เศรษฐกิจพอเพียงของคนอีสาน


เรื่องนี้ต้องไปเปิดก้นครัวคนอีสาน จะเห็นความเรียบง่าย กินง่ายอยู่ง่ายไม่เรื่องมาก

 

เรื่องนี้ต้องไปเปิดก้นครัวคนอีสาน  จะเห็นความเรียบง่าย กินง่ายอยู่ง่ายไม่เรื่องมาก ยังไงก็ได้ ใช้ชีวิตเข้าเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับสภาพของท้องถิ่น ตำน้ำพริกจิ้มผักลวก เด็ดยอดผักริมรั้ว ตำลึง ยอดกระถิ่น ยอดผักโขม ยอดแค ยอดมะรุม ดอกแค ยอดชะอม หน่อไม้ ยอดมะกล่ำ บรรณาการจากธรรมชาติที่มากับฝน มีดอกกระเจียว หน่อเพ็ก หน่อโจด ผักอีลอก ยอดหวาย หน่อไม้ เห็ดเผาะ เห็ดละโงก เห็ดตับเต่า เห็ดปลวกฯลฯ มาสลับสำรับกับข้าวชาวที่ราบสูง ส่วนโปรตีนนั้นเล่าก็ไม่ธรรมดา มีกิ้งก่า แย้ จิ้งหรีด จี่โป้ม จินูน บึ้ง กบ เขียด อึ่ง งูสิง หนูตะเภา หาได้จากในท้องไร่ท้องนา แมลงต่างๆที่อยู่ตามต้นไม้ ไข่มดแดงใส่แกงผักหวาน น้องเอ๋ยอร่อยจนลืมอ้วน

   

  

พ่อไอ้แดงชวนเพื่อนบ้านโหวกเหวก เหวี่ยงแหขึ้นบ่าพากันเดินลงทุ่ง ตะวันบ่ายคล้อย บ่ายหน้ากลับบ้าน มีกุ้งหอยปูปลาติดมือมาทำลาบก้อยอร่อยแซบกันทั้งคุ้ม เรียกว่าย้อนรอยตำนาน ไอ้ขวัญอีเรียม แห่งทุ่งมหาราช แต่บัดเดี๋ยวนี้เรื่องที่เล่ามานั้น กลายเป็นความฝันเฟื่องไปเสียแล้ว ต้นทุนชีวิต ต้นทุนธรรมชาติ ต้นทุนสังคม จารีตประเพณีหักสะบั้นขวัญเรียมกระเจิงไปนานแล้ว 

    

จากพืชผักที่มีอยู่ในธรรมชาติ ก็เปลี่ยนมาเป็นผักกวงตุ้ง บล็อกเคอรี่ แครร็อท กะล่ำดอก กะล่ำปลี ผักสลัด ถั่วฝักยาว ฯลฯ ที่ปนเปื้อนสารเคมี แกงอ่อม แกงหวายพลิกหงายมาเป็นพิซซ่าเข้าตำราแดกด่วน พวกกิ้งก่า จิโป่ม กบ เขียด อึ่งอ่าง สูญหายไปจากชุมชนนานแล้ว ชาวบ้านต้องหาเงินมาซื้อไข่ไก่ เนื้อหมูเห็ดเป็ดไข่ กุ้งหอยปูปลาต้องซื้อหาจากตลาด แม้แต่พริกมะเขือก็ต้องซื้อหาจากรถขายกับข้าวพ่อค้าเร่ จากที่เคยพึ่งตนเองด้านอาหาร มาวันนี้ต้องซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า 

จากความพอมีพอกินหาได้ฟรีๆจากป่าละเมาะและท้องทุ่งข้างบ้าน ก็เปลี่ยนมาเป็นรายจ่ายประจำ ตรงนี้นักฝันเฟื่องเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องตีความแล้วละครับ ในเมื่อสังคมเกษตรเปลี่ยนไปตามกระแสตะวันตก ที่ทำให้เราอ่อนแอยิ่งกว่ายุคสมัยใด การอธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสไตส์มหาชีวาลัยอีสาน หมายถึงการตอบโจทย์ชีวิตและสังคมแห่งความพอเพียง 3 เรื่องคือ 

  1. วิกฤติในสังคมไทอีสานมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
  2. จะใช้หลักการและกระบวนการจัดการความรู้
  3. ภายใต้หลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 เมื่อบรรณาการจากสวรรค์หายไป เราจึงตั้งประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์นักศึกษาของเรา ให้ทุกคนมาระดมพลังสร้างชุดความรู้ผ่านกิจกรรมเชิงประจักษ์ ด้วยกิจกรรมเรียนรู้ดังต่อไปนี้ 

·        การเพาะเห็ด

·        การทำแปลงเกษตรประณีต

·        การเลี้ยงไก่ไข่

·        การเลี้ยงสัตว์ปีก

·        การเลี้ยงหมู เลี้ยงโค เลี้ยงปลา

·        การปลูกสมุนไพร

·        การอัดอิฐดินซีเมนต์

·        การเพาะชำกล้าไม้ ปลูกต้นไม้ เผาถ่าน น้ำควันไม้ 

·        การสร้างบ้านไม้ไผ่ พึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัย       

การปลูกไม้ติดแผ่นดิน ไม้ผักยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้ประดับ ส่วนการขยายผลจะทำอย่างไร ผมให้นักศึกษาพี่เลี้ยงแกะความคิดของชาวบ้านที่มาอบรมจำนวน500คน วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการฝึกอบรมรุ่นที่1 เราได้วรรคทองจากสมาชิกกลุ่มต่างๆ ผ่านการสะท้อนคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงดังนี้ 

" พอกิน แต่ไม่พอจ่าย "

" ไม่มีอาชีพหลัก มีแต่อาชีพเสริม "       

วันนี้ปิดการอบรม มีผู้นำองค์กรบริหารส่วนตำบลมาร่วมพิธี เช่น นายก อบต. กำนัน ปลัดอบต. เราจึงถือโอกาสให้ท่านผู้นำทั้ง 2 ทำหน้าที่กล่าวปิดและเป็นประธานมอบวุฒิบัตรที่มีลายเซ็นท่านนายอำเภอ กับเจ้าสำนักฯ เมื่อชาวบ้านกลับไป ชาวเรา(คณะทำงาน) ก็มาหารือกัน ไล่เลียงถามความเห็นแต่ละคน เช่น ขั้นตอนการลงทะเบียน การกรอกใบสอบถาม การแบ่งกลุ่ม การนำเสนอ ชวนชุมชุนคิดแผน เสนอแผน นัดหมายที่จะทำงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ที่ชาวบ้านเป็นคนคัดเลือก เช่น โครงการเห็ดชุมชน กับการเลี้ยงไก่ไข่ ให้นักศึกษานัดหมายที่จะออกไปช่วยสร้างเสริมความรู้ผ่านอาชีพ เพื่อช่วยเพื่มวิธีสร้างอาชีพในชุมชน เพิ่มจากการทำตุ๊กตาส่งญี่ปุ่นที่ชุมชนแห่งนี้ทำอยู่เดิม ในวันที่28 เราก็จะอบรมสมาชิกข้ามจังหวัดที่มาจากมหาสารคาม ก็จะได้ประมวลผลเปรียบเทียบกัน ส่วนหลักสูตรนั้นจะออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพและความเหมาะสมของรุ่นนั้นๆ ถ้าท่านใดสนใจก็ติดตามได้ครับ มีเรื่องคนบ้านนอกคอกนากำลังตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างคนอีสานกับครูพี่เลี้ยงชาวอีสาน

หมายเลขบันทึก: 86451เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

สมัยเด็กๆ ปิดเทอมไปอยู่กับปู่กับย่า ที่บ้านนอก ช่วงบ่ายๆ ย่าจะชวนไปช้อนหอย ปู กุ้ง ปลา ที่ธารน้ำเล็กๆ ท้ายหมู่บ้านค่ะ เมื่อได้พอประมาณแล้วย่าจะนำมาทำเป็นอาหารเย็นค่ะ และเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว รัฐบาลให้งบประมาณมาทำฝายกั้นน้ำให้กับลำธาร กลายเป็นกักกั้นน้ำสูงขึ้นมา ระบบนิเวศเปลี่ยนไปหมดช้อน กุ้ง หอย ปู ปลาไม่ได้ค่ะ จะมีนายทุนหมู่บ้านไม่กี่คนเลี้ยงปลาในกระชังไว้ขายค่ะ...ส่วนลำธารน้ำน้อยๆ อีกแห่งกลางหมู่บ้านเค้าก็สร้างเป็นท่อน้ำคอนกรีตปิดหมด ไม่มีธรรมชาติเหลืออยู่ค่ะ...ไม่ทราบว่าการพัฒนาของเรามาถูกวิธีรึปล่าวนะค่ะ...

ภาพสาวน้อย น่ารักมากค่ะ...การถ่ายภาพด้านข้างที่นางแบบหันไปมองด้านใด ควรให้มีพื้นที่ที่อยู่ด้านหน้ามากกว่าพื้นที่ด้านหลังของนางแบบ จะทำให้เกิดความรู้สึกของการมองไปข้างหน้ามากขึ้น และภาพจะไม่อึดอัดค่ะ....ด้วยความเคารพ ขออนุญาตแนะนำค่ะ

P
paew เมื่อ

ขอบคุณมากครับ อาจารย์แนะนำอีก ขออีกทุกครั้งไปนะครับ

ความเจริญหรือเป็นความเสื่อม เราแยกยาก รู้แต่ว่าความสุขเปลี่ยนไป เด็กรุ่นหลังคงนึกไม่ออกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นอย่างไร?

  • กราบสวัสดีครับ ท่านครู ที่เคารพ
  • เมื่อทุนเข้าไปในใจ มากเกินไป อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ครับ
  • เปลี่ยนจากคนเลี้ยงไก่มาเป็นคนรับจ้างเลี้ยงไก่ในพื้นที่ตัวเอง
  • ต่อไปอาจจะเปลี่ยนเป็นคนรับจ้างทำนาในผืนนาตัวเองครับ
  • ผมอาจจะคิดไปเอง หรือมองโลกในแง่ร้ายเกินครับ หวังว่าเราคงไม่เจอเหตุการณ์กันทั่วไปในอนาคตครับ
  • กราบขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะ

  • ชอบเพลงประกอบเรื่องความพอเพียงมากค่ะ อยากให้ทุกคน"รู้สึกดีใจกับวันนี้" กับความพอเพียงเหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่สภาพความเป็นจริง ยังมีคนจำนวนมากที่ลำบากจริงๆ
  • ดิฉันก็เห็นสภาพของนักศึกษาที่มาเรียนหนังสือโดยพกกิเลสมาเต็มกระเป๋า อยากจบ อยากได้เกรดดีๆ อยากมีงานทำโก้ๆ แต่ไม่ค่อยอยากได้ความรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องความพอเพียง กว่าเขาจะเข้าใจก็ไม่รู้จะสายไปแล้วหรือไม่
  • ที่เขียนมานี้อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องที่คุณครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ให้ความรู้กับพวกเราชาว blog สักเท่าใดนะคะ แต่รู้สึกว่าเรื่องหลายอย่างเป็นปัญหาสังคมที่ต้องช่วยกันแก้ไขค่ะ
  • ขออนุโมทนายินดี ชื่นชมกับสิ่งที่คุณครูบาฯ ทำอยู่ค่ะ

อีตาเม้งเอ๊ย.. 

  • มีเรื่องน่ากลัวกว่าพ่อเม้งว่าอีก หมู่บ้านที่ทำเรื่องวิสาหกิจในชุมชน ไม่เอื้อเพื้อผื่อแผ่โคต้าสินค้าให้กับเพื่อนๆ และลูกหลานในชุมชน รับผลิตตุ๊กตามาแล้ว ทำไม่ได้ตามจำนวน เขาก็เอางานไปให้พื้นที่อื่น ทั้งๆที่คนในชุมชนด้วยกันขอแบ่งงานมาทำ ก็ไม่ให้
  •  เงินตัวเดียว ทำให้จิตสาธารณะขาดสะบั้น ต่อไปมันจะอยู่กันยังไง ในชนบทเพราะคนเฮงซวยนี้
  • สังคมชนบทกำลังแตกแยกในใจ..ความไม่พอใจลึกๆ เกิดจากเงินมาแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่ม กำลังน่ากลัว
  • ถ้าเราไปเจาะเรื่องพวกนี้ในหมู่บ้านที่อ้างว่าพัฒนา หมู่บ้านโอท๊อป หมู่บ้านวิสาหกิจชุน ที่เราไม่ทราบว่ามันติดลบเรื่องมิติทางสังคมอยู่เท่าไหร่
  • เจอเข้าไปหมู่บ้านเดียวก็หนาวสะท้านทรวงแล้ว อนาคตข้างหน้ามันจะหันหน้ามาคุยกันแบบธรรมดาๆได้หรือไม่ รึจะต้องใส่หน้ากากคุยกัน
  • เราเสนอแต่ด้านดี ด้านผลกระทบมุบมิบไว้ไม่เอามาพูด ทิ้งแผลเน่าให้มันลามเงียบไปเรื่อยๆ

 

P
  • ขอบคุณที่ท่านอาจารย์ ที่มาเป็นไฟฉายส่องทางให้สังคมนักศึกษา หรือจะพัฒนาไปยังเพื่อนร่วมชะตากรรม
  • เราเห็นโจทย์ที่พิกลพิการมากมาย ปัญหาอยู่ที่จะบริหารโจทย์ได้อย่างไร
  • สถานศึกษาจะบริหารคะแนน ให้เกิดประโยชน์ร่วมใรครรลองที่ถูกที่ควรอย่างไร
  • เด็กสมัยนี้ บ้าคะแนน !!!  เราจะใช้คะแนนเป็นยุทธศาสตร์ได้อย่างไร?
  • พ่อครับ ชาวบ้านปลูกผักก็อยู่ได้แต่ว่า มีค่าเทอมลูกๆ หนี้ ธกส. ตามมาต้องใช้ จะทำอย่างไร ให้เขาไม่มีหนี้ มีความพอเพียงในสิ่งที่เขาทำ 
  • ไม่แปลกใจที่เขาบอกว่า
  • พอกิน แต่ไม่พอจ่าย "

    "ไม่มีอาชีพหลัก มีแต่อาชีพเสริม"

  • ชอบเรื่อง การสร้างบ้านไม้ไผ่ พึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัยครับผม ขอบคุณครับ

   

เรียน คุณ

P

เป็นประเด็นที่ดีค่ะ เรื่องการบริหารคะแนนให้เกิดผลในทางที่ดีแก่ผู้สอนและผู้เรียน และสังคม ปัญหาก็คือ

  • ปัจจุบันค่านิยมของผู้เรียนยังไม่พอเพียง คือ ไม่ได้เรียนตามที่ตัวเองชอบหรือรักในเนื้อหา แต่เรียนเพราะคิดว่าการจบในสาขาที่เรียนจะทำให้ตนมีวิชาชีพ ร่ำรวย ฯลฯ (ดิฉันอาจมองในแง่ลบนะคะ แต่ประเมินจากประสบการณ์ค่ะ)
  • รัฐเองก็พยายามสนับสนุนให้คนเรียนมากที่สุด (เช่น ให้งบประมาณต่อหัวของนักศึกษา ถ้ารับมาก ก็จะได้งบมากเป็นต้น) แต่รัฐไม่ได้ประเมินว่าเรียนไปแล้วเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ ตรงกับความต้องการของประเทศไทยจริงๆ หรือไม่ หรือเรากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรู้จักการให้ มีแต่ความต้องการ และขาดความพอเพียง

แต่ดิฉันยังไม่หมดหวังค่ะ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกันสร้างสิ่งดีๆ เพื่อส่วนรวมต่อไปค่ะ

P

 ถ้าอาจารย์จะกรุณา เสนอ ความพอเพียงในมิติของคนอุดมศึกษา น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ให้พวกเราได้มีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยว่า ..โครงสร้างของการศึกษานิสิตรุ่นใหม่ ควรจะมีเรื่องพอเพียงแทรกเข้าไปอยู่ในจุดไหนอย่างไร เช่น วิธีคิด ทัศนคติ ความเข้าใจ ความที่น่าจะเป็น อย่างน้อยควรมีอะไรในความคิดคำนึงเรื่องส่วนตัว เรื่องสังคม เรื่องอนาคตของประเทศอย่างไรบ้าง (ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องหรือไม่นะครับ เอาตามที่ท่านอาจารย์เห็นควรจะเหมาะกว่า)

ความพอเพียง พอประมาณ สำราญจิต

สร้างชีวิต ให้สมดุล ช่วยหนุนเสริม

ภูมิคุ้มกัน มั่นใจ มาต่อเติม

จึงนั่งยิ้ม หยาดเยิ้ม อย่างเย็นใจ

  • ตามมาเปิดก้น (ครัว) คนอีสานค่ะ
  • ทางใต้ก็เช่นกันค่ะพ่อครูบาฯ มีที่ดินปลูกสวนยาง จ้างคนอื่นกรีดยาง แบ่งครึ่งกับคนกรีด เป็นเสือนอนกิน (ที่พูดถึงนี่เฉพาะคนที่มีสวนยางน้อย ความจริงตัดเองก็ได้) ไม่ทำอะไร พริก ขมิ้น ตะไคร้ ข่า ขิง เข้าซื้อในห้างหมด แทนที่จะปลูกผักสวนครัวไว้กิน
  • ผิดกับเราไม่มีที่ดิน แต่อยากปลูกผักสวนครัวไว้กินค่ะ

ได้การบ้านข้อใหญ่จาก Pครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เลยค่ะ

ขออธิบายถึงโครงสร้างหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้เห็นภาพก่อนนะคะ เพราะรู้สึกว่าเรื่อง ความพอเพียงในมิติของคนอุดมศึกษา ในมุมมองของดิฉันคนเดียวอาจไม่ครบค่ะ เพราะตอนนี้มองเห็นแต่ตัวอย่างในส่วนของทางสาขาวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ปัจจุบันอาจจะอยู่ที่ประมาณ 145 หน่วยกิต ซึ่งประกอบหมวดวิชา* ดังนี้

  • วิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (ประมาณ 18 หน่วยกิต) วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาตร์ (ประมาณ 24 หน่วยกิต) และวิชาวิศวกรรมหลักเฉพาะสาขาตามข้อบังคับของสภาวิศวกร (อย่างน้อยอีก 24 หน่วยโดยประมาณ ทั้งนี้ขึ้นกับการเปิดสอนและสาขาวิชาทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง)
  • หมวดวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป  สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และวิชาทางวิศวกรรมตามเกณฑ์ของทบวงมหาวิทยาลัย (อันนี้ยังไม่ได้ไปค้นมา แต่น่าจะมีอย่างน้อยประมาณ 36-40 หน่วยกิตค่ะ)
  • หมวดวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมที่เน้นความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเพื่อสามารถสนองตอบวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้ (อันนี้หลากหลาย และแล้วแต่ วัตถุประสงค์ของหลักสูตรค่ะ)

ในกลุ่มคณาจารย์ที่ภาควิชา เคยคุยกันว่า เราปรับเนื้อหาที่เราอยากสอนกันแทบไม่ได้เลย  เพราะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ต่างๆ ข้างต้น มิเช่นนั้นนักศึกษาที่จบไปจะไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ เพราะหลักสูตรไม่ได้รับการรับรอง แต่ตอนนี้ก็มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของวิศวกรสอนอยู่ในหลักสูตรที่ภาควิชาฯ นะคะ แต่อาจารย์อาวุโสที่เป็นผู้สอนก็บ่นให้ฟังเสมอค่ะว่านักศึกษาไม่ค่อยสนใจเรียน

ดิฉันคิดว่าอาจต้องใช้วิธีสอดแทรกเรื่องพอเพียง คุณธรรมและจริยธรรมลงในวิชาที่เป็นวิชาการทางวิศวกรรมศาสตร์นี่แหละค่ะ แต่ทั้งนี้จะขึ้นกับความสามารถและความตั้งใจของผู้สอนเป็นอย่างมากค่ะ ทุกวันนี้ในวิชาที่รับผิดชอบอยู่ก็พยายามสอดแทรกเรื่องเหล่านี้เท่าที่ได้ค่ะ

สรุปแล้วคงจะเห็นได้ว่า ยังไม่มีมิติของความพอเพียงในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์เท่าใดนัก อาจเป็นได้ว่า เนื้อหาของวิชาเองเป็นเรื่องการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจากทรัพยากรที่มีจำกัด มองเผินๆ แล้ว คนทั่วๆไป อาจเห็นแต่สร้าง และสร้าง โดยลืมคิดถึงความพอเพียงค่ะ

----------------------------------------

*ระเบียบคณะกรรมการสภาวิศวกร ว่าด้วยเกณฑ์การรับรองหลักสูตรและสถาบันการศึกษา เพื่อเทียบปริญญา  ประกาศนียบัตรและวุฒิบัตรเทียบเท่าในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๔, สภาวิศวกร

 

    P
    • ขอบคุณครับอาจารย์ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
    •  ให้ความรู้ ให้ความคิด ให้เห็นประเด็นของนักศึกษาสายพันธุ์ใหม่
    • ควรต้องหาเจ้าภาพ ศึกษาวิจัย ในมุมที่มองให้ชัดๆดีไหมครับ
    P
     อาจารย์เสนอ เศรษฐกิจพอเพียงภาคใต้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดีไหมครับ?

    สวัสดีค่ะท่านครูบา

                เห็นหัวด้านบนเปลี่ยนไป สวยจังค่ะธรรมชาติดีค่ะชอบรูปที่ยืนชี้หันหลังอยู่ค่ะ  อยากเห็นรูปแบบเห็ดชื่อแปลก ๆ ทุกอันเลยค่ะ บางอันพึ่งเคยได้ยินชื่อ เพราะเห็ดสามารถนำมาประยุกต์ทำอาหารได้เยอะค่ะ  น่าจะมีเมนูพ่อครูบาหัวเห็ด กับเมนูเห็ด ๆ บ้างค่ะ ขอบคุณค่ะ

    P

     ตอนต่อๆไป เห็ดแต่ละชนิดจะค่อยๆเผยโฉม เหมาะกับมังสวิรัติอย่างยิ่ง  เตรียมสูตรอาหารไว้รอได้เลยครับ ในพิ้นที่ตอนนี้กินเห็ดทุกมื้อ พลิกแพลงทำอาหารหลายชนิด

    ส่วนความเปลี่ยนแปลงเรื่องภาพหัวด้านบน ฝ่ายปิดทองหลังพระจะทำให้ดีขึ้นได้ รอดูต่อไป..

    สวัสดีค่ะพ่อครูขา 

    หนิงเพิ่งกลับมาจากพื้นที่ (เม็กดำ)  แต่ได้ข่าวแว่วๆว่าน้องชายตัวดียังไม่ยอมออกจากป่าหรือคะ  พ่อครูบา  ใช้เสน่ห์อะไรหนอ   อิอิ ^__*

    อาจารย์ราณีขา

    ค่าลิขสิทธิ์พี่  ชำระกันที่บ้านพ่อครูบาเลยดีไหมคะ  อิอิ เมนูเห็ดเลยน๊ะ

    P

    เอกเพิ่งกลับไป คงถึงแล้วมั๊ง เขามาช่วยงานเยอะมาก รับทำเรื่องใบวุฒิบัตรผู้เข้าอบรม อยู่กับนักศึกษาโข่งตี2-3ทุกคืน อดทนดีแท้ทำงานอย่างเดียวไม่ค่อยคุยกับใคร

    ไปทำอะไรที่เม็กดำ เพิ่งคุยกับเม็กดำ1ไปตะกี้นี้ บ่นเรื่องโนดวิจัยชุมชนอืดเป็นนกทึดทือทั่วประเทศ ต้นเดือนหน้า ดร.สิน ถึงจะลงมาคุยที่นี่ 

    • ใครไม่ออกจากป่าครับพี่หนิง
    • วันนี้คิดถึงพ่อครูบาทั้งวัน
    • เป็นเพราะทำงานยังไม่ได้ถึงครึ่งของพ่อหรือเปล่าไม่ทราบ
    • พ่อสบายดีไหมครับ
    • หมดชุดแรกไปแล้วนะครับ
    •  ขอบพระคุณค่ะพ่อครูขา  ขอให้รู้ว่าอยู่มหาชีวาลัย  กับพ่อครูบา  หนิงก็ปลื้มสุดๆแล้วหละค่ะ   ว่าแต่ว่าไม่ได้ไปรบกวนพ่อครูบานะคะ
    • หมายถึงน้องเอก my_space ค่ะ  น้องแอ๊ด  อิอิ  พลทหารเอกรินทร์ เขาเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับพี่เลยค๊า...
    • พ่อครูครับ 5-7 เม.ย.นี้ วางโปรแกรมไว้อย่างไรบ้างครับ
    • แม่บ้านให้ถาม จะได้เตรียมเมนูอาหาร ไว้ประชันกับ อาหารใต้
    • เน้นเรื่องกินอย่างเดียว
    • อย่างอื่นแล้วแต่สุภาพบุรุษ
    • องุ่นคุยแต่เรื่อง ที่บ้านพ่อครูอย่างเดียว
    • ฝากความคิดถึงแม่ครูด้วย (องุ่นฝากมาครับ)
    • แต่ผมก็คิดถึงทุกคน เสี่ยวผมเป็นอย่างไรบ้าง(ดร.เห็ด ครับ)
    P

       คุณครูเสือโคร่งครับ

    • จอมยุทธมืออาชีพแบบอาจารย์องุ่น
    • เราไม่ต้องวางแผนหรอกครับ
    • ระดับเซียนหักอะไรมาแกว่งก็เป็นกระบี่
    • จับอะไรโยนใส่หม้อใส่กะทะ ก็อร่อยทั้งนั้น
    • เอาไว้ให้ทุกท่านได้ชิม แล้วจะรู้ความหมายที่ผมพูด
    • เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ อยู่แล้ว จึงมิบังอาจวางแผนให้เซียนขี่รถมอร์เตอร์ไซด์คันโตยังกะตึก บรึมส์ๆๆ
    P
    •  ทางนี้ก็คิดเป็นห่วงหนุ่มสะพานแม่น้ำแควเหมือนกัน
    • บอกมาได้เล๊ย จะไปฉุดวันไหน บ่วง เชือก เตรียมไว้แล้ว เงินประกันตัว นายประกันก็กำหนดตัวไว้แล้ว
    • ถ้าโดนจับ เราก็สารภาพว่า กระผ๊มรักจริงหวังฉุด
    • ผิดกฎหมายข้อไหน มาตรไหน ฮ่าๆๆ..
    P

     สาวน้อย

    • พิมพ์ประเด็นที่จะต้องออกความเห็นในการประชุม ของ ดร.อุษา กลิ่นหอม มาทางบล็อกนี่ให้หน่อย คำถามเป็นข้อความสั้นๆอยู่แล้ว ผมก็ออกความเห็นกลับไป
    • วันประชุมก็บอกว่าทีมเรามีความคิดเห็นแต่ละประเด็นดังนี้ ก็จบ
    • วันนี้ก็มีประชุม ที่ กทม. เบี๊ยวเขาอีกตามเคย เขาถามหาตัวคนประชุมแทน ผมก็ไม่มีญาติสนิทพอที่จะไหว้วานไปประชุมแทนได้ ก็เลยทำเรื่องเว้นวรรคไปเป็นครั้งที่2 แล้ว
    • ตั้งแต่ได้รมต.คนใหม่ ยังบ่เคยไปประชุมร่วมสักกะที สงสัยจะแพ้ทางกันเสียละมั๊ง
    • ต่อๆไป รายการประชุมในส่วน อีสานรอบๆสารคาม อาจจะต้องใช้บริการนี้ตลอดไปเสียละมั๊ง ไหวไหม สาวน้อย.
    P
  • สนใจ เกษตรประณีต ด้วยครับ พ่อครู
  • ระหว่างนี้ ให้ปลูกในใจก่อน มีที่เมื่อไหร่เราค่อยปลูกจริง
    • มาขำๆๆท่านอาจารย์ Panda ครับ
    • ขอบคุณพ่อครูบามากครับ
    • ชุดคนเรียนปริญญาโทนี่คงยากนะครับ
    • ฮ่าๆๆๆ
    แหม  เอะอะก็ฉุด  พูดเพราะๆ เดี๋ยวสาวๆ ก็เดินตามมาเองแหละ น้องขจิต

    มีที่อยู่ 9 ไร่ ทำอะไรดีครับพ่อ

     

    ขออนุญาติยกมือแสดงความคิดเห็นกรณีโต้ตอบของครูบากับท่านวิศวกรครับ ผมมองบางมุมนะครับที่เป็นประสบการณ์ ผมเป็นนักสังคมทำงานกับวิศวกรมามากมาย ที่กอดคอไปด้วยกันได้มีมาก แต่ที่มองหน้ากันไม่ติดก็มีเยอะ ผมเคารพวิชาชีพวิศวกร แต่สำหรับเฉพาะท่านวิศวกรที่ต้องทำงานกับชาวบ้าน เช่นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างถนนชนบท สระน้ำในชนบท ฝายในชนบท และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชนบท อ้อ อีกด้านคือวิศวกรชลประทาน ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างกับการจัดการน้ำ ท่านเอาหลักการด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นตัวตั้งแล้วเอาชาวบ้านเป็นผู้ต้องยอมรับตามเหตุผลทางวิศวกรรม บางอย่างรับได้ แต่จำนวนมาก ที่ผมมีส่วนรับรู้ ชาวบ้านผิดหวังมากๆ เกิดเรื่องเกิดราวก็มาก ผมเคยเสนอให้โรงเรียนผลิตวิศวกรมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับคนในชนบทมากหน่อย เพราะท่านออกไปต้องทำงานกับชาวบ้านแต่ไม่เข้าใจชุมชน ไม่เข้าใจคน วิถีชีวิต วัฒนธรรม ฯลฯ จึงไปก่อสร้างสิ่งที่เป็นปัญหา รบรากันไม่จนสิ้น คุยไปคุยมาก็มาลงที่ระเบียบราชการเป็นอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ แก้ไม่ได้ เออ กรรมของชาวบ้านจริงๆ บางครั้งชาวบ้านบอกว่า อย่างนั้นอย่ามาสร้างซะดีกว่า ผู้รับเหมาก็เกาะตูดวิศวกรไปเลี้ยงกัน หัวเราะกันพุงกระเพื่อม ชาวบ้านซิ ปาดน้ำตา กราบขออภัยสำหรับท่านที่ทำดีอยู่แล้วนะครับ ส่วนน้อยที่ไม่ดี แต่ไม่ควรมี เพราะมันแก้ไขได้ แต่ไม่แก้ มันคุยกันได้ แต่ไม่คุยจะจบอย่างเดียว ผมนึกออกว่าสมัยก่อนที่คนเข้าป่ามากๆเพราะการสะสมความรู้สึกคับแค้นใจนี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ไม่เชื่อไปถามสหายดงหลวงซิครับ เอ้า คนไหนก็ได้
    P

    สร้างป่าสาระพัดชนิดดีกว่าทำอย่างอื่น

    ในโลกนี้จะมีทรัพยากรอะไร ที่มีคุณค่าเท่าป่าไม้เล่า

    P
    นักเลงโบราณขี้ระแวง มักแสดงบทเถื่อนๆยังงี้แหละอาจารย์ สงสัยว่าจะเป็นไม้เด็ด หรือไม้ดับ ก็ไมรู้เน๊อะ ที่จริงให้อาจารย์หว้าดูดวงให้เสียก็สิ้นเรื่อง จากการประเมินอาการจากข่าวสารแวดล้อม งานนี้ดูท่าจะแห..อิๆอิๆ
    P

    ผมก็เจออย่างที่อาจารย์เล่า ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ จัดค่ายวิศวกรเพื่อสังคม ก็ได้เฉพาะส่วนภาคเอกชน วิศวกรของรัฐแก้ไขยากมาก

    ในกรณีของอาจารย์ 

    P

    ท่านก็มีความตั้งใจดี ตัวหลักสูตรขาดส่วนมิติทางสังคมไป อาจจะเสนอสภาวิศวกร       ถ้าอาจารย์หลายๆท่านสนใจจะแก้ไข                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              

    • พ่อก็พูดเกินไป
    • ยังไม่แห้วครับ
    • เอ้าฉุดก็ฉุด

    พ่อครูขา  

    หนิงเอาหัวข้ออภิปรายไว้ ที่นี่ นะคะ  เรียนเชิญกัลยาณมิตรทุกท่านด้วยนะคะ 

    ชี้ทางสว่างแก่ลูกช้างตัวนี้ด้วยเทอญ..

    ครูบาครับ

    ระบบเศรษฐกิจพอเพียงมีทั่วโลก ทุกชนเผ่า มีรูปแบบที่หลากหลายในการจัดการ แต่เป้าหมายเดียวกัน

     

    ระบบนี้ผู้ได้ประโยชน์คือชาวบ้านทั่วไป มีมาก แต่ผู้ไม่ได้ประโยชน์ (นายทุน นักล่าอาณานิคมทุกรูปแบบ) มีไม่มาก แต่ต้องการเปลี่ยนแปลง โดยอ้างความชอบธรรมของการ "พัฒนา" และ "civilization"

    แล้วก็นำไปสู่การล่มสลายของระบบเดิม ทรัพยากรถูกดึงเข้ากระเป๋าของนายทุน รวยล้นฟ้า เท่าไหร่ก็ไมพอ

    และพยามยามชี้นำให้ชาวบ้านที่มีกิเลสดูความรวยของตนเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟที่เขาก่อไว้รอบด้าน ทุกมุมการเดินทาง ไม่มีทางรอดไปไหนได้

    อาจมีไม่เกิน ๑% ที่ลอดไปได้

    เรจึงต้องกลับมาพัฒนาเพื่อคนส่วนใหญ่

    เราอาจต้องสร้างพันธมิตรข้ามพรมแดนครับ

    ผมเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง เพียงคนที่เข้าใจมีน้อยครับ

    เลยหนักหน่อยครับ 

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท