ตลาดความรู้อยู่ในพื้นที่


ประสบการณ์หาได้ไม่ยากส์....ถ้าเรารู้จักหา...และมีเพื่อน

     เมื่อวันที่ 14  มีนาคม  2550  ดิฉัน และคณะ  ได้ไปร่วมจัดกระบวนการ "  เพื่อ  ชี้แจงและทำความเข้าใจ" กับทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก และกลุ่มเกษตรกร และ "เพื่อทำงานวิจัยชุมชน" ในเนื้อหาของวิสาหกิจชุมชน  ซึ่งก่อนจะไปเราก็ได้มีการมอบหมายและแบ่งสรรงานของแต่ละคนที่จะทำในทีมงาน  

     ในภาคเช้า  เมื่อไปถึงก็ได้มีการแนะนำทีมงาน และเจ้าของพื้นที่ก็ได้ทักทายและต้อนรับกัน  หลังจากนั้นเราก็ได้เริ่มกระบวนการโดยหัวหน้าทีมเล่าถึง 1)  เป้าหมายของการมาครั้งนี้ นั้น...เพื่อมาชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยชุมชนของวิสาหกิจชุมชนกับจังหวัด  2)  เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูลระหว่างกัน  และ  3)  เพื่อทำความรู้จักกับทีมงานวิจัย ของจังหวัด/พื้นที่  ส่วนการทำงานที่เกิดขึ้นนั้นเราจะใช้  วิจัยชุมชน หรือ PAR”  และ ใช้ การจัดการความรู้ หรือ KM”  มาเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกัน  หลังจากนั้นก็ได้นำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยชุมชนเรื่อง Food Safety ของปีงบประมาณ 2549  แล้วก็เปิดเวทีปรึกษารือร่วมกันว่า เห็นเป็นอย่างไรบ้าง?  แล้วก็ให้จังหวัดนำเสนอข้อมูลและสถานการณ์ของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งได้ทำการซักถามและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ร่วมกัน  หลังจากนั้นก็เปิดเวทีให้อำเภอ "ช่วยเล่าข้อมูลของกลุ่มที่จะไปในช่วงบ่ายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?"  เช่น  กลุ่มเขาทำอะไรบ้าง?  มีสมาชิกกี่คน มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และกลุ่มเขาต้องการพัฒนาหรืออยากทำอะไรต่อไป?  ซึ่งมีการซักถาม  โต้ตอบ และอภิปรายร่วมกัน   ซึ่งดิฉันก็ทำหน้าที่ฟังเขาคุยกันและฟังเขาเล่ากัน แล้วก็จับประเด็นมาเขียนและสะท้อนข้อมูลทั้งหมดกลับสู่บุคคลเป้าหมายเพื่อให้เติมเต็ม               

     ส่วนในภาคบ่าย  เราก็ได้ชวนกันลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจิกสูง  ตำบลปากพลี  จังหวัดนครนายก  เพื่อไปหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์กลุ่มเป็นอย่างไร? ตอนนี้กลุ่มทำกิจกรรมอะไรบ้าง?  ขายสินค้าที่ไหน?  ปัญหาอุปสรรคที่กลุ่มพบ และทางออกที่กลุ่มทำมีอะไรบ้าง?  โดยใช้เครื่องมือ  ได้แก่  Mind Map  ปฏิทินรายรับ/รายจ่าย  ปฏิทินกิจกรรม  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และวิถีการตลาด  เป็นต้น  ส่วนการสรุปข้อมูลเราได้ใช้ตารางและวิถีการตลาด  สิ่งที่เราพบก็คือ  1)  เจ้าหน้าที่มีความเป็นห่วง ว่า เกษตรกรจะทำไม่ได้และเขียนไม่เป็น...จึงเขียนให้เองดีกว่า ...และเข้าไปอยู่ในกลุ่มด้วย  2)  เกษตรกรติดเจ้าหน้าที่  ก็จะเรียกหา...ให้เจ้าหน้าที่เขียนให้  และ 3)  การซักถามเกษตรกรขณะทำงานกลุ่มนั้น เจ้าหน้าที่จะซักถามตลอดเวลาจนเกษตรกรไม่คอยได้สนทนากันเอง แต่จะหันมาตอบคำถามของเจ้าหน้าที่แทน  ดังนั้นหลังจากเสร็จงานเราก็ได้มาพูดคุยกันเรื่องนี้ว่า  1)  เชื่อเถอะว่า.....เกษตรกรเขาเขียนเป็นและเขียนได้  2)  ถ้าเราทำใจไม่ได้ที่จะประกบเกษตรกรในกลุ่มเพราะเป็นห่วงก็ให้....เดินหนีไปไกล ๆ เสีย และ 3)  เราจะต้อง...รู้จักและใช้เครื่องมือ...ในการชวนชาวบ้านคุยและเก็บข้อมูลเป็น แล้วจะทำให้เราจัดกระบวนการได้ไม่เหนื่อย เพราะศูนย์กลางจะอยู่ที่เกษตรกรทันที  ฉะนั้น สิ่งนี้คือ งานที่เราจะมาทำร่วมกันภายใต้ การวิจัยชุมชน ในเนื้อหาวิสาหกิจชุมชน               

     ซึ่งดิฉันก็เห็นว่า...เป็นสิ่งที่ดีที่เราได้เห็นและได้สัมผัสกับการทำจริงของเจ้าหน้าที่ในขณะทำกระบวนการกลุ่ม ซึ่งทำให้เราสามารถให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ในการทำงานกับชุมชนได้โดยการ ทำให้ดู  แต่ตอนนี้ดิฉันเริ่มจะประสบปัญหาแล้วว่า.....เมื่อเราทำอะไรได้? เราก็จะต้องเป็นผู้ทำสิ่งนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ เช่น  การจับประเด็น  การสรุป  เป็นต้น  ฉะนั้นจึงได้พูดกับทีมงานว่า  แค่พี่ ๆ กล้าออกมาหน้าชั้นหรือหน้าห้อง....หนูก็ดีใจแล้ว  และ เมื่อพี่ ๆ จับปากกาเคมีเขียน...พี่ก็จะผ่านประสบการณ์ขั้นที่ 1 แล้วค่ะ....ส่วนจะใช่หรือไม่ใช่  จะถูกหรือไม่ถูก  จะทำเป็นหรือไม่เป็นนั้น  ก็อยู่ที่การฝึกฝนตนเอง  และเมื่อผ่านครั้งที่ 1 เราก็จะกล้าทำงานดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะมีประสบการณ์มาบ้าง               

     แต่งานชิ้นนี้ ของจังหวัดนครนายกยังไม่เสร็จและครั้งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นกับการทำงานที่เหลือกับการพัฒนาทีมงานร่วมกันกับเกษตรกร  แต่เป็นการเริ่มต้นที่มีบรรยากาศที่ดีต่อกัน  และได้ค้นพบว่า  มีคนที่มีประสบการณ์เรื่องการวิจัยชุมชน (PAR) มาแล้วด้วย  เราจึงได้พี่เลี้ยงเพิ่มขึ้นมาอีกค่ะ. 

คำสำคัญ (Tags): #par
หมายเลขบันทึก: 85691เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท