ประวัติศาสตร์ "จริง" ไหม?


ผลลัพธ์จากการสอน "วิธีคิด" จะไม่ปรากฏเป็นคำตอบสำเร็จรูปในวันนี้ แต่มันจะปรากฏในรูปของอะไรบางอย่างที่เราคาดเดาไปไม่ถึงในสักวันหนึ่งข้างหน้า

 (17)

 วิธีฝึกให้คนฉลาดขึ้นอย่างง่าย คือการหัดให้คิดแย้ง   การหัดให้คิดแย้ง  ก็ต้องทำให้สงสัยเสียก่อน (สงสัยแปลว่า ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริง ทราบไม่ได้แน่ชัด) พอสงสัยแล้วก็มักจะไม่เชื่อตาม   คราวนี้ก็หัดถามให้อยากเถียง  พอกล้าเถียงได้สักทีแล้ว... คราวต่อๆไปก็จะเถียงได้เองโดยไม่ต้องหัด 

วิธีสอนต่อไปนี้  เป็นวิธีนำเสนอเพื่อฝึกเด็กๆให้รู้จักใช้ความคิด  ไม่เชื่อตามอะไรง่ายๆ   โดยมิได้มีเจตนาจะลบหลู่ความรู้ชุดนี้แต่อย่างใด  หากมีข้อความตอนใดที่ทำให้ท่านไม่สบายใจ หรือขัดเคืองใจ ดิฉันต้องขออภัยเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ ด้วยนะคะ 

 กรณีศึกษาที่ 2  ความเชื่อกับความจริง

กิจกรรมที่ 2.1  ประวัติศาสตร์ "จริง" ไหม?

 เพื่อนบ่นว่าสอนแล้วเด็กไม่ฟัง ให้ดิฉันช่วยหากิจกรรมแก้ง่วงให้หน่อย ดิฉันบอกเพื่อนว่า แบบแก้ง่วงไม่มี ....มีแต่แบบไม่กล้าง่วงเอาไหม ?เพื่อนบอกว่าเอา   ดิฉันก็เลยเล่าให้เพื่อนฟัง
(คำเตือน..ยาวมาก ต้องทานข้าวก่อนแล้วค่อยมาอ่านนะคะ)

ครั้งหนึ่งในวิชาการเขียนบทความและสารคดี   ดิฉันบอกนักศึกษานิเทศศาสตร์ว่า    มนุษย์ทุกคนต้องมีความเชื่อ ....ถ้าไม่เชื่ออย่างหนึ่ง
ก็แปลว่าต้องเชื่ออีกอย่างหนึ่ง......

แม้แต่คนที่ไม่เชื่ออะไรเลย .......ก็ยังเชื่อว่าตัวเองไม่เชื่ออะไรเลย

แล้วเด็กๆคิดว่าประวัติศาสตร์  "จริง" ไหม  เธอก็ทำท่างงๆ  แล้วดิฉันก็ให้เธอยกมือเลือก.....

พวกที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์    "จริง"        ให้ไปนั่งฝั่งซ้าย
พวกที่ เชื่อว่า ประวัติศาสตร์   "ไม่จริง"    ให้ไปนั่งฝั่งขวา
พวกสับสนทางจิตไม่เอา ต้องเลือกข้างหนึ่งข้างใดเป็นเด็ดขาด


เพราะเราพูดในเงื่อนไขว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีความเชื่อ ถ้าไม่เชื่ออย่างหนึ่ง   ก็แปลว่าต้องเชื่ออีกอย่างหนึ่ง และแม้แต่คนที่ไม่เชื่ออะไรเลย ก็ยังมีความเชื่อ   .......ว่าตนไม่เชื่ออะไรเลย..

ความเชื่อจึงอยู่คู่มนุษย์ และมีอิทธิพลต่อมนุษย์ .......

พอนักศึกษานั่งแยกฝั่งเสร็จ ดิฉันก็บอกว่านี่แหละ อิทธิพลของความเชื่อ     .......มันจะแบ่งมนุษย์ออกเป็นอย่างน้อยสองฝ่ายเสมอ ดูอย่างตอนนี้ซิ่...!   

...เธอเก๊าะเฮกัน...


จากนั้นดิฉันก็พูดอะไรๆที่กะว่าเธอจะฟังแบบงงๆไปซักแป๊บ  อย่าให้เธอทันรู้ตัว     แล้วก็บอกให้เด็กๆจดไอ้ที่ครูพูดไปทั้งหมดตะกี้ซิ
เธอก็จดกันหนุกหนาน

ปรากฏว่าเธอจดที่ดิฉันพูดออกมาไม่เหมือนกันเลยซักคน   ดิฉันก็บอกว่า   "สิ่งที่ครูพูด มันผ่านไปแล้ว ....สิ่งที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้วใช่ไหม?.......อดีตที่ผ่านไปนานๆ มันก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์

คุณฟังครูพูดพร้อมกัน จดพร้อมกัน จดจากที่ครูพูดจริงๆเหมือนกันแท้ๆ
ยังจดออกมาไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว

เอ๊ะ.. แล้วประวัติศาสตร์ล่ะ?...

.............คืองี้นะคะ ถ้าห้องเป็นเรือ ก็คงหวิดล่ม เพราะเด็กๆที่เลือกข้าง ประวัติศาสตร์ "จริง"    ต่างก็ลุกเฮละโลกันมานั่งข้าง  "ไม่จริง"  เหลือพวกที่แน่วแน่ในเลนเดิม นั่งตาปริบๆอยู่ไม่กี่คน..

ดิฉันถามต่อว่า ที่คุณอ่านข่าว ฟังข่าว ดูข่าว ทั้งหลายนั่น มันเป็น อดีต ของใคร ใครเป็นคนเอามา"เล่า"ต่อ บนหน้ากระดาษ บนหน้าจอ

แล้วคนเล่าน่ะ ได้เห็นอดีตนั่นจริงไหม เห็นพร้อมๆกันไหม
ยืนยันได้ไหมว่าเขาจะเล่าได้ถูกต้อง ตรงกับความจริงแท้ ณ ขณะนั้น ทุกคน.............

เธอตอบว่า ...ไม่.. ไม่ไม่ไม่ไม่ไม่....... หมดทุกข้อ...

ว่าแล้วเธอก็เขียนบทความเรื่อง"รู้เท่าทันข่าว" กันสุดฝีมือ
หมดเวลาแล้วก็ยังไม่เลิก ขอต่ออีกครึ่งชั่วโมง ข้าวเขิ้วไม่กิน เธอว่าเดี๋ยวอารมณ์ไม่ต่อเนื่อง   หนูกำลัง peak   'จารย์อย่าเบรคหนูนะ ..แน้ะ..!

เพื่อนฟังดิฉันเล่าจบแล้วหัวเราะก๊าก บอกว่าเธอนี่สอนแปลกพิลึก...!

ดิฉันก็ได้ทำใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ผลลัพธ์จากการสอน "วิธีคิด"  จะไม่ปรากฏเป็นคำตอบสำเร็จรูปในวันนี้ แต่มันจะปรากฏในรูปของอะไรบางอย่างที่เราคาดเดาไปไม่ถึงในสักวันหนึ่งข้างหน้า
แลจะปรากฏเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครตอบได้ แม้แต่เจ้าตัวคนคิดเอง


.......และต้องทำใจกับคำคล้ายๆจะชมของเพื่อนๆ ว่า"สอนแปลกพิลึก" ต่อไป จนกว่าจะเกษียณกันไปข้าง........

 

 

หมายเลขบันทึก: 81223เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์ 'ดอกไม้ทะเล'

        ชอบที่อาจารย์บอกว่า 'คุณฟังครูพูดพร้อมกัน จดพร้อมกัน จดจากที่ครูพูดจริงๆเหมือนกันแท้ๆ
ยังจดออกมาไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว'

        ผมว่าสอนอะไรได้เยอะเชียว นี่ยังไม่นับการตีความ (interpretation) สิ่งที่แต่ละคนจดไว้ด้วยนะครับเนี่ย 

        มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่อาจจะใช้เป็นกรณีศึกษาในประเด็นนี้ได้ครับ :

        เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์ :

        หลักฐานใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงเรื่องราวในอดีตได้อย่างไร

        เป็นหนังสือของ รีดเดอร์ส ไดเจสท์ ครับ ปกแข็งสีเงิน เล่มใหญ่ ราคาแพงเอาการอยู่ (1,990 บาท) คิดว่าห้องสมุดของคณะ / มหาวิทยาลัย น่าจะมีไว้

         ตัวอย่างในเล่มนี้ เช่น

  • โทมัส เอดิสัน ไม่ได้ประดิษฐ์หลอดไฟเป็นคนแรก
  • คลีโอพัตราตัวจริง อ้วยเตี้ย จมูกงุ้ม
  • ประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดพลิ้วโดยผู้มีชัย

       เลยนำข้อมูลเบื้องต้นมาฝากให้อาจารย์พิจารณาด้วยครับ :-)

ดิฉันฝึกเด็กๆเรื่อง  ประวัติศาสตร์  อย่างที่เล่ามาข้างต้น  เพื่อนจากแดนไกลคนหนึ่งบอกว่าหยั่งงี้เขาเรียกพวกโพสต์โมเดิร์น  ดิฉันเถียงทันควันว่า "ไม่ใช่  อันนี้เขาเรียกพวกพุทธโมเดิร์น"

จากนั้นก็นั่งงงๆกันไปทั้งสองฝ่ายค่ะอาจารย์  เพราะต่างก็ไม่ใคร่เข้าใจความหมายของคำที่ตัวพูด    แต่กะเอาเท่ไว้ก่อน.....

แต่ถ้าเพื่อนถาม ดิฉันก็กะว่าจะยกหนังสือที่ว่าด้วยกาลามสูตรให้เธอทั้งเล่ม  ...เอาทางพระเข้าข่ม....^_^

 ขอบพระคุณอย่างสูงนะคะสำหรับหนังสือที่อาจารย์แนะนำ ดิฉันจะรีบไปหามาอ่านอย่างเร็วเลยค่ะ 

ตอนนี้ดิฉันก็กำลังพยายามตั้งหน้าตั้งตาอ่านเรื่อง Critical Literacy  ใน Wikipedia  ด้วยค่ะ     .....แปลคำนี้เป็นภาษาไทยไม่ถูก  แต่คิดเอาเองว่าน่าจะเป็นทักษะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Communication Literacy  หรือการรู้เท่าทันการสื่อสาร  ที่ทำให้ดิฉันต้องนั่งโพสต์ไม่เป็นอันกินอันนอนอยู่จนทุกวันนี้

....แถมยังนึกเป็นห่วง Image  ของพระนางคลีโอพัตราขึ้นมาทันทีเลยค่ะ..... :)

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท