ระบบบล็อก GotoKnow.org เพื่อการจัดการความรู้


ระบบบล็อก GotoKnow.org เพื่อการจัดการความรู้
ประสบการณ์ของผู้พัฒนาและดูแลระบบ
โดย ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์   ([email protected], [email protected])
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
16 กันยายน 2548
GotoKnow.org
หนึ่งในเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการความรู้ที่เน้นการบันทึกเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จและเน้นการจัดการเรื่องเล่าเหล่านี้ตามกระบวนการจัดการความรู้ คือ ระบบคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งที่ทำงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรียกระบบนี้ว่า “บล็อก (Blog) หรือ เว็บบล็อก (Weblog)” ในการนี้ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้สนับสนุนให้ทีมงานนักวิจัยชาวไทยโดย ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาระบบบล็อกดังกล่าวขึ้น โดยให้ชื่อระบบว่า GotoKnow.org
GotoKnow.org เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการระบบบล็อกเพื่อการจัดการความรู้สำหรับปัจเจกบุคคล (Individual) และชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) ของประเทศไทย และมีบทบาทในการเป็นขุมความรู้รวมของไทย อีกทั้งยังเป็นที่รวมของผู้เชี่ยวชาญชาวไทยในด้านต่างๆ ที่มารวมตัวกันเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ลงในระบบบล็อก สมดังชื่ออย่างเป็นทางการของ GotoKnow.org คือ “The Gateway of Thailand Online Knowledge Management
จนถึงปัจจุบัน (16 กันยายน 2548) GotoKnow.org เปิดให้บริการมาแล้วประมาณสามเดือน (เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2548) ปัจจุบัน GotoKnow.org มีบล็อกทั้งสิ้น 800 บล็อก มีชุมชนบล็อกอยู่ 150 ชุมชน และมีบันทึกรวมทั้งหมด 3,500 บันทึก ผู้เขียนโดยส่วนใหญ่เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการโดย สคส. และได้รับการอบรมการใช้งาน GotoKnow.org เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก (Blog-to-Blog KM) อันต่อเนื่องจากการจัดการความรู้แบบพบปะกันในที่ประชุมปฏิบัติการแต่ละแห่ง (Face-to-Face KM)
บล็อก: เทคโนโลยีเพื่อการจัดการความรู้
สคส. ได้สนับสนุนการพัฒนาระบบบล็อกขึ้นเพื่อใช้เป็นเทคโนโลยีเพื่อการจัดการความรู้เชิงฝังลึก (Knowledge Management Solution) ความสามารถขั้นพื้นฐานของบล็อกในเชิงส่วนบุคคลคือ เป็นเสมือนสมุดบันทึกหรือไดอารี่ของแต่ละบุคคลที่เน้นการ “ให้” ทานที่เป็นความรู้แก่บุคคลอื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ต (ดังแสดงในError! Reference source not found.) โดยเน้นการบันทึกเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ หรือ ไฟล์ข้อมูลต่างๆ ที่ใช้บรรจงแสดงความคิด ความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคการทำงาน อันนำมาซึ่งผลงานแห่งความสำเร็จต่างๆ ทีละเล็กละน้อย โดยนำเสนอหนึ่งหรือสองประเด็นต่อบันทึก และเขียนโดยสม่ำเสมอตั้งแต่วันละบันทึกจนถึงสัปดาห์ละบันทึก สะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนที่ทีมงานพบว่าจะสามารถสร้างจำนวนผู้อ่านประจำได้ดีกว่าการเขียนบันทึกอย่างไม่มีความสม่ำเสมอไม่ว่าบันทึกที่เขียนจะสั้นหรือยาวก็ตาม
นอกจากนี้ การเขียนบล็อกยังเป็นการเปิดเผยตัวเองออกสู่สาธารณชนให้เป็นที่รู้จักได้อย่างสวยงาม ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในแง่นี้ คือความต้องการเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม (Reputation) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดการจัดการความรู้ ดังคำกล่าวของ ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส. ในวงสนทนากับทีมงานครั้งหนึ่งที่ว่า “คนเราทุกคนต้องการเป็นใครสักคน (ที่เป็นที่ยอมรับ)”
ยิ่งด้วยความสามารถของระบบบล็อกใน GotoKnow.org ที่แสดงจำนวนผู้คนที่เข้ามาอ่านบันทึกและจำนวนข้อคิดเห็นในแต่ละบันทึก  ทำให้ผู้เขียนบล็อกยิ่งมีความท้าทายและมีความสนุกในการเขียนบันทึกอันเป็นเสมือนแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ที่ทำให้ผู้เขียนจะพยายามเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ที่มีคุณภาพบ่อยยิ่งขึ้น และการเขียนบ่อยๆ ย่อมเป็นการฝึกคิด ฝึกประมวลความรู้ ฝึกต่อยอดความคิดของตนเองได้ดีทีเดียว หรือเรียกได้ว่า เป็นหนทางของการจัดความรู้ส่วนบุคคล (Personal Knowledge Management) นั่นเอง
ชุมชนบล็อก
                การจัดการความรู้ไม่ว่าในบริบทใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มต้นด้วยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ในองค์กรที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน มีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นระยะ มีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน มีความพร้อมที่จะ “ให้” และพร้อมที่จะ “รับ” อย่างจริงใจ และมีความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่ม เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice หรือ CoP)
การจัดการความรู้ในชุมชนนักปฏิบัติจะสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนและรวดเร็วคงต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าอำนวยในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ความสามารถที่เด่นชัดของระบบบล็อก GotoKnow.org ในแง่ชุมชนคือ การสร้างและบริหาร “ชุมชนบล็อก” เมื่อผู้เขียนบล็อกต้องการค้นหาผู้ชำนาญการ หรือผู้ที่มีแนวคิด ความสนใจ ความถนัดร่วมกัน ก็จะสร้างชุมชนบล็อกขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง และเมื่อผู้เขียนบล็อกต่างๆ เข้ามีร่วมชุมชนแล้ว การรวบรวมบันทึกความรู้ในด้านหนึ่งๆ จากผู้เขียนหลากหลายคนก็จะเกิดขึ้น ทีมงานพบว่านอกจากที่ชุมชนบล็อกจะเป็นการช่วยสร้างคลังความรู้เฉพาะด้านให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยที่จำนวนบันทึกในชุมชนบล็อกจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติตามจำนวนบันทึกที่สมาชิกเขียนขึ้นในบล็อกของตนเองแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในความเป็นจริงแล้ว คนแต่ละคนย่อมที่จะมีความสนใจหรือความถนัดในหลากหลายด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในชุมชนหนึ่งๆ ย่อมที่จะมีชุมชนย่อยๆ แฝงอยู่นั่นเอง ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานประเด็นนี้ ผู้เขียนบล็อกใน GotoKnow.org สามารถที่จะเป็นสมาชิกของชุมชนบล็อกได้มากกว่าหนึ่งชุมชน (Multi-CoP)โดยทุกครั้งที่ผู้เขียนบล็อกมีการบันทึกความรู้เกิดขึ้น บันทึกจะถูกคัดลอกไปสู่คลังความรู้ของชุมชนบล็อกต่างๆ ที่ผู้เขียนบล็อกเป็นสมาชิกอยู่ได้โดยอัตโนมัติ อันจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ได้หลายต่อจากบล็อกอันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การประยุกต์เอาความสามารถของระบบ GotoKnow.org ในด้านชุมชนบล็อกไปใช้ นอกเหนือจากการสร้างคลังความรู้ของชุมชนแนวปฏิบัติแล้วนั้น ปัจจุบัน ชุมชนบล็อกยังถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์ของการสร้างคลังความรู้และแหล่งปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งๆ โดยไม่ได้เน้นถึงคุณสมบัติของชุมชนแนวปฏิบัติ เช่น การนำเอาชุมชนบล็อกไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในจัดการความรู้ในทีมทำงาน (Teamwork) ของแต่ละองค์กรหรือระหว่างองค์กร หรือ การนำเอาชุมชนบล็อกไปใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายนอกชั้นเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือระดับบัณฑิตศึกษา เป็นต้น
ชุมชนในลักษณะนี้มีความแตกต่างในเชิงปัจเจกบุคคล (Individual Differences) มากกว่าชุมชนแนวปฏิบัติ อย่างน้อยก็ในเรื่องความแตกต่างด้านความถนัดเชิงอาชีพ ความสนใจ และอาจรวมถึงทัศนคติอีกด้วย เรียกได้ว่า คนที่มาเข้าเป็นสมาชิกของชุมชนในลักษณะนี้อาจไม่ได้มาด้วย “ใจ” ดังนั้น การดูแลรักษาชุมชนบล็อกให้คงอยู่นานหรือกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างทั่วถึงทั้งกลุ่มอาจจะทำได้ยากกว่าชุมชนแนวปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้บริหารชุมชนบล็อกลักษณะนี้มักจะเจอและพยายามหาหนทางแก้ไข
ทีมงานพบว่าการทำให้สมาชิกชุมชนร่วมมือและเต็มใจ (Commitment) ที่จะร่วมถ่ายทอดความรู้ผ่านทางบล็อกอย่างสม่ำเสมออันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม คงทำไม่ได้ด้วยความสามารถใดๆ ของระบบเทคโนโลยี หากแต่เป็นเรื่องของหลักจิตวิทยาในการบริหารองค์กรหรือชุมชน อันต้องเริ่มต้นที่ผู้นำที่แสดงความตั้งใจในการเขียนบันทึกความรู้ลงบล็อกอย่างแท้จริงและสม่ำเสมอเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สมาชิกชุมชนท่านอื่นๆ และนอกจากนี้ องค์กรหรือชุมชนนั้นๆ จะต้องสื่อสารสู่ผู้เขียนบล็อกในชุมชนให้เห็นถึงนโยบายการจัดการความรู้และสิ่งตอบแทนที่ชัดเจนอันจะได้รับจากการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันเกิดจากการปฏิบัติลงสู่บล็อก
บทสรุป
คลังความรู้ใน GotoKnow.org จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการ “ให้” ประสบการณ์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจากประชาชนคนไทยของทุกหน่วยงานและทุกชุมชน และการพัฒนาระบบบล็อกเพื่อการจัดการความรู้ภายใต้การสนับสนุนของ สคส. นี้ จะดำเนินต่อเนื่องไปด้วยความมุ่งมั่นและท้าทาย อันจะนำมาซึ่งความสามารถใหม่ๆ ของตัวระบบ อาทิเช่น การจัดทำแผนที่ความรู้แบบอัตโนมัติ การเสนอแนะคำหลักของบันทึกความรู้แบบอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อตอบรับความต้องการด้านการใช้งานให้ได้ผลเป็นอย่างดีสำหรับกระบวนการจัดการความรู้ขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 8518เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2005 05:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สนใจเรื่อง PKM อยู่เหมือนกันครับ

มีท่านใดมีความสนใจด้านนี้ใหมหนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท