วันที่ 1 ผมเล่าเรื่องทีมงานพอช.มาหารือโครงการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนคร่าว ๆแล้ว วันนี้ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมคือ
รู้กันดีว่าหนี้สินภาคประชาชนเป็นปัญหาใหญ่มาก ทำให้คนจอมจ่มกับกองหนี้ เกิดความเครียดกัน ถ้วนหน้า วงการพัฒนาได้คิดค้นวิธีการหรือเครื่องมือกันมากมายเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ทั้งแผนแม่บทชุมชน/ ครอบครัว กล่มออมทรัพย์ สวัสดิการ/สัจจะวันละ 1 บาท โครงการของพี่อิ๊ด(หัวหน้าทีมจากพอช.)ก็เป็นหนึ่งความพยายามเช่นกัน
เครื่องมือนี้ชื่อเต็มว่าโครงการ “ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพครอบครัว ชุมชน” โดยภาคประชาชน หลักการใช้แนวคิดสัจจะออมทรัพย์/สวัสดิการรายวันที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว แต่มีวิธีการที่น่าสนใจมากคือ จับที่ฐาน ครัวเรือนรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 5 ครัวเรือนเพื่อออมเงินกัน นอกจากออมเงินแล้วยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เงินที่ออมกันใช้ฐานวันละ 5 บาทต่อครัวเรือน จากกลุ่มย่อยนำไปรวมเป็นกลุ่มใหญ่ชื่อกลุ่มสัจจะชุมชน แยกเป็น 4 กอง 1)กองทุนหมุนเวียน 2)กองทุนสวัสดิการ 3) กองทุนร่วมทุน และ4) กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ละกองมีการแบ่งสัดส่วนไว้ชัดเจน รายละเอียดดูได้จากแผนภาพหรือสอบถาม คุณพัชณี(01-7389100)
ประเด็นหารือคือ ตอนนี้พอช.กำลังขายความคิดไปทั่ว โดยมีชุมชนที่สนใจลองทำดูบ้างแล้ว อยากได้ทีมวิชาการมาช่วยถอดบทเรียน กระบวนการเพื่อทำหลักสูตรอบรมผู้นำชุมชนให้เป็นครูก. ครูข.เพื่อขยายผลให้กว้างขวางยิ่ง ๆขึ้น
รูปแบบและข้อหารือดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงครูชบ ยอดแก้ว ที่กำลังขับเคลื่อนแนวคิดสัจจะวันละ 1 บาท ทำสวัสดิการภาคประชาชน จ.สงขลา และคุณสามารถที่กำลังขับเคลื่อนสวัสดิการวันละบาทที่ลำปาง รวมทั้ง เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน 4 ภาค เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และขบวนองค์กรการเงินชุมชนอื่น ๆอีกเป็นจำนวนมาก
แบบจำลอง กระบวนการปฏิบัติ ผลที่ได้ การสรุปบทเรียน ถอดกระบวนการเพื่อผลิตซ้ำ รวมอยู่ในการจัดการความรู้ ซึ่งพวกเรากำลังเรียนรู้ ปฏิบัติการกันอยู่
วันที่ 4 ทีมงานพอช.กับอาจารย์สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ตำบลกำโลน จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ปฏิบัติการที่เริ่มทำไปบ้างแล้ว และผู้นำคือกำนันสนใจอยากเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ลงไปประชุมได้ความว่าอย่างไรบ้างครับ ?