เรื่องเล่าจากดงหลวง 37 The Turning Point


พระเจ้าอยู่หัวท่านพระราชทานประโยคทองที่ว่า “เราจะสร้างคนทุกคนให้เป็นคนดีไม่ได้ แต่ต้องสนับสนุนคนดีมาปกครอง..”

ท่านคงเคยเห็นการลงแขกทำงานต่างๆมาบ้าง เรียกกันว่าเอามื้อเอาแรงกัน ในปัจจุบันแทบหาไม่ได้แล้ว มีแต่คนทำงานพัฒนาพยายามรื้อฟื้นขึ้นมา แต่ก็ฝืนเต็มทน  ค่าจ้าง เงิน เข้ามาแทนที่จนแม้แต่ในดงหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ก้นบึ้งของมุกดาหาร เพราะความต้องการตัวเงินที่เป็นปัจจัยกลางในการแลกเอาสิ่งของต่างๆเข้ามาในครอบครัวตั้งแต่สิ่งที่จำเป็นในการยังชีพจนของฟุ่มเฟือยต่างๆ ทีวีมีเกือบทุกบ้าน และเปิดกันทั้งวัน ผู้เขียนก็งงเหมือนกันว่าเปิดทำไม ดูก็ไม่ได้ดู  สังคมที่เคยเงียบๆ ก็มีเสียงเพลงวัยรุ่นเปิดดังลั่น นัยว่าเผื่อแผ่ให้คนอื่นฟังด้วย เสียงมอเตอร์ไซด์แสบแก้วหูดังมาไกลโน้น ดังขึ้นเรื่อยๆเมื่อมันมาถึงที่เรานั่งอยู่แล้วแผดเสียง เบิ้ลเสียงก่อนเหลียวมองเราแล้วจากไปทางทิวเขาโน้น ...

 

เจ้าโคตรบทบาทลดลงมาก ได้แต่นั่งส่ายหน้าด้วยสายตาที่เป็นห่วงวันข้างหน้า  แต่ก็แปลกแม้จะมีเด็กติดยาบ้างแต่ไม่มีการลักขโมยของในหมู่บ้านด้วยกัน  แต่หากคนต่างบ้านมาแล้วไม่เข้าหน้าละก็ระวังสิ่งของให้ดี.. ถามผู้เฒ่าว่าชุมชนเราเป็นอย่างไรบ้างตั้งแต่มีถนนสายเปรมพัฒนามานี่น่ะ  ...มันก็สะดวกสบายขึ้น จะเข้าอำเภอก็ไม่ต้องเดินเป็นวันๆเหมือนแต่ก่อนขึ้นมอเตอร์ไซด์แป๊บเดียวก็ถึงแล้ว  แต่มันก็มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่สงบเหมือนเดิมแล้ว วันวันต้องมีเงินจับจ่าย หากไม่เข้าป่าก็ไม่มีกินนะ.. สมัยก่อนเงินมันไม่มีค่าอะไร มีก็ซื้ออะไรไม่ได้ การเอาสิ่งของให้กัน แบ่งกัน เผื่อแผ่กันมันมีค่ามากกว่ามากมายนัก.. 

 มาวันนี้ หากพิจารณาต้นทุนการผลิตข้าว หรือพืชไร่ในวันนี้แล้วเทียบกับสมัยก่อน ทุกคนคงเดาออกว่าอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเตรียมที่ดิน ค่าแรงงาน(ค่าเกี่ยวข้าว ตีข้าว ขนข้าว ฯ) และถ้าหากเกษตรกรครอบครัวใดปลูกพืชไร่มากๆก็ไม่ค่อยมีเวลาไปหากิน เพราะต้องใช้เวลาไปกับพืชไร่นั้นๆ จำเป็นต้องซื้อกินในสิ่งของที่เคยปลูกเคยหาได้ด้วยตนเอง  แม้ว่ายาสมุนไพรที่ดงหลวงจะมีมากมาย และเกษตรกรก็ใช้กันแพร่หลายแต่ก็ยังต้องพึ่งพาการแพทย์ปัจจุบันที่อาการโรคนั้นๆสุดวิสัยแล้ว เงินเข้ามามีความสำคัญกับชีวิตเหมือนสังคมเมืองที่ไม่มีใครพูดถึงประเด็นเหล่านี้แล้ว มีแต่มุ่งหน้าหาเงินด้วยวิธีใดก็ได้ให้มากที่สุด เพราะขึ้นป้ายหน้าบ้านไว้ว่า บ้านนี้อยู่แล้วรวย ดูเหมือนว่าดงหลวงเคยพึ่งตนเองได้มาแล้วในสภาพดั้งเดิมแต่สลัดหลุดออกมาเพราะการพัฒนาแบบพึ่งพาภายนอก แล้วเรากำลังจะสร้างการพึ่งพาตนเองขึ้นมาใหม่ 

สมัยเมื่อกระแสวัฒนธรรมชุมชนกำลังโด่งดังในงานพัฒนานั้น นักวิชาการหลายท่านออกมากล่าวว่า พวกนักพัฒนาชุมชนเป็นพวก “The good old day” กระแสงานพัฒนาพูดคุยกันแต่เรื่องนี้ ดูท่าทีราวกับว่า พรุ่งนี้วันคืนเก่าๆจะกลับมา... แต่แล้วก็กู่ไม่กลับแม้แต่เราๆ ท่านๆ นี่แหละ หันซ้ายหันขวาก็ไม่เห็นมีใครจะวิ่งย้อนกลับไปจุดนั้น  มีแต่ต้อนรับกระแส พอเพียงที่เอามากล่าวกันให้เป็นมนต์ขลังอีกบทหนึ่งในเวที หรืองานเขียนต่างๆ แล้วมันก็จะผ่านไปเหมือนอดีต..

 

ผู้เขียนก็ยืนยันว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็จะต้องพูดกันต่อไปในเรื่องอดีต แต่เป็นการย้อนรำลึกแง่มุมที่จะนำมาปรับให้อยู่ในสถานการณ์ใหม่เช่นปัจจุบัน ่าความสัมพันธ์แบบเดิมๆจะเป็นกระแสน้ำที่ไม่ไหลกลับ แต่ความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีๆก็มีอยู่ แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมมันก็ปรับตัวเช่นกัน งานพัฒนาชุมชนจะเป็นผู้สร้างสายใยใหม่ขึ้นมาในรูปแบบที่สอดคล้องกับยุคสมัย ยืนยันว่า สายสัมพันธ์ต้องอยู่บนสำนึก มิใช่บนผลประโยชน์ 

พระเจ้าอยู่หัวท่านพระราชทานประโยคทองที่ว่า เราจะสร้างคนทุกคนให้เป็นคนดีไม่ได้ แต่ต้องสนับสนุนคนดีมาปกครอง.. 

เช่นเดียวกันครับ ผู้เขียนคิดว่า เราไม่สามารถสร้างสำนึกให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้ กระบวนการทำงานพัฒนาต้องสร้างสำนึกให้แก่บุคคลในชุมชน ต้องเชิดชูชาวบ้านที่มีสำนึก ขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ เป็นปราชญ์ชุมชน เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน..

  
คำสำคัญ (Tags): #test
หมายเลขบันทึก: 81886เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
เห็นด้วยกับที่คุณบางทรายคิดค่ะ “เราไม่สามารถสร้างสำนึกให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้ กระบวนการทำงานพัฒนาต้องสร้างสำนึกให้แก่บุคคลในชุมชน ต้องเชิดชูชาวบ้านที่มีสำนึก ขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ เป็นปราชญ์ชุมชน เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน..” อย่าลืมดูรายการปราชญ์เดินดินคืนนี้นะค่ะ เวลา20.30 น ช่อง 9 เป็นรายการที่ดีมีสาระอีกรายการหนึ่ง

ผมตั้งใจจะดูรายการที่คุณ Ranee กล่าวถึงอยู่ พอดีต้องไปเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาลเลยไม่ได้ดูครับ  เสียดายเหมือนกันครับ

คุณบางทรายลองเข้าWebsite ของโมเดิร์นไนท์ ทีวี นะคะ  มีการย้อนดูได้

 

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

อ่านบันทึกนี้แล้ว เห็นคำตอบอยู่รำไรว่าทำไมเกษตรกรไทยถึงจนลง ทั้งๆที่พื้นที่ปลูกข้าวลดลง..คนเพิ่มขึ้น..ส่งออกข้าวได้มากขึ้น ราคาส่งออกดีขึ้น ถ้าดูตามตรรกกะเกษตรกรน่าจะรายได้ดีขึ้นแต่ทำไมถึงเป็นตรงกันข้าม..ขอบคุณที่ทำให้เบิร์ดมีอะไรไปนั่งคิดต่อค่ะ..ส่วนรายการปราชญ์ชาวบ้านเบิร์ดติดตามดูอย่างค่อนข้างใกล้ชิดเลยล่ะค่ะ ( ถ้าไม่ติดภาระอื่น )ขอบคุณคุณ Ranee ที่แนะนำรายการดีๆให้ได้ดูค่ะ..

  • สวัสดีครับคุณเบิร์ด
  • ผมเพียงทำหน้าที่เอาภาพชุมชนแห่งหนึ่งมาเผยแพร่ให้สังคมกว้างได้เห็นแง่มุมบางแง่มุมบ้างเท่านั้น ในขณะที่สังคมใหญ่ก้าวไปไกลแล้วถึงสิ่งที่ไกลตัวเกินไปกว่าที่ชาวบ้านจะก้าวตามทัน
  • เราเพียงทำหน้าที่ให้ชุมชนตรวจสอบตนเองในฐานะที่เคยพึ่งตนเองได้มาแล้ว ได้ทบทวนเพื่อกำหนดและเลือกทำกิจกรรมที่เสริมสร้างการพึ่งตนเองเท่าที่จะกระทำได้
  • ขอบคุณครับคุณเบิร์ด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท