“สานเสวนา” รูปแบบที่สร้างสรรค์ของการรับฟังความคิดเห็น


สานเสวนา จึงเป็นกระบวนการสื่อความหมายและเรียนรู้ เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น เป็นการสานความหมายที่เกิดจากการฟังอย่างลึกซึ้ง

เดือนมีนาคม 2550 กรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ประจำจังหวัดชุมพร เปิดเวที สานเสวนา ทั้งหมด 11 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่

วัน-เดือน-ปี

สถานที่

1

7 มีนาคม 2550

ศาลาประชาคม อ.หลังสวน

2

10 มีนาคม 2550

ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชุมพร เขต 1

เป็นการรับฟังความคิดเห็นสำหรับคณะนักศึกษา หลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรามคำแหง

3

13 มีนาคม 2550

ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนสวีวิทยา อ.สวี

4

13 มีนาคม 2550

สวนสาธารณะ อาภากรอ.เมือง

5

14 มีนาคม 2550

หอประชุม โรงเรียนพะโต๊ะวิทยา อ.พะโต๊ะ

6

15 มีนาคม 2550

ศาลาประชาคม อ.ทุ่งตะโก

7

20 มีนาคม 2550

แก่งเพการีสอร์ท อ.ท่าแซะ

8

21 มีนาคม 2550

ศาลาประชาคม อ.ละแม

9

21 มีนาคม 2550

ศาลาประชาคม อ.ปะทิว

10

21 มีนาคม 2550

โรงเรียนชุมชนมาบอำมฤต อ.ปะทิว

11

30 มีนาคม 2550

โรงแรมชุมพรการ์เดนส์ อ.เมือง

 

ผมได้เดินทางไปทำหน้าที่ วิทยากรกระบวนการ ในเวที สานเสวนา เกือบครบทุกเวที ขาดไปเพียง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกวันที่ 7 มีนาคม 2550 เนื่องจากติดภารกิจที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครทำหน้าที่แทนได้ เพราะต้องทำหน้าที่สรรหาว่าที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดชุมพร และครั้งที่ 9 เพราะต้องเดินสายไปช่วยที่ อ.ละแม ซึ่งจัดในวันและเวลาเดียวกัน

 

 

 

ความคิดเห็นที่ได้รับจากเวทีต่าง ๆ มีคุณภาพดีเป็นที่น่าพอใจ และสิ่งที่ผมรู้สึกดีเป็นพิเศษก็คือ พฤติกรรมของชาวชุมพรที่เข้าร่วมในทุกเวที แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราเข้าใจในรูปแบบและกระบวนการ สานเสวนา ที่นำมาใช้ในครั้งนี้

เพื่อเป็นการต่อยอดให้มีการนำไปใช้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ผมจึงขอประมวลสาระสำคัญของ สานเสวนา ดังนี้

(1) สานเสวนา คืออะไร ?

สานเสวนา หมายถึง กระบวนการกลุ่มในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาศัยบุคคลที่สามารถทำหน้าที่ วิทยากรกระบวนการ ช่วยให้เกิดการพูดคุยสนทนากันระหว่างกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความตึงเครียดทางอารมณ์เป็นส่วนประกอบใหญ่ โดยมุ่งเน้นที่จะลดอคติอันเกิดจากผลของความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เข้าร่วมกระบวนการ

กระบวนการ สานเสวนา เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิด, ความเชื่อ, จุดยืนต่างกัน มีโอกาสพบปะพูดคุยแสดงความรู้สึก ฟังเงื่อนไขปัจจัยของกันและกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น โดยที่สองฝ่ายยังมีจุดยืนที่ต่างกันได้ แต่การฟังเพื่อเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันนั้นต้องมองข้าม กรอบอ้างอิงของตนออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจสถานการณ์ของเพื่อนที่เชื่อต่างไปจากตน กระทั่งอาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง ไปเป็นความเข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น

สานเสวนา จึงเป็นกระบวนการสื่อความหมายและเรียนรู้ เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น เป็นการสานความหมายที่เกิดจากการฟังอย่างลึกซึ้ง

  • ฟังอะไร ?

- ฟังตัวเอง
- ฟังผู้อื่น
- ฟังความเงียบ
- ฟังผลของการฟังตนเองและผู้อื่น

  • ฟังเพื่ออะไร ?

- เพื่อหาความหมายด้วยกัน
- เพื่อการมีส่วนร่วม
- เพื่อให้เกิดการยึดเหนี่ยวที่แท้จริง

(2) สานเสวนาทำได้ 3 ระดับ

- ระดับคำสอน
- ระดับประสบการณ์
- ระดับชีวิตที่ร่วมกันแก้ปัญหา

เนื่องจาก สานเสวนา ทำได้หลายระดับ ทุกคนจึงสามารถร่วม สานเสวนา ได้ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ นักการศาสนา นักจัดรายการวิทยุ ฯลฯ

(3) กติกาเบื้องต้นของการสานเสวนา

-ไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่ใช่การ สานเสวนา เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ชอบ หรือมีเป้าหมายแอบแฝง

-ปฏิสัมพันธ์กันอย่างมนุษย์ ปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เราต้องการให้เขาปฏิบัติต่อเรา

- เท่าเทียม ทั้งสองฝ่ายต่าง ให้และรับ หลีกเลี่ยงการครอบงำความคิด ระวังความรู้สึกว่า ฉันเหนือกว่าเตือนตนเองเสมอว่า ไม่มีใครด้อยกว่าหรือเหนือกว่า ในกระบวนการ สานเสวนา มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

-จุดยืนชัดเจน บอกจุดยืนตำแหน่งของตนให้ชัดเจน กล้าที่จะเปิดหู เปิดใจฟังความเห็นที่แตกต่าง

-ไม่ด่วนสรุปและตัดสินผู้อื่น ระวังที่จะไม่ใช้ความเชื่อของเรา วัฒนธรรมของเรา ชาติพันธุ์ของเราไปตัดสินว่าคนอื่น ผิดควรกรองอคติด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง

-ใจกว้าง รับฟังความคิด ความเชื่อที่แตกต่างในบรรยากาศที่เคารพและเข้าใจ วง สานเสวนา ที่มีคุณธรรมจะสร้างสรรค์บรรยากาศที่ปลอดโปร่ง ทำให้ผู้ร่วม สานเสวนา กล้าวิพากษ์วิจารณ์ความคิด ความเชื่อของตนเองและกลุ่มได้

-ซื่อสัตย์และจริงใจ ทั้งต่อตัวเองและต่อผู้ร่วม สานเสวนา หลีกเลี่ยงการยอมรับแบบ ขอไปที

-ไว้วางใจผู้อื่น ผู้อื่นก็มีเหตุผลที่ดีและสามารถหาทางออกที่ดีได้เช่นกัน

-ไม่ปะปนหลักการกับการปฏิบัติ เมื่อผู้อื่นพูดหรือถามเรื่องหลักการ ก็พูดหรือตอบเรื่องหลักการ เมื่อผู้อื่นพูดหรือถามเรื่องการปฏิบัติก็พูดหรือตอบเรื่องการปฏิบัติ

-สานเสวนาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของทุกปัญหา สานเสวนา เป็นกระบวนการซึ่งต้องใช้เวลาอันเป็นทางเลือกสู่การจัดการปัญหาร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม โดยอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวที สานเสวนา ที่ผ่านมา อ่านแล้วคงจะนึกภาพตามและเข้าใจ ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับท่านที่ไม่เคยเข้าร่วมมาก่อน ครั้งต่อไปอย่าพลาดโอกาสเข้าร่วมนะครับ.

 


<p> </p>

คำสำคัญ (Tags): #สานเสวนา
หมายเลขบันทึก: 85519เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ คุณไอศูรย์
  • ทีมงานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญที่ชุมพรเข้มแข็งดีนะคะ

 

งานที่ออกมาเข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระเพราะผู้ทำมีความมานะ เสีสละ ทุ่มเท แรงการ แรงใจ และกำลังสมอง  ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือ คุณไอศูรย์คะ ดีใจที่มีต้นแบบดีดีๆอย่างท่านนะคะ

                                                     สาวคะ

แวะมาเยี่ยมเยียนเหมือนกันค่ะ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสานเสวนาที่สวนสาธารณะอาภากรค่ะ น่าสนใจดีค่ะ

อยากจะแสดงความคิดเห็นผ่านทางนี้เหมือนกันแต่ช่วงนี้ยุ่งมากค่ะ  งานของตัวเองยังไม่ไปถึงไหนๆ เลย จึงขอแค่ผ่านมาทักทายก่อนนะคะ ถ้าเจอกัน คงได้พูดคุย ขอความรู้บ้างนะคะ

รักษาสุขภาพนะคะ

 ฐะปะนีย์ (ผึ้ง) นปร.รุ่น2

ขอขอบคุณ อ.ลูกหว้า, น้องสาว แสงนภา และหนูผึ้ง ที่แวะเข้ามาทักทายครับ 

     ผศ.ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา หัวหน้าโครงการสานเสวนา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กรุณาเขียน E-Mail ถึงผม เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2550 หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ มีเนื้อความว่า

  • "...ดิฉันได้พบบทความ "สร้างสังคมฐานความรู้ด้วย IT"บน http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/85519 ได้ทราบว่าคุณไอศูรย์ ได้นำกระบวนการสานเสวนาไปเผยแพร่ต่อ โดยได้นำ "สานเสวนา" ไปใช้ในการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 11 ครั้ง ดิฉันขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่คุณไอศูรย์ได้ช่วยเผยแพร่กระบวนการนี้ค่ะ ถ้ามีบทเรียนแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ที่ได้ในการจัดสานเสวนา ช่วยกรุณาแบ่งปันเพื่อการปรับปรุงกระบวนการให้ดียิ่งขึ้นไป
  • ไม่ทราบว่าคุณไอศูรย์ได้พบ "สานเสวนา" จากสิ่งพิมพ์ใดหรือได้เข้าร่วมการสานเสวนา ที่ดิฉันได้จัดในนามศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลในงานอบรมครั้งใดค่ะ ดีใจที่ได้มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นค่ะ..."
ขอบพระคุณมากครับท่านอาจารย์ ผมขอตอบคำถามสั้น ๆ ดังนี้
  1. หลังจากที่ผมได้รับโจทย์จากเพื่อน สสร. ว่าจะใช้กระบวนการ "สานเสวนา" ในการรับฟังความคิดเห็นรัฐธรรมนูญ ผมก็เริ่มค้นหาที่มา-ที่ไป และรูปแบบของกระบวนการนี้ ที่ได้พบเป็นหลักก็คือ "สานเสวนา" จากเว็บไซต์ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และ "ประชาเสวนา" จากเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งการติดตามอ่านแนวทางที่ใกล้เคียงกันจากงานเขียนอื่น ๆ ที่ได้พบในอินเตอร์เน็ทและหนังสือ รวมทั้งบางส่วนที่ได้ฝึกปฏิบัติจากการประชุมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้เชิญ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ มาเป็นวิทยากรกระบวนการ
  2. ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่ผมนำมาประยุกต์ใช้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในแต่ละขั้นตอนมีทั้งความสำเร็จ และข้อบกพร่อง ถ้ามีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ผมยินดีไปร่วมในเวทีครับ

   ขอบพระคุณครับ

ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์ 

นพ.วันชัย ออกมาห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงเป็นหลัก หมายความว่า ห้ามรัฐบาลจับกุมพันธมิตร ไม่ว่าพันธมิตรกำลังทำผิดกฏหมายรุนแรงอยู่อย่างไร เพื่อประกันความปลอดภัยให้พันธมิตรขับไล่ใครก็ได้ด่าทอมูลนิธินายหลวงได้ทุกคน รัฐจะต้องยอมทุกเรื่องไป เพราะปัญหารุนแรงคือปัญหาคนที่ทำผิดกฏหมาย จะใช้ถนนรับเสด็จพระราชดำเนิน ก็ต้องขออนุญาตพันธมิตรก่อน แถมไม่อนุญาติอีก พันธมิตรต้องเป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดในแผ่นดินนี้ ถ้าหากไม่ให้ใช้ความรุนแรง ใครมาเป็นรัฐบาลจะต้องถูกพวกพันธมิตรสั่งให้ทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่ได้จะยึดสถานที่สำคัญแล้วห้ามจับกุม เพราะจับกุมเมื่อไรถือว่าใช้ความรุนแรง ใช่หรือไม่

สวัสดีครับพี่ไอศูรย์ ผมน้องเสือครับ ผมคีย์คำ "สานเสวนา" ลง google เลยพบบทความของพี่ เลยได้รู้ว่าพี่ทำกิจกรรมด้านนี้ด้วย

ผมอยู่ทางสามจังหวัด ได้ยินคำว่าสานเสวนาบ่อยมาก แต่ด้วยภาระมากมายจึงไม่เคยได้สนใจว่ามันคืออะไรกันแน่ ทั้งๆที่รู้สึกว่าเป็นคำที่สวยดี

อีกสองวันผมจะต้องจัดอบอมรมสันติวธีให้กับทาง กศน.ปัตตานี หลักสูตรมีเนื้อหาหลายอย่าง แต่ผมได้รับผิดชอบในส่วนของการสานเสวนา เลยต้องรีบหาข้อมูลเพื่อทำความรู้จักกับสิ่งนี้

จึงได้พบอย่างน่าประหลาดใจว่า "สานเสวนา" ก็คือ Dialogue นั่นเอง ซึ่งการจัดอบรมเรื่องใดอะล็อคนั้นเป็นสิ่งที่ผมทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว และในทุกหลักสูตรของผมที่เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร เรื่องการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ผมจะออกแบบหลักสูตรให้มีนเอหาของไดอะล็อคด้วยเสมอ

เพียงแต่ผมไม่เคยใช้คำว่าสานเสวนา ทั้งๆที่ผมเป็นนักเขียนเป็นนักเลงภาษา และพยายามหาทางแปลคำ Dialogue เป็นคำไทยที่สวยๆตลอดมาแต่ก็ไม่เคยได้คำที่เป็นที่พอใจ ใช้ "สนทนาธรรม" บ้าง "สันติสนทนาบ้าง" แต่ส่วนใหญ่ผมจะใช้คำว่าไดอะล็อคโดยตรง

การออกแบบหลักสูตรไดอะล็อคของผมนั้นอาศัยพื้นฐานการเข้าอบรวมกับ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เมื่อปี 2545 หลังจากนั้นก็ศึกษาโดยตรงจากหนังสือของเดวิด โบห์ม ผมคิดมาตลอดว่าไดอะล็อคเป็นสิ่งดีมากสำหรับการสร้างสันติในสังคม น่าที่จะมีการเผยแพร่กันมากๆ หารู้ไม่ว่าเขาแพร่หลายกันพอสมควรแล้วในนามของ "สานเสวนา" คนที่คิดคำนี้ช่างคิดได้เก่งจริงๆ

ก็เล่าสู่กันฟังครับ ด้วยความนับถือ

เสือ/ปัตตานี

  • ขอบคุณ "เสือ" มากครับที่เข้ามาเล่าสู่กันฟัง
  • ผมได้รับสาระดี ๆ แง่คิด มุมมอง จากการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มของพวกเราโดยการนำของท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

      คิดถึง "เสือ" และ "น้องแก้ม" ครับ

                ไอศูรย์ (พี่ต้าน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท