เด็กปริญญาตรี ...ฝึกจัดเก้าอี้...ดีตรงไหน?


ถ้าเราโชคดีพอที่จะได้อยู่ในที่ทำงานซึ่งคนสื่อสารกันเข้าใจ สามารถคุยตกลงกติกาและเคารพกติกากลางร่วมกัน งานก็ออกมาดีเพราะความสมัครสมานสามัคคี ความเข้าใจกันเป็นอย่างดี ก็จะทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข อย่างนี้แหละเรียกว่าดูดีมีระดับ...!

(20)

 

 

 

 

ตัวอย่างการฝึกวิธีคิดพื้นฐาน : การฝึกจัดเก้าอี้

        ตั้งแต่คาบเรียนแรกที่เจอนักศึกษาปี 2 ซึ่งมักจะมีห้องละ 35-40 คน ดิฉันจะสั่งให้นักศึกษาจัดเก้าอี้ให้เป็นวงกลม ให้เวลา 3 นาที (โดยประมาณ) เก้าอี้ที่มหาวิทยาลัยดิฉัน เป็นเก้าอี้ที่มีที่เขียนหนังสือติดอยู่ด้วย ออกจะหนักหน่อย (ทั้งนี้ดิฉันจะแจ้งอาจารย์ห้องข้างๆ และห้องข้างล่างก่อนว่าอาจมีเสียงรบกวน ต้องดูทิศทางลมด้วยค่ะ)

        เด็กๆก็จะลากเก้าอี้เพื่อจัดให้เป็นวงกลมด้วยเสียงดังสนั่นหวั่นไหว คือแนวๆว่าเกือบทุกทีที่ให้ทำกิจกรรมนี้ ก็เป็นต้องลากกันสนั่นหวั่นไหวทุกกลุ่ม ไม่ทราบเพราะอะไร

        เก้าอี้ที่เธอจัดแถวเป็นวงกลมนั้น บางคนจะลากเฉพาะตัวที่เธอนั่ง เก้าอี้ตัวอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเธอ เธอไม่สนใจ ปล่อยให้วางระเกะระกะอยู่ทั่วไป บางคนช่วยลากตัวที่ไม่มีคนนั่งไปให้พ้นแถววงกลม แต่ไม่ได้จัดอะไร ขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยใดๆ เธอก็ไม่เก็บ เพราะต่างคนต่างมุ่งให้เสร็จหน้าที่ตัว สิ่งอื่นหรือคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เธอก็ปล่อยไว้เช่นนั้น ทั้งที่อยู่ในห้องเดียวกัน และขยะก็จ่ออยู่ตรงหน้าเธอแท้ๆ

       
ดิฉันรอให้จัดจนเสร็จ แล้วบอกว่าดีมาก จัดห้องตามคำสั่งได้ดี ทีนี้ถามหน่อย    แล้วดิฉันก็ถาม ให้เธอตอบ ขณะที่พูดดิฉันจะยิ้มอยู่เสมอ ถอดเป็นสคริปต์ได้ดังนี้ 


ครู     :       เมื่อตะกี้ใครเป็นหัวหน้าคะ
เด็ก   :       ไม่มีค่ะ
ครู     :       ใครสั่งให้จัดเก้าอี้แบบนี้
เด็ก   :        อาจารย์ค่ะ
ครู     :        แล้วเก้าอี้ที่เกินมาล่ะคะ ตัวที่ไม่มีคนนั่ง ใครเป็นคนสั่งให้วางเกะกะไว้ ไม่ต้องสนใจ
เด็ก    :      ไม่มีใครสั่งค่ะ
ครู      :      แล้วขยะที่อยู่ที่พื้นล่ะคะ เปลือกลูกอม เศษชอล์ก ใครเป็นคนสั่งว่าให้อยู่ที่เดิม ห้ามแตะต้อง
เด็ก    :       (จำนวนหนึ่งทำหน้างงๆ อีกบางคนที่กล้าๆหน่อยก็บอกว่า)...... ก็หนูไม่ได้ทิ้งนี่คะ
ครู     :       (ดิฉันยิ้มให้ด้วยสีหน้าปกติ แล้วพูดต่อว่า ) ดีมาก... แล้วเสียงที่ดังเมื่อตะกี้ เกิดจากอะไร
เด็ก   :       พวกหนูลากเก้าอี้ค่ะ พวกหนูคุยค่ะ ฯลฯ
ครู     :      งั้นเมื่อตะกี้ แปลว่า

  • เรายังไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้อง ยังไม่ได้จัดลำดับในการทำงาน
  • ยังไม่ได้สื่อสารเพื่อการตัดสินใจร่วมกันอย่างเป็นระบบ  
  • ยังคิดไม่ครบ  เพราะไม่ได้คิดถึงส่วนรวม 

       แปลว่าถ้ามีสิบแต้ม  ครูก็ยังให้ไม่ได้เลยสักแต้ม  เพราะงานที่ทำนี่  คุณภาพคนทำงาน  และคุณภาพงาน  ยังไม่ได้มาตรฐานเลย  ถูกไหม (เธอก็ตอบว่าถูก)  

        จากนั้นดิฉันก็อธิบายให้เด็กทราบถึง

  1. ความสำคัญ และความสัมพันธ์ของหน้าที่
  2. การประสานงานอย่างเป็นระบบ
  3. การเลือกแสดงออกให้เหมาะสม  ในภาวะบีบคั้นคับข้อง  คือภาวะที่ต้องสื่อสารกับเพื่อน  เพื่อรีบจัดเก้าอี้ให้เสร็จในเวลาจำกัด 

          โดยบอก "วิธีคิด" แก่เด็กๆดังนี้

  • ให้เขาพิจารณาการใช้คำพูด ท่าทางสีหน้า สายตา   
  • ให้เขาถามตัวเองว่าเขาคิดอย่างไรกับตัวเอง  เขาคิดอย่างไรกับเพื่อน   เช่น เขาให้เกียรติและรับฟังเพื่อนไหม  เขาคิดว่าธุระไม่ใช่และไม่ลงมือทำอะไรเลยใช่ไหม  เขาทำงานเงียบๆโดยไม่พูดอะไร  ไม่สื่อสารกับใครก่อนใช่ไหม  
  •  ให้เขาคิดถึงผลของการสื่อสาร รวมไปถึงผลกระทบสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้นๆด้วย  เช่น การตวาดให้เพื่อนหันหัวเก้าอี้ไปทางที่เราคิดว่าดี  แต่ไม่คิดถึงผลของการตวาด ว่าจะทำให้เพื่อนโกรธและไมอยากร่วมมือด้วย

          จากนั้นดิฉันก็บอกเด็กๆว่า

            " .....เอ้า...งานต่อไปให้จัดเก้าอี้เป็นรูปตัวยู สองแถวซ้อนกัน เงื่อนไข คือจัดให้เร็วและเงียบ ดูดีมีระดับ ถูกต้องตามที่สั่ง จงประชุมกันก่อนปฏิบัติงาน ให้เวลาทั้งหมดรวมจัดเก้าอี้ด้วย 7 นาที
ครูจะเข้ามาในห้องนี้อีกที เมื่อครบ 7 นาที เอ้า.. เชิญประชุมได้.. "...

            แล้วดิฉันก็เดินไปรอเธอหน้าห้อง เพื่อคอยระวังไม่ให้เสียงดังเกินพิกัดอีก พอเธอจัดเสร็จกะว่าให้เวลาเถียงกันอีกเล็กน้อยพองามแล้ว ดิฉันก็เดินเข้าห้อง แล้วก็ตั้งคำถามเธอใหม่

ครู     :    โอ.เค.ดีมาก ทีนี้ครูถามหน่อย ตะกี้ใครเป็นหัวหน้า ยกมือซิคะ 
              (คืองี้นะคะ ทำไมต้องพูดคำว่า "โอ.เค." ด้วยก็ไม่รู้ ดิฉันติดปาก อยากพูดคำอื่นก็นึกคำไม่ออก)

เด็ก   :    (คนที่เป็นหัวหน้าก็ยกมือ)
ครู     :    แล้วใครเป็นลูกน้องคะ
เด็ก   :    (ทั้งห้องก็ยกมือ    และถ้าบางคนไม่ยกมือ หรือทำท่าเบื่อหน่าย หรือมีเคสอื่นๆ ดิฉันจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย เพราะการฝึกด้วยการทำงานที่เขาไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้อะไร เช่นนี้ เด็กบางคนอาจไม่ชอบและรับไม่ได้เอาจริงๆ ดิฉันต้องทำใจนิ่งๆ และดำเนินการต่อไป )
  

ครู     :    เมื่อตะกี้ได้ประชุมใช่ไหมคะ ใครเป็นประธาน 

เด็ก    :    เธอตอบพร้อมกันว่า "หัวหน้าคร้าบ..ค่า.."

ครู      :    เอ้าแล้วตกลงกันว่ายังไงคะ?

               เธอก็อธิบายว่า  ว่าต้องคุยกันก่อนว่าจะ(ออกแบบ) จัดตัวยูแบบไหนกี่แถว แถวละกี่ตัว หันหัวไปทางไหน เอาทิศใดเป็นจุดเริ่มต้น เก้าอี้ที่ไม่มีเด็กนั่งจะจัดรวมไปด้วยไหม ถ้าไม่รวมจะไว้ตรงไหน เก็บขยะหมดแล้วยัง หน้าต่างนั่น ต้องเปิดด้วยไหม โต๊ะอาจารย์จะเอาไว้ตรงไหน โดยรวมทั้งหมดที่จัดเนี่ยดูดีมีระดับแล้วไหม ฯลฯ 

                ดิฉันอยากเข้าข้างตัวเองว่า  เด็กๆเริ่มจะปรับนิสัย  และเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร   อย่างง่ายแล้ว
 

               ดิฉันบอกเธอว่าดีมาก นี่เป็นการทำงานที่ดูดีมีระดับ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอย่างง่าย คือ

  1. คนทำงานต้องมาสื่อสารกันอย่างเป็นระบบ มาคุยเพื่อตกลงกันก่อน มาร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ (เรียกว่าประชุม) มาตกลงกันว่าใคร (จัดบทบาท หัวหน้า ลูกน้อง) จะต้องทำอะไร ใครทำก่อน ใครทำหลัง (จัดหน้าที่รับผิดชอบ ของหัวหน้า ลูกน้อง)
  2. สิ่งที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ  การคิดถึงส่วนรวมก่อนส่วนตัว เพราะท้ายที่สุด สิ่งที่เราละเลยเพิกเฉยด้วยความเห็นแก่ตัว จะย้อนกลับมาทำร้ายเราในที่สุด 
  3. และที่สำคัญคือต้องรู้เท่าทันการสื่อสาร คือรู้ว่าสื่อสารอย่างไรจึงเป็นผลลบกับงาน และจะเปลี่ยนเป็นสื่อสารอย่างไร จึงจะเป็นผลบวกกับงาน แบบที่เด็กๆทำเมื่อตะกี้นี้

                    ในการทำงาน ที่คนทำงานทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตัว และรู้จักลำดับ รู้ว่าใคร ต้องทำอะไร ก่อน หลัง ก็จะทำให้เข้าใจงานของกันและกัน ก็จะทำงานร่วมกันด้วยดี แล้วโกรธกันยากหน่อย เพราะไม่รู้จะหาเหตุอะไรมาโกรธ เนื่องจากรู้เท่าทันการสื่อสารเสียแล้ว

                      ถ้าเราโชคดีพอที่จะได้อยู่ในที่ทำงานซึ่งคนสื่อสารกันเข้าใจ สามารถคุยตกลงกติกาและเคารพกติกากลางร่วมกัน งานก็ออกมาดีเพราะความสมัครสมานสามัคคี ความเข้าใจกันเป็นอย่างดี ก็จะทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข อย่างนี้แหละเรียกว่าดูดีมีระดับ...!

           แล้วดิฉันก็ให้เธอเขียนบทความ เรื่อง “ก่อน และ หลัง” คือก่อนเริ่มเรียนการจัดเก้าอี้ และหลังประชุมแล้วจัดเก้าอี้ ว่าเธอคิดอย่างไร ให้เขียนโดยอิสระเสรี ให้เวลาเต็มที่ ตามสบาย

            เธอก็เขียนกันมือเป็นระวิงเช่นเคย.... ได้ข้อคิดที่ดูดีมีระดับมาประดับวงการ ให้รุ่นน้องได้อ่านเป็นอนุสติอีกหลายข้อ

หมายเลขบันทึก: 81892เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ดีจังเลยครับ ไม่นึกว่า แค่การจัดเก้าอี้ จะทำให้คิดได้กว้าง ขนาดนี้

อืม เข้าท่าจัง พี่แอม
  • สวัสดีครับพี่แอมป์
  • ได้อะไรมากๆ เลยครับ สะท้อนสังคมได้ดีเลยครับ แม้จะเพียงแค่การจัดเก้าอี้ก็ตาม เหมือนการจัดระเบียบสังคมเลยครับ
  • จะมีใครมองเห็นเก้าอี้ตัวที่ไม่มีคนนั่งบ้างไหมหนอ...
  • เศษขยะ หนูไม่ได้ทำ...จะรอให้ใครก้มลงเก็บบ้างไหมหนอ... ทำอย่างไรถึงจะแบบว่า พอเจอขยะปั๊บ จะรู้สึกละอายใจจริงๆ หากจะเดินข้ามเค้าไป โดยที่แกล้งทำไม่สนใจ จนต้องหันกลับมาหยิบเธอไปไว้ให้ถูกที่
  • ....ขอบคุณมากครับ

หวัดดีจ๊ะ ยสถ์ 

  • โทรฯเอ๊ยออนไลน์จาก กทม.ใช่รึปล่าวจ๊ะ 
  • เรื่องจัดเก้าอี้นี่เพิ่งมาคิดออกที่ราชภัฏเนี่ยแหละ   น่าบ่น เอ๊ยน่าสอนมากเลย  เพราะเด็กๆเขามองแบบระดับสายตากัน  ลืมมองที่พื้น
  • ที่จริงต้องสารภาพว่าตอนพี่แอมป์เรียนป.ตรีก็คิดอะไรๆที่ระดับสายตาเหมือนกัน  มาคิดมากขึ้นตอนทำงานแล้วอะค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมานะจ๊ะ  ฝากคิดถึงอีกคนด้วยเน้อ  ไปกรุงเทพฯหนหน้าจะพาไปเลี้ยงไอติมจริงๆ  ค้างน้องไว้หนึ่งศตวรรษและ  อิอิ  : )
  • ขอให้ยสถ์ทำงานอย่างมีความสุขนะ  แล้วก็อย่าเพ่งหน้าจอนาน  พักสายตามั่งนะจ๊ะ

สวัสดีค่ะ น้องเม้ง

  • ขออภัยที่ตอบช้านะคะ  พี่แอมป์เปิดเทอมแล้วและมีสอนทุกวัน แถมมีงานใหม่เพิ่ม แบบว่าอยู่ดีๆไม่ชอบ  เลยหมุนตัวไม่ใคร่ทัน  ตอนนี้ตัวเป็นเกลียว  หัวเป็นน็อตไปเรียบร้อยแร้ว   : )
  • เรื่องจัดเก้าอี้นี่พี่ก็สงสารเด็กเหมือนกันอะค่ะ  เขาอาจรู้สึกว่าเสียเวลา     แต่พอจัดเสร็จแล้วให้เขียนสะท้อนอะไรออกมานี่  ดูเขาจะเห็นอะไรชัดขึ้น  แล้วก็เห็นคุณค่าของ "การออกแบบ  และ การจัดการการสื่อสาร" มากขึ้น" 
  • แต่เม้งมองไปที่การสะท้อนสังคมโน่นเลย  เขาเรียกมองทะลุ (ผนังห้องเรียน)   : )
  • เวลาจัดเก้าอี้   พี่แอมป์จะบีบเวลาให้เหลือน้อยที่สุด  แล้วสั่งอย่างเด็ดขาดว่าต้อง "เร็ว และ เงียบ"  โดยเฉพาะเด็ก JR (พวกนักข่าว) และเด็ก TV (งานวิทยุโทรทัศน์)  อันนี้ฝึกเหมือนฝึกทหารเลย  เพราะงานของเขาเป็นงานเสี่ยงและลงทุนสูง (ถ้าเขาได้เข้าไปในสายงานนั้นจริงๆน่ะนะคะ)
  • และที่พี่แปลกใจคือ เด็กที่สามารถ นำเพื่อนจัดเก้าอี้ ได้อย่างดีในตอนปีหนึ่ง  พอขึ้นปีสอง  เขามักไปทำงานสโม'คณะ  หรือไม่ก็ไปทำงานองค์การนักศึกษา   แสดงว่าเด็กเขามีคุณสมบัติดีมาตั้งแต่ชั้นมัธยมแล้ว 
  • เม้งชอบจัดเก้าอี้ไหมจ๊ะ (พิสูจน์สมมุติฐาน) อิอิ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท