สร้างคนรุ่นใหม่ ด้วยพิพิธภัณฑ์


พิพิธภัณฑ์คือความรู้นอกห้องเรียนที่มีพลัง

สร้างคนรุ่นใหม่...................ด้วยพิพิธภัณฑ์ความรู้ 



ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมาราว40 ปี จะว่าดีขึ้นก็มีส่วนถูกในเรื่องของวัตถุ เรื่องการเมืองการปกครองและเรื่องเศรษฐกิจที่พัฒนาเป็นระบบมากขึ้น แต่จะว่าแย่ลงก็ไม่ผิดโดยเฉพาะเรื่องคุณธรรมและคุณภาพของคนในสังคม นับวันจะมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ

คนสมัยนี้จิตใจเสื่อมลงมากโดยเฉพาะคุณธรรม ขาดการมองอนาคตเพราะไม่สนใจจะหาความรู้ใส่ตัว คนส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว จะมีชีวิตอยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ชีวิตไม่ได้มีเพียงสังคมไทยเท่านั้น แต่รอบตัวเราเป็นสังคมใหญ่กว่าที่ไม่มีพรมแดนคือโลกทั้งใบนี้ เป้าหมายชีวิตที่เคยมองใกล้ตัวจึงต้องมองให้เป็นสากลมากขึ้น โดยยังรักษาเอกลักษณ์และสิ่งดีงามของเราไว้อย่างสมดุลย์

การมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันจำเป็นที่คนจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่มีความรู้และเข้าใจความเป็นไปของโลกทั้งใบ เข้าใจภาพรวมของเกมการเมืองและเศรษฐกิจการค้าที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ นอกจากนี้ต้องเข้าใจสภาพและสถานะของประเทศไทยว่าอยู่ตรงไหนและจะไปทางไหนและท้ายที่สุดคนไทยในฐานะตัวเล่นหนึ่งของประเทศจะต้องทำอย่างไรจึงจะเสริมประเทศชาติในเวทีโลกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างคนรุ่นใหม่นี้แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐและต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหลักแต่มิใช่การศึกษาในรูปแบบเดิม ต้องเป็นการศึกษาแบบใหม่ที่มุ่งผลการรับรู้และเรียนรู้ของคนเป็นหลักมากกว่าจะเน้นหลักสูตรตายตัวอยู่ในกรอบ

พิพิธภัณฑ์ความรู้-ห้องเรียนแบบใหม่ขนาดใหญ่ของสังคม
---------------------------------------------------
การศึกษาในระบบที่เหมาะสมจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปและควรพัฒนาการศึกษานอกกรอบหรือนอกระบบด้วยเพื่อให้ช่วยเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่อยากจะเสนอก็คือ รัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพมากขึ้นเพื่อแข่งขันในยุคโลกภิวัฒน์ได้ มาตรการหนึ่งที่จะขอยกขึ้นมาในที่นี้คือความรู้

รัฐบาลจะต้องให้การอุดหนุนในเรื่องของความรู้ โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์ความรู้ให้กับประชาชน ประชาชนนี้หมายถึงคนทุกระดับตั้งแต่รากหญ้า รากแก้วหรือรากใหญ่ เหตุที่ต้องเน้นทุกระดับเพราะส่วนใหญ่การสร้างพิพิธภัณฑ์จะมุ่งเน้นสนองคนที่มีความรู้ระดับหนึ่งในสังคม

การให้ความรู้แก่ประชาชนนี้ เป้าหมายก็เพื่อให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเล่นหรือตัวจักรกลหนึ่งในกลไกการเมือง เศรษฐกิจการค้าของประเทศและของโลกได้
การที่ประชาชนมีความรู้ เข้าใจถึงสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง จะทำให้สามารถปรับตัวและเข้าร่วมในการแข่งขันได้

การเรียนในระบบปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถตอบสนองการพัฒนาศักยภาพของคนในสังคมได้เพราะเป็นการเรียนที่มุ่งเรียนเพื่อจำและแข่งขันกันสอบเอาคะแนนสูงๆ โดยที่แทบจะไม่มีประสบการณ์ในโลกสมัยใหม่เลย

การเสนอให้มีพิพิธภัณฑ์แบบใหม่นี้ ที่ไม่ใช่เพียงสถานที่แสดงศิลปะหรือวัตถุโบราณของชาติเท่านั้น แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการ เทคโนโลยี กระแสความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมสมัยใหม่ ภูมิปัญญาสมัยใหม่ตลอดจนระบบการค้าเสรีที่กำลังเป็นกระแสการค้าหลักในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ด้วย

ทำอย่างไรเราจึงจะมีพิพิธภัณฑ์ที่...............เมื่อให้คนดูที่เป็นชาวบ้านระดับตาสีตาสาเดินเข้าไปทางประตูทางเข้าอย่างไม่ค่อยรู้อะไรนัก เมื่อออกมาทางประตูทางออก.......กลายเป็นคนที่เข้าใจสิ่งที่เป็นไปในโลกปัจจุบันได้ดีขึ้น

เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้โลกมันเปี๋ยนไปแล้ว ความเป็นประเทศ ความเป็นเขตแดนมันไม่มีแล้วแต่ได้กลายเป็นสังคมที่กว้างใหญ่อันเดียว ในทางเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าไม่ว่าเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือสภาพท้องถิ่นของตนเท่านั้นอีกแล้วแต่ขึ้นอยู่กับสภาพความต้องการของโลกทั้งใบด้วย และแค่การเป็นผู้ผลิตที่รู้เรื่องการผลิตอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ต้องรู้เรื่องการค้า การตลาดเบื้องต้นรวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการค้าเช่นการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปกป้องสินค้าของตนด้วย

พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้จะเป็นที่จะนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแสดงเป็นรูปธรรม แผ่กระจายให้เป็นความรู้ที่นำมาใช้ได้กับคนในประเทศ รวมทั้งแนะวิธีการที่จะปกป้องภูมิปัญญาเหล่านี้ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยด้วย
ตาสีตาสาที่เข้าไปดูพิพิธภัณฑ์นี้จะได้พอเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องรีบขึ้นรถไฟขบวนที่ชื่อว่าการค้าเสรีไปกับคนอื่นด้วยและในที่สุดเข้าใจว่าเราจะต้องเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่อย่างไรจึงจะร่วมกันต่อสู้กับภาครัฐหาผลประโยชน์จากสภาพการณ์ของโลก ภายในระยะเวลาอันสั้นที่ไม่ค่อยมีเหลือให้นี้

ผมอยากเห็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความรู้ที่เป็นรูปธรรมแบบนี้เกิดขึ้น มากกว่าการสร้างอะไรอย่างอื่นที่สนับสนุนให้คนยึดติดกับการบริโภคทางวัตถุมากขึ้น
ถ้าจะยึดติดควรยึดติดกับการไขว่คว้าหาความรู้ใส่ตัวให้มาก เช่นตัวอย่างชาวเวียดนามรุ่นใหม่ในยุคนี้จะดีกว่า ก็ไม่ใช่เพราะสิ่งนี้หรือที่ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ปลูกข้าวและส่งข้าวออกเป็นจำนวนมากแทบจะไล่ทันประเทศไทยอยู่แล้ว แถมยังจะมีเวียดนามหอมมะลิออกมาแข่งกับไทยอีกในอนาคต

ความรู้ที่รัฐจะสนับสนุนแก่ประชาชนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์นั้นจะต้องฟรี เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ก่อให้เกิดการพัฒนาสมองทั้งสองซีกและถือเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์หรือบังคับก็ได้ ผมถือว่านี่เป็นการเรียนนอกห้องเรียนที่จำเป็นยิ่งสำหรับสังคมไทย

มีใครเคยคิดไหมว่า การจะทำให้คนในชนบทเข้าใจเรื่องการระหว่างประเทศ หรือการค้าโลกอาจจะต้องเขียนบทในเรื่องนี้ขึ้นมาสำหรับเอาไปคณะลิเกเอาไปเล่นลิเกให้ชาวบ้านดูก็อาจจะได้ผลมากกว่าการแจกเอกสารประชาสัมพันธ์หรือสัมมนาในระดับปัญญาชนเพียงอย่างเดียว

ผมเคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่าหากพิพิธภัณฑ์ลุฟท์หรือพระราชวังแวร์ซายของฝรั่งเศลสามารถดึงให้คนทั่วโลกไปท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนแล้วเกิดความนิยมชมชอบศิลปะ อาหารและสินค้าฝรั่งเศส ทำไมจะมีพิพิธภัณฑ์ไทยที่ทำให้คนไทยและคนต่างชาตมาชมกันทั่วประเทศและปลุกกระแสความนิยมไทย นิยมสินค้าไทย กระตุ้นความรักไทยให้พลุ่งพล่านออกมาบ้างไม่ได้เชียวหรือ

ลองดูตัวเลขจำนวนพิพิธภัณฑ์ในสวิตเซอร์แลนดฺกันบ้าง ประชากร 7 ล้านกว่าคน มีพิพิธภัณฑ์ 900 แห่ง โดยเฉลี่ย คนสวิสทุกคนตั้งแต่อายุ 6 ขวบขึ้นไปจะไปพิพิธภัณฑ์ปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย เรียกได้ว่านอกจากห้องเรียนในโรงเรียนแล้ว เด็กสวิสและคนสวิสมีห้องเรียนสาธารณะอีกตั้ง 900 ห้องให้หาความรู้กันได้ตลอดเวลา.......

ผมเชื่อว่าหากเราคิดจะส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาสมอง เพื่อให้มีความรู้ที่เหมาะสมแล้ว ไทยเราทำได้แน่ เพราะเรามีคนเก่งอยู่ไม่น้อย การให้ความรู้แบบพิพิธภัณฑ์นี้ ถือ เป็นการลงทุนระยะยาวที่ยั่งยืนและควรทำให้มากและในโอกาสแรกเพื่อที่จะได้ลดความเสียเปรียบที่เกิดขึ้น รีบทำเถิดครับ

ด้วยความปรารถนาดี 

คำสำคัญ (Tags): #พิพิธภัณฑ์
หมายเลขบันทึก: 84930เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยครับ ผมเขียนบันทึุก เรื่องพิพิธภัณฑ์อยู่หลายครั้งเลยครับ

 ผมชอบเข้าครับ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีคนอื่นเข้ากันบ้างเลย

เมืองไทยเหมือนกับว่ามีโจทย์ที่ยังไม่ได้แก้เรื่องนี้ ผมคืออยู่ 2 อย่างคือ

1 สิ่งที่ ไม่ ได้แก่

.ไม่เสนอ

.ไม่สนอง

ไม่เสนอ คือแนวการสั่งสอนเรียนรู้ผ่านทาง พิพิธภัณฑ์ของชุมชน (มันยังไม่มี) เรื่องนี้ ศธ.หรือผู้สอนควรช่วยกันคิด เพื่อเป็นกุศโลบายในการ เข้าเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของชุมชน ู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ ด้วย

ไม่สนอง คือแนวการจัดสร้างให้มีพิพิธภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมการเรียนรู้ ของชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เรื่องรัฐ องค์กรท้องถิ่น ต้องตอบสนอง จุดกระแสการเรียนรู้รักษาประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ชุมชน แต่ละแห่ง

ประโยชน์นอกเหนือ ของการเรียนรู้ของคนไทย แล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้อีก

 2. สิ่งที่ มี

เราก็มีพิพิธภัณฑ์กันหลายที่แล้วแต่ทำไม คนไทยไม่ค่อยเข้า คงต้องไปเน้น ที่เรื่องไม่เสนอกับระบบการจัดการ

 .

หนังละคร จีน ญี่ปุ่นเกาหลี มาฉายให้เราดู เราก็เรียนรู้วัฒนธรรมเค้า ไปเที่ยวที่บ้านเมืองเค้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต เค้าสัมผัสอาหารเค้า

แต่หนังละครไทย ไม่ค่อยจะมีเรื่องเกี่ยวกับ  วัฒนธรรม ประเพณี อาหาร ของไทยแบบตรงๆ กันเลยครับ

.

ขอบคุณครับ ที่เขียนบันทึกนี้ เพื่อสร้างมุมมอง และเพิ่มมิติแห่งความคิด กันครับ  

ดีจังครับ ช่วยกันคิด

ผมคิดว่าที่คนไทยไม่ชอบเข้าพิพิธภัณฑ์เพราะไม่ค่อยชอบหาความรู้ แต่ชอบหาความสนุกมากกว่า

อีกประการหนึ่งผมเห็นว่าชุมชนที่เข้มแข็งจะมีส่วนสำคัญทำให้ความรู้กระจายไปได้ดี โดยเฉพาะการเป็นแหล่งเรียนรู้ไม่เฉพาะสำหรับคนในชุมชนเองแต่กับบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งในยุคโลภาพิวัฒน์หมายถึงคนทั้งโลกด้วย

เมื่อครั้งผมใช้ชีวิตอยุ่ที่สวิส มีการปลูกฝังเด็กๆ ให้รักท้องถิ่น รักการเรียนรู้ตั้งแต่อนุบาล โดยเน้นการสอนที่การฝึกใหเด็กคิดเป็น เล่นให้สนุกและกล้าแสดงออก...เป็นความรู้ที่ดีมากครับ สวิสเป็นตัวอย่างประเทศที่รักษาวิถีชีวิตดั่งเดิมเอาไว้ร่วมกับการนำเอาความรู้ในยุคโลกาภิวัฒน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้อย่างสมดุลย์หรือพอเพียง

ด้วยความปรารถนาดี

ขออนุญาต เรียกว่าท่านพอล เลอมังนะครับ

ผมสนใจที่ ท่านพอล กล่าวถึงที่สวิส มีการปลูกฝังเด็กๆ ให้รักท้องถิ่น อยากให้เล่าถึง วิธีการ วิถีทาง ที่เค้าทำกันนะครับ ว่าทำอย่างไร เพื่อเป็นวิทยาทานกับผู้อ่านท่านอื่่นๆด้วยครับ

.

บทความที่ท่านเขียน ผมก็แอบไปอ่านมาครับ ได้ความรู้มากเลยที่เดียวครับ 

ขอบคุณครับ 

ผมไปอยู่สวิส 3 ปี ลูกๆ ไปเข้าโรงเรียนท้องถิ่นที่นั่น โดยเรียนชั้นอนุบาลและประถม ปรากฏว่าเดือนแรกผ่านไป ภรรยาสังเกตุว่าเขาจะไม่สอนอะไรมากเลย จึงไปถามครู ได้รับทราบว่าสวิสจะไม่สอนเด็กจนถึง 7 ขวบเพราะต้องการให้เด็กเล่น สนุกกับการไปโรงเรียนและครูจะสอนให้เด็กเล่มเกมที่ฝึกให้สมองพัฒนามากกว่าจะท่องจำจากหนังสือ นอกจากนั้นยังสอนให้เด็กรักการเล่าเรื่อง Show and tell ลูกๆ จึงชอบที่จะโชว์และเล่าเรื่องทุกวันที่บ้าน

โรงเรียนสวิสเน้นการส่งเสริมให้คนรักชุมชนเป็นอันดับแรก จึงจัดกิจกรรมที่วนเวียนอยู่ในชุมชนเป็นสำคัญเพื่อให้รักท้องถิ่น นั้นคือการจัดทัศนะศึกษาไปดูสวนแอบเปิ้ลในชุมชนหรือฟาร์มไก่ เป็ด ซึ่งจะมีวิธีการให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่ครบวงจรเช่นเอาไข่มาให้โรงเรียน ปล่อยให้มีการฟักไข่ในห้องเพื่อเด็กๆ จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมทั้งมอบสัตว์ให้เด็กมาเลี้ยงที่บ้าน เช่นเต่า ผลัดกันเอาไปเลี้ยงที่บ้าน เด็กจะได้รู้จักธรรมชาติของสัตว์ การเลี้ยงดู

ในทุกชุมชนจะมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหลายแห่ง ที่ล้วนแสดงถึงเอกลักษณ์ของชุมชน เช่นพิพิธภัณฑ์การเกษตรชุมชน หรือสินค้าโอทอปและเห็นได้ชัดว่าเด็กๆจะมีโอกาสไปชมพิพิธภัณฑ์บ่อยมาก ถือเป็นการหาความรู้นอกห้องเรียนที่ได้ผลดีมาก

พูดเลยไปถึงการเมืองการปกครอง ผมรู้สึกว่าการแบ่งเขตปกครองของสวิสจะไม่เล็กเกินไปไม่ใหญ่เกินไป เหมาะสมพอดีที่จะดูแลกันได้ทั่วถึงโดยแต่ละเขตจะมีการจัดองค์ประกอบได้อย่างครบถ้วนคือการจัดผังเมืองให้มีธุรกิจพื้นฐานครบและในจำนวนที่พอดี มีโบสถ์ มีร้านขายยา คลินิค มีร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็ก ร้านกาแฟ ฯลฯ คนในชุมชนจึงเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่แน่นพอดี รู้จักกันหมด.....แต่มองกลับมาเมืองไทย รู้สึกว่าคนในชุมชนไทยบางเขตใหญ่มาก ใหญ่จนคนไม่มีความสัมพันธ์กันเลย แม้อยู่ซอยเดียวกัน เขตเดียวกัน ก็ไม่สนใจไม่รู้จักกัน จึงเป็นเหมือนคนแปลกหน้าที่อยู่ด้วยกันเท่านั้น ......วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท