Communication Literacy กับสัญชาตญาณของครู


การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร คือการฝึกให้เด็กๆเห็นความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ชีวิตจริงๆ และต้องพูดหรืออธิบายให้เขาเห็นจริง เพื่อให้เขาเห็นว่าทุกคน ทุกเหตุการณ์ และ ทุกอย่างรอบตัวมีคุณค่า หากรู้จักนำมาเชื่อมโยงกันและทำให้เราเห็นคำตอบของชีวิตได้ได้ ถ้าเพียงแต่เรารู้จักคิด...

(19)

ข้อสังเกตการฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร : (เฉพาะบุคคล) 


        เฉพาะกรณีของดิฉัน ตั้งแต่เริ่มต้น  (คิดเอาเองว่าเรากำลัง)  สอนทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารนั้น   ดิฉันมีแนวการฝึกการรู้เท่าทันการสื่อสาร และการฝึกนิสัยเด็กๆอย่างง่ายเท่าที่สังเกตตัวเองได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

        1. สำหรับ  เนื้อหาวิชา ในรายวิชาต่างๆ ดิฉันสอนตามลำดับคาบเรียนตามแผนการสอนและแนวการสอนปกติ

        2. สำหรับ  การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร   นั้น  ดิฉันไม่สามารถกำหนดวิธีการสำเร็จรูปได้   ไม่สามารถกำหนดคาบเรียนที่แน่นอนได้  และไม่เคยกำหนดได้เลยจนทุกวันนี้    ............แต่จะสอดแทรกตามความเหมาะสม โดยดูสถานการณ์ในห้องเรียนเป็นหลัก  

ก่อน(ลงมือ)ฝึก  ดิฉันต้อง....

  • สังเกตอารมณ์ในภาพรวมของทั้งห้อง ณ ขณะนั้น
  • สังเกตอารมณ์ของผู้เรียนแต่ละคน ณ ขณะนั้น
  • สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนทุกคน  ณ  ขณะนั้น
  • "จับ" สถานการณ์ ที่ควรแก่การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ณ ขณะนั้น
  • "จับ" ให้ได้ว่ามีเด็กที่จะเข้าใจ และ สามารถสื่อสาร  ส่งผ่าน และถ่ายทอด สิ่งที่เราพูดได้บ้างไหม (คล้ายๆ Change Agent กระมังคะ)  ถ้ามี ..... เราจะสื่อสารได้ง่ายขึ้นเยอะ
  • ใช้สัญชาตญาณ  บางครั้ง....สัญชาตญาณจะบอกเราเองว่าควรลงมือทำไหม

        และกระบวนการทั้งหมดนี้...บางทีใช้เวลาไม่ถึง 5 วิ  และในบางครั้ง ก็เกิดขึ้นในแว่บเดียวที่เห็น   เพราะเรารู้จักเด็กที่สอนอยู่แล้วเป็นอย่างดี    เหมือน.....คือคล้ายกับแม่ที่รู้ว่าลูกของเราเป็นอย่างไร 

         ดิฉันอยากเปรียบเทียบอย่างง่ายเช่นนี้นะคะ........

ขณะ(ลงมือ)ฝึก  ดิฉันต้อง.....

  • อ่านอารมณ์ผู้เรียนทุกคนให้ทัน 
  • คุมสติและคุมใจตนเองให้นิ่ง  โกรธไม่ได้เป็นอันขาด  และไม่มีสิทธิ์ที่จะโกรธด้วย  เพราะนี่คือหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดของเรา
  • สื่อสารอย่างระมัดระวังที่สุด    ดิฉันต้องเตือนสติตนเองอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังทำงานกับจิตใจคน  ต้องพร้อมสูงสุด  และระมัดระวังอย่างที่สุด  เพราะ"จิตใจที่ดีงามของเขาคือสิ่งมีค่าที่สุด"
  • ระมัดระวังการสรุปจบ  ต้องให้กระทบใจสูงสุด (นึกถึงเรื่อง Deep Impact นะคะ)
  • ใช้สัญชาตญาณ  บางครั้ง....สัญชาตญาณจะบอกเราเองว่าควรลงมือทำอย่างไร
  •  

            เนื่องจากผู้เรียนแต่ละกลุ่ม แต่ละห้อง แต่ละเอก มีธรรมชาติไม่เหมือนกัน....บางทีเราไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าเลยว่า ณ วันนั้น อารมณ์ผู้เรียนเป็นอย่างไร ต้องดูหน้าดูตาเธอก่อน หลายๆครั้งดิฉันใช้สัญชาตญาณล้วนๆ และบางทีก็อาศัยโชคเหมือนกัน.....

         ดิฉันต้องประเมินสถานการณ์ในห้องเรียนอย่างรวดเร็วและระมัดระวังอย่างยิ่งก่อนลงมือ และดิฉันต้องเตรียมพร้อมมาก่อนทุกครั้งเสมอ 

         อาจเหมือนแสดงละครเวที ซึ่งเป็นเวทีแสดงสดกระมังคะ นักแสดงต้องซ้อมจนเข้ามือแล้วและต้องพร้อมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเจอผู้ชมแบบใดก็ต้องพยายามรับมือให้ได้ ต้องด้นไปได้ ( improvise)

         สำหรับนักแสดงที่ไม่เก่งอย่างดิฉัน ต้องฝึกสื่อสารทุกรูปแบบอยู่เป็นเดือน ถึงอย่างนั้นแล้วก็ยังล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน และยังคงกลิ้งขลุกๆๆมาจนบัดนี้ แต่ดิฉันก็ยังพยายามต่อไป เพราะรู้สึกว่าการสอนแบบนี้คือตัวตนของเรา

         การสอนแบบให้เด็กๆฝึกทำอะไรสักอย่างแล้ว   สรุปเป็นข้อคิด เป็นแนวทางที่ดิฉันถนัด และจะนำเสนออย่างสบายใจ ไม่อึดอัด

         ดิฉันเคยสอนตามเนื้อหาวิชาการเป๊ะๆโดยไม่พูดอะไรอื่นครบหนึ่งสัปดาห์ (คือดิฉันท่องมาก่อนสอนอย่างตั้งใจอีกเหมือนกัน ) วันหนึ่งพวกเด็กๆรวมกลุ่มกันเข้ามาขอพบ แล้วถามว่า อาจารย์มีอะไรไม่สบายใจรึปล่าวคะ ทำไมอาจารย์ไม่สอนอย่างที่อาจารย์เคยสอนล่ะคะ หนูรู้สึกว่าอาจารย์สอนเหมือนไม่มีความสุขนะคะ

        แมวเอ๊ยดิฉันเลยพูดไม่ออก อาทิตย์ถัดมาดิฉันกลับตัวกลับใจกลับมาป่วนวงการเหมือนเดิม โดยอ้างว่ากลัวพวกเธอต้มยาสูตรพิเศษมารักษา ตอนนี้หายป่วยแล้ว ยาต้มไม่ต้องเอามา... ขอบใจ... แล้วเธอก็ฮากันครืน!

หลังการฝึก   ดิฉันต้อง.........

  • ขอโทษนักศึกษา    ต้องขอโทษเขาทุกครั้งที่ฝึกเสร็จ เพราะแม้ว่าเราปรารถนาดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเด็กๆทุกคนจะรู้สึกและสัมผัสได้เหมือนๆกัน ดังนั้นต้องแสดงการให้เกียรติเขาเสมอ

     

        การออกแบบกิจกรรม การฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร นั้น  งานหนักของผู้สอน  คือ   ต้องฝึกให้เขาเห็นความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ชีวิตจริงๆ        และต้องพูดหรืออธิบายให้เขาเห็นจริง

        เพราะจุดมุ่งหมายหลักคือฝึกให้เขาเข้าใจตนเองโดยพื้นฐาน เข้าใจความเป็นปุถุชนเป็นเบื้องต้น  และเข้าใจชีวิตเป็นเบื้องปลาย ด้วยกิจกรรมอย่างง่าย ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวในชั้นเรียน เพื่อให้เขาเห็นว่าทุกคน ทุกเหตุการณ์ และ ทุกอย่างรอบตัวมีคุณค่า หากรู้จักนำมาเชื่อมโยงกันและทำให้เราเห็นคำตอบของชีวิตได้ได้ ถ้าเพียงแต่เรารู้จักคิด...

        และแม้ว่าผู้สอนจะมิใช่ผู้รอบรู้หรือเป็นผู้เก่งกาจสามารถในการดำเนินชีวิต แต่มิได้หมายความว่าควรจะละเลยไม่สอนเรื่องนี้ไปเสีย

        ขอเรียนเสนอว่าผู้สอนน่าจะจะพยายามปรับวิธีสอน...ให้เหมาะแก่ประสบการณ์เท่าที่ตนมี    (เพื่อนดิฉันอ่านมาถึงตรงนี้ก็ล้อว่า...รู้ตัวซะด้วย... แต่ดิฉันก็มิได้ต่อล้อต่อเถียงกับเธอ กะว่าเดี๋ยวพิมพ์เสร็จครบหมดแล้วก็จะไปรับประทานส้มตำเพียงคนเดียวโดยไม่ง้อพวกเธออีกต่อไป)

        ดิฉันตั้งเป้าหมายการฝึกว่า จะฝึกนิสัยเด็กๆให้เรียนรู้ที่จะเข้าใจคน ด้วยความเชื่อว่า เมื่อเขาหัดเข้าใจคน ก็อาจส่งผลให้ค่อยๆเข้าใจชีวิตด้วย

        เมื่อเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ก็อยากให้เขาพยายามเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ไม่ด่วนตัดสินคน ไม่โกรธง่าย ไม่เกลียดง่าย และมีใจมั่นคงดี

         ส่วนวิธีการฝึกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้   ก็เป็นวิธีพื้นๆที่เป็นกิจกรรมธรรมดาในห้องเรียนหรือในชีวิตประจำวัน เป็นการฝึกวิธีคิดพื้นฐาน มิใช่ทักษะวิชาการขั้นสูงแต่อย่างใด

        ขอเรียนคุณครูอาจารย์ว่าเหล่านี้เป็นวิธีสอนที่ท่านทราบดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะท่านที่เรียนสายครู ก็จะเข้าใจตลอดทั้งกระบวนการ แต่ดิฉันไม่เคยเรียนครูและเพิ่งรู้จักวิธีการเหล่านี้ และเพิ่งฝึกใช้ และจากนั้นก็ได้เห็นข้อจำกัดของตนเองเมื่อพยายามสอนวิธีคิด ได้พบปัญหาจริงๆในการสอน

        แต่นับเป็นโชคดีที่มีลูกศิษย์ที่เข้าใจธรรมชาติการสอนของดิฉัน และได้ให้โอกาสดิฉันสอนรวมถึงให้ข้อสังเกตติชมและช่วยกันปรับแก้ จนพอจะมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างว่ามีลำดับขั้นตอนอย่างไร

        ดิฉันจึงขอโอกาสนำเสนอในที่นี้  ให้ท่านผู้รู้ช่วยกรุณาวิจารณ์และแนะนำ      ทั้งนี้เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้สนใจที่แวะเข้ามาอ่านค่ะ

         อนึ่ง ...ทั้งหมดที่นำเสนอนี้ เป็นการพยายามคิดเองเขียนเองตามที่ได้ปฏิบัติจริง โดยไม่ได้เปิดหนังสือวิชาการเพื่ออ้างอิงในเบื้องต้น จึงยังมีอะไรที่ตกหล่นบกพร่องอยู่มากและยังไม่ใช่แนวการสอนที่ถูกต้องเต็มรูป นะคะ หากนักศึกษาเข้ามาอ่าน ขอให้อ่านเป็นกรณีศึกษา และหากสนใจวิธีสอนการเช่นนี้ ....ได้โปรดเรียนถามท่านผู้รู้ในสายครูก่อน  เพื่อปรับแก้ให้ถูกต้องเหมาะสมก่อนนำไปใช้นะคะ

..........................................................

ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์ วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) ความเห็นเพิ่มเติมที่ 25 ( 22 ต.ค. 2549) และ   ความเห็นเพิ่มเติมที่ 26 ( 22 ต.ค. 2549)

หมายเลขบันทึก: 81861เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท