บทเรียนจาก Dialogue (ตอนที่ ๑)


ช่วงของการแนะนำหลักการทำสุนทรียสนทนา แต่ใครที่หวังจะมานั่งฟังบรรยาย ก็ต้องผิดหวัง เพราะวิทยากรในช่วงนี้ คือ ดร. ภาสี วิทยากรชาวอินเดีย ไม่ได้มาบรรยายให้ฟังฝ่ายเดียว

บทเรียน  จาก  Dialogue  (ตอนที่ ๑)

 

                หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำงานที่ สคส. เป็นสัปดาห์ที่ ๒  ผู้เขียนก็ได้รับโอกาสดี (อีกแล้ว)  โดยครั้งนี้ ได้ไปไกลถึงจังหวัดพิษณุโลก  ไปโดยที่ยังไม่รู้ว่า  ไปทำอะไร  ต้องทำอะไรบ้าง  นึกอยู่ในใจว่า  สคส.  คงไปเป็นวิทยากรworkshop KM อย่างแน่นอน  เหมือนที่ผู้เขียนเคยไปครั้งแรกที่บ้านผู้หว่าน จังหวัดนครปฐม  มารู้  รายละเอียดของกิจกรรมก็ตอนที่เดินทางถึงจังหวัดพิษณุโลกเรียบร้อยแล้ว  โดยได้พบกับคุณไพฑูรย์  ช่วงฉ่ำ   ผู้จัดการโครงการจัดการความรู้โรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง  ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการจัดกิจกรรม Special Topic  เรื่อง  สุนทรียสนทนา  (Dialogue)  โดยจัดขึ้นเป็นจำนวน  ๒  วัน  ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว  ก็เป็นกลุ่มผู้ที่เป็น คุณอำนวย  (Facilitator)  ในการทำ KM  ของโรงพยาบาลต่างๆ  ของจังหวัดในแถบภาคเหนือตอนล่าง  มีจำนวนประมาณเกือบ  ๔๐  คน  

                สำหรับทีมวิทยากรเป็น ทีมจากสาบันการเรียนรู้  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ซึ่งนำทีมโดย  ดร. ภาสี (Professor B .K. Passi) และภรรยา, อ. อภิชัย  เทอดเทียนวงษ์ , และทีมงาน อีกจำนวน  ๓-๔  ท่าน 

 ส่วนตัวผู้เขียน  เคยได้ยินคำว่า สุนทรียสนทนา  มาครั้งหนึ่ง  แต่ยังไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน  แต่เข้าใจว่า ต้องเป็นการพูดคุยที่ดีงาม ไพเราะอย่างแน่นอน 

                มาในครั้งนี้ ผู้เขียนจะได้เข้าร่วมในวง สุนทรียสนทนา  ในฐานะคนในวงอย่างเต็มตัว  จึงรู้สึกตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย  และต่อไปนี้ คือ  สิ่งที่ผู้เขียนได้รับและมองเห็นจากการเข้าร่วมวง สุนทรียสนทนา 

                กิจกรรมวันแรก  หลังจากที่มีการชี้แจงรายละเอียดและภาพรวมของกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ทีมวิทยากรก็นำพวกเราทั้งหมด  เข้าสู่บรรยากาศการทำสุนทรียสนทนาทันที ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมด  ซึ่งรวมทั้งตัววิทยากรเองด้วย นั่งล้อมเป็นวงกลม  ให้เล่นเกมแนะนำตนเอง โดยเริ่มจากให้คนแรกบอกชื่อเล่นของตนเอง  ส่วนคนที่สองก็ให้บอกชื่อเล่นของคนแรก แล้วตามด้วยชื่อเล่นของตนเอง  คนที่สามก็ให้บอกชื่อเล่นคนแรก คนที่สอง และของตนเอง  คนต่อไปก็ให้ไล่ชื่อเล่นของตั้งแต่คนแรกไปเรื่อยจนถึงชื่อตัวเอง  คนสุดท้ายจะหนักหน่อยที่จะต้องจำชื่อของคนทั้งวง  ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนานฮาเฮ  และมีบรรยากาศของความมิตรเพิ่มขึ้นมากทีเดียว  เพราะทั้งวงจะช่วยเพื่อนบอกชื่อต่อกันไปเรื่อยๆ  จากที่บางคนไม่รู้จักกันมาก่อน ก็ได้รู้จักชื่อกันเรียบร้อย  แถมยังจำได้ด้วย  เพราะเราต้องฟังคนอื่นๆ  รวมทั้งเราเองไล่ชื่อของคนทั้งวงหลายรอบทีเดียว  เป็นเหมือนกับการตอกย้ำความทรงจำ   จนจำได้ขึ้นใจ

                กิจกรรมต่อมาเป็นกิจกรรมสร้างบรรยากาศเปิดเผยจริงใจ  เป็นกิจกรรมที่จะช่วยทำให้พวกเรารู้จักกันให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก  เพราะเป็นกิจกรรมค้นหาคนที่มีข้อมูลรายละเอียดเหมือนกันกับเรา  เช่น  วันที่เกิด  เดือนที่เกิด  ปีที่เกิด  สีที่ชอบ  อาหารที่ชอบ  เป็นต้น  เราต้องค้นหาคนที่มีข้อมูลเหมือนเรา แล้วก็ให้คนๆ นั้นเซ็นชื่อให้ ใครหาคนที่มีข้อมูลรายละเอียดเหมือนเราได้มากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ   ซึ่งผู้ที่ชนะในวันนั้น  สามารถหาคนที่มีข้อมูลได้มากถึง  ๑๑  ข้อ จาก  ๑๒  ข้อ มีคนในวงประท้วงวิทยาการเล็กน้อยว่า หาได้ไม่ครบ  ได้ไม่กี่ข้อมูลเอง  แต่วิทยากรได้กล่าวสรุปกิจกรรมนี้ว่า  คงไม่มีใครเหมือนกับใครครบทุกข้อ  นั่นก็เหมือนกับย้ำให้เราได้คิดกันว่า  คนเราแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด  แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน  จะให้ใครเหมือนใครเลยคงเป็นไปไม่ได้  แต่เราจะรู้จัก เข้าใจ  อยู่ร่วม และทำงานกับคนที่แตกต่างกับเราได้อย่างไร

กิจกรรมต่อมา  คือ  ช่วงของการแนะนำหลักการทำสุนทรียสนทนา  แต่ใครที่หวังจะมานั่งฟังบรรยาย ก็ต้องผิดหวัง เพราะวิทยากรในช่วงนี้ คือ  ดร. ภาสี  วิทยากรชาวอินเดีย  ไม่ได้มาบรรยายให้ฟังฝ่ายเดียว  แต่เริ่มสนทนาพูดคุยร่วมกันไปเลยถึงหลักการทำสุนทรียสนทนา  การทำความเข้าใจสุนทรียสนทนา  โดยเปิดประเด็นและโยนโจทย์คำถามให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวงเอง 

สำหรับภาคบ่ายของวันแรก  มีการย้ายห้องไปอีกห้องหนึ่งที่มีการปูเสื่อไว้คอยต้อนรับแล้ว  ทุกคนนั่งล้อมลงกับพื้น  โดย วิทยากร นำเข้าสู่หัวข้อหลักการฟังอย่างลุ่มลึก (Deep  Listening)  พร้อมทั้งทำกิจกรรมกลุ่มย่อย  สุนทรียสนทนาเต็มรูปแบบ  ในวันนี้กว่าจะเลิกสุนทรียสนทนากันก็ประมาณ  ๒  ทุ่มกว่า  ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากการเข้าร่วมวง สุนทรียสนทนา  ในวันแรก  คือ  สิ่งที่วิทยากรได้เน้นให้พวกเราได้ฝึกฝนหลักความสมดุลแห่งการฟัง  การวิเคราะห์  ใคร่ครวญ  การเข้าใจ  การพูดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 

 

yayaying

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 83เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2005 06:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท