คุณภาพของหลักสูตรอุดมศึกษา


มุมมองเชิง "เอกภาพ" ของอุดมศึกษา นี่แหล่ะ ที่ผมคิดว่าเป็นมุมมองที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย จะฉุดให้สังคมไทยไม่สามารถมี "อุดมศึกษาแบบเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการระดับสากล" ได้

 

          การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนุ่มสาว   เป็นคุณต่อคนแก่อย่างผม   ทำให้ผมได้ทำความเข้าใจว่าโลกยุคปัจจุบันเขาอยู่กันอย่างไร   คิดอย่างไร   เรียนอย่างไร   ผมจะได้ไม่ตกยุคมากนัก

          คุณ (---)  นิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชา (---)  ภาควิชา (---)  คณะ (---)   อยู่ระหว่างการดำเนินงานวิจัยวิทยานิพนธ์เรื่อง  "---"     โดยมี (---)  และ (---) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

          คุณ (---) เธอพากเพียรพยายามจะสัมภาษณ์ผมให้ได้   เพื่อใช้ความเห็นของผม   และของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง   ไปประกอบการพัฒนาแนวคิดรูปแบบการจัดอันดับและจัดระดับคุณภาพหลักสูตร

          ผมบอกว่า  การที่ นศ. ไม่ review ความรู้เดิมและวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นความเข้าใจที่คมชัดของตัวเอง   และมองเห็น "ช่องว่าง" ของความรู้   สำหรับใช้เป็นปัญหาวิจัย   แต่ดำเนินการ "เรียนลัด" โดยการมุ่งไปถามผู้ทรงคุณวุฒิ  เป็นวิธีเรียนที่ผิด  ไม่ควรทำ

          เธอจึงส่งเอกสารหนา ๒๑๓ หน้า  ชื่อ   "โครงการวิทยานิพนธ์.........."   ตามชื่อข้างต้น   เพื่อแสดงว่าผมประเมินเธอผิด   เธอทำการบ้านมากมาย   อ่าน reference ถึง ๔๙ รายการ

          ผมพลิกๆ ดูแล้วถามตัวเองว่าวิทยานิพนธ์นี้จะให้ความรู้ใหม่แก่สังคมไทยหรือไม่   เป็นความรู้ที่แม่นยำน่าเชื่อถือไหม

          ผมตอบตัวเองว่า (ผมอาจจะผิดโดยสิ้นเชิง)   ผลการวิจัยชิ้นนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออุดมศึกษาไทย   เพราะเป็นโจทย์วิจัยที่อยู่บนฐานคิดที่ผิด   คือคิดว่า "อุดมศึกษา" มีหนึ่งเดียว   หรือเป็นกลุ่มเดียว  และ  "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"  ต่ออุดมศึกษาเป็นคนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด

          มุมมองเชิง  "เอกภาพ"   ของอุดมศึกษา นี่แหล่ะ   ที่ผมคิดว่าเป็นมุมมองที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย   จะฉุดให้สังคมไทยไม่สามารถมี  "อุดมศึกษาแบบเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการระดับสากล" ได้

          นี่คือประเด็นที่ผมต้องการสื่อต่อท่านอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองท่าน  โดยที่ผมไม่ยืนยันว่าความเห็นของผมจะต้องถูกต้องเสมอไป   แต่ผมเชื่อเช่นนี้โดยบริสุทธิ์ใจ

          สิ่งที่ผมต้องการสื่อต่อคุณ (---) ก็คือ   ผมเห็นใจคุณ(---) ที่อยากได้ปริญญาเอก  ก็ต้องทำวิทยานิพนธ์ ๑ ชิ้น   อาจารย์ที่ปรึกษาคงจะแนะให้ทำเรื่องนี้   จึงต้อง review เอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย   นำมาเขียนเป็น  "ความรู้ที่ค้นคว้ามาได้"   ซึ่งก็คงจะเป็นการทำตามจารีตของนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต   แต่ถ้ามองในด้านการเรียนรู้ที่แท้จริงของคุณ (---)   ผมไม่เห็นคำถามที่เป็นของคุณ (---)าเอง   และความพยายามตอบคำถามหลักเหล่านั้นให้คมชัด

          ถ้าเป็นผม ผมจะถามว่า  "คุณภาพของหลักสูตรอุดมศึกษา" คืออะไร  บอกได้อย่างไรว่าคุณภาพสูงหรือต่ำ

          พอถามอย่างนี้เราก็จะเห็นได้ทันทีว่าหลักสูตรอุดมศึกษามันมีหลายกลุ่ม   บางกลุ่มต้องการเน้น "รู้" เพื่อไป "รู้" วิชาถัดไป   พอผ่านหลายๆ วิชา    ก็บอกว่าความรู้เพียงพอที่จะออกไปทำงานได้แล้ว   นี่คือหลักสูตรที่มีเป้าหมายสร้างคนออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ

          หลักสูตรอุดมศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งเน้นฝึกตั้งคำถาม   ไม่ใช่เน้น "รู้" ความรู้สำเร็จรูป   เป็นหลักสูตรสร้างนักวิชาการ นักวิชาชีพ

          หลักสูตร ๒ แบบนี้เอามารวมกันให้เกิด  "เอกภาพ"  แล้วเอามาประเมิน จัดอันดับ ร่วมกันไม่ได้

          ที่จริง  สิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณ(---) คือ วิธีตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว   จากการทำวิทยานิพนธ์

          วิธีของผม  คือ ตั้งโจทย์หรือคำถามของตัวเราเอง   แล้วเชื้อเชิญให้ ๔๙ reference นั้นช่วยกันตอบ   ถ้ายังตอบได้ไม่หนำใจ   ก็ไปค้น reference เพิ่มอีก     ถ้าค้นแล้วค้นอีก   และถามใครๆ แล้วก็ยังตอบได้ไม่ครบถ้วน   ไม่ตรงประเด็น   ก็แสดงเราค้นพบคำถามวิจัยที่  "ใหม่และสด" แล้ว   ขั้นต่อไปก็คือ  การหาวิธีตอบคำถามวิจัยนั้น   ถ้าหาวิธีที่ "ใหม่และสด" ได้อีก   วิทยานิพนธ์ของเราก็จะมีคุณค่ายกกำลังสอง

          ผมคิดว่า  ผมได้ทำการบ้านให้แก่คุณ (---)  มากกว่าเวลา ๔๕ นาที  ที่มาขอสัมภาษณ์นะครับ   และได้นำมาลงบันทึกในบล็อกเพื่อ ลปรร. วงกว้างด้วย   โดยที่เสี่ยงต่อการประกาศความเบาปัญญาของผมด้วย

วิจารณ์   พานิช
๕ มี.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 82251เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ อยากให้อาจารย์คนอื่นๆในเมืองไทยเห็นด้วยแบบนี้บ้าง

 อย่างน้อยแค่คำว่า ปริญญาเอกไม่ใช่เพียงแต่เป็น "อะไรซักอย่าง" ที่มันต่อจาก"โท" แต่ก็อย่างว่า "เขาสอนกันมาแต่โบราณ"

ถ้าเป้าหมายของอุดมศึกษามุ่งแต่หาคำตอบเดียวกันทุกสถาบันคงแย่ครับ

เช่นเดียวกันถ้าพยายามใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันวัดทุกหลักสูตร แล้วตีค่าออกมาว่าสั้นว่ายาว ก็ไม่ยุติธรรมสำหรับอุดมศึกษาที่มีโจทย์ที่เป็นอัตลักษณ์แตกต่างไม่ตามก้นใคร

แต่ผมมองว่า ข้อเสนอแนะของอาจารย์ ผู้ทำวิจัยอาจค้นพบเป็นอีกหนึ่งคำตอบก็ได้ครับ จากการทำวิจัยของเขา ที่จะบอกสุดท้ายว่า เครื่องมือไม่ควรมีอย่างเดียว

เพราะตอนผมเรียนโท สิ่งที่ผมพบก่อนเข้าสอบคือ ผมต้องอ่านและค้นหาให้มากกว่านี้ และตอนนั้นแหละที่ผมได้คำตอบและรู้จักคำว่าปริญญาโท

นี้เป็นความเห็นของผู้น้อยครับ อาจารย์ไม่จำเป็นต้องใส่ใจครับ ขอบคุณครับ

Many researchers frequently use experts as a source (Murphy, 2005; Stevahn et al., 2005a; McGuire & Zorzi, 2005; English, 2002; King et al., 2001). Asking experts to identify sources of information or to give knowledge relevant to the topic of study is commonly used when there is a shortage of previous studies (Mead & Moseley, 2001, cited in Bakert, 2006, p. 61).

Hardy et al., (2004) state that "it is particularly useful when there is little knowledge or uncertainty surrounding the area being investigated" (cited in Bakert, 2006, p. 61). Using experts’ opinions in this situation may increase "high content, face-to-face and concurrent validity" (Beech, 2001, cited in Bakert, 2006, p. 61).

It isn't called "detour learning" when researcher use expert!

จากบันทึกที่แล้ว ทำให้ผมเข้าใจว่า มีคนรับไม่ได้กับการเอ่ยชื่อคน เพราะคิดว่าทำให้คนที่มีชื่ออยู่เสื่อมเสีย ผมจึงลบชื่อคนที่เกี่ยวข้องออก แต่ยังคงเก็บ comment ที่เข้ามาแย้งบ้าง ด่าบ้าง เอาไว้ เพื่อเก็บไว้ใน cyberspace ว่าการเขียนบันทึกพาดพิงบุคคลและสถาบันก็ต้องยอมรับว่าจะถูกศอกกลับบ้างอย่างนี้ คนเขียนต้องอดทนและใจกว้าง

ผมขอโทษผู้ที่มีชื่อในบันทึกนี้ที่ผมเขียนลงไป ไม่มีเจตนาลบหลู่บุคคลหรือสถาบันเลยครับ ตัวสถาบันเป็นที่รักของผมด้วยซ้ำ เจตนาคือต้องการบอกวิธีเรียนในมุมมองของผม (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้)

จะขอให้คุณมะปรางช่วยลบชื่อคนใน comment ออกด้วยครับ

วิจารณ์

แม้ผมเรียนมาไม่มาก ได้เห็นผู้คนเรียนมาก และหวังก้าวไกลในระดับอุดมศึกษา เป็นผลดี

ความเห็นในทางแตกต่าง ๆ ในบล็อคมาจากบันทึก ประสบการณ์ เป็นแง่คิดส่วนตัวที่เผยแพร่สู่สาธารณะ

จำเป็นที่ผมและผู้มาอ่านต้องใช้วิจารณญาณในการที่วิจารณ์ เพราะไม่เช่นนั้น เชื่อว่าจะไม่เกิดการเรียนรู้ในการแตกต่างใด ๆ เลย ขอบคุณทุกข้อคิด ความเห็นและทุกบันทึกครับ

ธนู

๒๖ ก.ค.๒๕๕๑

สวัสดีค่ะ

จากความคิดเห็นของอ.หมอวิจารณ์ ที่ท่านได้แจ้งแล้วว่าได้ดำเนินการลบชื่อผู้ที่ท่านได้กล่าวถึงในบันทึกออกแล้วนั้น และท่านต้องการให้ดำเนินการลบชื่อผู้ที่ถูกกล่าวถึงใน comment ที่แสดงไว้ก่อนหน้าที่ท่านจะมา comment เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2551

และหลังจากที่ทางทีมงานได้เรียนปรึกษาอ.หมอวิจารณ์แล้วนั้น ท่านเห็นควรให้ทางทีมงานดำเนินการ copy ความคิดเห็นเดิมที่มีผู้แสดงความคิดเห็นไว้ และนำมา paste เป็นความคิดเห็นใหม่ โดยให้ลบชื่อผู้ที่ถูกกล่าวถึงออกจากความคิดเห็นและให้คงข้อความอื่นๆ ไว้ดังเดิมค่ะ จากนั้นให้ดำเนินการลบความคิดเห็นเดิมที่ระบุชื่อไว้ออกจากบันทึกนี้

ทางทีมงานจึงเรียนมาเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านทราบ และขอดำเนินการดังกล่าว โดยความคิดเห็นที่จะต้องดำเนินการข้างต้น ได้แก่ความคิดเห็นที่ 3, 5, 6, 7, 8 และ 9 ค่ะ ซึ่งเป็นเลขที่ความคิดเห็นเดิมก่อนการดำเนินการลบค่ะ

ไม่มีรูป
3. นิสิตไทย
เมื่อ พฤ. 14 มิ.ย. 2550 @ 06:22
292328 [ลบ]

กรณีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมทางวิชาการแก่คุณ(---)   คณาจารย์ และสถาบัน                    การแสดงความคิดเห็นครั้งนี้  เป็นไปด้วยความเคารพและอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อมุ่งหมายให้ความเข้าใจที่ดีขึ้นเป็นสำคัญ  มิได้มุ่งหมายทางลบแต่ประการใด                เรียนท่านอาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ  ผมในฐานะที่เป็นนิสิตท่านหนึ่งที่กำลังศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิตและเคยได้ศึกษางานของท่านอาจารย์มาพอสมควร  ขอแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ท่านอาจารย์ได้แสดงความเห็นต่องานวิทยานิพนธ์ของน.ส(---) ที่ปรากฏในกระทู้นี้  ผมอยากแสดงความคิดเห็นอย่างนักวิชาการที่เป็นกลางว่า การวิจารณ์ของอาจารย์ออกไปในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม  และใช้ความคิดเห็นส่วนตัวมากกว่าการอธิบายประกอบให้เกิดความสร้างสรรค์ทางวิชาการให้สมบูรณ์  จริงอยู่  การเห็นต่างหรือความไม่ตรงกันของความเห็นเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ความคิดใหม่ให้เกิดขึ้นได้  ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อวงการวิชาการ  และนักวิชาการต้องพร้อมที่จะกล้าเผชิญกับการวิจารณ์  แต่สิ่งที่วิจารณ์นั้นต้องถูกต้องและมีคุณค่าพอ  โดยเฉพาะการเขียนโดยไม่มีข้อมูลของสิ่งที่ถูกวิจารณ์ประกอบไว้ทำให้ผู้อ่านที่มิได้ศึกษาตัววิทยานิพนธ์ประกอบกับความเชื่อถือในตัวบุคคลเป็นทุนเดิม  ทำเกิดความเห็นคล้อยตามไปด้วยได้ง่าย  และเมื่อเป็นความเห็นในทางลบก็ส่งผลให้เชื่อเชิงลบไปด้วยซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรม          ผมจะขอแสดงความคิดเห็นในบางประเด็นก่อน  หากมีเวลาคงจะได้อธิบายให้ครบทุกประเด็นต่อไปวิจารณ์ : นศ. ไม่ review ความรู้เดิมและวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นความเข้าใจที่คมชัดของตัวเอง   และมองเห็น "ช่องว่าง" ของความรู้   สำหรับใช้เป็นปัญหาวิจัย   แต่ดำเนินการ "เรียนลัด" โดยการมุ่งไปถามผู้ทรงคุณวุฒิ  เป็นวิธีเรียนที่ผิด วิจารณ์ : ผมเห็นใจคุณ(---) ที่อยากได้ปริญญาเอก  ก็ต้องทำวิทยานิพนธ์ ๑ ชิ้น   อาจารย์ที่ปรึกษาคงจะแนะให้ทำเรื่องนี้   จึงต้อง review เอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย   นำมาเขียนเป็น  "ความรู้ที่ค้นคว้ามาได้"   ซึ่งก็คงจะเป็นการทำตามจารีตของนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต                 การวิพากษ์ลักษณะนี้ ควรแล้วหรือ?” “เป็นการแสดงลักษณะการเอาความคิดส่วนตนตัดสินผู้อื่นหรือไม่?                 ประเด็นของการถูกวิจารณ์ว่า เป็นงานที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะให้ทำ และ เป็นงานที่ไม่ได้ค้นคว้าข้อมูลประกอบ ผมขอให้ข้อมูลว่างานวิทยานิพนธ์ของภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา  คณะครุศาสตร์  จุฬาฯ นั้น  นิสิตมีส่วนสร้างสรรค์ได้มาก  กว่าจะได้เป็นหัวข้อและโครงร่างจนผ่านการสอบให้สามารถดำเนินการได้นั้น  เราต้องมี class สัมมนาให้นิสิตได้นำเสนอแก่คณาจารย์อย่างน้อย 5 ท่านทุกสองสัปดาห์และมีพี่น้องและเพื่อนนิสิต critique ก่อน  ตามด้วยการวิจารณ์ของคณาจารย์ซ้ำอีกครั้ง   เป็นอย่างนี้ไปจนกระทั่ง  โครงร่างวิทยานิพนธ์จะเป็นรูปร่าง  ระหว่างภาคการศึกษา  นิสิตจะต้องปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง  ค้นคว้าข้อมูลประกอบมากมาย  จะวิจารณ์ว่า นศ. ไม่ review ความรู้เดิมและวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นความเข้าใจที่คมชัดของตัวเอง   และมองเห็น "ช่องว่าง" ของความรู้   สำหรับใช้เป็นปัญหาวิจัย   แต่ดำเนินการ "เรียนลัด" โดยการมุ่งไปถามผู้ทรงคุณวุฒิ ในตอนแรกนั้น  ถือเป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่ถูกต้อง  (ด่วนตัดสิน) พอนิสิตท่านนี้ส่งเอกสารไปเพิ่ม  ก็วิจารณ์ต่อไปอีกซึ่งจะเห็นในประเด็นต่อๆ ไป  วิทยานิพนธ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่มุ่งฝึกทักษะวิจัยของนิสิตภายใต้การแนะนำ (advise) ของอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์วิจัยสูงกว่า  ก็ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่นิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาต้องร่วมกันพัฒนาวิทยานิพนธ์  ผลการวิจัยพบว่าการเอาใจใส่ของอาจารย์ที่ปรึกษามีผลต่อความสำเร็จในการศึกษา การที่อาจารย์ที่ปรึกษาปล่อยให้นิสิตทำวิทยานิพนธ์เพียงลำพังโดยไม่มีส่วนร่วมใดๆ นอกจากจะเป็นผลเสียแล้ว  จะถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อนิสิตในการดูแลอีกด้วย   และการเรียนรู้งานวิจัยจากผู้มีประสบการณ์นับเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนานักวิจัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้  ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากความเห็นของท่านอาจารย์วิจารณ์เอง นั่นคือ หัวข้อวิทยานิพนธ์ย่อมต้องเกิดขึ้นทั้งจากนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษา  หากอาจารย์จะมีส่วนร่วมมากน้อยนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างกันตามรายบุคคลไป  จะแยกจากกันโดยเด็ดขาดนั้นเป็นการยาก  ถึงกระนั้น  ผมได้เห็นงานวิทยานิพนธ์ไม่น้อยที่นิสิตแสดงความสามารถทางวิชาการได้ดี  สามารถอ้างอิงข้อมูล  อธิบายต่อที่ประชุมต่างๆ จนทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาและคณาจารย์ต่างๆ เห็นชอบตามนิสิตเสนอ  นั่นคือ  หาก ถูกจริง ดีจริง เหมาะสม โดยนิสิตเอง  หัวข้อและวิธีการวิจัยที่เสนอก็จะได้รับการอนุมัติแน่นอน          อีกประการหนึ่ง  การแสดงความคิดเห็นออกมาลักษณะดังกล่าว  อาจกล่าวได้ว่าเป็นการไม่เป็นธรรมต่อตัวสถาบันและอาจารย์ที่ถูกระบุอย่างไม่สมควรและไม่ถูกต้อง  การวิจารณ์ ต้องเป็นจริง และให้เกียรติแก่สิ่งนั้นก่อน  หากคิดในลักษณะเอาใจเขาใส่ใจเรา  หากมีนิสิตในสถาบันใด  ภาควิชาใด  ไปปรึกษาบุคคลภายนอกที่พิจารณาว่าน่าจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพราะความให้เกียรติและเคารพในความรู้ประสบการณ์ของบุคคลผู้นั้น  แล้วบุคคลผู้นั้นแทนที่จะพิจารณาตอบตกลง (เมื่อเห็นว่าจะรับผิดชอบตามที่ขอได้) หรือปฏิเสธ (หากเห็นว่าไม่ควรเข้าไปรับผิดชอบด้วยกรณีใดก็ตาม) พูดคุยและให้คำแนะนำแก่นิสิตเพื่อนำไปปรับปรุง  ด้วยจิตเมตตาและเข้าใจว่านี่คือน้องใหม่ในอนาคตของวงวิชาการ หรือต้นไม้อ่อนที่รอไม้ใหญ่ให้ร่มเงาจนแข็งแรง  กลับวิจารณ์ว่าไม่ดี (ตามความเห็นตน) โดยนำมาตั้งเป็นกระทู้สู่สาธารณะแทนที่จะให้คำแนะนำแก่ตัวนิสิต หรือ ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา การกระทำเช่นนี้อาจส่งผลเสียโดยไม่ได้พิจารณาสิ่งที่จะตามมา  เช่น  ผู้คนเข้าใจไปว่าอาจารย์ที่ปรึกษา  ภาควิชา สถาบันนั้นๆ ไม่ได้มีกระบวนการผลิตบัณฑิตที่ดี  การสรุปอ้างอิงก็ไม่คมพอ  งานวิทยานิพนธ์เป็นสิ่งที่ครูแนะให้ทำ ฯลฯ  อย่างนี้   เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่สมควรแล้วหรือและหากมีความเห็นว่าหลักฐานอ้างอิงยังไม่หนักแน่นพอ  สรุปได้ไม่คมพอ  ก็ควรให้คำแนะนำสำหรับการค้นคว้าเพิ่มเติมในแต่ละประเด็นที่เห็นอย่างชัดเจนจะเป็นการถูกต้องกว่า  ไม่ใช่การมาพูดรวมๆ แบบระบุเป็นเอกภาพลงไปว่า ไม่ดี แบบนี้ วิจารณ์ : ส่วนประเด็น มุมมองเชิง "เอกภาพ" ของอุดมศึกษา นี่แหล่ะ ที่ผมคิดว่าเป็นมุมมองที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย จะฉุดให้สังคมไทยไม่สามารถมี "อุดมศึกษาแบบเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการระดับสากล" ได้  เอ....อันตรายมาจาก ตัวเองเก่ง  ตัวเองรู้  ของคนอื่นผิด น่ากลัวกว่าหรือเปล่า แสดงว่าอาจารย์เห็นว่าความเห็นใดเป็นไปเพื่อสร้างอุดมศึกษาต้องมีกรอบหนึ่งเดียวกัน  เหมือนๆ กัน แตกแถวไม่ได้นั้น  หรือ ของดีต้องแบบนี้เท่านั้น และส่อไปในลักษณะ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นการทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการชิงดีชิงเด่นเป็นผลเสียร้ายแรงต่อการศึกษาไทย นั้น  นับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  หากท่านอาจารย์เห็นเช่นนั้น  ก็คงเป็นการมองในลักษณะว่าสถาบันอุดมศึกษาควรมีความหลากหลาย  สร้างจุดเด่นของตน  และแต่ละสถาบันยังมีความแตกต่างหรือความไม่เท่าเทียมของแต่ละสถาบันด้วย ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับวิธีการที่นิสิตผู้นี้เสนอ คือ ไม่ต้องการให้จัดอันดับแบบองค์รวมทุกมหาวิทยาลัยอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน  แต่ที่เหมาะสมควรไม่ควรจัดอันดับร่วมกันเพียงหนึ่ง  แต่ให้พิจารณาในระดับที่แยกย่อยลงไป หรือพิจารณาเฉพาะในสาขาวิชาเดียวกันเช่น ระดับหลักสูตรเดียวกันที่พอจะนำมาเปรียบเทียบกันได้  และเป็นการเปรียบเทียบที่ต้องให้สารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้วย  จึงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้รับผิดชอบในการนำข้อมูลไปใช้แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้    แต่หากท่านอาจารย์มีความเห็นลบต่อระบบการจัดอันดับว่าเป็นการส่งเสริมสิ่งไม่ดี  ถ้าเป็นอย่างนี้  ก็ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่ง  คือ  อาจารย์ไม่ต้องการให้มีการจัดอันดับ   กรณีนี้ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก  โดยเฉพาะในสังคมโลกของการแข่งขันในปัจจุบัน  อาจารย์ได้รับผิดชอบงาน สกว.มา  คงทราบดีถึงความสำคัญของการ ต้องทำวิจัย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า ยาก และ สูญเปล่า ในอดีต  แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ ต้องกระทำ และอาจารย์ได้บริหารงานจนกระทั่งปรากฏความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม  ทั่วโลกอาศัย การวิจัย ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างหนึ่งอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับ การจัดอันดับต่างๆ ทั้งการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน  การจัดอันดับสถาบันการศึกษา  ที่ทั่วโลกก็ได้รับการจัดอันดับอยู่ในขณะนี้  ตัวผู้ถูกจัดอันดับต่างไม่ได้ไปห้ามสถาบัน  องค์กร หรือมหาวิทยาลัย  ตลอดจนตัวบุคคลมิให้ทำการจัดอันดับแต่อย่างใด  แม้จะพบว่า  ผลการจัดอันดับมักมีความลักลั่น  ไม่ค่อยจะเป็นธรรมอยู่บ้าง  แต่ได้ชี้แจงเพื่ออธิบายแก่สังคมในประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วยไว้  ส่วนการจัดอันดับก็ยังมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา  ผู้จัดอันดับได้พัฒนาตัวบ่งชี้และวิธีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น  แทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อวิธีการดังกล่าวอย่างชนิดที่มองแต่แง่ลบและไม่สามารถไปห้ามได้  นักวิชาการควรหาประโยชน์อย่างสร้างสรรค์คือการนำข้อมูล  สะท้อนความไม่ถูกต้องในประเด็นต่างๆ ของการจัดอันดับและพัฒนาวิธีการที่ดีขึ้นให้แก่ประชาคมโลกจึงจะเป็นที่ถูกต้อง  สิ่งที่นิสิตบัณฑิตศึกษาคนหนึ่งได้พยายามพัฒนาวิธีการจัดอันดับซึ่งมีสภาพปัญหาอยู่และต้องการพัฒนาให้เป็นวิทยานิพนธ์สำหรับการศึกษา  จึงถือเป็นความกล้าหาญที่ควรส่งเสริมมากกว่า  แล้วลองดูผลการวิจัยต่อการนำไปใช้จริง  น่าจะให้ประโยชน์แก่วงการศึกษาในอนาคตอันใกล้ด้วยซ้ำไปวิจารณ์ : สิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณ(---)   คือ วิธีตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว   จากการทำวิทยานิพนธ์                ตรงนี้ผมว่าเกินไปหน่อยนะครับที่วิจารณ์แบบนี้  การเรียนทุกระดับนั้น  ได้ประโยชน์แก่ตัวและประโยชน์ชาติด้วย  และไม่ใช่การกระทำที่เห็นแก่ตัวอย่างที่สื่อออกมาตามตัวอักษรนี้                                ด้วยภูมิรู้ของนิสิตท่านหนึ่งที่มีเวลาอย่างจำกัด  ขอแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นไว้ ณ ที่นี้ เพียงเท่านี้ก่อนครับ  หากมีเวลาคงจะได้แสดงความคิดเห็นในโอกาสต่อไป  ขอบคุณครับ

นิสิตคนหนึ่ง

ไม่มีรูป
5. nipp
เมื่อ อา. 15 ก.ค. 2550 @ 15:04
320757 [ลบ]

 

ไม่น่าเชื่อว่า ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา) เพราะอายุก็ไม่น้อยอีกทั้งทราบว่ามีเชื้อสายท่าน...เอ... หรือจะไม่ใช่ เหลือเชื่อจริงว่าท่านเขียนออกมาอย่างนี้ได้อย่างไร นโยบายการจัดตั้ง สกว. มีไว้เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่สร้างนักวิจัย ใครช่วยทบทวนให้ทราบทั่วๆ กัน เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของคุณ(---) (ว่าที่ ดร.) ของอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน ของสถาบันที่คุณ(---) ศึกษาอยู่จะถูกดูแคลนจากผู้คนมากน้อยเท่าไรและคำถามอีก 1 คำถาม ถ้าคุณ(---)  เป็นบุตรสาวของ ศ.นพ.วิจารณ์ เอง แล้วพบเหตุการณ์อย่างนี้กับบุคคลที่เชื่อมั่นว่าเป็นผู้ใหญ่แต่ไม่เป็นผู้ใหญ่อย่างนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ จะต่อสู้เพื่อลูกสาวอย่างไร จะต่อสู้เพื่อเพื่อสถาบันการศึกษาที่ลูกสาวเรียนอยู่อย่างไร ิช่วยตอบด้วย จะรออ่าน แต่ก็คิดว่าคงรอเก้อแน่ๆ น่าเศร้าใจนัก โลกร้อนอยู่แล้วก็ต้องร้อนเพราะจิตที่ไม่เมตตาต่อกัน หน่ออ่อนของความรู้จะเติบโตได้อย่างไรเมื่อถูกน้ำร้อนราดรดอย่างนี้

ไม่มีรูป
6. ทิฏฐุชุกรรม (มีความเห็นถูกต้องตามเป็นจริง)
เมื่อ จ. 16 ก.ค. 2550 @ 11:57
321531 [ลบ]

ถ้าคุณ  (นายวิจารณ์) กล้าสมัครเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาเอก สาขาใดก็ได้ ไม่ต้องสาขายากๆ อย่างคุณ (น.ส.---) บ้าง จะได้เรียนรู้ว่าการเรียนปริญญาเอก เขามีวิธีวิทยาการศึกษากันอย่างไร นั่งเทียนพูดและเขียนลงบันทึกในบล็อกเพื่อ ลปรร. วงกว้าง โดย อิงกูู  อย่างนี้ เสียหายความเป็น Prof.  เปล่าๆ   ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านจบ การศึกษาระดับ ปริญญาเอก เป็น ดร. จากต่างประเทศมาแล้ว นานแล้วท่านยังมาสมัครสอบเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่เมืองไทยอีก ประมาณปี พ.ศ. 2546 อีก อายุท่านมากแล้วเหมือนคุณ  (นายวิจารณ์ ) เช่นกัน จะกล้าไปเรียนไหม ไม่ต้องสาขาเดียวกับ คุณ (นส.---) ก็ได้ แต่จะให้แน่สาขาเดียวกันก็ดี จะได้ไม่ดีแต่พูดอย่างนี้  และถ้าจะเรียนรู้และ มีความคิดเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงก่อนตาย (อายุมากแล้วนี่นะ) ก็ถือว่าเป็นโชคดีสำหรับตนเอง นะครับท่าน 

สำหรับ ว่าที่ ดร.(---) ไม่ต้องตกใจเพราะยุคนี้กำลังจะเป็นยุคกลียุค ผิดจะเป็นถูก ถูกจะเป็นผิด ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ศึกษาคำสอนของพระศาสดาที่มีความรู้ความเห็นถูกต้องตามความเป็นตามธรรมชาติ   ด้วยความตั้งใจ เรียนรู้อย่างจริงจัง  ว่าที่    ดร.(---) จะสบายเมื่อทราบว่าขณะนี้ได้ใช้หนี้กรรมที่เคยกระทำที่เคยกระทำ ต่อกันไว้ อโหสิกรรมให้เจ้ากรรมนายเวรนั้นไป ให้อภัย ทำจิตใจให้สบาย มุ่งหน้าทำภาระกิจที่ยังไม่สำเร็จให้สำเร็จ  คุณสามารถเป็น ดร.(---) ที่องอาจสมเป็นปราชญ์จุฬาได้  เชื่อมั่นในตัวอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านเก่งและเป็นคนดี เคยเรียนกับท่านมาแล้ว รับประกันคุณภาพ และที่สำคัญท่านเป็น Prof. และเรียนจบปริญญาเอก เป็น ดร. เชี่ยวชาญเรื่องนี้อีกด้วย ขอให้ว่าที่ ดร.(---)  ตั้งใจ ประกอบภาระกิจนี้ให้สำเร็จเรียบร้อย มีคนมากมายที่เป็นกำลังใจให้ อย่าท้อถอยอย่าท้อแท้ เป็นบทเรียนที่ดีมาก ต้องขอบคุณคนให้บทเรียนนี้ อโหสิกรรมให้เขาไปนะครับ เพื่อความผาสุกของโลก และผู้เกี่ยวข้องทุกคน

ไม่มีรูป
7. sam
เมื่อ อา. 22 ก.ค. 2550 @ 14:27
327144 [ลบ]

เป็นกำลังใจให้แก่คุณ(---) ครับ  ผมคิดว่าคุณตั้งใจที่จะทำวิทยานิพนธ์ชิ้นหนึ่งให้ดีโดยแค่อยากได้ความคิดของผู้ที่คิดว่ามีประสบการณ์มากกว่า เผื่อจะได้คำแนะนำดีๆมาปรับหรือสอดแทรกแนวคิดสมัยก่อนและสมัยใหม่ให้มาผสมผสานกันได้ แต่เจอคำวิจารณ์อย่างนี้ผมก็พูดไม่ออกเหมือนกัน ศ.วิจารณ์คงเข้าใจคำว่าวิจัยไม่กระจ่างนะครับ ทบทวนตัวเองก่อนมาวิจารณ์คนอื่นนะครับ   
ไม่มีรูป
8. เสียงของคนวงการศึกษา
เมื่อ พฤ. 18 ต.ค. 2550 @ 11:44
426965 [ลบ]

หลังจากที่ผมได้เห็นข้อคิดเห็นของ ศ.นพ. วิจารณ์  ..... ผมตกใจมากผมแทบไม่อยากเชื่อสายตาตนเอง  นี่มันเกิดอะไรขึ้นคนที่สังคมคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำทางความคิด เป็นนักวิชาการที่ดี แต่ท่านกำลังทำอะไร......          ต่อมา ผมได้ทราบความจริงว่านิสิตคนนี้เพียงแค่ติดต่อขอสัมภาษณ์ท่านอาจารย์เท่านั้น ซึ่ง ท่านไม่ได้ให้สัมภาษณ์  กรณีแบบนี้ ถ้าเป็นนักวิชาการท่านอื่นก็คงจบกระบวนการโดยไม่มีการกระทำอย่างที่เราได้เห็น  การที่ท่านผู้เชี่ยวชาญไม่ให้สัมภาษณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งท่านอาจไม่สะดวกหรือมีเหตุผลบางประการ           กรณีของนิสิตคนนี้ ไม่ได้มีการสัมภาษณ์หรือสิ่งอื่นใดเกิดขึ้นระหว่างท่านอาจารย์กับนิสิตเลย แล้วการกระทำที่ท่านอาจารย์วิจารณ์ทำนั้น คืออะไร?  ท่านทำเพื่ออะไร?  แล้วสะท้อนอะไรให้สังคม?        ท่านอาจารย์วิจารณ์ได้แสดงความคิดเห็นถึงนิสิตคนหนึ่งที่ท่านไม่เคยรู้จักด้วยถ้อยคำที่รุนแรงในลักษณะประณาม และดูถูกเหยียดหยาม อีกทั้งท่านยังจงใจโน้มน้าวให้สังคมเข้าใจเธอผิด รวมไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษา สถาบัน และระบบการเรียนการสอนที่เธอกำลังศึกษาด้วย           ในเมื่อท่านไม่เคยพบนิสิตคนนี้ ทำไมท่านถึงได้กล่าววาจารุนแรง ดูถูก ดูแคลน ออกมาได้ขนาดนี้ อย่างเช่น สิ่งที่ผมต้องการสื่อต่อคุณ(---) ก็คือ   ผมเห็นใจคุณ(---) ที่อยากได้ปริญญาเอก  ก็ต้องทำวิทยานิพนธ์ ๑ ชิ้น   อาจารย์ที่ปรึกษาคงจะแนะให้ทำเรื่องนี้   จึงต้อง review เอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย   นำมาเขียนเป็น  "ความรู้ที่ค้นคว้ามาได้"   ซึ่งก็คงจะเป็นการทำตามจารีตของนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต   แต่ถ้ามองในด้านการเรียนรู้ที่แท้จริงของคุณ(---)    ผมไม่เห็นคำถามที่เป็นของคุณ(---) เอง  และความพยายามตอบคำถามหลักเหล่านั้นให้คมชัด และอีกหลายประโยค   ท่านทำได้อย่างไร?         นิสิตคนนี้เป็นอย่างไร เธอทำวิจัยด้วยตนเองหรือไม่ เธอมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ท่านทราบได้อย่างไร ในเมื่อท่านยังไม่เคยพบเธอ  คนที่พยายามทำให้สังคมเข้าใจนิสิตคนหนึ่งผิด โดยสามารถยกเมฆ ใส่ความ กล่าวหา ประณามเธอทั้งที่ตัวเองไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบหน้า ได้ถึงเพียงนี้ คนแบบนี้ควรเรียกว่าอะไร?” 

        การกระทำของนักวิชาการท่านนี้ กำลังสะท้อนอะไรแก่สังคม?  ในความคิดเห็นของผม คือ นักวิชาการที่มีความรู้ แต่ไร้คุณธรรม

           ผมเคยเห็นคนเก่งแต่เลวในวงการเมืองมาแล้ว แต่ไม่นึกว่าจะได้มาเห็นในวงการศึกษาด้วย            ผมคิดว่า  หากอาจารย์ของนายวิจารณ์  ได้ทราบพฤติกรรมของลูกศิษย์ตนเองคงเสียใจมาก ที่ไม่สามารถสั่งสอนให้ลูกศิษย์คนนี้ (ศ.นพ. วิจารณ์) เติบโตเป็นนักวิชาการที่ดี มีคุณธรรมได้   

ไม่มีรูป

9. รุ่นน้อง
เมื่อ ศ. 25 ก.ค. 2551 @ 21:28
758503 [ลบ]

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่รู้จัก คุณ(---) เนื่องจากเรียนวิชาสัมมนาในชั้นเรียนเดียวกัน

ดิฉันอยากจะบอกทุกท่านว่า คุณ(---) เป็นคนดี คนเก่ง และเป็นว่าที่ ดร.

ที่มีความสามารถมาก ไม่คิดว่าผู้ใหญ่ในประเทศของเรา จะมีความคิดและมุมมองแบบนี้ขอเป็นกำลังใจให้คุณ(---)

โลกไร้พรมแดนช่างเป็นสื่อที่ทำร้ายกันได้เจ็บปวดหัวใจเหลือเกิน ที่มากกว่านั้นคือ ตัวละครที่ถูกเอ่ยอ้างชื่อโดนพิพากษาในโลกของท่าน ซึ่งใช้มาตรฐานเดียวของท่าน น่าสังเวชเหลือเกิน ไม่มีโอกาสให้หน่ออ่อนเติบใหญ่เลยหรือนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท