ชีวิตจริงของอินเทอร์น : การเรียนรู้ที่เนิบช้า สดใหม่ และเป็นปัจจุบัน (๑)


ดิฉันสนใจเทคนิคการสุนทรียสนทนา หรือ dialogue เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญตัวหนึ่งของการจัดการความรู้ มาตั้งแต่ตอนไปฝึกเป็นอินเทอร์นที่ สคส. แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อย่างจริงจัง  จนกระทั่งวันหนึ่งจ๊ะจ๋าส่งอีเมลมาบอกว่าสถาบันขวัญเมือง (เชียงราย) มาจัดรายการสุนทรียสนทนาที่พารากอน ดิฉันจึงตามไปซึมซับกลิ่นอาย แล้วกลับไปเสนอต่อกรรมการปฏิบัติการโรงเรียนว่า วิธีการเช่นนี้น่าจะเหมาะกับจริตของคนในองค์กร 
 
วันที่  ๒๓ - ๒๕  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ดิฉัน และคณะอีก ๗ คน จึงได้มีโอกาสไปร่วมการเสวนาในหลักสูตร "สุนทรียสนทนาสู่ความเป็นผู้นำแห่งองค์กรวิวัฒน์ ขั้นที่ ๑ "  ที่จัดโดยสถาบันขวัญเมือง  ณ คำแสด รีสอร์ท  จ.กาญจนบุรี
 
หลักสูตรนี้เป็นกระบวนการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของผู้เข้าร่วมกระบวนการทั้งสิ้นจำนวน   ๑๔  คน  ที่เน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกันอย่างผ่อนคลาย และตื่นรู้  ด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ( Deep listening)  การสื่อสารอย่างกรุณา (Compassionate Expression) และการสืบค้นร่วมกัน ( Collective Inquiry) เพื่อสร้างการสนทนาที่มีความหมายสำหรับทุกคน ผ่านกระบวนการที่หลากหลาย เพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรู้สึกได้ถึงความสดใหม่ เป็นปัจจุบัน และมีชีวิตชีวา
 
กิจกรรมการเช็คอิน เริ่มต้นจากการให้ทุกคนแนะนำตัวเอง และกล่าวถึงวาระของการมาเข้าร่วมกระบวนการนี้อย่างสั้นๆ เป็นการสร้างความรู้จักกันในเบื้องต้น
 
แบบฝึกชุดแรก เรียนรู้จากการเล่า และ การรับฟัง
 
คือ การจับคู่เล่าเรื่องในวัยเด็กสู่กันฟัง  เริ่มจากฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เล่า และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ฟัง   เมื่อเล่าจบ ก็ให้ผู้ฟังลองเล่าทวนสิ่งที่ได้รับฟังมาอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เล่าให้เหมือนกับที่ผู้เล่าได้เล่าไว้เมื่อสักครู่
 
เมื่อผู้ฟังคนแรกต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้เล่า ก็จะประเมินศักยภาพในการฟังของตนเองได้ทันทีว่า ตนมีทักษะในการรับฟังอย่างลึกซึ้งเพียงใด
 
ต่อจากนั้นผู้เล่าก็จะเล่าเรื่องของตนเองให้เพื่อนฟัง เมื่อฟังจบแล้ว  ทั้งคู่ก็ต้องไปรวมกลุ่มกับเพื่อนอีกคู่หนึ่ง รวมเป็นกลุ่มย่อยที่มีสมาชิกเพิ่มเป็นสี่คน  สมาชิกคนใดคนหนึ่งจะพูดได้ก็ต่อเมื่อหยิบเอาก้อนหินที่วางอยู่กลางวงเอาไว้ในมือเท่านั้น   ส่วนสมาชิกคนอื่นๆจะต้องนั่งฟังอย่างตั้งใจ จนกว่าคนที่ถือก้อนหินอยู่ในมือจะพูดจบ และวางก้อนหินลงกลางวง แล้วคนที่อยากพูดคนต่อไปก็จะหยิบก้อนหินขึ้นมาถือไว้ แล้วพูดจนจบเนื้อความ โดยที่ใครจะพูดกี่รอบก็ได้ 
 
ความไว้วางใจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ช่วยให้ทุกคนเล่าอย่างเปิดใจ และ รับฟังกันได้อย่างลึกซึ้ง บรรยากาศที่ผ่อนคลาย และมีความสุขของคู่สนทนาจึงเกิดขึ้นกับทุกคนตั้งแต่กิจกรรมชุดแรก
 
ในสภาวะของมณฑลแห่งพลัง ไม่มีใครรู้สึกแบ่งแยก ทุกคนเชื่อมโยงถึงกันอยู่ตลอดเวลา   สุนทรียภาพที่ก่อเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย ปล่อยวางนี้วิทยากร คือ อ.ณัฐฬส  วังวิญญู ได้กล่าวว่า คือ จิตที่เป็นวัยเยาว์   อันเป็นสภาวะปกติของทุกคน 
 
 
แบบฝึกชุดที่สอง  เรียนรู้จากการสะท้อน
 
ความรู้จากการสุนทรียสนทนา ได้สร้างความรู้สึกสบายๆ  และรู้สึกสนุกที่จะสนใจคนอื่น   ทั้งข้อมูล และความคิดที่ไหลเนื่องถึงกันในกลุ่ม ได้ช่วยยืนยันถึงความเป็นธรรมชาติของชีวิตว่ามีลักษณะเป็นระบบเปิด ที่หากไม่มีการจัดระเบียบก็จะวุ่นวายเกินไป แต่หากไม่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้นเลย ชีวิตก็จะไม่เติบโต ซ้ำยังจะถดถอย
 
บางคนบอกว่า จากกิจกรรมนี้ทำให้ได้รู้ว่านานมาแล้วที่ไม่ได้สนใจฟังใครอย่างจริงจัง   หรือหากจะพูดก็เพื่อนำเสนอความคิดของตนให้คนอื่นเท่านั้น  แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน เพราะเป็นการสื่อสารที่ขาดการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง จึงไม่ได้เข้าไปสัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูดอย่างจริงจัง
 
การรับฟังอย่างลึกซึ้งนี้ยังช่วยให้ผู้พูดรู้สึกถึงการได้รับการยอมรับในคุณค่า และเห็นว่าตนมีความสำคัญ ได้รับความสนใจ และทำให้ได้เห็นคนๆนั้นในแบบที่เขาเป็นจริงๆ
 
หลายครั้งที่เราคิดว่าเราเข้าใจในเรื่องนั้นแล้ว จึงรีบรวบรัดให้จบการสนทนา ทำให้เข้าไม่ถึงตัวอารมณ์ แต่ตัวผู้เล่าไม่ได้ต้องการข้อสรุป หากแต่เขาต้องการถ่ายทอดความรู้สึกลึกๆออกมาให้ผู้ฟังรับรู้ความรู้สึกทั้งหมดมากกว่า ซึ่งการตัดบททำให้เราพลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย 
 
 

หมายเลขบันทึก: 81492เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เป็นความรู้ที่หลายคนต้องในไปใช้ แล้วจะทำให้สามารถเข้ากับคนที่แลกเปลี่ยนและได้ข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ส่วนตัวเองนั้นยังไม่เคยนำไปใช้มาก่อน คิดว่าต่อจากนี้คงนำไปใช้บ้างแล้วล่ะ

หากใช้แล้วได้ผลอย่างไรเขียนบันทึกมา ลปรร.กันบ้างนะคะ

"... หลายครั้งที่เราคิดว่าเราเข้าใจในเรื่องนั้นแล้ว จึงรีบรวบรัดให้จบการสนทนา ทำให้เข้าไม่ถึงตัวอารมณ์ แต่ตัวผู้เล่าไม่ได้ต้องการข้อสรุป หากแต่เขาต้องการถ่ายทอดความรู้สึกลึกๆออกมาให้ผู้ฟังรับรู้ความรู้สึกทั้งหมดมากกว่า ซึ่งการตัดบททำให้เราพลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย"

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ และต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอให้ระวัง ไม่รีบด่วนสรุป

มีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งชอบมา "สุนทรียสนทนา" กับผมมากในเวลาทำงาน ทุกครั้งที่คุยกันก็มักจะได้อรรถรส เพราะมีทั้งการนำเสนอ หักล้าง ไอเดียที่ฉีกแนวสะท้อนกันไปมา เกิดขึ้นทุก ๆ ห้านาที ปัญหามีอยู่ว่า ผมให้เวลากับเขาบางครั้งเกินครึ่งวัน ก็เพราะไม่อยากขัด ไม่อยากด่วนกระโดดไปหาข้อสรุป (ที่บางครั้งคิดว่าเรารู้อยู่ในใจ)  การ "เปิด" แบบนี้ดูเหมือนจะมากเกินไปกระมัง เพราะเวลาของคนเราในหนึ่งวันย่อมมีจำกัด... อือม์ ไม่ค่อยแน่ใจว่าทำตัวถูกหรือเปล่าครับ

ดิฉันเห็นด้วยกับคุณนเรศค่ะว่าการให้เวลาแบบปลายเปิด บางครั้งก็มากเกินไป อาจจะต้องดูที่คุณภาพของการฟังกระมังว่าระหว่างที่การสนทนาดำเนินไปนั้น การฟังของทั้งสองฝ่ายยังดีอยู่ไหม ส่วนการกำหนดเวลาของการสนทนาแต่ละรอบก็เป็นกติกาที่ควรรับรู้ร่วมกัน จะได้ช่วยให้ความสุนทรีย์นี้ยังคงเกิดขึ้นได้มากเท่าที่ต้องการค่ะ :)   และถ้ามีการพากันออกนอกประเด็นไกลเกินไป ก็ช่วยพากันกลับเข้ามาด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท