จุดยืนของผมในเรื่องการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัย


 

          นายสุรพล   จรรยากูล   อ้างว่าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา  คณะสังคมศาสตร์  มศว.   มีหนังสือไปขอรับทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการออกนอกระบบของ มศว.    ส่งมายังผมโดยตรงในฐานะกรรมการสภา มศว.     ถามว่าผมในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยสนับสนุนและยืนยันให้ มศว. ออกนอกระบบหรือไม่

          จดหมายอย่างนี้ผมไม่ตอบครับ   เพราะเป็นคำถามที่ไม่เหมาะสม   ถ้าจะถามต้องถามสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์คณะ   ไม่ใช่ถามเป็นรายคน   กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่สติดีเขาไม่หลงตอบจดหมายแบบนี้หรอกครับ

          สภามหาวิทยาลัยต้องทำงานเป็นองค์คณะ   ไม่ใช่ออกไปพูดกันนอกสภา

          แต่ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยไหนๆ   ผมมีจุดยืนที่มั่นคงมากว่า ๑๐ ปีแล้ว   ว่าผมอยากให้มหาวิทยาลัยมีอิสระจากระบบราชการ   เพื่อให้ทำหน้าที่รับใช้สังคมได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วิจารณ์   พานิช
๑๓ มี.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 83898เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2007 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

  ปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนา เจ็บปวดบ้างแต่ต้องทำ เหมือนการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก เมื่อหายแล้วก็จะกลับมาใช้ชีวิตที่มีความสุขอีกครั้ง ไม่แน่อาจจะดีขึ้นกว่าเดิมมากมายเลยก็ได้ครับ

   (หวังว่าคงไม่เปรียบเทียบรุนแรงไปครับ)

 แต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องและพาดพิงใคร

ขอบคุณครับ

ถูกต้องครับ   อาจารย์ไม่งั้นจะมีคำว่าสภาฯ  ไว้ทำไมต้ององค์รวมครับ   หากเป็นเสียงส่วนน้อยก็ให้มันอยู่ในสภาฯไม่ใช่โพทนาข้างนอก    มีแต่สร้างความแตกแยกประเภทที่เป็นผู้หลัก  ผู้ใหญ่  พูดไปแล้วมีอิทธิพลต่อความคิดสาธารณะ  บอกว่าความคิดเห็นส่วนตัวนะ  ขอให้เลิกได้แล้วหากเป็นความคิดเห็นส่วนตัวจริงๆ   ให้พูดกับลูกกับเมียที่บ้านสุดท้ายขยายไป   แก้อะไรไม่ได้สักอย่างจะกลัวมันทำไม   การเปลี่ยนแปลงจะกลัวไปทำไม  ผลประโยชน์ของตนเองไม่มั่นคงดูเกษตรกรไทยซิ   ไม่มีหรอกเงินเดือน  ความมั่นคง  ความแน่นอน  อนาคตที่ลืมตาอ้าปาก  ยังตายยากเลยมหาวิทยาลัย  เป็นแหล่งชุมนุมทางวิชาการที่บริสุทธิ์เป็นแหล่งทำวิจัย  เอาผลมาชี้แนะแก่สังคม  ประเทศชาติ  เป็นหลัก    ไม่ใช่ที่ที่มาประกอบสัมมาอาชีพ   ถึงมีก็ให้เป็นรองๆไปหรือวิญญาณ  มันหล่นหายเสียแล้ว   เป็นเพียงมหาลัย  มหาหลอก  หรือ?

 

นายสุรพล จรรยากูล

กราบเรียน ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ที่เคารพ

   กระผมเป็นผู้ที่ส่งจดหมายไปหาอาจารย์จริง และส่งถึงกรรมการสภา มศว ทุกคนครับ มิใช่ส่งให้ท่านอาจารย์เพียงคนเดียว

  เมื่อส่งให้ท่านอาจารย์แล้ว ผมไม่ทราบจริงๆว่าท่านอาจารย์จะตอบหรือไม่ และตอบอย่างไร

  วันนี้เป็นความบังเอิญที่กระผมมาพบเว็บของท่านอาจารย์ จึงได้รับทราบว่าท่านอาจารย์คิดอย่างไรกับจดหมายของกระผม

  ด้วยความเคารพนะครับ  กระผมไม่คิดว่าจดหมายของผม(ที่เปิดเผย) จะได้รับการพิจารณาจากท่านอาจารย์ว่าเป็นเกมอะไรบางอย่าง

  กระผมขอแสดงความเห็นสะท้อนกลับ ต่อสิ่งที่ท่านอาจารย์เขียนไว้ ดังนี้นะครับ

(1)ท่านอาจารย์เขียนว่า "นายสุรพล จรรยากูล อ้างว่าเป็นอาจารย์ประจำ.................... มศว .....เป็นคำถามที่ไม่เหมาะสม ..... กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่สติดีเขาไม่หลงตอบ..."

กระผมแปลกใจว่า ในฐานะท่ท่านอาจารย์เป็นกรรมการสภา มศว (ขณะนั้น) ท่านอาจารย์สามารถเช็คความจริงได้โดยง่ายว่า กระผมมีตัวตนจริงใน มศว หรือไม่ ในฐานะที่เป็นเด็กกว่าท่านอาจารย์มาก และในฐานะที่เป็นอาจารย์ธรรมดาใน มศว กระผมรู้สึกว่า ท่านอาจารย์ออกจะ"ใจร้าย"เกินไปสักนิด เนื่องจาก เมื่อกระผมส่งจดหมายถึงท่านอาจารย์ กระผมเขียนถึงท่านอาจารย์โดยตรง เป็นการเฉพาะ ด้วยความเคารพในความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอก มศว แต่การ"ตอบโต้"ของท่านอาจารย์ เป็นการตอบโต้ของ"ผู้เหนือกว่า"ด้วย "ช่องทางที่เหนือกว่า" จริงๆ  คนเล็กคนน้อยในสังคมไทยจำนวนมากมาย ก็เผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับกระผม หากท่านอาจารย์ไปเช็คข้อมูลที่ สกว. ชื่อของกระผมมีอยู่ในรายการของ สกว.ครับ ไม่ใช่ "คนเถื่อน" อาจจะทำอะไรตรงไปตรงมา"เกินไป" จนดูเป็นความโง่เง่าและหมดเม็ด  แต่ด้วยความสัตย์จริง กระผมไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ

(2)ท่านอาจารย์เขียนว่า "ผมอยากให้มหาวิทยาลัยมีอิสระจากระบบราชการ เพื่อทำหน้าที่รับใช้สังคมได้ดีกว่า..."

ท่านอาจารย์ครับ ความอยากของอาจารย์เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล กระผมโต้แย้งไม่ได้ แต่กระผมเห็นว่าประโยคของท่านอาจารย์เป็นเพียงข้อเสนอทางวิชาการ(ทางทฤษฎี)ชุดหนึ่งเท่านั้น ที่ควรค่าแก่การถกเถียง วิพากษ์ เพื่อแสวงหาความจริงที่ลึกซึ้งและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างในประชาคมวิชาการมากกว่า

กระผมหมายความว่า การทำให้ความอยากเป็นจริง กับการนำเอาทฤษฎีที่บุคคลยึดถือไปประยุกต์ใช้ ไม่ใช่สิ่งเดี่ยวกันครับ หากความอยากเป็นเรื่องส่วนบุคคล และส่งผลเฉพาะบุคคลแล้ว บุคคลนั้นๆดำเนินการได้เลย ไม่กระทบต่อผู้ใด

แต่กรณีการออกนอกระบบ มิใช่เช่นนั้น สังคมทั้งหมด บุลากรทั้งหมดใน มศว ได้รับผลกระทบโดยตรง  การอ้างแต่ด้านบวกในบางทัศนะ บางมุม โดยละเลยด้านอื่นๆของคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับและมีแรงเสียดทานเป็นปกติ

อาจารย์ทราบหรือไม่ครับ คน มศว ที่บริสุทธิ์ใจ จำนวน 114 คนเป็นอย่างน้อย ในจำนวน นี้ ร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วยกับการนำ มศว ออกนอกระบบ ท่านอาจารย์เข้าใจว่า เขาไม่อยากให้ มศว เป็นอิสระมากขึ้นจากระบบราชการหรือครับ หรือพวกเขาไม่อยากให้ มศว รับใช้สังคมมากขึ้นหรือครับ

ท่านอาจารย์ครับ  ขณะนี้ คำว่าออกนอกระบบ หรือในกำกับ ล้วนเป็น"วาทกรรม"ที่กำลังถูกตั้งคำถามอยู่ครับ อาจารย์คงปฏิเสธไม่ได้ในฐานะนักวิชาการ  แต่การใช้อำนาจในฐานะตำแหน่ง โดยไม่สนใจรับฟังคนอื่นๆในประชาคม มศว ด้วยกันอย่างต่อเนื่องและรอบด้าน เป็นมิจฉาทิฏฐิในแง่กระบวนการนะครับ กระผมเห็นว่า นี่คือการประทุษร้ายรูปแบบหนึ่ง หากมองจากทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่ว่าด้วยศีลธรรม

(3)"อิสระจากระบบราชการ" กับ"อิสระมากขึ้นจากระบบราชการ" ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ประเด็นแรกเป็น"การหักด้ามพร้าด้วยเข่า" แต่ประเด็นที่สอง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่"เอาใจเขามาใส่ใจเรา" และประสบความสำเร็จได้มากกว่า  บนฐานความสุขและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

(4)ท่านอาจารย์จะแย้งอย่างไร หากกระผมเรียนว่า เมื่อมี พ.รบ.ใหม่ "ความเป็นระบบราชการ" ก็ยังคงอยู่ ไม่ใช่ไม่มีแล้ว องค์การขนาดใหญ่ล้วนเป็น Bureaucracy ในทัศนะของ Weber ทั้งหมด เพียงแต่ถูกเรียกด้วย"เกมภาษา"ว่า "นอกระบบราชการ" หรือ "ในกำกับ" เท่านั้น ท่านอาจารย์คงเข้าใจประเด็นที่กระผมเรียนมานี้ได้ชัดเจน ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานของท่านอาจารย์เอง

(5)กระผมขอยืนยันว่า "ความเป็นราชการ"ไม่ไช่สิ่งชั่วร้าย และไม่รับใช้สังคมอย่างน่าพอใจ โครงสร้างบางอย่างอาจเป็นอุปสรรค แต่ไม่จนตรอกในการแก้ไขครับ แม้ไม่ถูกใจบางคน พฤติกรรมแบบ"ระบบราชการ"ต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่  ซึ่งปรับปรุงได้ ด้วยผู้นำที่ได้รับการศรัทธาสูงใน มศว แล้วท่านอาจารยคิดว่า มศว อยู่ในสถานะเช่นนั้นแล้วหรือครับ แม้แต่สภา มศว เอง กระผมก็ไม่แน่ใจว่า ความศรัทธาของประชาคม มศว อยู่ในระดับใด น่าจะได้มีการศึกาวิจัยอย่างจริงจัง

(6)การรับใช้สังคม เป็นวาระของส่วนรวม และส่วนรวมต้องทุ่มเทเพื่อให้บรรลุ ท่านอาจารย์คิดว่า ประชาคม มศว เคยมีโอกาสถกเถียงเรียนรู้เรื่องนี่ดีพอแล้วหรือครับ ความคิดเรื่องนี้ของ มศว ตกผลึกในฐานะเป็นผลผลิตของประชาคมปัญญา มศว แล้วหรือครับ

(7)ผมชื่นชมที่ท่านอาจารย์ผลักดันให้ สกว.เป็นพลังปัญญาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยกระบวนการปัญญาของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆแล้วใน มศว ไม่มีนักวิจัยที่จะใช้พลังปัญญาร่วมกันเปลี่ยนแปลง มศว ให้ดีขึ้นเลยหรือครับ  กระผมเชื่อมันว่า หลายๆคนใน มศว ไม่ยอมรับเป้าหมายที่ดี ที่นิยามโดยคนบางคน และด้วยวิถีแห่งอำนาจแบบคับแคบ การผลักดัน มศว ออกนอกระบบ ก็มิใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน

กราบขออภัยท่านอาจารย์ หากบางส่วนบางตอน ทำให้เสียความรู้สึกกระผมไม่มีเจตนาใดๆในทางร้ายดังกล่าว สิ่งที่ประผมเขียนมา เป็นเพียงปฏิกิริยาทางวิชาการประการหนึ่งเท่านั้น ผมยังเชื่อมั่นว่า ท่านอาจารย์คงเห็นว่า นี่เป็นรูปธรรมหนึ่งของ academic freedom นอกรั้วมหาวิทยาลัยที่ควรพิทักษ์รักษาไว้

ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ

นายสุรพล จรรยากูล

[email protected]

 

ผู้บริหารทำไรอยู่ หลายคนรออยู่เมื่อไหร่ จะออกนอกระบบสักทีตั้งแต่ 49 นี้จะ53 อยู่แล้ว พรบ. ไปถึงไหนแล้ว ไม่เห็นข่าวคราวเลยเงียบหายมา2-3 ปี ติดตามกันหน่อยนะค่ะ

เรียน นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าวหาความผิด 5 ข้อต่อ อาจารย์สุรพล จรรยากูล ตามหนังสือลงวันที่ 6 สิงหาคม 2553 อันประกอบด้วยข้อกล่าวหาดังนี้

ก. การทำเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์

ข. การทำเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่อ ศาลปกครองและหน่วยงานอื่น ๆ

ค. การเขียนเอกสารวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยในทางลบ

ง. การส่งผลการเรียนล่าช้า

จ. ไม่ให้ความร่วมมือในการย้ายที่ทำงาน

โดยให้อาจารย์สุรพล จรรยากูล ตอบข้อกล่าวหาดังกล่าวภายในวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา และหากไม่โต้แย้ง ถือว่าสละสิทธิ์และจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ต่อไป

การสอบข้อกล่าวหาด้วยตนเองเช่นนี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการเอาผิดบุคลากรและอาจสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินการในทางที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้คือ

ประการแรก การจะเอาผิดบุคลากรต้องมีขั้นตอนที่ถูกต้อง คือมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงต่อความผิดนั้นๆ หากมีมูลความผิดแล้วจึงตั้งกรรมการสอบสวนความผิด ดังนั้นการส่งจดหมายโดยอธิการบดี จึงไม่ใช่วิธีการเอาผิดบุคลการที่ถูกต้อง การกระทำเช่นนี้ เข้าข่ายว่าท่านอธิการตั้งข้อกล่าวหาเอง และสอบสวนเอง และอาจพิจารณาความผิดเอง โดยขาดกระบวนการสร้างความเป็นธรรม

ประการที่สอง การอุทธรณ์ร้องทุกข์และการฟ้องศาลปกครองเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๕๙ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว

มาตรา ๖๐ บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น

และการกระทำดังกล่าวได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๖๒ บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

บุคคลซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของ รัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ดังนั้น การกล่าวโทษความผิดด้วยการยื่นเรื่องการอุทธรณ์ร้องทุกข์และการฟ้องศาล ปกครองจึงเป็นการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ

ประการที่สาม มีความพยายามของรองอธิการบดีฝ่ายบุคคล (รศ.สุมาลี เหลืองสกุล) ที่จะส่งหนังสือให้กับอาจารย์สุรพล จรรยากูล ซึ่งแจ้งเรื่องการสอบสวนวินัยร้ายแรงแต่ไม่ทำเป็นการลับผ่านไปยังคณบดีคณะ สังคมศาสตร์ในฐานะผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะต้องผ่านระบบธุรการจำนวนมากซึ่งเป็นการผิดระเบียบการสอบสวนวินัย เพราะการสอบสวนวินัยต้องทำเป็นความลับและต้องทำในนามของประธานกรรมการสอบสวน ไม่ใช่รองอธิการบดีฝ่ายบุคคลเช่นนี้

ประการสุดท้าย หากการกระทำเช่นข้างต้นเหล่านี้สามารถทำได้ ก็จะเป็นบรรทัดฐานซึ่งอาจจะกระทำได้กับบุคลากรคนอื่นๆในมหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมามีการประชุมลับของสภามหาวิทยาลัยนอกวาระประจำเดือน เกรงว่าจะเป็นการพิจารณาเรื่องของ อาจารย์สุรพล ซึ่งสภามหาวิทยาลัยสามารถเอาผิดและให้ออกจากราชการได้ตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึษา 2547 ตามมาตรา 57 (9)

“มาตรา ๕๗ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดมีกรณีดังต่อไปนี้ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๒๘ หรือสภาสถาบันอุดมศึกษาสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน

(๙) ถูกสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่ผลการสอบสวนไม่อาจลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงได้ แต่สภาสถาบันอุดมศึกษามีมติว่าถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ ราชการ

พวกเราได้รับข่าวอย่างมากต่อการที่จะให้มีการตัดสินให้อาจารย์สุรพล จรรยากูล มีความผิดและให้ออกจากราชการในมาตรานี้ เนื่องจากการกล่าวหาความผิดวินัยร้ายแรงที่ผ่านมาในเรื่องการเขียนบทความ วิพากษ์วิจารณ์ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถเอาผิดได้

บุคคลที่มีรายชื่อในหนังสือเรียกร้องนี้ขอให้สภามหาวิทยาลัยไม่ด่วนตัดสินใจลงโทษและโปรดไตร่ตรองให้รอบด้านก่อน

ด้วยความนับถือ

Sincerely,

http://www.petitiononline.com/surapol/petition.html

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท