนาดไหน จะให้นำมาใช้ มันก็ยากอยู่ครับ

โดยความเห็นส่วนตัวครับ เด็กไทยมีศักยภาพมาก เพราะเรียนอะไรก็ไม่รู้ตั้งแต่เด็ก แต่การเรียนของเด็กไทยเป็นการเรียนเน้นเกรด ที่พอเรียนเสร็จแล้วก็ลืม

ไม่แปลกที่เราจะมาพูดกันทุกวันๆๆๆๆ ว่าการศึกษาแย่ๆๆๆๆ จะไม่ให้แย่ได้อย่างไรครับ ในเมื่อเราไม่ได้สร้างปรัชญาการสอนที่ถูกต้องให้กับครู นักเรียนและผู้ปกครอง

ต้นเคยเขียนว่าการเรียนของประเทศไทยนั้นประหลาด บังคับแม้กระทั่งวิชาพละ ว่าจะต้องเรียนอะไร มันแปลกนะครับ

แต่ใช่ว่าการแข่งขันจะไม่สำคัญครับ ในโลกแห่งการแข่งขัน มันก็คงไม่แปลกที่จะมีการแข่งขันกันตั้งแต่เด็ก แต่ว่าในการแข่งขัน เราต้องเสริมสร้างความเข้าใจในชีวิต ความมีน้ำใจนักกีฬาเข้าไปพร้อมๆกันครับ

อาจจะตอบไม่ครบทุกประเด็นนะครับพี่ แต่ช่วงนี้ค่อนข้างวุ่นนิดนึงครับ เรื่องเลขนั้น เรื่องเกมส์ต้นอาจจะไม่ค่อยถนัดครับ เกมส์ที่ต้นชอบก็คือ sudokan นะครับ ซึ่งจริงๆก็เป็นเกมส์เดียวที่ต้นเล่น เกี่ยวกับเลข

ถ้าพี่ไม่ว่าอะไร ต้นขออนุญาตเขียนเล่าเรื่องประวัติเกี่ยวกับเลข และการนำมาใช้นะครับ ขอไปเรียบเรียงก่อนแล้วยังไง ก่อนอาทิตย์หน้าต้นจะเขียนเรื่องแรกครับ

ขอบพระคุณมากครับพี่

สวัสดีครับ

ต้น

P
  • สวัสดีครับน้องต้น
  • ยอดมากๆ ครับผม เห็นด้วยเลยครับ อยู่ที่คน หากคนมีคุณภาพ เราจะแยกรวมไม่ใช่ประเด็น เพราะยังไง แยกกันก็คืออย่างเดียวกัน รวมกันก็เหมือนแยกกันได้ แต่ในที่สุดแล้วมันก็คือสิ่งเดียวกัน
  • วิธีที่พี่นำเสนอ เพื่อตัดการวิ่งวนซ้ำที่ไม่วิ่งไปข้างหน้าครับ เพื่อหาจุดเสถียรให้กับระบบ มันเพียงแค่ฝันครับ แต่พอจะไปเริ่มที่ด้านล่าง ก็เริ่มไม่ได้ทั้งหมดทั้งระบบเพราะแต่ละที่ก็ต่างๆกันไงครับ
  • เราก็สร้างและเริ่มกันได้แค่ในวงที่เราดูแล ในวงที่น้องดูแล มันเลยไม่สอดรับกับสังคม ในที่สุดเราก็วนเวียนเหมือนเดิมไม่ว่าจะอย่างไร
  • แต่หากแยกมา อย่างน้อยมันจะได้ทำอะไรให้หลุดไปจากเดิมได้
  • ผมยังคิดเล่นๆ นี่หากให้มีการเปิดสอบวัดประเมินคุณภาพครูทุกๆ สามปี คงสนุกเป็นแน่แท้ ตอนนี้เราระเริงกันแต่จะปรับซี ปรับขั้นกัน จนลืมระดับการสอนที่จริงๆ
  • แต่ไม่เป็นไรครับ เราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องทำในวงที่เราดูแลได้ก่อน แล้วหากสิ่งที่เราทำดี คนอื่นจะหันมาถามเอง แต่ใช้เวลาหน่อยครับ หรือว่าใช้เวลามากหน่อย
  • เห็นด้วยครับ กับการให้ อ.เกษียณไปแล้วมาสอน หากท่านยินดีครับ ผมก็ติดต่อหาคนเยอรมันไปสอนที่ทางอีสานด้วยหนึ่งคน ท่านสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ท่านต้องการจะสอนให้ฟรีเลยครับ จริงๆ แล้วท่านค้นหาในเนท แล้วมาเจอพี่ แล้วบอกพี่ว่า ท่านอยากจะไปสอนที่เมืองไทย เพราะท่านต้องไปอยู่ที่นั่น ต่อไป เพราะภรรยาท่านเป็นคนไทย อ่านดูได้ที่นี่ครับ ขอคำแนะนำครับผม มีชาวเยอรมันอยากจะไปช่วยสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ม.ต้น ที่บุรีรัมย์
  • สำหรับที่ต้นจะเขียน ประวัติคณิตศาสตร์ อันนี้ชอบเลยครับ เขียนไว้ได้เลยครับ ตามที่มีเวลาว่างและสะดวกนะครับ และอยากจะเชิญชวนคนอื่นๆ ด้วยครับ หากท่านสนใจ มาใส่ไว้ในลานคติศาสตร์ หรืออะไรก็ได้ครับ เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับคณิตศาสตร์  พี่สร้างแพลนเนทลานคณิตศาสตร์ไว้ หรือเราจะสร้างบล็อกใหม่อะไรก็ได้ครับ แล้วแต่ที่นำไปสู่ประโยชน์ในเรื่องนี้ครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ
P
  • สวัสดีครับ ผมขอมองต่างมุมเพิ่มอีกนิดนะครับ
  • จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยที่จะไปโทษ "ค่านิยม สังคม และวัฒนธรรมไทย ซึ่งกำลังถูกทำลายด้วยค่านิยม และวัฒนธรรมจากสังคมตะวันตก" ผมว่าเราไม่น่าจะไปโทษสังคมตะวันตกเลยครับ
  • ผมว่าเราน่าจะโทษตัวเราเองต่างหากครับ ที่เราไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยเราให้เด็กรู้จักเลือก ให้ครูรู้จักเสพ ให้ผู้บริหารรู้จักคิด ว่าอะไรควรอะไรไม่ควรที่จะนำมาใช้ต่างหากครับ
  • สังคมตะวันตกเป็นของเค้าอย่างนั้น เค้าก็มีรากเหง้าของเค้านะครับ เราก็มีรากเหง้าของเราอยู่ เราจะทำอย่างไรหล่ะครับที่จะให้รากเหง้าของเรามันอยู่และเกิดแต่สิ่งดีๆ และยังอยู่ในสังคมเรา ไม่ใช่อะไรเราก็รับๆ รับ รับ มาอย่างเดียว โดยไม่ผ่านกระบวนการโดยการใช้ปัญญาที่เรามี มองและดูว่าเหมาะสมแค่ไหนกับบ้านเรา เราจะยืนอยู่บนขาเราเองได้ไหมครับ
  • หากผมมีลูก ลูกผมกับลูกคนข้างบ้านทะเลาะกันผมต้องตีลูกผมไว้ก่อนนะครับ
  • หากเรารู้จักประเมินตัวเราผมว่าเราจะรู้ว่าเรามองแล้วมีส่วนไหนดีไม่ดี หากเราพร้อมจะปรับปรุง เราก็ทำได้ครับ
  • การศึกษาไทย หากจะเอากันให้จริงๆ แล้ว เราต้องแยกออกจากการเมือง นะครับ ไม่งั้นไม่มีทางหรอกครับ ที่จะพัฒนาได้ เพราะว่าตอนนี้ประเทศไทยเราหน่ะครับ ถูกปกครองด้วยการเมือง แทนที่จะเป็นการศึกษาปกครองประเทศ
  • จะมีใครกล้าแยกออกมาไหมครับ ที่จะแยกมาบริหารกันแยกส่วน โดยเอาเงินงบประมาณแผ่นดิน 10-20% มาใส่ในด้านการศึกษาไปเลย หรือมากน้อยแล้วแต่เป้าหมายในการพัฒนา โดยที่ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้องในส่วนนี้เลย การศึกษาจะได้คิดและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เพราะการเมืองขึ้นกับพรรคการเมือง แล้วมีวาระ แต่การศึกษาต้องห้ามล้มเหลว การเมืองล้มเหลวได้ ก็ล้มไป แต่การศึกษาต้องยังอยู่ เด็กต้องมีชีวิตกันต่อไป
  • ต่อไปเมื่อแยกการศึกษาออกมาแล้วนะครับ ก็จัดการล้างส่วนที่เน่าๆ ในการศึกษาออกให้สะอาด ตรงไหนมีปัญหาก็ซ่อมเสีย แล้วสร้างครูให้เป็นอาชีพที่คนอยากเป็นให้ได้ มีการให้แรงจูงใจที่ดีในการเป็นครู การขาดสิ่งต่างๆ ไม่ว่าเทคนิคการสอน จิตวิทยาการเป็นครู เรื่องเหล่านี้ ใครๆ ก็สามารถจะเรียนรู้ได้ หากได้คนที่มีจิตใจอยากสอน อยากให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  • ผมเองเป็นครูแบบไม่ได้เรียนผ่านกระบวนการทางศึกษาศาสตร์มาก่อน แต่ผมก็ต้องพร้อมจะศึกษาเรื่องเหล่านี้ ว่าต้องทำอย่างไรเช่นกัน
  • ต่อมา เมื่อการศึกษามีมาแล้ว การจะจัดการเรื่องการพัฒนาครูให้มีคุณภาพทำได้ไม่ยากครับ เพราะงบประมาณก็มี บริหารได้เต็มที่ อาจจะมีการสร้างชุดคณะกรรมการประเมินผลด้วย การจะสร้างการศึกษาให้บริการชุมชนจริง การศึกษาต้องเกิดจากความต้องการของชุมชนด้วย ตามรากเหง้าของแต่ละภาค เพราะแต่ละภาคจะต่างๆ กัน ดังนั้น การเรียนการสอน แล้วแต่สาขา ศึกษากันให้ดี หลักสูตรไม่เน้นรับต่างชาติมามากเกินไป จนเราเป็นง่อย
  • เมื่อคัดครูได้ แล้วครูที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในระบบคุณจะทำอย่างไร ทำได้ง่ายๆ อาจจะมีการให้โอกาสครูปรับปรุงตัวเอง ให้แนวทางในการเรียนการสอน ให้ปรับความรู้เพิ่ม อาจจะมีการสอบคัดคุณภาพครูทุกๆ สามปี เปิดสอบเนื้อหา และเปิดสอบการสอน โดยที่คณะกรรมการการสอน อันนี้แบ่งงานกับทำตามภาคส่วนได้ เพื่อปรับปรุงและคัดออก (มันดูเหมือนจะโหดไปหน่อยครับ สำหรับครู แต่นี่หล่ะ ที่มาของคำว่าคุณภาพ)
  • คราวนี้ ทีมบริหารการศึกษาก็มีคณะกรรมการประเมินผลการบริหาร ครูก็มีคณะกรรมการประเมินผลครู โดยชุมชนมีส่วนร่วมด้วยครับ แล้วเด็กหล่ะครับ ใครประเมิน ก็สถาบันนี่หล่ะครับประเมินในการสอบเข้า หรือว่าไม่มีการสอบเข้าก็ได้ ตามรูปแบบที่วางไว้ อันนี้คิดกันได้ หากเล่นกันตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ระดับอุดมศึกษา ก่อนสอนง่ายขึ้นครับ
  • ต่อมาถึงระดับของการสร้างคนดี มีคุณธรรม และปัญญา ส่งออกไปในองค์กรต่างๆ ในประเทศ เช่นการเมือง การศึกษา ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และส่วนอื่นๆ ในประเทศ
  • คนที่มีปัญหาก็จะเริ่มจางลง ไปเองครับ แรงต้านก็จะหายไปครับ ระบบเจ้าพ่อ ระบบอะไรก็จะหดไปมากขึ้น เพราะเรามีการศึกษาให้กับชุมชนออกแบบการศึกษาให้กับตัวเองด้วย โดยทีมการศึกษาจะต้องทำงานกับภาคชุมชน การวิจัยก็ต้องเกิดการทำร่วมกัน
  • เมื่องานวิจัยก็มี การสอนก็ได้คุณภาพ ประเทศตะวันตกเค้าก็มาดูงานเมืองไทยเองหล่ะ ว่าเราจัดการบริหารกันอย่างไร
  • เราส่งคนมาดูงานในยุโรป ตะวันตกกันแล้วกลับไปก็ทำอะไรกันได้บ้างครับ นอกจากเขียนรายงานว่าได้อะไรบ้าง เราจะจัดการอย่างไร จัดการไม่ได้ใช่ไหมครับ เพราะมันโยงใยกันทั้งหมด นี่คือหนทางที่ผมแนะนำให้แยกออกมา
  • ซึ่งผมก็เขียนไว้ในบทความแยกกันบริหารจะได้ไหม เรื่องการศึกษาและการเมือง ลองเข้าไปเยี่ยมได้ที่นี่ ครับ การศึกษากับการเมืองควรรวมหรือแยกกันบริหาร คุณคิดอย่างไร
  • เมื่อการศึกษาไปได้ดีแล้ว ปัญหาอื่นๆ ก็ไม่ต้องมีอะไรมากครับ คือ ไม่ต้องเขียนกฏหมายให้ยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะคนมีคุณธรรม ไม่ต้องส่งคนมาเรียนกฏหมายต่างประเทศมากมาย เพราะไม่จำเป็น ส่งไปฝึกงานหรือร่วมงานประชุมก็พอ
  • ไม่ต้องแก้ปัญหาการว่างงาน เพราะคนถูกวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
  • และปัญหาอื่นๆ ไม่ต้องวุ่นวายกันต่อไป
  • การแยกการศึกษาออกมาจากการเมืองนั้น ห้ามนักการเมืองมาบริหารนะครับ เราจะไม่รับคนทำงานการเมืองมาทำงานทางด้านการศึกษาเพราะมันคนละเรื่องกัน ตอนนี้ต้องเข้าใจว่าการเมืองแทรกไปในวงการศึกษาทั่วทุกแห่ง เมื่อแยกออกมาจะลำบากในช่วงแรก แต่ผมเชื่อว่าไปได้ อันนี้ต้องขอความเห็นใจจากคนทำงานการเมือง หากเห็นอยากจะให้การศึกษาโตจริงๆ
  • แต่.....หากคนเล่นการเมืองให้ความสำคัญกับการศึกษาจริงๆ ไม่จำเป็นต้องแยกเลยครับ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เพราะหากเห็นความสำคัญและจริงใจในการแก้ไขปัญหาจริง รวมหรือแยกก็ไม่ใช่ประเด็น แต่นั่นหมายถึงว่าคนทำงานการเมืองจะต้องมีคุณภาพจริงๆ ที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นกิจที่หนึ่ง ส่วนตนมาเป็นอันดับสอง
  • ขอบคุณมากนะครับ ต้องขออภัยด้วยนะครับ หากความเห็นอาจจะตรงและแรงไปบ้าง แต่นี่คือความอัดอั้นในใจผมที่อยากจะบอกนะครับ
  • ส่วนเรื่องคุณภาพอาจารย์นั้น.....ผมว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรอกครับ.... กู้คืนระบบเก่าขึ้นมาให้ได้ก่อนครับ อย่าไปโทษตะวันตกครับ เพราะข้อดีเค้าก็มี เราควรเลือกข้อดีๆ มาปรับใช้ เรากล้าวิจารณ์คนไทย กันหรือเปล่าครับ เรากล้าจะวิจารณ์ทำให้เราเสียหน้าไหมครับ หากเรากล้าฉีกหน้าตัวเราเอง นั่นหล่ะเราพร้อมที่จะปรับปรุงระบบของเราแล้วครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ ขอโทษด้วยครับที่พิมพ์ไปยาวมากเลยนะครับ ท่าทางจะยาวพอสมควรนะครับพี่กมลวัลย์

 คัดลอกมาจากความเห็นของบทความของพี่กมลวัลย์  อาจารย์ไม่มีคุณภาพ เข้าไปอ่านกันได้นะครับ พอดีเอามาให้อ่านตรงนี้ เพราะว่าสอดคล้องกับแนวคิดเดิมที่วางไว้ครับ และตรงกับ แนวคิด วาระแห่งชาติ ของท่าน ศ.ดร. จีระ หงส์ลดารมภ์
มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

P
สาวสวยมวยไทย ณัฐชานันท์

สวัสดีค่ะ

สิ่งสำตัญที่ในการขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างคือความมุ่งมั่น และคุณธรรมของผู้ปฏิบัติในทุกแขนงวิชาหรือสาขาอาชีพ งานทุกสิ่งถ้าผู้ปฏิบัติมีสิ่งดังกล่าวแล้วก็จะสำเร็จลุล่วงอย่างมีคุณภาพ

นี่เป็นสิ่งที่ขอเพิ่มเติ่มจากที่ทุกกท่านเสนอไว้

กัณฑ์กฤช ภูแต้มนิล

หวัดดีคับ

ผมคิดว่าการทำคงเป็นเรื่องอยากนะคับ เพราะรัฐบาลในปัจจุบันต้องการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง

แต่ถ้าเป็นอย่างที่พี่พูดได้การศึกษาไทยก็คงดีกว่านี้ และคงไม่ต้องหาตัวชี้วัดนักเรียนเข้ามหาลัยแบบใหม่ๆๆ

จะได้เป็นระบบและแนวทางเดียวกันตลอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท