Book Tag 2...อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ จากพุทธทาสภิกขุ


ธรรมะคือการธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความรอดทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ทั้งของตนเองและของผู้อื่น

เล่มต่อไปคงเลือกจากกลุ่มวรรณกรรมไทย  ส่วนมากอ่านสมัยเรียนปริญญาตรี

ชอบอยู่หลายเรื่องเหมือนกันค่ะ  ที่จริงเลือกผู้เขียนมากกว่า

ผู้ชนะสิบทิศ  คิดว่าเป็นความฉลาดของผู้เขียน คือ ยาขอบ

งานของ วณ.ประมวญมารค  ตัวละครมีเหตุผลที่มาที่ไปของพฤติกรรมพอสมควร  นางเอกมีวิธีคิดที่ทันสมัยดี 

กลอนของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ชอบมาก  ภาษาสวย คม และเสียดสี  ได้อ่านจากตู้หนังสือของสโมสรนิสิต  ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามสมัยนั้น  ขนาดเป็นแรงบันดาลใจเรื่องการแต่งกลอนของเรา

"คำพิพากษา"  ของชาติ กอบจิตติ ก็ดี  แต่บีบคั้นไปหน่อย 

รัก "หุบเขากินคน"  ของมาลา คำจันทร์    เป็นเรื่องของกลุ่มนักเรียนลูกเสือที่เดินป่าในพื้นที่อีสานใต้  แล้วหลุดไปสู่ป่าในอดีตสมัยขอมเรืองอำนาจ    อยากให้เด็กๆได้อ่าน  สนุกไม่แพ้แฮร์รี่ พอตเตอร์  ได้ความรู้ภูมิปัญญาป่าไทย  และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างฐานะทางครอบครัว     ภาษาดีมาก   อ่านแล้ว  เห็นภาพ  ได้ยินเสียง  ได้กลิ่น  ยังกับเข้าไปอยู่ในป่าจริง 

เราหยุดอ่านหนังสือประเภทวรรณกรรมไปพักใหญ่ เมื่อเรียนต่อทางเศรษฐศาสตร์   หนังสือที่ต้องอ่านหลุดไปอีกแนวหนึ่งเลย

พยายามหาวรรณกรรมอ่าน แต่พบว่า ขณะนี้  หาวรรณกรรมดีๆอ่านยากมาก   มีแต่หนังสือแนวแฟนตาซี  แนวเปิดเคล็ดลับดารา  หนังสือสำหรับคนอยากรวย อยากสำเร็จในโลกของการแข่งขัน

จึงได้แต่อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับงานชุมชน งานเชิงสังคม  งานวิชาการ

ชอบบทความของอาจารย์นิธิ   ที่ชอบมากที่สุดคือ เรื่อง "รั้ว"  แค่ไม้ไม่กี่ท่อนปักลงไปบนผืนดิน ก็เกิดระบบกรรมสิทธิ์  เกิดการเป็นเจ้าของ  การกีดกัน  การเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้คน

จนกระทั่งปีที่แล้ว  ได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง

อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์  จากพุทธทาสภิกขุ

เป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนโดยท่านพุทธทาสซึ่งตัวเองได้อ่าน  ต้องขอบคุณเพื่อนที่มอบหนังสือดีๆให้

เดิมเราชอบอ่านแต่แนวมหายาน  แนวเต๋า  เพราะชอบที่บอกให้ทำตัวเสมือนถ้วยชา  "ว่างเปล่าแต่เป็นประโยชน์" และปฏิบัติธรรมได้ทุกขณะจิต ทุกขณะทำงาน  (จึงไม่ชอบเวลาเจอคนไปปฏิบัติธรรมแล้วบอกว่า "สบายดี เราไม่ต้องทำอะไรเลย ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว" )

เดิมไม่ค่อยชอบแนวหินยาน ที่เหมือนจะให้ดึงตัวเองออกจากสังคม หาแต่ทางสว่างให้ตัวเอง  (อาจเป็นการตีความผิดๆของตัวเอง)

หนังสือของท่านพุทธทาสเยี่ยมมาก

เลือกเล่มนี้ เพราะคุณค่าของหนังสือ และที่มาของหนังสือ

จากนั้นเราจึงได้อ่านเล่มอื่นๆของท่านพุทธทาสต่อไป  ถือว่า เราช้ามากที่เพิ่งเริ่มอ่านงานของท่าน

ท่านพุทธทาสสอนธรรมะที่เป็นแก่น มีเหตุมีผล  คล้ายมหายานที่ว่า ธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความรอดทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต.... ทั้งของตนเองและของผู้อื่น  

ชอบมากหลายๆตอน โดยเฉพาะที่ท่านบอกว่า   คนเรามีชีวิตอยู่ได้ ต้องมีปัจจัยห้า   นอกจากปัจจัยสี่แล้ว ปัจจัยที่ห้า คือ จิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงชีวิต  ปิติสุขช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต  แต่ต้องเป็นด้านดี และไม่หลง 

เรามัวแต่สอนเรื่องปัจจัยสี่ตามฝรั่ง  มิติจิตวิญญาณจึงหายไป หรือถูกมองข้าม ไม่ระมัดระวัง   การเลือกปัจจัยที่ห้า ขึ้นอยู่กับความชอบ ของแต่ละคน ซึ่งมักเป็น "วัตถุที่กำหนดจิต"

กาลามสูตรก็น่าสนใจมาก...  นอกจากตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาของความเชื่อแล้ว   ท่านสอนกระบวนการเรียนรู้แบบตะวันออก   ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเวลาเราไปสอนหนังสือ  ที่นักศึกษามักจะเชื่อเพราะเป็นครู  เชื่อเพราะว่า จะเป็นคำตอบสำหรับการทำข้อสอบ และเป็นที่มาของคะแนน

 

เล่มต่อไป คิดว่า จะเลือกจากกลุ่มงานตำราและวิชาการค่ะ

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พุทธทาส
หมายเลขบันทึก: 81776เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เคยไปดูกรมศิลป์ฯ จัดแสดงนาฎศิลป์เรื่องผู้ชนะสิบทิศกับคุณยายสมัยเด็ก ๆ (อ.เสรี เล่นเป็นมหาเถร) สนุกดีครับ เสียดายสมัยนี้ไม่มีแล้ว
  • ท่านพุทธทาสเขียนหนังสืออ่านง่ายครับ ชอบเหมือนกันโดยเฉพาะคู่มือมนุษย์
  • ขอบคุณอาจารย์ที่มาแลกเปลี่ยนครับ

ดูเหมือนหลายๆคนจะชอบ "คู่มือมนุษย์"นะคะ

เด็กๆชอบดูละครกรมศิลป์ฯมาก ส่วนมากจะดูโขน ดูเกือบทุกตอน  สมัยนั้นอาจารย์เสรี หวังในธรรม เยี่ยมมาก เป็นตัวชูโรง  ดูสนุก ฉากสวย  ชอบมีมุขเสียดสีการเมือง   เสียดายที่ไม่ได้ดูเรื่องผู้ชนะสิบทิศค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท