ความรุนแรง:อาวุธมีชีวิต (ฉบับถอดการบรรยายดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์)


ความขัดแย้ง (Conflict) เป็นเรื่องปกติ หรือ อาจจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ นั่นหมายความว่า มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความแตกต่าง ทำให้เรามีการรับรู้ (Perception) ที่แตกต่างกัน แม้ว่ามนุษย์เราเติบโตไปพร้อมกับการเดินเข้าสู่ระบบบางอย่างที่พยามยามทำให้คนเหมือนกัน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนเราจะคิดแตกต่างกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาบรรยากาศให้แก่นักศึกษา คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในหัวข้อ “ความรุนแรง: อาวุธมีชีวิต” โดยการบรรยายแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก แนวคิดเกี่ยวความขัดแย้งกับความรุนแรง และประเด็นที่สองเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงฆ่ากัน
ความขัดแย้งกับความรุนแรง
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ความขัดแย้ง (Conflict) เป็นเรื่องปกติ หรือ อาจจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ นั่นหมายความว่า มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความแตกต่าง ทำให้เรามีการรับรู้ (Perception) ที่แตกต่างกัน แม้ว่ามนุษย์เราเติบโตไปพร้อมกับการเดินเข้าสู่ระบบบางอย่างที่พยามยามทำให้คนเหมือนกัน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนเราจะคิดแตกต่างกัน เช่น คนในครอบครัวเดียวกันก็คิดต่างกัน คนในสถาบันเดียวกันก็ยังคิดไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งเรากับเพื่อนสนิทเราก็คิดแตกต่างกัน เราอาจสรุปได้ว่ามนุษย์เราอยู่กับความขัดแย้งอยู่แล้ว
ความขัดแย้งนี้เป็นคนละตัวกับความรุนแรง (violence) โดยความรุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ว่าความขัดแย้งจะเป็นสาเหตุของความรุนแรงเสมอไป การที่ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงนั้น มีสาเหตุ 2 ประการ คือ
1. Perception: การรับรู้ของมนุษย์ ซึ่งการรับรู้ที่แตกต่างกันของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากตัวของมันเอง อธิบายเพื่อให้เข้าใจ เช่น การที่คนเห็นดอกไม้ในแจกัน บางคนอาจจะมองว่าจัดไม่สวย บางคนอาจจะมองว่าจัดสวย บางคนอาจจะมองว่าไม่น่าเอาดอกไม้มาไว้ในแจกัน ควรให้มันอยู่ในธรรมชาติจะดีกว่า นี่เป็นการรับรู้ที่แตกต่างกันของมนุษย์ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับคนที่มอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวดอกไม้ในแจกัน เพาะความจริงก็คือมันก็เป็นดอกไม้ในแจกันอยู่นั่นเอง (ผู้เขียน)
2. Structure of Expectation: โครงสร้างของความคาดหวัง หมายถึง อำนาจหลักและอำนาจรองอื่นๆ มีการต่อสู้หรือปะทะกันอยู่ แต่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง เพราะความคาดหวังของแต่ละอำนาจ ที่มีต่ออีกอำนาจอื่นนั้น ต่างตอบสนองความคาดหวังซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป อำนาจก็เปลี่ยนไปด้วย และที่สำคัญความคาดหวังก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
การเปลี่ยนของโครงสร้างของความคาดหวังนี้ อาจนำไปสู่ความรุนแรง เพราะความคาดหวังของแต่ละอำนาจอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกันได้ ในที่สุดก็นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “ฟางเส้นสุดท้าย” (Trigger) ซึ่งคนมักจะคิดหรือสนใจว่าฟางเส้นสุดท้ายนี้เป็นสาเหตุของความรุนแรง แต่ความเป็นจริงแล้ว กว่าที่จะมาถึงฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดความรุนแรงนั้น สาเหตุของความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
เราอาจกล่าวได้ว่า ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความรุนแรงไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายสาเหตุเดียว เช่น กรณีการขับเครื่องบินโดยสารชนตึกเวิร์ลเทรด ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งความรุนแรงนี้เป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่ความจริงแล้วมันเห็นผลหรือมีสาเหตุมาจากสิ่งอื่นมากมาย เช่น อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสหรัฐอเมริกากับโลกตะวันออกกลาง บทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไป และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศต่างๆ มากขึ้น  เป็นต้น จนสุดท้ายมันนำไปสู่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดความรุนแรง นั่นคือ การขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรด

 การฝึกนักฆ่า
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงคำถามที่ว่าทำไมมนุษย์ถึงลงมือฆ่ากันได้ ซึ่งนักวิชาการสหรัฐอเมริกามีการศึกษาในประวัติศาสตร์สงคราม พบว่า ประวัติศาสตร์การฆ่าศัตรูเพียงเล็กน้อยนั้น ต้องใช้กระสุนปืนจำนวนมาก มีทหารเพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่ยิงกระสุนใส่ศัตรู นอกจากนั้นยิงกระสุนไปที่อื่น แม้ว่าบางคนจะเล็งกระสุนปืนใส่ศัตรูในสงคราม แต่หลังจากสงคราม ชีวิตของทหารเหล่านั้น กลับใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่าการฆ่าคนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะทำได้
การที่จะให้มนุษย์จับอาวุธมาประหัตประหารกัน จึงจำเป็นต้องมีการฝึก ซึ่งผลการวิจัย พบว่า ในการฝึกนักฆ่านั้น มีหลักสำคัญในการฝึกนักฆ่า คือ
1. Selection: การเลือกนักฆ่า หมายความว่า การเลือกคนที่จะมาฝึกเป็นนักฆ่านั้นต้องเลือกคนที่มีแนวโน้นการใช้ความรุนแรง (Passive Aggressive) ชินชากับความรุนแรง และต้องกระทำตามคำสั่ง
2. De-sensitization: การฝึกนักฆ่านั้นต้องตัดความรู้สึกออกไปจากภารกิจการฆ่า ซึ่งเชื่อว่าหากอยู่กับความรุนแรงนานๆ แล้วจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร
3. De-humanization: การทำให้นักฆ่าเห็นเหยื่อว่าไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะการนำเรื่องชาติพันธุ์มาเผยแพร่ให้นักฆ่าได้รู้ได้เห็นว่าชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ เช่น กรณีสงครามเวียดนาม นักมานุษยวิทยามาเผยแพร่เรื่องราวของคนเวียดนาม โดยนำภาพการกินสุนัขของชาวเวียดนาม ว่าพวกนี้กินสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของชาวอเมริกา ดังนั้นพวกกินสุนัขนี้ไม่ใช่มนุษย์ หรือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่สื่อมวลชนออกข่าวว่าพบเศษสุนัขภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบอกว่าพวกนี้ไม่ใช่คนไทย เป็นพวกญวน ดังนั้นจึงฆ่าได้ไม่บาป เป็นต้น (กรณีสุดท้ายเป็นการอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน)
 เงื่อนไขที่ทำให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากัน
 เงื่อนไขที่ทำให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากัน มี 3 ประการ คือ 1. มีคนสั่ง โดยคนที่สั่งนั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจ และการฆ่านั้นถูกทำให้มีความชอบธรรม
2. เงื่อนไขส่วนตัว ซึ่งนักฆ่าอาจมีประสบการณ์เรื่องการฆ่า และการใช้ความรุนแรงมาก่อน และมีความรู้สึกสนุกไปกับการฆ่าด้วย
3. เหยื่อและเป้าหมาย โดยนักฆ่าจะได้รับข้อมูลของเหยื่อที่ถูกสร้างขึ้นให้รู้สึกเหยื่อไม่ใช่มนุษย์ หรือ เป็นพวกที่ฆ่าได้ มีการสร้างระยะห่างทางอารมณ์ (Emotional Distance) ระหว่างนักฆ่ากับเหยื่อ เช่น รู้สึกว่าเหยื่อไม่ใช่พวกเรา การสร้างช่องว่างทางวัฒนธรรมระหว่างนักฆ่ากับเหยื่อ การที่นักฆ่าได้ประโยชน์บางอย่างกับเหยื่อ เช่น การตัดหูเหยื่อมาสะสม
นอกจากนั้นจากแนวคิดเรื่อง Structure of Expectation ที่กล่าวว่าเวลาเปลี่ยน อำนาจเปลี่ยน และความคาดหวังก็เปลี่ยน ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากเรื่องส่วนตัว (Private Self) เป็นเรื่องสาธารณะ (Public self) ที่คนนอกสามารถเข้าไปยุ่งได้
 ทำไมคนจึงไม่ฆ่ากัน
 ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ง่ายที่คนเราจะใช้ความรุนแรงต่อกัน เพราะมีกำแพงป้องกันอยู่ แต่ถ้าคนเราจะใช้ความรุนแรงต่อกัน ก็เพราะกำแพงเหล่านี้ถูกยกออกไป ซึ่งจากการศึกษาเหตุการณ์สงครามที่เคยเกิดขึ้นในอดีตพบว่า มีทหารที่สนุกกับการยิงเพียงร้อยละ 2 มีร้อยละ 15-20 ที่ใส่ศัตรู นอกจากนั้นยิงปืนไปยังเป้าหมายอื่น และยังพบอีกว่า ทหารที่ไม่ยิงใส่ศัตรู กลับเป็นคนที่ช่วยคนเจ็บที่เป็นศัตรู
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางอาวุธนี้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ได้สร้างระยะห่างระหว่างนักฆ่ากับเหยื่อมากขึ้น มันเป็นระยะห่างทั้งทางกายภาพ (Physical Distance) และระยะห่างทางความรู้สึก (Emotional Distance) คือ การฆ่ากันไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้าหรือเห็นหน้าเหยื่อเหมือนในอดีต เพียงกดปุ่มๆ เดียวก็สามารถยิงกระสุนหรือระเบิดไปสังหารเหยื่อได้ เช่น กรณีสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 สงครามโค่นซัดดัม ฮุสเซ็น ครั้งล่าสุด ต่างก็ใช้อาวุธที่ทันสมัยมาสังหารศัตรู (Anomie) มันทำให้เกิดการสังหารกันขนานใหญ่
ส่วนการจะนำนักฆ่ากลับเข้าสู่สังคมนั้น จะต้องทำการฟื้นฟู โดยให้นักฆ่ารู้สึกว่าเหยื่อเองก็รู้สึกเจ็บปวดเช่นเดียวกับเรา
หมายเหตุ:
การสรุปการบรรยายอาจจะเกิดข้อผิดพลาด หากผิดพลาดผู้สรุปขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับผู้บรรยาย และขอความกรุณาท่านผู้อ่านเติมเต็มความรู้ให้สมบูรณ์ด้วยครับ
หมายเลขบันทึก: 85175เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2007 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาอ่านครับ...แต่น้อยใจนิดหน่อยวันนั้นไม่ยอมชวนสักคำ
  • รออ่านงานดี ๆ ของอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ภีรกาญจน์

อาจารย์สรุปดีจังเลยค่ะ อ่านเข้าใจ มีตัวอย่างขยายความให้ด้วย  ขออนุญาตยกไปให้นักศึกษาอ่านด้วยนะคะ 

ดิฉันชอบวิธีอธิบายความจริงแบบนี้จังค่ะ  โดยทั่วไปเรามักมองเห็นเพียงปรากฏการณ์แบบรูปธรรม (คือเห็นตัวเป็นๆ ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร) แล้วก็คิดด้วยภาษาแสดงอารมณ์และความรู้สึกตามพจนานุกรม  หรือตามภาษาถิ่นของเรา

แต่ท่านผู้รู้ท่านสามารถบูรณาการศาสตร์  วิเคราะห์แยกแยะ และสังเคราะห์เชื่อมโยง  ด้วยภาษาวิชาการแบบอธิบายความ   จนทำให้เราได้ "มอง/รับรู้/เข้าใจ" ความจริงชุดนั้น ในมุมมองที่แตกต่าง และละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น   

การบูรณาการศาสตร์เช่นนี้  คงส่งผลไปถึงการเลือกใช้ภาษาในการอธิบายด้วย  ดิฉันชอบคำกล่าว(ของท่านใดไม่ทราบ)ที่ว่า  

 "คนเราจะรู้และคิดได้ เท่ากับภาษาและสัญลักษณ์ที่เรามี"   

.......ฟังแล้วได้อารมณ์ดีอ่ะค่ะ  :)

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านครับ ความจริงวันนั้นอาจารย์ชัยวัฒน์ ท่านบรรยายสนุกมากครับ และเข้าใจง่ายด้วย และเสียดายที่เก็บสาระมาไม่หมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท