ทบทวนชีวิตใน ๑ สัปดาห์ ๒๑ – ๒๗ พ. ย. ๔๘


มี breakthrough เล็กๆ เกิดขึ้น
ทบทวนชีวิตใน ๑ สัปดาห์  ๒๑ – ๒๗ พ. ย. ๔๘
เป็นชีวิตที่มีการเลื่อนไหล (flow) ไปกับกิจกรรมจัดการความรู้ของชาติ ใน ๖ เรื่องใหญ่ๆ  คือ
1.        มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ    สัปดาห์นี้เป็นเสมือน “สัปดาห์สุกดิบ” คือภาพออกมาค่อนข้างชัดแล้ว  ว่างานจริงๆ จะออกมาอย่างไร    การเตรียมการณ์ด้านต่างๆ งวดเข้ามา    เรารู้ว่างานที่วางแผนว่าจะมีคน ๗๐๐ กลายเป็น ๑,๐๐๐    เราต้องหาทางกันไม่ให้มีคน walk in เข้ามาโดยไม่บอกเราก่อน    งานแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๒ กลายเป็นการแถลงข่าวที่แปลก    คือเป็นการบอกไม่ให้คน (ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อน) มางาน    ไม่ใช่เพื่อชักชวนให้คนมางาน    และเป็นการแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม KM (๕ เรื่อง)    ไม่ใช่ประชาสัมพันธ์งานมหกรรม    หนังสือแจกในงานเริ่มทยอยเสร็จ    เล่มแรกคือ รายงานประจำปี ๒๕๔๘  KM ประเทศไทย    ช่วงนี้มีการซักซ้อมถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแม่งานคือ คุณแอนน์ (ชุติมา อินทรประเสริฐ)     การจัดมหกรรมครั้งนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของ สคส. ในการที่องค์กรที่มีพนักงานเพียง ๑๐ จัดงานใหญ่ขนาดนี้ได้    และจะนำไปสู่การ “นัดหมายถาวร” ว่าวันที่ ๑ – ๒ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันนัดหมาย มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ    และปีหน้าจะจัดงานโดยมีเป้าหมายที่ ๒,๐๐๐ คน  
2.        KM ของหน่วยราชการ    เริ่มเกิด GKM Network ในลักษณะของ  “การประชุมภาคีจัดการความรู้หน่วยราชการ” ครั้งที่ ๑  วันที่ ๒๔ พ. ย. ๔๘   การประชุมนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักการและวิธีดำเนินการ KM ในหน่วยราชการ    จะมีลักษณะเป็น “การประชุมสัญจร”    หมุนเวียนสถานที่ไปตามองค์กรสมาชิก    คราวหน้าจัดที่ ศิริราช วันที่ ๑๖ ก. พ. ๔๙ เวลา ๙.๐๐ – ๑๕.๐๐ น.    การเป็นสมาชิกและการมาประชุมถือเป็นความสมัครใจ    ผู้มาประชุมเดินทางมาเองโดยถ้ามีค่าใช้จ่ายก็เบิกจากต้นสังกัด    สคส. (คุณวรรณา) จะทำหน้าที่เป็น secretariat จดรายงานการประชุม    ประสานงานการกำหนดวาระประชุม    ออกหนังสือเชิญ ทั้งที่เชิญอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ    เราหวังว่า GKM Network นี้ จะมีการ ลปรร. กันใน บล็อก ด้วย    ท่านที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งแรก หากต้องการเข้าร่วมในการประชุมครั้งที่ ๒ ก็ติดต่อคุณอ้อ (วรรณา) ได้
3.        สุดยอดของการเรียนรู้สำหรับชีวิต ๑ สัปดาห์คือ การเข้าร่วมประชุมแกนนำ KM ภาคประชาชน ที่พิจิตร ในวันเสาร์ ที่ ๒๖   เราได้เรียนรู้ และเชื่อมโยง
-          วิธีใช้ CoP เป็นเครื่องมือ ลปรร. ในบริบทของชาวบ้าน
-          การมี “คุณอำนวย” ที่เป็นชาวบ้านระดับแกนนำ
-          ได้เห็นการประชุม ลปรร. ที่ทรงพลัง    ได้เห็นความชำนาญในการประชุมกลุ่มทั้งของชาวบ้าน และของ “คุณอำนวย” กลุ่ม ในการใช้ MindMap สรุปประเด็นของการประชุม 
-          การตอกย้ำความสำคัญของการจดบันทึก   การสร้างทักษะในการทำหน้าที่ “คุณลิขิต”
-          ความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่ “คุณเอื้อ” ของคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์    เรื่องนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลจตุรพลัง ควรพิจารณาด้วย
-          การจดบันทึก “ขุมความรู้” ด้านต่างๆ ออกเผยแพร่ง่าย ในรูปของแผ่นพับ 
-          การเชื่อมโยงขบวนการแก้จน จ. พิจิตร กับ สอศ. (ที่จะดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนดามโครงการที่ได้รับงบประมาณพิเศษจากรัฐบาล) ผ่านการมาร่วมสังเกตการณ์โดย อ. ดิเรก สุวรรณฤทธิ์  วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์    หวังว่า tacit knowledge ของขบวนการที่พิจิตร จะได้รับการถ่ายทอดเอาไปปรับใช้โดย สอศ.
-          การเชื่อมโยงสู่การทำหนังสือ “การจัดการความรู้เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ประชาคมพิจิตร”    ซึ่งมีแผนให้เสร็จภายใน ๖ เดือน
-          การใช้ กระบวนการอบรม วปอ. ภาคประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “คุณกิจ” ของ KM แก้จน    หรือเพื่อการเริ่ม KM แก้จนนั่นเอง     เรื่องนี้ สอศ. น่าจะพิจารณา เอาไปใช้   (วปอ. = วิทยากรกระบวนการเพื่อการพึ่งพาตนเอง และพึ่งพากันเอง)
-          การเชื่อมโยงสู่ อบต.    เพื่อชักชวนให้ อบต. จัดอบรม วปอ. ประจำตำบล    เรื่องนี้ นายก อบต. สุชาติ แห่งอำเภอตะพานหิน ตอบรับทันที    
-          จะหาทางประสานกับคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ในการไปทำ workshop ฝึกการฟัง   และฝึก ทักษะในการจดบันทึกของ “คุณลิขิต” 
-          สคส. และ สกว. จะจัด KM สัญจร วันที่ ๙ – ๑๑ ม. ค. ๔๙    พานักวิจัยไปเยี่ยม “คุณกิจ” เกษตรไร้สารพิษ จ. พิจิตร เพื่อไปเก็บโจทย์วิจัยต่อยอดความรู้ของชาวบ้าน
-          ทั้งหมดนี้คือ KM เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง
4.        KM เบาหวาน    มีการจัดตลาดนัดความรู้ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งที่ ๒    โดย ดร. วัลลา กับคุณธวัช ร่วมกันเป็นวิทยากร    ประสบความสำเร็จสูงมากโดยผมไม่ได้ไปร่วมเลยเพราะต้องไปงานอื่น    เรื่องนี้ ดร. วัลลา ได้เขียน บล็อก เล่าไว้แล้ว 
5.        KM สอศ. ซึ่งจะเป็น KM แก้จน    ได้จัดอบรมวิทยากรรุ่นแรกไปแล้ว    การดำเนินการจริงๆ จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดการของทีม สอศ.    เป็นเรื่องที่ท้าทาย สอศ. มาก    เพราะจะต้องทำงานในลักษณะสร้างการเปลี่ยนแปลง (change management) หลายชั้นในเวลาเดียวกัน
6.        KM กับโครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยชุมชนศรีนครินทรวิโรฒ ตรอน  จ. อุตรดิตถ์    ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าคณะผู้ริเริ่มโครงการต้องการใช้ KM เป็นเครื่องมือดำเนินการ    เพราะจะเป็นการศึกษา (เรียนรู้) บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียง     รูปแบบของ KM แก้จน จ. พิจิตร น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้จัดทำโครงการได้ศึกษา  
                                  ช่วงนี้อากาศเย็น   ฝนตกหนักจนน้ำท่วมภาคใต้   และหวัดนกระบาด   ที่ สคส. เราฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ให้พนักงานทุกคนที่ต้องการฉีด (หวังผลป้องกันหวัดใหญ่ที่กลายมาจากหวัดนก หากเกิดขึ้น)    ผมฉีดด้วย   มีคนไม่ฉีด ๒ – ๓ คน     ภรรยาผมเขาไม่ฉีด และไม่บอกลูกๆ ให้ฉีด
วิจารณ์ พานิช
๒๗ พ. ย. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 8213เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2005 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท