ธาตุธรรม ๓ ฝ่าย (ตอน 1)


ธาตุธรรม ๓ ฝ่าย (ตอน 1) 

 

ประสบการณ์ในการปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย จากบันทึกของพระครูวินัยธร (ชั้ว โอภาโส)*

การที่พระห่มผ้าม้วนขวาม้วนซ้ายนี้ เป็นของลึกลับอยู่ ข้าพเจ้าเที่ยวสืบถามดูนักต่อนักแล้ว ว่าข้างไหนถูก ข้างไหนผิดกันแน่ ไม่มีใครบอกได้เลย กระทั่งเปรียญเก้าประโยค เป็นแต่บอกว่าให้ทำเหมือน ๆ กัน ข้าพเจ้าก็นึกว่า แบบหลับตาคลำทางกันอย่างนี้จะไปได้เรื่องราวอะไรกัน จนเข้าไปเรียนวิปัสสนากับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่จังหวัดธนบุรีอยู่หลายปีกว่าจะรู้เรื่อง ออกมาบ้านนอก แล้วก็เข้าไปในกรุง แต่เข้า ๆ ออก ๆ อยู่อย่างนี้สิบหกปี จึงรู้เรื่องว่าห่มผ้าม้วนขวาม้วนซ้ายเป็นอย่างไร

คือมีพระพุทธเจ้าอยู่สามภาคที่ไม่ถูกกัน เป็นข้าศึกกันจริง ๆ เข้ากันไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะผิดธาตุผิดธรรมกัน พระพุทธเจ้าสามภาคนี้ ขาวภาคหนึ่ง ดำภาคหนึ่ง ไม่ดำไม่ขาวภาคหนึ่ง

ภาคขาวนั้นคือ กุสลาธัมมา พระพุทธเจ้าภาคนี้พระกายขาวใสเหมือนแก้วขาว เกตุแหลมเป็นดอกบัวตูม ให้สุขแก่สัตว์แต่ฝ่ายเดียว ไม่มีให้ทุกข์เลย

อีกภาคหนึ่ง อกุสลาธัมมา พระพุทธเจ้าภาคนี้พระกายดำใสเหมือนแก้วดำ หรือนิล เกตุแหลมเป็นดอกบัวตูม ให้ทุกข์แก่สัตว์ฝ่ายเดียว ไม่มีให้สุขเลยเหมือนกัน

อีกภาคหนึ่ง อัพยากตาธัมมา พระพุทธเจ้าภาคนี้พระกายไม่ขาวไม่ดำ ใสเป็นสีกลาง ใสเหมือนแก้วสีตะกั่วตัด จะว่าขาวก็อมดำ จะว่าดำก็อมขาว เกตุแหลมเป็นดอกบัวตูมเหมือนกัน ให้ไม่สุขไม่ทุกข์แก่สัตว์

ต้น ธาตุต้นธรรม* สำหรับต้นธาตุต้นธรรมของภาคขาวสายของพระสมณโคดม มีฤทธิ์มากกว่าภาคขาว ต้องคอยช่วยภาคขาวอยู่เหมือนกัน ให้สุขแก่สัตว์เหมือนภาคขาว ภาคนี้พระกายสีเหลือง เหมือนแก้วสีเหลือง ห่มผ้าคาดรัดประคด หรือบางทีห่มบังเฉวียง คือห่มจีบพาดบ่าเอาชายข้างหนึ่งขึ้นเหน็บชนบ่าซ้าย

มีพระรัศมีทั้ง หกประการด้วยกันทั้งนั้น พระรัศมีต้นธาตุต้นธรรมกับของภาคขาวนิ่มตานวลตาเหมือนกัน แต่พระรัศมีภาคดำนั้นบาดตาเคืองตา พระรัศมีภาคกลางไม่บาดตาเคืองตา ไม่นิ่มตานวลตา แล้วก็เข้ากันไม่ได้

พระพุทธเจ้าขาว กลาง ดำ สามภาคนี้คอยประมูลฤทธิ์กันอยู่เสมอ แย่งกันปกครองธาตุธรรม ภาคขาวก็คอยจะสอดสุขให้แก่สัตว์โลก ภาคกลางกับภาคดำคอยกีดกันไว้ ภาคดำก็คอยจะสอดทุกข์ให้แก่สัตว์โลก ภาคขาวกับภาคกลางก็คอยกันไว้ ถ้าภาคกลางจะสอดไม่สุขไม่ทุกข์ให้แก่สัตว์โลก ภาคขาวกับภาคดำก็คอยกันไว้เหมือนกัน ไม่ให้ความสะดวกแก่กันได้ ไม่งั้นเสียอำนาจกัน

ภาคขาวเห็นว่าทำดี ให้สุขแก่สัตว์จึงจะถูก, ภาคดำเห็นว่าทำชั่ว ให้ทุกข์แก่สัตว์จึงจะถูก, ภาคกลางเห็นว่าทำไม่ดีไม่ชั่ว ให้ไม่สุขไม่ทุกข์แก่สัตว์จึงจะถูก

ส่วน นี้ เป็นตอนที่พระครูวินัยธร (ชั้ว) ได้กล่าวถึงลักษณะของการครองผ้าจีวรของพระพุทธเจ้า และต้นธาตุต้นธรรมทั้ง ๓ ภาค คือ ทั้งภาคขาว ภาคกลาง และภาคดำ ว่าครองผ้าจีวรต่างกันอย่างไร ตามที่ท่านเห็นด้วยตาพระธรรมกาย และรู้ด้วยญาณของพระธรรมกายของท่าน นอกจากนี้เรื่องการครองผ้าจีวรนี้ยังมีกล่าวไว้ในส่วนอื่น ๆ อีก แต่มิได้นำมาลงพิมพ์ไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้ถึงธรรมกายแล้วตรวจดูให้รู้เห็น ด้วยตนเอง - มงคลบุตร

*ต้นธาตุต้นธรรมนี้มีทั้งสามภาค ซึ่งต่างก็คอยสอดละเอียดช่วยภาคของตัวในการปกครองธาตุธรรมของสัตว์ให้เป็น ไปตามปิฎกของตัว และต่างก็ประมูลฤทธิ์เพื่อแย่งกันปกครองธาตุธรรมอยู่ตลอดเวลา

* เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี) ตามประวัติว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนองค์หนึ่ง ซึ่งปรารถนาพุทธภูมิด้วย ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ธรรมปฏิบัติ ตามแนววิชชาธรรมกาย


แต่ พระพุทธเจ้าท่านก็ยังแย้งกัน แล้วมนุษย์ล้วนแต่มีธาตุธรรมปนเป็นอยู่ทั้งนั้นทำไมจะไม่แย้งกัน เข้ากันไม่ได้เหมือนเชือกสามเกลียวบิดขวาเสียเกลียวหนึ่ง บิดซ้ายเสียเกลียวหนึ่ง ไม่บิดอีกเกลียวหนึ่ง ฟั่นเข้าก็ไม่กินเกลียวกัน เพราะบิดคนละทาง แล้วต่างก็เอาพระไตรปิฎกบังคับกาย วาจา ใจของสัตว์ เอาพระวินัยปิฎกก็วินัยปิฎกด้วยกัน บังคับกายสัตว์ไว้สำหรับทำ, เอาพระสุตตันตปิฎกก็สุตตันตปิฎกด้วยกัน บังคับวาจาสัตว์ไว้สำหรับพูด, เอาพระปรมัตถปิฎกก็ปรมัตถปิฎกด้วยกัน บังคับใจสัตว์ไว้สำหรับคิด แล้วก็คอยแย่งกันสอดญาณเข้าไปในไส้ญาณสุดละเอียดของตัว* บังคับสัตว์เอาตามอำนาจพระไตรปิฎกของตัว ถ้าภาคขาวสอดเข้าไส้ญาณสุดละเอียดของตัวได้ ก็บังคับกาย วาจา ใจของสัตว์ จะทำจะพูดจะคิด ก็ล้วนแต่ดีเป็นบุญเป็นกุศลไปทั้งนั้น, ถ้าภาคดำสอดเข้าไปในไส้ญาณสุดละเอียดของตัวได้ ก็บังคับกาย วาจา ใจของสัตว์ จะทำจะพูดจะคิด ก็ล้วนแต่ชั่วเป็นบาปอกุศลไปทั้งนั้น, ถ้าภาคกลางสอดเข้าไปในไส้ญาณสุดละเอียดของตัวได้ ก็บังคับกาย วาจา ใจของสัตว์ จะทำจะพูดจะคิด ก็เป็นแต่กลาง ๆ ไม่บุญไม่บาปไปทั้งนั้น


สุด แท้แต่ว่าภาคใดเข้าในไส้ญาณสุดละเอียดได้ ภาคอื่นก็เข้าไม่ได้ เปรียบเสมือนตอไม้ที่นั่งได้คนเดียว ถ้าขึ้นนั่งได้เสียคนหนึ่งแล้ว คนอื่นก็ขึ้นไปนั่งไม่ได้ แล้วก็แย่งกันปกครองธาตุธรรมตลอดหมด ทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ ไม่มีที่ว่างดินฟ้าอากาศ ล้วนแต่อยู่ในปกครองของสามภาคนี้เท่านั้น ภาคขาวคอยเปิด ภาคดำคอยปิด ภาคกลางไม่เปิดไม่ปิด


ภาคขาวคอยเปิด เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์ ให้เห็นว่านิพพานมี,

ภาคดำคอยปิด เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์ ให้เห็นว่านิพพานสูญ,

ภาคกลางก็ให้สัตว์เห็นว่านิพพานไม่มีไม่สูญ


หน ทางของภาคขาวล้วนแต่ดีเป็นสุขทั้งนั้น ก็เปิดให้สัตว์เห็นจะได้สร้างแต่ความดี ไปแต่ในทางสุข, หนทางของภาคดำ ล้วนแต่ชั่วเป็นทุกข์ทั้งนั้น ก็ต้องปิด ไม่ให้สัตว์เห็น จะได้สร้างแต่ความชั่ว ไปแต่ในทางทุกข์, ส่วนภาคกลาง ไม่ดี ไม่ชั่ว ก็ไม่ปิดไม่เปิดให้สัตว์เห็น จะได้ทำไม่ดีไม่ชั่ว ไปในทางไม่สุขไม่ทุกข์ ทั้งสามทางนี้ตรงกันข้ามทุกอย่าง จึงลงรอยกันไม่ได้เสียเลย ที่โลกเดือดร้อนอยู่วันนี้ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เพราะฤทธิ์สามภาคนี้แหละ ประมูลฤทธิ์ไม่แพ้กัน แย่งกันปกครองธาตุธรรม ปกครองกันตลอดทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ ไม่ผิดอะไรกันกับมนุษย์แลสัตว์ ที่แย่งเขตแย่งแดนกันปกครอง แต่พระพุทธเจ้าปกครองขั้นละเอียด เทวดา มนุษย์ สัตว์ ปกครองกันแต่ที่หยาบ แต่ก็อยู่ในปกครองของพระพุทธเจ้าทั้งสามภาคนี้ทั้งนั้น

ถ้าประเทศใด บ้านใด เมืองใด หมู่ใด ตำบลใด ภาคขาวปกครองได้มากกว่าภาคอื่น ก็บังคับเห็น จำ คิด รู้ ของมนุษย์และสัตว์ในที่นั้นให้ทำแต่ความดีกันทั้งนั้น เป็นต้นว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ทำผิดกาเม ไม่โกหก ไม่กินเหล้า ทำแต่ความดีกันทั้งนั้น เมตตากรุณาแก่กัน ให้ความสุขแก่กัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้แต่ความสุขสบายแก่กันทั้งนั้น ภาคขาวก็เก็บเหตุที่มนุษย์แลสัตว์ทำดีนั้นไว้แล้วก็ส่งผลลงมาให้ ก็ล้วนแต่ดีทั้งนั้น เป็นต้นว่าให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารก็ให้บริบูรณ์ไม่ฝืดเคือง ผู้คนพลเมืองก็ล้วนแต่สุขสบาย เมื่อตายแล้วก็ส่งผลให้ไปเกิดในสุขสมบัติ เป็นเทวบุตรเทวธิดาอินทร์พรหมบรมจักรพรรดิตรา ถ้าจุติจากนั้นมา ถ้าจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ส่งผลให้เป็นคนบริสุทธิ์ชั้นสูง เช่นนายกรัฐมนตรี เศรษฐี ท้าวพระยามหากษัตริย์ ถ้าเกิดเป็นพ่อค้า ชาวนา ก็เป็นคนที่มีทรัพย์สินสมบัติศฤงคาร บริวาร ล้วนแต่เป็นสุขสบายทั้งนั้น


ถ้า ประเทศใด บ้านใด เมืองใด หมู่ใด ตำบลใด ถูกภาคดำปกครองได้มากกว่าภาคอื่น ก็บังคับเห็น จำ คิด รู้ ของมนุษย์แลสัตว์ในที่นั้นให้ทำแต่ความชั่วทุกอย่างทั้งนั้น เป็นต้นว่าฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดกาเม โกหก กินเหล้า ให้เกลียดชังกัน ให้อิจฉาริษยา เบียดเบียนกัน ฉก ลัก ปล้น สะดม ชกต่อย เตะตี รบราฆ่าฟันกัน ทำแต่ทุกข์ให้กันทั้งนั้น ภาคดำก็เก็บเหตุชั่ว ๆ ที่มนุษย์และสัตว์ทำไว้ แล้วก็ส่งลงมาเป็นผลชั่วทั้งนั้น เป็นต้นว่าให้ฟ้าฝนแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง อดอยาก ลำบาก เจ็บไข้ ล้มตาย เมื่อตายแล้วก็เอาไปลงโทษในนรก ๔๕๖ ขุม ทนทุกข์เวทนาแสนสาหัส ร้องไห้ครวญครางไม่มีขาดเสียงมีแต่ทุกข์ล้วน ๆ พ้นจากนั้นให้เป็นเปรต อดอยากข้าวน้ำอยู่เป็นนิจ แล้วให้มาเป็นอสุรกาย แลให้มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าให้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ให้เป็นคนเลวทรามต่ำช้า ยากจนอนาถาไร้ทรัพย์ อับปัญญา ใจบาปหยาบช้า เอาดีไม่ได้ ล้วนแต่ทุกข์ทั้งนั้น


ถ้า ประเทศใด บ้านใด เมืองใด หมู่ใด ตำบลใด ภาคกลางแย่งเข้าปกครองได้มากกว่าภาคอื่น ก็บังคับเห็น จำ คิด รู้ ของมนุษย์และสัตว์ในที่นั้น ให้ทำแต่กลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ที่ไม่เป็นบุญเป็นบาป ภาคกลางก็เก็บเหตุที่ไม่ดีไม่ชั่ว ที่มนุษย์และสัตว์ทำไว้นั้นแล้วก็ส่งผลลงมาให้เป็นแต่กลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว


แต่ ว่า ท่านผู้ใดได้อ่านหรือได้ฟังหนังสือเรื่องนี้แล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อก่อน เพราะไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อหรอก ข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้ท่านเชื่อข้าพเจ้าเหมือนกัน ให้ท่านเชื่อตัวของท่านเองดีกว่า ท่านต้องทำให้มี ให้เป็น ให้เห็นขึ้นเองแล้ว นั่นแหละจึงค่อยเชื่อ


ถ้า ท่านจะทำให้มี ให้เป็น ให้เห็นนั้น ต้องทำตามสติปัฏฐานทั้งสี่ดังที่ข้าพเจ้าจะบอกต่อไปดังนี้ แต่ว่าอย่าเอาคาถาบาลีมาใส่ด้วยเลย เพราะข้าพเจ้าไม่ได้เรียนพระปริยัติเรื่องอรรถแปลแก้ไขแล้วข้าพเจ้าโง่จริง ๆ ตั้งแต่บวชก็เรียนทำแต่ภาวนาทางวิปัสสนาเท่านั้น อาจารย์ท่านสอนแต่ทางภาวนา จึงไม่รู้ทางพระปริยัติ พูดกันแต่ภาษาไทยล้วน ๆ ดีกว่า ฟังก็ง่ายด้วย


ถ้าผู้ใดจะทำทางวิปัสสนา

ให้ ตั้งกายให้ตรง ทำสติไว้เฉพาะหน้า ไม่ให้เผลอ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย อย่าให้เกยกันมาก แต่พอหัวแม่มือซ้ายกับนิ้วชี้ขวาจรดกัน แล้วหลับตาภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” หลับตาแล้วมันมีกลเม็ดอยู่อย่างหนึ่ง คือเหลือบตาขึ้นข้างบนเหมือนอย่างไปข้างหลัง กลับมองลงไปในกลางตัว ตามหลอดลมหายใจ เพราะมันเป็นรูกลวงลงไปตั้งแต่เพดานจนถึงสะดือ สุดลมหายใจที่อยู่เพียงสะดือตรงนั้น เรียกว่า “ที่สิบ” เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่า “ที่ศูนย์” เป็นที่ตั้งสติ เอาเห็น จำ คิด รู้ ทั้งสี่นี้ลงไปหยุดนิ่งอยู่ที่นั่น เพราะที่ตรงนั้นมีดวงธรรมประจำอยู่ทุกคน ธรรมดวงนี้สำหรับทำให้เกิดเป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงจากไก่ สว่างเหมือนแสงไฟ ให้ลงไปนิ่งนึกอยู่แต่ตรงนั้นอย่าไปทางไหน ดินถล่มฟ้าทลาย คอขาดบาดตายก็อย่าตกใจ ให้นิ่งแน่นอยู่เหนือสะดือสองนิ้วมือนั้นให้ได้ ซ้ายขวาหน้าหลัง ไม่ไป ล่างบน ไม่ไป นิ่งอยู่กึ่งกลางกาย ข้างใน ข้างนอก อย่าออกไป ถ้าออกข้างนอก ถึงธรรมเกิดขึ้น สว่างได้ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนูปกิเลสนี้เป็นของภาคดำ ไม่ใช่ของภาคขาว

เมื่อกายสงบดีแล้ว หรือเกิดตัวเบาขึ้น นั่นเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน, เมื่อเกิดความสุขกายขึ้น เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน, ถ้าเกิดแสงสว่างขึ้นที่เหนือสะดือสองนิ้วมือ จะเล็กหรือจะใหญ่ก็ตาม ประมาณสักเท่าดวงดาวหรือไข่แดงของไก่ เป็นอุคคหนิมิตขึ้นอย่างนั้นแล้ว รักษาไว้ นี่เรียกว่า ปฐมมรรค ถ้าใสอย่างกระจกส่องหน้าอย่างนั้นหละเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าขยายเป็นปฏิภาคออกไปใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ได้ ก็จะเห็นกายในกายผุดขึ้นในกลางดวงนั้นเหมือนอย่างกายมนุษย์เราไม่ผิดเพี้ยน เรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด (ในกลางกายมนุษย์ละเอียด มีกายทิพย์) กายนี้สำหรับไปเกิดมาเกิด กายนี้ถ้าหลุดจากกายมนุษย์หยาบ (กายเนื้อ) เมื่อไร ก็ตายเมื่อนั้น แต่ต้องพูดถึงกายนี้ให้รู้เรื่องกันเสียก่อน เพราะเป็นกายไปเกิดมาเกิด เป็นกายสมุทัย กายนี้เมื่อมาเกิดเข้าครรภ์บิดามารดานั้น สูงถึงแปดศอก มาเข้าครรภ์บิดาก่อน ถ้าจะเป็นหญิงก็เข้าทางช่องจมูกซ้าย ถ้าจะเป็นชายก็เข้าทางช่องจมูกขวา เข้าไปอยู่เหนือศูนย์สะดือสองนิ้วมือของบิดาก่อน แล้วมารดาจึงตั้งครรภ์ขึ้นทีหลัง ตั้งครรภ์ด้วยกันทั้งสองคนจึงรักบุตรด้วยกันทั้งคู่ บิดามารดาร่วมประเวณีกันเข้า ถ้ายังไม่ตกสูญก็ยังไม่เกิด ถ้าตกสูญเมื่อไรก็เกิดเมื่อนั้น


ที่เรียกว่าตกสูญนั้นคือ บิดามารดาทั้งสองสนุกเพลิดเพลินนั้น มันนิ่งแน่น ดึงดูดเหมือนเหล็กตาปูตอก เพลิดเพลินจนตากลับด้วยกันทั้งสองข้าง นั่นแหละมันตกสูญหละ คืออายตนะในมดลูกของมารดา มันดึงดูดเอากายแปดศอกออกจากช่องจมูกของบิดา เข้าไปในช่องจมูกของมารดา เข้าไปติดอยู่ในแอ่งมดลูก แล้วก็น้ำเลี้ยงหัวใจของบิดามารดา ข้างพ่อนิดหนึ่งข้างแม่นิดหนึ่งประสมกันเข้าประมาณเท่าเมล็ดโพธิเมล็ดไทร แล้วกายแปดศอกนั้นก็เข้าไปอยู่ในนั้นได้ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าเข้าไปเดินจงกรมในเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้ กายพระพุทธเจ้าก็ไม่เล็กลงไป เมล็ดพันธุ์ผัดกาดก็ไม่ใหญ่ขึ้น วิธีนั้นทีเดียว หรืออีกนัยหนึ่ง เช่นกระจกวงเดือนเล็กเท่าแว่นตา ส่องภูเขาใหญ่ ๆ เข้าไปอยู่ในนั้นได้ ภูเขาก็ไม่เล็กลงไป กระจกก็ไม่ใหญ่ขึ้น แต่อยู่ในกระจกนั้นได้ วิธีเดียวกับที่เรามาเกิดในครรภ์บิดามารดา เมื่อสายเลือดของบิดามารดาข้นแข็งเป็นก้อนเข้า ก็แตกออกเป็นปัญจสาขา ห้าแห่งเป็นกายมนุษย์ขึ้น เป็นศีรษะ เป็นมือทั้งสอง เท้าทั้งสอง กายสัมภเวสีที่มาเกิดนั้นก็เล็งลงเท่ากายมนุษย์ ตาตรงกัน หูตรงกัน จมูก ปาก แขนขา ตรงกันหมด เชื่อมติดเป็นกายเดียวกันกับกายมนุษย์ (กายเนื้อ) แล้วก็เจริญใหญ่ขึ้นมาจนคลอดออกจากครรภ์มารดา อย่างนี้เรียกว่ากายมาเกิด


วิธี ไปเกิดเมื่อเวลาใกล้จะตายนั้น ธาตุธรรมก็ดึงดูดเอากายมนุษย์กับกายมนุษย์ละเอียด (ซึ่งมีกายทิพย์ซ้อนอยู่) ให้หลุดจากกัน คนไข้กายมนุษย์ก็บิดตัว สะดุ้ง หรือสยิ้วหน้า พอกายหลุดจากกัน กายทิพย์ก็ตกสูญอยู่ที่เหนือสะดือสองนิ้วมือของกายมนุษย์เท่าไข่แดงของไก่ แล้วเกิดขึ้นเป็นกายสูงแปดศอกเดินออกทางช่องจมูกเที่ยวหาที่เกิดต่อไป ทิ้งกายมนุษย์ไว้ให้เน่าไป ถ้าผู้ใดเข้าถึงธรรมกายแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจน ผู้ที่ไม่รู้เรื่องก็เดาเอาว่าวิญญาณไปเกิด วิญญาณอย่างเดียวไปเกิดไม่ได้ ต้องไปเกิดทั้งกายจึงจะได้ เพราะกายเราทุกกายที่ซ้อนกันอยู่นั้น กายหนึ่ง ๆ ต้องมีหัวใจสำหรับจำ ในหัวใจต้องมีดวงจิตเท่าดวงตาดำ ลอยอยู่ในน้ำเลี้ยงหัวใจสำหรับคิด วิญญาณซ้อนอยู่ในดวงจิตเท่าแววตาดำหรือหัวไม้ขีดไฟ สำหรับรู้ เหมือนกันหมดทุกอาย เมื่อรู้เรื่องกายซ้อนกันแล้ว ก็ฟังง่ายเข้า เมื่อรู้เรื่องกายทิพย์นี้แล้วก็จะได้ดำเนินต่อไป

กายในกายนับ ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบหรือกายเนื้อ ก็มีกายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์หยาบ, กายทิพย์ละเอียด ซึ่งเป็นกายที่สี่นับจากกายมนุษย์ ถึงกายนี้แล้วก็จะสามารถทำกัมมัฏฐานได้ ๓๐ ที่ตั้ง ตั้งแต่กสิณ ๑๐, อสุภะ ๑๐, และอนุสสติ ๑๐ ตาของกายนี้ (นับแต่ตาของกายมนุษย์ละเอียดเป็นต้นไป) เป็นทิพยจักษุ* สามารถเห็นสวรรค์ นรก เปรต อสุรกาย แล้วเอากายทิพย์นี้แหละไปนรก สวรรค์ เปรต อสุรกาย ได้ทุกแห่ง ไปพูดจาปราศรัยกันกับพวกเหล่านั้นได้ ถามถึงบุรพกรรมทุกข์สุขกันได้ทั้งนั้น แต่ว่ายังไม่เห็นพรหมโลกเพราะละเอียดกว่าสวรรค์มาก ดวงธรรมในกายทิพย์นี้เรียกว่า ทุติยมรรค พอขยายออกเป็นปฏิภาคใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็จะเห็นกายที่ ๕ ขึ้นอีก ผุดขึ้นที่กลางดวงทุติยมรรค เรียกว่ากายรูปพรหมหยาบ และในกลางกายรูปพรหมหยาบก็มีกายรูปพรหมละเอียด เป็นกายที่ ๖ กายนี้สวยงามประดับประดาอาภรณ์ยิ่งกว่าเทวดา (กายทิพย์) กายนี้ทำกัมมัฏฐานได้ ๔ ที่ตั้ง คือรูปฌาน ๔ ดวงตาของกายนี้เป็นปัญญาจักษุ สามารถเห็นพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้น แล้วเอากายนี้ไปพรหมโลกทั้ง ๑๖ ชั้นได้ ไปไต่ถามทุกข์สุขกับรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นได้ แต่ว่ายังไม่เห็นอรูปพรหม ๔ ชั้น เพราะละเอียดกว่ารูปพรหมมาก

ต้องเอาเห็น จำ คิด รู้ เข้าไปหยุดนิ่งอยู่เหนือสะดือสองนิ้วมือในกลางกายรูปพรหมที่ ๖ นี้อีก ดวงธรรมในกายนี้เรียกว่า ตติยมรรค พอขยายเป็นปฏิภาคใหญ่ออกไปเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ก็จะเห็นกายอรูปพรหมหยาบ ในกลางกายอรูปพรหมหยาบก็จะเห็นกายอรูปพรหมละเอียดเป็นกายที่ ๘ กายรูปพรหมนี้สวยงามยิ่งขึ้นไปอีก กายนี้ทำกัมมัฏฐานได้ ๖ ที่ตั้ง คือ อรูปฌาน ๔ และ อาหาเรปฏิกูลสัญญา กับจตุธาตุววัตถานะ รวมเป็น ๔๐ กัมมัฏฐานด้วยกัน ดวงตาของกายนี้เป็นสมันตจักษุ สามารถเห็นอรูปพรหม ๔ ชั้น แล้วเอากายนี้ไปอรูปพรหม ๔ ชั้นได้ ไปไต่ถามทุกข์สุขกันได้ แต่ยังไม่เห็นนิพพาน

ต้องเข้าไปนิ่งอยู่เหนือศูนย์สะดือสองนิ้วมือ ในกลางกายอรูปพรหมละเอียดซึ่งเป็นกายที่ ๘ นี้อีก ดวงธรรมในกายนี้เรียกว่า จตุตถมรรค พอขยายเป็นปฏิภาคใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ก็จะเห็นกายอีกกายหนึ่งเป็นกายที่ ๙ กายนี้เรียกว่า “ธรรมกาย” เหมือนพระพุทธรูป เกตุแหลมเหมือนดอกบัวตูม สวยงาม ใสเหมือนแก้ว ดวงตาของกายนี้เรียกว่า พุทธจักษุ เห็นนิพพาน แล้วเอากายนี้แหละไปนิพพานได้ พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนก็เห็นหมด ทั้งขาว กลาง ดำ ไปพบปะเห็นทั้งนั้น เรื่องห่มผ้าม้วนขวา ม้วนซ้ายจะไปรู้เรื่องได้หมด ถ้าท่านผู้ใดทำได้ถึงพระธรรมกายนี้แล้วจึงค่อยเชื่อ หรือจะไม่เชื่อก็ตามใจท่านเถอะ เพราะคนเรามีอยู่สามพวก ขาวพวกหนึ่ง ดำพวกหนึ่ง กลางพวกหนึ่ง ถ้าพวกขาวก็เชื่อ ถ้าพวกดำก็ไม่เชื่อ ถ้าพวกกลางก็เฉย ๆ ถ้าอยากจะรู้ว่าเป็นพวกขาว กลาง หรือดำ ก็สังเกตดูเอา ถ้าซื่อตรง นักปราชญ์ ฉลาดใจบุญ ก็ให้รู้ว่าเป็นเครื่องหมายของภาคขาว, ถ้าคดโกง เก่งกาจ ฉลาดใจพาล ก็ให้รู้ว่าเป็นเครื่องหมายของภาคดำ, ถ้าไม่ตรง ไม่โกง นั่นก็เป็นเครื่องหมายของภาคกลาง


ธรรมกาย นี้ก็มีหยาบละเอียดกว่ากันเข้าไปตามลำดับ กายธรรมกายแรกซึ่งเป็นกายที่ ๙ นั้นเรียกว่า ธรรมกายโคตรภูหยาบ ในธรรมกายโคตรภูหยาบก็มีธรรมกายโคตรภูละเอียด, ในกายโคตรภูละเอียดก็มีกายพระโสดาปัตติมรรค ในกายพระโสดาปัตติมรรคก็มีกายพระโสดาปัตติผล, ในกายพระโสดาปัตติผลก็มีกายพระสกิทาคามิมรรค ในกายพระสกิทาคามิมรรคก็มีกายพระสกิทาคามิผล, ในกายพระสกิทาคามิผลก็มีกายพระอนาคามิมรรค ในกายพระอนาคามิมรรคก็มีกายพระอนาคามิผล, ในกายพระอนาคามิผลก็มีกายพระอรหัตมรรค ในกายพระอรหัตมรรคก็มีกายพระอรหัตผล เป็น ๑๘ กายด้วยกัน

กายตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียดหมดทั้ง ๘ กายนี้เป็นกาย ปัญจขันธ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เราเขา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แต่กายทั้ง ๑๐ นับตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไปจนถึงธรรมกายพระโสดา ธรรมกายพระสกิทาคา ธรรมกายพระอนาคา ธรรมกายพระอรหัต ทั้งหยาบทั้งละเอียด นี้เป็นกายธรรมขันธ์ เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา, นิจจังเป็นของเที่ยง สุขังเป็นสุข อัตตาเป็นตัวของเรา เป็นกายของเราแท้ไม่ยักเยื้องแปรผัน กายปัญจขันธ์เป็นกายโลกีย์ กายธรรมขันธ์เป็นกายโลกุตตระ กายปัญจขันธ์สำหรับทำภูมิสมถะ คือ กัมมัฏฐาน ๔๐ กายโลกุตตระสำหรับทำภูมิวิปัสสนาไม่มีที่สิ้นสุด

สมถกัมมัฏฐาน ๔๐


แต่ นี้ต่อไปจะกล่าวถึงกัมมัฏฐาน ๔๐ ก่อน ซึ่งจะใช้แต่เฉพาะกายโลกีย์ทั้ง ๘ คือ กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ถ้าจะทำกัมมัฏฐาน ๔๐ ต้องสับกายซ้อนกายเสียก่อนจึงจะทำได้คล่องแคล่ว คือให้ถอยกลับออกมาจากกายที่ ๘ ออกมากายที่ ๗, แล้วก็ออกมากายที่ ๖, แล้วก็ออกมากายที่ ๕ ....แล้วก็ออกมากายที่ ๑, แล้วกลับเข้ากายที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ....ถึงกายที่ ๘, แล้วก็กลับออกมาจากกายที่ ๘ ....ออกมากายที่ ๑ ให้ฝึกสับกายซ้อนกายอย่างนี้สัก ๗ เที่ยว หรือให้มากกว่า ๗ เที่ยวก็ได้ ให้เป็นวสี และก็ให้กายมันใสนั่นเอง ให้ใสเป็นแก้วทุกกาย


เมื่อกาย ใสดีแล้ว ให้เข้าตั้งกสิณในดวงทุติยมรรคของกายทิพย์ พอดวงทุติยมรรคใสและใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นึกบริกรรมว่าปฐวีกสิณัง ดินก็เกิดขึ้นในดวงนั้นเป็นปฐวีกสิณ ใสเหมือนแก้ว, พอจิตละเอียดนิ่งแน่นเลยดินลงไป น้ำก็ผุดขึ้นเป็นอาโปกสิณในกลางดวงดินนั้น ดินก็เพิกหายไป เมื่อจิตละเอียดเลยน้ำลงไป ลมก็ผุดขึ้นเป็นวาโยกสิณในกลางดวงอาโปกสิณนั้น อาโปกสิณก็เพิกหายไป, ผุดขึ้นแล้วก็เพิกหายไปเป็นลำดับ คือ ที่ ๔ ก็เตโชกสิณ, ที่ ๕ ก็นิลกสิณ (สีเขียว), ที่ ๖ ปิตกสิณ (สีเหลือง), ที่ ๗ โลหิตกสิณ (สีแดง), ที่ ๘ โอทาตกสิณ (สีขาว), ที่ ๙ อาโลกกสิณ (แสงสว่าง), ที่ ๑๐ อากาสกสิณ (ว่างเปล่า), พอจิตละเอียดเลยกสิณลงไปหนักเข้า กสิณก็เพิกหายไป ทีนี้อสุภะ ๑๐ ก็เกิดขึ้น

มีต่อ >>

-------------------------------------------



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท