สัมภาษณ์พิเศษ ตอน "The Chol สุดยอดนักกิจกรรม" -- www.pidterm.com-- (Editor's cut)


คือ อย่าท้อและอย่ากลัวที่จะพลาด หากเราตั้งใจดีครับ ... บางสิ่งบางอย่างที่ดี อาจจะต้องฝ่าฟันเอา ถ้ามันทำได้ง่ายๆ มันก็คงเกิดไปนานแล้ว ... จงเชื่อมั่น ... การพลาดเป็นสิ่งธรรมดาที่เราต้องเรียนรู้ ... แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องทำมันด้วยความถ่อมตน กระตือรือร้น รับผิดชอบ และใฝ่เรียนรู้

พอดี 2-3 สัปดาห์ก่อน เพื่อนผมคนหนึ่งเค้าทำเว็บไซต์ www.pidterm.com และมาสัมภาษณ์ผมในฐานะคนที่เคยเป็นนักศึกษาทำกิจกรรมคนหนึ่ง ... ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่า มันเป็นเรื่องดีมากที่ผมจะได้มองตัวเองย้อนกลับไปทบทวนความเป็นไปของตัวเอง และได้เรียนรู้อะไรต่างๆ ... ซึ่งผมอยากจะแชร์กับทุกๆคน 

Extreme Event “สุดยอดนักกิจกรรมนักกิจกรรมต้องห้ามพลาด

บทสัมภาษณ์ อาจารย์ ชล บุนนาค อาจารย์หนุ่มวัย 24 ปีลูกแม่โดม กับความสามารถที่ไม่ธรรมดาบนเส้นทางนักกิจกรรมที่เรา ปิดเทอม ภูมิใจนำเสนอ

(ถ้าคุณไม่เคยทำกิจกรรมเราแนะนำให้อ่าน ถ้าเคยทำเราอยาก ให้ลองอ่าน แต่ถ้าไม่คิดจะทำระวัง!หมดอายุ)

 

วันนี้ทีมงานปิดเทอมของเรามีโอกาสได้มาเยือน 1 ในคณะที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นก็คือคณะเศรฐศาสตร์ นั่นเองโดยเป้าหมายของเราในครั้งนี้ก็คือการสัมภาษณ์ อาจารย์ ชล บุนนาค ผู้ที่ในวงการนักกิจกรรมรู้จักเขาเป็นอย่างดี ถ้าเอ่ยชื่อชลหละก็เป็นต้องร้องอ๋อทุกคนแน่ เพราะการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชลทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ จึงทำให้เราไม่ลังเลที่จะค้นหาและนำบทสัมภาษณ์ มาฝากชาวปิดเทอมก่อนใคร ในบทสัมภาษณ์พิเศษตอน “The Chol สุดยอดนักกิจกรรมอ๊ะว่าแล้วอาจารย์ ชล ก็มาพอดีเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปอ่านบทสัมภาษณ์กันเลยครับ

 

 --- อาจารย์เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ และทำอะไรมาบ้าง                

ผมเริ่มทำกิจกรรมจริงๆ คือ เป็นผู้จัดงานจริงๆก็คงเป็น ม.3 ตอนนั้นอยู่ชุมนุมลูกเสือ ก็ทำกิจกรรมพวกเป็นพี่เลี้ยงค่ายต่างๆของโรงเรียน ตั้งแถวรับแขกสำคัญในงานสำคัญของโรงเรียนและของชาติ(งานลูกเสือแห่งชาติ) หรือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ทั่วไปครับ แล้วต่อมาจึงเป็นประธานชุมนุมลูกเสืออยู่ได้ 2 ปี (ม.4 ม.5) ตอนม. 6 จึงได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย                 

ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็ทำกิจกรรมในคณะ เป็นประธานคณะกรรมการนักศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครับ และก็เป็นผู้ประสานงานของเครือข่ายผู้นำนักศึกษาทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 จากการโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำนักศึกษาทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้นในปี 2546 ตอนอยู่ปี 3 และจากนั้นก็เป็นผู้ประสานงาน Staff จัดงานในรุ่น 2 และ รุ่น 3               ตอนปี 4 ได้เป็นประธานเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย (ESNOT) ครับ  

-- เห็นได้ข่าวว่า อาจารย์ทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย และไปถึงระดับนานาชาติด้วยนี่ครับ                

อ้อ ใช่ครับ ตอนประมาณ ม. 5 เป็นครั้งแรกที่ได้ไปเห็นกิจกรรมนอกโรงเรียน คือ มีเพื่อนคนนึงชื่อ เอกราช ซาบูร์ เค้าทำองค์กรระหว่างประเทศที่ต่อสู้เรื่องสิทธิเด็ก เค้าชวนผมไปร่วม จริงๆก็ไม่ค่อยได้ไปช่วยหรอก เพราะวุ่นวายเรื่องกิจกรรมตัวเอง แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาให้ผมไปประชุมเกี่ยวกับกองทุน SIF (Social Investment Fund) ที่จังหวัดสุรินทร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่ามี NGOs อยู่ในโลกด้วย และส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาอยู่เองและลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคม ตอนนั้นก็นึกในใจว่า ทำไมเราไม่เคยรู้ว่ามีอะไรแบบนี้อยู่ด้วยล่ะ ถ้ารู้นี่เราคงช่วยอะไรพวกเขาได้เยอะเลยนะเนี่ย... ก็เป็นคำถามอยู่ในใจมาตลอดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง และส่วนตัวก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองควรทำ เพราะเราบังเอิญเป็นคนที่เห็นโลกตรงนั้น และเท่าที่รู้คือ มีไม่กี่คนที่รู้ ....                 

จากนั้นตอนจะเข้า เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถึงได้ไปร่วมกิจกรรมกับอีกองค์กรหนึ่ง คือ สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civic Net) ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับอ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเกี่ยวกับเครือข่าย และกระบวนการคิดต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงระบบ และเครื่องมือต่างๆเช่น mind mapping, 6 thinking hats เป็นต้น และก็ได้เจอองค์กรชุมชน พี่ๆ ป้าๆ น้าๆ ที่เคลื่อนงานชุมชนเข้มแข็งจากทั่วประเทศ และก็ได้ร่วมจัดงานบางงานกับเขาบ้าง เช่น งานถนนสายวัฒนธรรมในปี 2545 หรืองานวันเด็กที่แพร่งภูธร ก็ทำกิจกรรมกับ Civic Net จนถึงประมาณ ปี 2 น่ะครับ เพราะปี 3 ต้องทำงานในคณะเต็มตัวแล้ว                

 พอจบมาใหม่ๆก็รวมตัวกับพี่ๆ เพื่อนๆที่เคยไปค่ายผู้นำนักศึกษาทั่วประเทศฯ ตั้งองค์กรชื่อ IDEA หรือสถาบันเพื่อการพัฒนากิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งเดิมตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากิจกรรมนอกห้องเรียนให้มีความสำคัญทัดเทียมกับการเรียนการสอนในห้อง ปัจจุบันตัว IDEA เองก็เน้นไปที่กิจกรรมการเสริมสร้างคุณธรรม ความดีในเยาวชน                 

 สำหรับนานาชาติก็ ผมว่าเป็นเรื่องบังเอิญและโอกาสมากกว่านะ ผมเคยไป 4 ครั้ง ครั้งแรกตอนอยู่ชุมนุมลูกเสือที่สวนกุหลาบฯ ตอนนั้นไปร่วมงาน ชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 19 ที่ประเทศชิลี ไปเมืองนอกครั้งแรกเลย นั่งเครื่องบินไปกว่า 38 ชม. แต่ประสบการณ์ที่ได้มานั้นเยอะมากๆ ครั้งที่ 2 และ 3 เป็นตอนอยู่ปี 4 ครับ มีไปประชุมวิชาการนักศึกษาเศรษฐศาสตร์แห่งอาเซียน Economix ที่อินโดนีเซีย ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งคือ เป็น 1 ใน 3 ตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วม Pan-Asian Youth Leadership Summit ที่ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น งานสุดท้าย เมื่อปลายปีที่แล้วคือ Global Youth Leadership Summit ที่ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา สองงานหลังสุดจัดโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แต่จริงๆก็จะเรียกว่าทำกิจกรรมนานาชาติคงยังไม่ได้ เพราะยังไม่เคยมีโครงการอะไรเกิดขึ้นในระดับนานาชาติเลยน่ะครับ ไปร่วมกับเค้าอย่างเดียว 

--  จริงๆแล้วทำไมถึงทำกิจกรรมครับ?                

ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรเลยครับ คิดว่ามันไม่มีคนจะทำ ไม่มีคนอาสาหรือช่วยงานโรงเรียนก็เลยเข้าไปทำ อย่างตอนนั้นทำลูกเสือ คนไม่ค่อยอยากทำเพราะดูฝึกหนักและใช้แรงงาน                

แต่หลังๆนี่คิดต่างไป .. จากที่ไปสุรินทร์และร่วมกิจกรรมอื่นๆได้เห็นโลกกว้างขึ้น เลยกลับมาคิดว่า ... จริงๆแล้วพวกเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่นเขา เราก็ควรจะทำประโยชน์อะไรให้คนอื่นบ้าง ... ผมเคยเชื่อช่วงนึงเลยนะว่ากิจกรรมเยาวชนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้เลย จริงๆตอนนี้ก็ยังเชื่อ แต่ส่วนตัวตอนที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มองว่ามันเป็นการทดลองการเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่า คือ ถ้าใครอยากโตไปเป็นนายกฯหรือคนใหญ่คนโต และพัฒนาประเทศ ถ้าในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นงานที่ง่ายกว่า ยังพัฒนาไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสังคมนี่อย่าไปหวังมากเลย ตัวเองก็เลยทำกิจกรรมมาเรื่อย ทดลองและเรียนรู้เพื่อโตขึ้นไปจะได้ไปเปลี่ยนแปลงสังคม 

-- แล้วอาจารย์ทดลองแล้วได้อะไรมาบ้างครับ ?                               

จากที่ผมผ่านมา ผมว่า กิจกรรมนักศึกษาเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆแหละ แต่มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยน ณ เวลาที่นักศึกษาทำกิจกรรม แต่กิจกรรม จะสร้างให้นักศึกษามีได้เรียนรู้ตัวเอง มีทักษะการทำงานและการอยู่กับผู้อื่น และถ้ากิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมออกแนวบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม จะยิ่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะของนักศึกษา ซึ่งแน่นอนว่า หากนักศึกษาได้กระจายตัวไปในสาขาอาชีพต่างๆ และต่างมีจิตสำนึกสาธารณะ ย่อมมีโอกาสที่จะผลักดันให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น                

ฉะนั้นถ้ากิจกรรมดีจริงๆ มีประโยชน์ต่อสังคม และมีการจัดการที่ดี รองรับคนจำนวนหนึ่งและทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ อะไรดีๆจะเกิดตามมาอีกมาก  ซึ่งกิจกรรมดีๆเหล่านี้ก็ต้องการการสนับสนุนและพัฒนา ผมจึงหันมาจับเรื่องการพัฒนากิจกรรมนักศึกษา ตอนนี้ก็เพิ่งตั้งกลุ่มศึกษาและพัฒนากิจกรรมนักศึกษาขึ้นมาเพื่อการนั้น โดยจะใช้กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มาเป็นเครื่องมือหลักในการทำกิจกรรม                 

เรามองว่า ถ้าเราให้กลุ่มกิจกรรมที่ทำงานประเภทเดียวกัน อย่างเช่น ค่ายอาสาฯ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คือ มีประสบการณ์ มีกิจกรรมอะไรก็มาเล่าสู่กันฟัง มีปัญหาอะไรใครแก้ได้ก็คุยกันว่าแก้อย่างไร มันก็จะช่วยให้กิจกรรมเหล่านี้แก้ไขปัญหาที่เจออยู่ได้ นอกจากนี้ก็จะนำไปสู่การเกิดเครือข่ายของกิจกรรมประเภทเดียวกัน นำไปสู่การช่วยเหลือ ร่วมมือ และคิดสิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ เรื่องนี้ขนาดในระดับนานาชาติยังสนใจเลย ผมไปเล่าให้เพื่อนๆที่การประชุม ฟังเค้าก็อยากให้มีแบบนี้ในเวทีนานาชาติด้วย 

--- อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้หันมาทำกิจกรรม และทำยังคงทำอยู่ตอนนี้ไม่ท้อไม่ถอยขนาดนี้ครับ?                 

คือ ผมว่ามันคงไม่เป็นจุดเปลี่ยนน่ะครับ แต่มันก็คงค่อยๆเปลี่ยนน่ะครับ อย่าง ครอบครัวก็มีส่วนสำคัญมากนะครับ แม่ผมเป็นนักกีฬาพุ่งแหลนของจุฬาฯ ส่วนคุณพ่อเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล และประธานชมรมการละครของ ม.ขอนแก่น ตอนที่ท่านเรียนอยู่ ท่านก็เลยเข้าใจและก็สนับสนุนแนะนำให้ทำกิจกรรมมาตลอด ให้เรียนโน่น เรียนนี่ ซึ่งก็หล่อหลอมให้เราชอบทำกิจกรรมไ ม่อยู่เฉยๆ และพอมีโอกาส พ่อแม่ก็จะส่งเสริมให้ลอง ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เวลาท้อท่านก็ช่วยให้กำลังใจและให้แง่คิดดีๆ                

 คุณครู และโรงเรียนก็มีส่วนอย่างมากๆ ในการทำให้ผมเป็นผม สวนกุหลาบฯ นี่มีชื่อในเรื่องกิจกรรมมานาน และผมว่าผมเองก็เป็นผลผลิตของโรงเรียนเหมือนกันครับ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และเป็นหลักในการทำงานในปัจจุบัน 2 อย่าง คือ ความผิดพลาดทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ... หากเราตั้งใจดี อย่ากลัวที่จะลองทำ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เวลาที่คิดอะไรใหม่ๆ ดีๆออกได้ ผมจะไม่ลังเลที่จะเริ่มและลองทำเลย ... เพียงแต่ก็อย่าพลาดให้มันมากนัก คิดให้รอบคอบก่อน และถ้าทำเต็มที่แล้วก็เต็มใจรับผลของมันไม่ว่าจะดีหรือร้ายแล้วเรียนรู้จากผลนั้น                

อีกเรื่องคือ การทำความดีนั้น เราต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนค่อยๆรินน้ำชาลงในถ้วยชา ตอนแรกคนอาจยังไม่เห็น แต่เมื่อมันมากในระดับหนึ่ง จนปริ่ม คนจะเริ่มเห็น และเมื่อเราทำต่อไป ชาจะล้นออกนอกถ้วย ก็คือ คนรอบๆตัวเราก็จะทำดีตามเราไปด้วย ข้อความนี้ อ.สุขะชัย ศุภศิริ เป็นคนบอกผมไว้ และมันทำให้ผมยังคงทำสิ่งดี ณ วันนี้ แม้ตอนแรก อาจจะดูแปลก หรือคนอื่นยังไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราทำด้วยความตั้งใจดีจริงๆ สักวันคนจะเห็นและสังคมก็จะเปลี่ยนไป ...หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ หากจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นหรือสังคม คนแรกที่ต้องถูกเปลี่ยนคือ ตัวเรา   แต่เรื่องพวกนี้ พูดไปก็อาจจะเข้าใจลำบาก มันต้องล้มเอง ลุกเอง รู้เอง ถึงจะค่อยๆเข้าใจ                 

อีกอย่างคือ การที่ได้พบว่า มันยังมีคนเหมือนเราอยู่ในโลกนี้อีกมากก็เป็นกำลังใจให้เราทำกิจกรรมต่อไปเหมือนกัน ... ผมเจอเพื่อนอีกหลายคน หรือตอนนี้ก็มีอีกหลายๆกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น YIY (กลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม) Blackbox หรือกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น เวลาที่เราเจอคนคิดเหมือนกัน เวลาเรามีปัญหา เราก็จะให้กำลังใจกัน ...                 

น้องๆบางคนอาจรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีเพื่อนที่คิดเหมือน หรือถ้าอยากทำอะไรเพื่อสังคมอาจจะดูซีเรียสเกินไปสำหรับเพื่อนๆ ... สิ่งที่ผมแนะนำน้องเสมอคือ ให้พูดสิ่งที่ตัวเองคิด ที่ตัวเองสนใจ แม้คนที่เจอเราแรกๆอาจจะรับเราไม่ได้ แต่คนเหล่านั้นจะพาคนที่เหมือนเรามาหาเราเอง ...เรื่องนี้ผมประสบกับตัวเองเลยครับ 

-- อาจารย์ทำกิจกรรมเยอะแบบนี้แบ่งเวลายังไงครับ?                

ตอนสมัยเรียนผมถือหลักอย่างหนึ่งครับคือ ทำทุกอย่างให้เต็ม 100%  คำว่าเต็มที่ 100% หมายถึง เวลาที่เราเรียนหนังสือ เราก็ทำเต็มที่ เข้าห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดเรียน อ่านหนังสือตอนเช้า หรือตอนกลับบ้าน ส่งงาน      ส่วนเวลาที่เราทำกิจกรรมก็คือ ต้องเต็มที่กับมัน ครุ่นคิดและหาทางทำให้มันดีที่สุด และรับผิดชอบมันอย่างเต็มที่            และสำคัญคือ ต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่าจริงๆ คือ บางคนอาจจะคอยบอกว่า ฉันไม่ว่าง ไม่มีเวลา สำหรับผม ผมคิดว่า ถ้าคุณจะบอกอย่างนั้นเนี่ย ลองเช็คดูก่อนว่า ในวันนึง เราใช้เวลานอนกี่ชั่วโมง บิดขี้เกียจกี่นาที แต่งตัวกี่นาที นั่งรอเพื่อน เพื่อไปไหนต่อไหน กี่นาที ... เวลาเป็นนาทีเหล่านี้ล่ะที่ถ้าใช้ประโยชน์จากมันได้ จะทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นมาก                               

นอกจากนี้การเพิ่มทักษะ การคิด การอ่าน การเขียน ให้มีประสิทธิภาพ และเร็วยิ่งขึ้นก็ช่วยให้เราใช้เวลาทำอะไรๆได้มากขึ้น เพราะเราก็จะทำงานได้เร็วขึ้น อ่านหนังสือได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ฉะนั้น ทักษะพื้นฐานพวกนี้ ควรฝึกให้ดี เพราะจะช่วยเพิ่มเวลาเราได้มาก 

-- ทำกิจกรรมแล้วเราได้อะไรบ้างครับ?                

ผมคิดว่าสิ่งที่กิจกรรมให้คือทำให้ผมเจอ ตัวเอง คือ รู้ว่าจริงๆแล้วตัวเองถนัดหรือชอบอะไร ... การทำกิจกรรมที่หลากหลายทำให้เราได้เจอโลก เจอคน ที่หลากหลายด้วย ซึ่งเมื่อเราไปเจอโลกมากเข้าเราจะรู้ว่า โลกไหนเหมาะกับตัวเรา เป็นที่ของเรา ... อีกอย่างคือ การทำกิจกรรมช่วยฝึกทักษะบางอย่างให้เราด้วย ซึ่งเราอาจะทำมันจนเชี่ยวชาญ และกลายเป็นตัวเราก็ได้                 

 อย่างที่สองคือ ได้เจอเพื่อนที่คิดแบบเดียวกัน ผมว่านั่นมันมากกว่าคำว่าเพื่อน ที่มักใช้แทนเครือข่ายของคนที่เราเจอเมื่อเราทำกิจกรรม ... แต่กิจกรรมทำให้ผมได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมาย ซึ่งผมว่ามันมีค่ามากกับชีวิต                

และอย่างที่สามคือ เมื่อเราทำกิจกรรมเต็มที่ เต็มร้อย กิจกรรมนั้นก็จะนำโอกาสดีๆมาให้เรา ผมยอมรับเลยว่า ถ้าผมไม่ทำกิจกรรม ผมไม่มีโอกาสได้ไปงานระดับโลกเช่นนั้นแน่นอน หรือโอกาสที่ได้เจอผู้ใหญ่ที่มีความรู้น่าเคารพนับถือ เจอคนเจ๋งๆที่เราไม่ได้เจอในชีวิตประจำวัน ... ผมเลยคิดว่าถ้าเราเชี่ยวชาญในเรื่องซักเรื่อง เรามีลู่ทางพัฒนาตัวเองในอนาคตแน่ 

--อยากฝากอะไรถึงรุ่นน้องที่ทำกิจกรรมหรืออยากทำกิจกรรมบ้างครับ                

อืม.. แรกสุดคือ อยากให้รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เพื่ออะไร ... อยากให้ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ และตั้งคำถามต่อสิ่งที่ทำอยู่ และสิ่งรอบๆตัว ..เพื่อจะได้รู้ว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร  นักกิจกรรมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรเพื่ออะไร และไม่ค่อยคิดทบทวนสิ่งที่ทำมากนัก ทำให้ไม่ได้เรียนรู้มากพอ                               

อีกประการหนึ่งคือ อย่าท้อและอย่ากลัวที่จะพลาด หากเราตั้งใจดีครับ ... บางสิ่งบางอย่างที่ดี อาจจะต้องฝ่าฟันเอา ถ้ามันทำได้ง่ายๆ มันก็คงเกิดไปนานแล้ว ... จงเชื่อมั่น ... การพลาดเป็นสิ่งธรรมดาที่เราต้องเรียนรู้ ... แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องทำมันด้วยความถ่อมตน กระตือรือร้น รับผิดชอบ และใฝ่เรียนรู้    

ป็นยังไงบ้างครับ พี่ชล หรือ อาจารย์ชล ที่ปิดเทอมนำเอาบทสำภาษณ์มาฝากกัน หวังว่าน้องๆคงได้เรียนรู้และศึกษาแนวคิดหลายๆอย่าง เพื่อนำเอาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตหรือการทำกิจกรรมแต่ใครที่อยากรู้ข้อมูลมากกว่านี้ ก็ให้เข้าไปดูใน I-blog ของพี่ชลได้โดยตรงที่นี่เลยครับ

   
หมายเลขบันทึก: 81568เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาทักทายนักกิจกรรมครับ
  • อาจารย์ครับ อันสุดท้ายมันตกไปลองแก้ไขนะครับ
  • ขอบคุณครับ

มาทักทายเช่นเดียวกันครับ  อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท