เรื่องเล่าจากดงหลวง 33 ความ Harmonize ของ Science กับ Social


บ้านคือที่พักอาศัย และที่พักอาศัยคือสิ่งที่ควรจะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดกับชีวิตผู้เป็นเจ้าของและครอบครัว ถูกต้องกับอุปนิสัยมากที่สุด ตอบสนองต่อความพึงใจผู้ออกแบบบ้านจะต้องเข้าใจครอบครัวนั้นให้มากที่สุด เพื่อถอดรหัสสิ่งเหล่านั้นออกมาแล้วจึงเอาข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบบ้านในฝันของคนนั้น ครอบครัวนั้น ซึ่งแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน

1.        กรณีงานก่อสร้างบ้าน :  คุณกิตติไม่ใช่นามสกุลนักการเมือง แต่เป็นชื่อสถาปนิคหนุ่มคนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาที่เชียงใหม่  สมัยนั้นเชียงใหม่กำลังเริ่มจะเติบโต ผู้มีอันจะกินจากกรุงเทพฯเริ่มออกไปซื้อที่ดินและปลูกบ้านแห่งที่สองที่เชียงใหม่กัน  เพราะเชียงใหม่คือสวรรค์ของใครหลายคนที่อยากจะมีบ้านอยู่ที่นั่น โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะได้สัมผัสวัฒนธรรม ธรรมชาติและความหนาวให้ถึงแก่ใจ

คุณกิตติเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยที่อังกฤษแล้วกลับมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ ขี่มอเตอร์ไซด์เก่าๆ วิ่งไปตามหมู่บ้านและภูเขา ผู้เขียนรู้จักเขาโดยผ่านเพื่อนคนหนึ่ง เพราะผู้เขียนคิดอยากจะมีบ้านเล็กๆกับเขาบ้างแม้จะยังไม่มีเงินปลูกบ้านแต่ก็อยากจะหาข้อมูล หาความรู้ก่อน คุยกับคุณกิตติแล้วเขาก็บอกว่ามีเวลาว่างไหมไปเที่ยวดูบ้านที่คนมีเงินเขาปลูกกันตามชานเมืองเชียงใหม่สักวัน เราก็ไปด้วยกันในวันต่อมา  คุณกิตติกล่าวว่าบ้านไม้สักหลังใหญ่นี้เป็นของเจ้านายคนหนึ่ง  ผมใช้เวลามากกว่า 8 เดือนในการออกแบบ ผมนึกในใจว่าทำไมออกแบบนานแท้

 

คุณกิตติกล่าวต่อไปว่าเมื่อเจ้านายตกลงกับผมให้ทำการออกแบบบ้านหลังนี้ ผมเริ่มทำตารางชีวิตกับเจ้านายท่านนั้นทันที เช่น ไปกินข้าวด้วยกัน ไปเที่ยวฟังเพลง  ไปท่องเที่ยว ไปร้านหนังสือ  นั่งคุยกันถึงชีวิต ความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิตของท่าน และอื่นๆอีกมากมาย เวลาผ่านไป  6 เดือนคุณกิตติเพิ่งจะหยิบดินสอร่างแบบบ้านครับ....สถาปนิคแบบไหน ผมนึก..??? บ้านคือที่พักอาศัย และที่พักอาศัยคือสิ่งที่ควรจะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดกับชีวิตผู้เป็นเจ้าของและครอบครัว  ถูกต้องกับอุปนิสัยมากที่สุด  ตอบสนองต่อความพึงใจและไม่พึงใจในสิ่งต่างๆ  หากเราจะรู้สิ่งเหล่านี้ก็ต้องใช้ชีวิตกับคนนั้น ครอบครัวนั้นให้มากที่สุด เพื่อถอดรหัสสิ่งเหล่านั้นออกมาแล้วจึงเอาข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบบ้านในฝันของคนนั้น ครอบครัวนั้น ซึ่งแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน อาจจะคล้ายกัน

ผู้เขียน..ถึงบางอ้อ...เอ่อ ล้ำลึก นี่คือหลักการพื้นฐานธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คุณกิตติสอนให้ผู้เขียนคิดถึงการออกแบบงานพัฒนาชุมชน คิดถึงการออกแบบกิจกรรมต่างๆของงานพัฒนาชุมชน รวมทั้งการออกแบบงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆด้วย....บ้านสวยๆตามชานเมืองเชียงใหม่และที่หลบซ่อนในซอยต่างๆที่มีต้นไม้ครึ้มเหล่านั้น จำนวนมากเป็นฝีมือคุณกิตติครับ

 

2.        กรณีงานก่อสร้างถนน : ผู้เขียนเคยร่วมงานการก่อสร้างถนน  เกี่ยวกับการยกระดับการออกแบบถนนในประเทศไทย โดยได้รับเงินจาก ADB ไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ได้เรียนรู้หลายประการโดยเฉพาะความบกพร่องของการออกแบบถนนในประเทศไทย  ปัญหาที่เกิดขึ้นและความก้าวหน้าของวงการออกแบบถนนในระดับโลกเขาคิดอะไร ทำอะไรกัน  ...ปัญหาที่พบในการออกแบบก็คือ ถนนมีโอกาสทำลายแหล่งวัตถุโบราญที่มีค่าไปเพราะการออกแบบไม่ได้คำนึงสิ่งเหล่านี้  หรือมีคำสั่งให้ทำทั้งๆที่รู้ว่าควรงดเว้น  ถนนได้ทำลายวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีท้องถิ่นอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกี่ยวข้องกัน  โดยที่นักออกแบบยึดเพียงหลักการทางวิศวกรรมความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ได้หาข้อมูลหรือรับฟังท้องถิ่นว่าถนนที่ก่อสร้างส่งผลกระทบสิ่งใดหรือไม่ 

 

เช่น ที่ภาคเหนือแห่งหนึ่งถนนสายใหม่กำลังก่อสร้างผ่านกลางหมู่บ้านทับเส้นทางเก่า โดยเส้นทางใหม่เป็น 4 ช่องทางจราจร และถนนแบบนี้จะต้องมีเกาะกลางถนน  และจะมีระยะการเลี้ยวรถกลับทิศในระยะทางที่ยาวไกล ซึ่งเดิมไม่มีเกาะกลางถนน รถ หรือยานพาหนะใดๆก็ไม่เสียเวลาไปเลี้ยวกลับที่ไหน  เมื่อหลักการความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นหลักการใหญ่ ก็จำเป็นต้องสร้างเกาะกลางถนนแล้วให้มียูเทิน( U-turn) ในระยะทางอีก 1 กิโลเมตร   แล้วเรื่องก็เกิดขึ้นจนได้ คือ ชุมชนนั้นมี ป่าเห้วหรือป่าช้าที่เผาศพอยู่ท้ายหมู่บ้าน วัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่นนั้นถือกันว่า เมื่อเอาศพออกจากบ้านแล้วไม่ให้หันหัวศพกลับเข้ามาทางบ้านอีก เพราะ....... ทีนี้เมื่อมีถนนใหม่ มีเกาะกลางถนนที่มียูเทินอีก 1 กิโลเมตรนั้น เมื่อบ้านที่มีศพอยู่ฝั่งซ้าย  แล้วป่าเห้วอยู่ฝั่งขวาจะเอาศพไปเผาก็ต้องใส่ล้อลากเคลื่อนไปยูเทินอีก 1 กิโลเมตรแล้วหันหัวกลับขึ้นมาจึงจะเดินทางเข้าป่าเห้วได้...สิ่งก่อสร้างนี้ขัดกับการปฏิบัติตามประเพณีท้องถิ่น

 

เป็นเรื่องละทีนี้....ผู้ก่อสร้างถนนยืนยันในหลักการความปลอดภัยบนถนน  ชาวบ้านยืนยันในประเพณีท้องถิ่น ...ท่านคิดอย่างไรครับ....เมื่อประเด็นเป็นอย่างที่กล่าว  วิศวกรออกแบบ ไม่เคยศึกษาประเพณีท้องถิ่น หรือคิดไม่ถึง..หรือไม่เคยเอาเรื่องแบบนี้ไปทำประชาพิจารณ์กับชุมชน  แต่ยืนยันในหลักการทางวิศวกรรมอยู่อย่างเหนียวแน่น... ในที่สุดชาวบ้านทำลายเกาะกลางถนนนั้นและทั้งท้องถิ่นยินดีที่จะเป็นผู้รับผิดชอบพร้อมกันทั้งหมด.... .ในที่สุดงานก่อสร้างถนนต้องยอม

 

3.        ทุกวิชาชีพมีหลักการ: ผู้เขียนเคารพหลักการของทุกวิชาชีพครับ  แต่หลักการนั้นจะต้องเหมาะสมกับความหลากหลายของสิ่งที่จะไปกระทบอย่างรอบด้าน สถาปนิก คุณกิตติใช้เวลา หลายเดือนเพื่อศึกษาชีวิต ทัศนคติ  ความเชื่อ ความชอบ ไม่ชอบสิ่งต่างๆของผู้ว่าจ้างแล้วจึงเอาข้อมูลนั้นมาออกแบบก่อสร้างบ้านแล้วแบบบ้านที่ออกก็จะตอบสนองความต้องการของผู้ว่าจ้างมากที่สุด ในหลักการเดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่างๆนั้นได้ใช้เวลาในการเข้าพื้นที่  คุยกับชาวบ้าน สัมผัสพื้นที่จริงและช่วยกันศึกษาอย่างละเอียดรอบด้านแค่ไหน ใช้เวลากับสิ่งนี้หรือไม่ นานแค่ไหนที่เรากวาดเก็บข้อมูลชุมชนไปอย่างครบถ้วนก่อนการออกแบบมาก่อสร้างจริง  แม้แต่แบบที่ออกแล้วนำมาประชุมชี้แจงกับชุมชนสนามบ้างหรือไม่ว่าเส้นทางที่ถนนผ่านไปนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรอีกบ้างไหมก่อนการนำแบบนั้นไปก่อสร้างจริง..

ผู้เขียนเชื่อว่ามีเหตุผลมากมายที่เข้าใจหลักการแบบสถาปนิกคุณกิตติ แต่ทางปฏิบัติทำไม่ได้  หรือทำได้นิดหน่อย  การกล่าวอ้างแบบนี้เป็นยาขนานพิเศษที่ใช้ได้ตลอดไป ..แล้วสิ่งก่อสร้างก็เกิดปัญหาตลอดมา รัฐศูนย์เสียงบประมาณมากมายกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  หรือใช้ประโยชน์น้อย

คำสำคัญ (Tags): #harmonize
หมายเลขบันทึก: 81032เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ล้ำลึกมากครับ...

งานทุกอาชีพมีคุณค่าถ้าเราทำด้วยจิตวิญญาณ...

 

  • การสร้างสิ่งใดๆควรคำนึงถึงชุมชนเป็นหลักใหญ่ด้วยถ้าจะจริง
  • ขอบคุณมากครับสำหรับความคิดดีๆๆ
  • หลักการง่ายๆแต่ไม่ค่อยทำกันครับ
  • จึงมีการกล่าวกันมากขึ้นว่าในการเรียนวิชาชีพทางด้าน scientist นั้นควรพิจารณาวิชาทางด้าน social เข้าไปด้วย
  • ขอบคุณทั้งสองท่านครับ Mr.Direct และอาจารย์ขจิต
โครงการพัฒนาที่มาจากภายนอกชุมชน จำเป็นที่จะต้องศึกษาผลกระทบให้ดี...เพราะตัวอย่างมีให้เห็นชัดอย่าง กรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น ความหวังดีที่มาจากภายนอกชุมชน อาจกลายเป็นประสงค์ร้ายซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนในระยะยาว...
ขอบคุณครับคุณชอลิ้วเฮียง

พี่บางทรายคะ

ชอบบันทึกนี้ค่ะ

ช่วงนี้ทำวิทยานิพนธ์ โดยใช้ Feminist Ethnography ต้องฝังตัวในพื้นที่ 3 ที่ ถึงตอนนี้ก็เกิอบ 2 ปีแล้วค่ะ ...เฉพาะเก็บข้อมูลนะคะ ใช้เวลามากทีเดียวค่ะ ในการเข้าใจ เพราะว่าพื้นฐานเดิมเป็นคนวิทยาศาสตร์ 1+1 =2 เท่านั้น พอมาเจอข้อมูลที่ขึ้นกับสภาพการณ์และเหตุผลของสังคมที่มีชีวิต..อึ้งเลยค่ะ เห็นช่องว่างระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการที่กว้างออกเรื่อยๆ ถ้ายังขืนให้ผู้บริการจัดบริการไปตามสิ่งที่คิดว่าดี โดยขาดข้อมูลที่ซึมลึกจากผู้รับบริการเนี่ยค่ะ

บันทึกของพี่บางทรายเอามาเทียบเคียงได้อีกหลายๆ เรื่องเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

  • ถ้าเป็นประโยชน์แก่น้องจันทรัตน์พี่ก็ดีใจและยินดีด้วยครับ
  • ความภูมิใจในวิชาชีพเป็นสิ่งที่ดี  แต่พี่จะยกนิ้วและชื่นชมมากๆเมื่อวิชาชีพนั้นสามารถเข้ากับสังคมได้ดียิ่งจนเป็นเนื้อเดียวกัน คุณหมอหลายท่าน นางพยาบาลหลายท่าน วิศวกรหลายท่านที่พี่รู้จักก็ยกนิ้วให้ ท่านเหล่านั้นเข้าใจคน เข้าใจสังคมแถมมีจิตวิทยาในการพูดคุยกับชาวบ้านผู้ด้อยการศึกษากว่า แต่ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
  • ท่านโสภณ สุภาพงษ์ เป็นวิศวกรท่านหนึ่งที่เข้าถึงด้านลึกของความเป็นมนุษย์และสังคม
  • คุณหมอ อาจารย์หมอประเวศ วสี ยิ่งลึกซึ้งในความเป็นสังคม ความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
  • อีกหลายๆท่าน
  • ความจริงนี่คือการบูรณาการความรู้ในตัวคนคนเดียวที่เอาวิชาชีพไปผนวกกับวิชาต่างๆ มิใช่เพียงสังคมศาสตร์อย่างเดียว ทุกสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์แก่สังคม
  • ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม

ตามมาย้อนอ่านบันทึกครับ

ได้ความรู้มากจริงๆ...การออกแบบยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของที่ตั้งด้วยครับ...นอกเหนือจากความต้องการส่วนบุคคล...

ผมเคยออกแบบบ้านให้ลูกค้าที่ต้องไปคุยเรื่องแบบตอนสามทุ่ม...เพราะต้องรอให้ทุกคนในบ้านกลับมาพร้อมกันครับ...พ่อ แม่ ลูกสามคน...สนุกดีครับ

ถนนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างเพื่อแบ่งเขตที่ดินเป็นส่วนๆ...ทำให้เกิดปัญหากับสิ่งมีชีวิตอื่นๆด้วยครับ...(กบจะข้ามถนนก็ตายอย่างเดียว)

โอชกร

สวัสดีครับอาจารย์โอชกร - ภาคสุวรรณ ไม่คิดว่าอาจารย์จะสนใจติดตามงานเขียน ต้องขอบคุณมากครับ ความจริงผมประทับใจท่านสถาปนิคท่านนี้มาก บทเรียนและวิธีทำงานมันเข้ากันดีกับหลักการทางสังคมวิทยา ที่เป็นสายงานของผม ที่ต้องทำงานกับคน และสังคม ผมเห็นด้วยครับกับความเห็นของอาจารย์ ในรายละเอียดทางวิชาชีพ ผมว่าคงมีมากกว่านี้แน่ ผมสนใจว่าหลักการแบบนี้ทางสายอื่นน่าที่จะเอาไปใช้กัน แต่นั่นแหละครับ ระบบของเรามันทำให้วิชาชีพปั่นป่วนไปหมด โดยเฉพาะระบบราชการ เห็นใจหลายๆท่าน แต่ก็ตั้งคำถามกับหลายๆท่านเช่นเดียวกัน อะไรตามที่สร้างขึ้นมาแล้วกระทบ ต่อคนส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและนำสาระด้านสังคมมาร่วมพิจารณามากขึ้น มิใช่เอาด้านเทคนิคอย่างเดียว หรือเป็นหลักมากเกินไป การส่งผลกระทบย่อมมี แต่ต้องน้อยที่สุด ผมคิดว่าอาจารย์ก้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีอยู่แล้วครับ ขอบคุณมากครับ ผมต้องเรียนอาจารย์ว่า หลายเรื่องที่ผม Post ในช่วงแรกๆของการเข้ามาเป็นสมาชิกหน้าใหม่ของ G2K นี้ ยังไม่มีเพื่อนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ผมจึงเอาไป Postใหม่ ครับเพื่อให้โอกาสเพื่อนใหม่ๆลองพิจารณาดูอีกครั้งว่ามีประโยชน์หรือไม่ ดังนั้นอาจารยือย่าแปลกในนะครับที่ผมเอาเรื่องเก่าขึ้นไป Post ใหม่ครับ หลานผมคนหนึ่งก็จบวิศวกรไฟฟ้าที่นี่ครับ ตอนนี้ไปทำงานกับ บริษัทโทรคมนาคมครับ ขอบคุณมากครับอาจารย์ครับ

สวัสดีครับพี่บางทราย

ผมรู้สึกแปลกๆทุกทีที่คนอื่นๆนอกจากนักศึกษาเรียกผมว่าอาจารย์ เพราะมันเป็นคำเรียกที่ดูเป็นทางการ...ไม่รู้จะทำอย่างไร....

ผมก็ทะยอยอ่านงานเขียนของพี่นะครับ...มีประโยชน์ดีทีเดียว...ทำให้เห็นภาพของสังคมได้กว้างขึ้น...มุมมองที่หลากหลายทำให้ได้ความคิดที่ดีๆ...

ขอบคุณครับ...

  • สวัสดีครับน้องโอชกร - ภาคสุวรรณ
  •  อื้อ...ใช่ บางทีก็แปลกๆเหมือนกัน คือ งี้ คนที่เรา คุยด้วยนี่นะ เราไม่ทราบสถานภาพเป็นอย่างไร บางท่านก็เปิดเผยรายละเอียดประวัติ บางท่านไม่เปิดเผย หากเราใช้คำสรรพนามที่ไม่เหมาะสมก็เกรงว่าจะเป็นการไม่ให้เกียรติท่านเหล่านั้น (นิสัยคนไทย ขี้เกรงใจ..ฝรั่งใช้ you คำเดียว) จึงขัดๆเขินๆ บ้างบางที
  • หากเปิดกันตรงๆว่าเรียกอย่างนั้นอน่างนี่พี่เองก็ไม่ติดยึดอะไร เพียงแต่ ความรู้สึกเป็นคนไทยแบบดังกล่าวมันมีอยู่
  • มอมอีกมุมหนึ่ง ในเวทีเหล่านี้ที่เป็นสาธารณะแบบนี้ ไม่น่าที่จะติดยึดสรรพนามที่ใช้กันนะครับ แค่สุภาพก็เพียงพอแล้ว นะครับ
  • ขอบคุณที่ตรงไปตรงมาครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท