โอกาสทางการศึกษา (โลกในใจของบุญถึง ตอนสุดท้าย)


ผมสำนึกเสมอว่า ชีวิตของผมขึ้นอยู่กับโอกาสทางการศึกษาจริง ๆ ไม่ใช่ว่าผมจะเก่งกว่าสมบุญ บรรจง ทองย้อยหรือแม้แต่บุญศรีน้องสาวผม เพียงแต่ผมมีโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า โดยมีผู้หยิบยื่นให้เท่านั้น

       สงกรานต์ปีนี้ ผมมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง บ้านโคกหัวนาวันนี้เปลี่ยนสภาพไปจากตอนที่ผมเป็นเด็กจนแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ มีไฟฟ้าเข้าถึงมีถนนลูกรังตัดผ่านหมู่บ้าน มีรถขายของ รถโดยสารวิ่งผ่านเข้าออกจนฝุ่นตลบไม่ขาดระยะ
       สองข้างถนนซึ่งแต่เดิมเคยเป็นทุ่งนาที่มีต้นข่อย ตะขบ พุทรา มะขามเทศ สะเดา จิก ขึ้นตามจอมปลวกเป็นหย่อม ๆ อย่างหนาแน่น ที่ผมกับเพื่อน ๆ เคยปีนป่ายเก็บกินตอนเด็ก ๆ บัดนี้กลับปรากฏแต่สภาพดินแตกระแหง แห้งผาก ต้นไม้ที่เหลือไม่กี่ต้นยืนเหี่ยวเฉารอความตายที่จะมาเยือน
       “พี่บุญถึง...วันนี้ลมอะไรหอบเอาที่มาถึงที่นี่ได้ หายหน้าหายตาไม่มาเยี่ยมน้อง ๆ บ้างเลยนะ”
       
บุญศรีน้องสาวคนเล็กของผม ทักทายด้วยความดีใจที่เห็นพี่ชายมาเยี่ยม พร้อมตะโกนเรียกบุญรอดลูกชายคนเดียววัย 6 ขวบ ให้มาสวัสดีลุง
        “ขึ้นบ้านก่อนเถอะพี่ พี่มาคนเดียวหรือ”
       “ใช่...มาคนเดียว พอดีโรงเรียนปิดเทอม พอมีเวลาว่างก็เลยแวะมาเยี่ยม”
       
ผมจูงมือบุญรอดหลานชาย ซึ่งมอมแมมทั้งตัว ตามบุญศรีขึ้นไปบนบ้านหลังที่ผมเคยอยู่มาตั้งแต่เกิด บ้านดูทรุดโทรม เงียบเหงา เมื่อสิ้นบุญพ่อแม่ พี่น้องทั้งหมดต่างแยกย้ายไปทำมาหากินกันคนละทิศละทางเหลือแต่บุญศรีเท่านั้นที่ยึดบ้านอันเป็นมรดกจากพ่อแม่ เป็นที่พักพิง ทำมาหากินในผืนดินที่ได้รับส่วนแบ่ง 10 กว่าไร่
      
บ้านรกหน่อยนะพี่ ฉันไม่มีเวลาทำความสะอาด เช้าก็ไปทำไร่ บ่ายถึงได้กลับพ่อของบุญรอดเขาก็ไปทำงานต่างจังหวัด เดือนหนึ่งถึงจะกลับที”
        บุญศรีพูดพลางกุลีกุจอหาน้ำมาให้ดื่ม ผมสังเกตเห็นน้องสาวที่เคยเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก พ่อแม่เอาใจ เพราะเป็นลูกคนสุดท้องขณะนี้ดูซูบซีด ผิวคล้ำเพราะกรำงาน ผมเห็นแล้วอดสงสารไม่ได้
       “พี่ต้องค้างที่นี่หลาย ๆ วันนะ นาน ๆ มาที”
       “พี่คงอยู่ได้แค่คืนเดียวเท่านั้น ถึงปิดเทอมแล้ว แต่ก็ต้องไปทำงานที่โรงเรียน”
       “เสียดาย...อยากให้พี่อยู่ที่นี่หลาย ๆ วัน พวกเพื่อน ๆ ของพี่หลายคนเขาบ่นถึงพี่ ถ้ารู้ว่าพี่มาเขาคงดีใจ
       เย็นวันนี้ เพื่อน หลายคนในหมู่บ้านที่เรียนจบประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านโคกหัวนารุ่นเดียวกับผม พอรู้ข่าวว่าผมมา ก็ยกโขยงกันมาพร้อมหน้า เสียงหมาเห่าเกรียว สลับกับเสียงตะโกนโหวกทักทายแต่ไกล
      “ดีใจจังที่ครูบุญถึงมาบ้านเรา ไม่ได้เห็นกันร่วม 10 ปีแล้ว ดูล่ำซำขึ้นเป็นกอง”
      
สมบุญ ร้องทัก จับมือผมเขย่าพร้อมกับบรรจงและทองย้อย
     
เรียกบุญถึงเหมือนเดิมก็ได้ ฉันก็ดีใจที่ได้พบกับพวกเรา คิดอยากจะมาเยี่ยมนานแล้ว แต่ก็หาเวลาไม่ได้สักที ...นั่นหิ้วอะไรมาเยอะแยะล่ะนะ”
      “คิดถึงน่ะ นาน ๆ เจอกันที วันนี้ต้องเลี้ยงฉลองกันหน่อย บ้านเราตอนนี้มันแห้งแล้งไม่เหมือนแต่ก่อน กบ เขียด กระรอก กระแต หาทำยายาก ก็มีแต่อย่างนี้แหละ” บรรจงกล่าวพร้อมกับวางเหล้ายาอาหารทั้งลาบปูนา ผัดเผ็ดหนูนา แกงต้มเปอะหน่อไม้ป่า และแกงขี้เหล็ก ที่แต่ละคนเตรียมมา
      “ของชอบทั้งนั้นเลย ไม่ได้กินมานานแล้ว วันนี้ต้องฉลองให้เต็มคราบ ขอบใจทุกคนนะ”
     
ฉันก็ตำน้ำพริก ผักทับแทน และยำไข่มดแดงที่พี่เคยชอบสมทบด้วย” บุญศรีพูดพลางจัดข้าวปลาอาหารใส่จานจนเรียบร้อย แล้วเชิญชวนทุกคนร่วมวงกัน
      
..ลมเย็นจากทุ่งนาและชายเขาพัดโชยมาต้องกาย ขับไล่ความร้อนระอุจากร่างกายและผิวดินให้บรรเทาเบาบางลงจนเหลือแต่ความสดชื่นและกลิ่นไอของธรรมชาติ ผมไม่ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์เช่นนี้มานานแล้ว เสน่ห์ของบ้านนาป่าเขาก็คือบรรยากาศในช่วงเวลาพลบค่ำนี่แหละที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า “ลมพัดชายเขา และถือเป็นเวลาพักผ่อนหย่อนใจคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานประจำวันของชาวชนบท..
       “เอาสักกรึ๊บเถอะครู จะได้เจริญอาหาร” ทองย้อย รินเหล้าโรงเกือบครึ่งแก้วส่งให้ผม
       “ไม่ไหวกระมัง ถ้าหมดนี่คงเมาแย่เลย ขอสักครึ่งหนึ่งเถอะ”
      “ว่าไปก่อนเถอะ เหลือไม่เป็นไรเดี๋ยวเราต่อเอง” บรรจงกล่าวเสริม เป็นธรรมเนียมของนักดื่มที่นี่ เขาจะใช้แก้วใบเดียวแล้วเวียนเทียนกันไป เพื่อแสดงความเป็นพรรคพวก และไม่รังเกียจกัน
        ผมหยิบแก้วเหล้าขึ้นดื่มอย่างยากเย็นได้เพียงครึ่งเดียวก็วาง รีบตักลาบปูใส่ปาก เพื่อกลบความรุนแรงของเมรัย บรรจง ทองย้อย สมบุญ เวียนเทียนดื่มกันต่ออย่างมีรสชาติ พอฤทธิ์แอลกอฮอร์เริ่มเข้าที่ แต่ละคนก็เริ่มสาธยายความในใจ
      “พวกเราโชคไม่ดี ไม่มีโอกาสได้เรียนเหมือนครูบุญถึง เลยต้องลำบากกันอย่างนี้”
       สมบุญ ปรารภขึ้นก่อน พวกเพื่อน ๆ ก็เออออตาม ผมเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนทุกคนดี คำพูดแต่ละคำที่หลุดออกมา แฝงไว้ซึ่งความท้อแท้ สิ้นหวัง น้อยเนื้อต่ำใจ ...ดูสภาพภายนอกแต่ละคนผมเกร็ง ซีดเซียว ผิวหยาบกร้าน ผมเผ้ายุ่งเหยิง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวมอมแมม
      
นึกถึงสมัยที่เราเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา เราเคยปีนต้นมะขามเทศข้างโรงเรียนกินกัน วิ่งเล่น หยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน วันโกน วันพระที่เป็นวันหยุดเราก็ไปยิงนกตกปลากันตามประสาเด็กชนบท ไม่เคยอนาทรร้อนใจหรือคิดถึงวันข้างหน้า รู้แต่เพียงว่า อยากจบชั้น ป.4 เร็ว ๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาทำไม เพราะอยู่ที่บ้านก็เบื่อพ่อแม่ที่คอยจ้ำจี้จำไชใช้ให้ทำงาน คงเป็นเพราะเบื่อเรียนกระมัง ชีวิตที่สนุกสนานในวัยนั้นก็คือการได้เล่นกับเพื่อน ๆ ในโลกแห่งความเป็นอิสระเท่านั้น
       
ผมไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เรียนต่อ เพราะในหมู่บ้านไม่เห็นมีบ้านไหนเขาส่งลูกให้เรียนต่อสักคน ทั้ง ๆ ที่พอมีอันจะกิน เขาหวังแต่ให้ลูกชายลูกสาวที่จบ ป.4 และเริ่มโตพอจะช่วยทำงานได้แล้ว มาช่วยทำไร่ทำนา อีกไม่กี่ปีก็แต่งงาน มีเหย้ามีเรือนกันไป เป็นวัฏจักรและเป็นธรรมเนียมของคนในหมู่บ้านโคกหัวนาที่ผมอยู่ ไม่สนใจโลกภายนอกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ดูพวกเขาก็มีความสุขกันดีในขณะนั้น
      
พ่อแม่ผมก็มีความคิดเหมือนกับชาวบ้านอื่น ๆ ฐานะก็ไม่ได้ดีอะไร ตัวผมเองก็ไม่ได้ใฝ่ฝันจะเรียนต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม แค่เรียน 4 ปี ก็เบื่อจะแย่ จบ ป.4 มาก็ถูกใช้ทำงานในไร่ในสวนได้หนึ่งปีบังเอิญพี่บุญวัง พี่ชายคนโตที่เพื่อนของพ่อ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีในตัวเมืองขอไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ให้ช่วยทำงานในโรงสี และให้เรียนต่อไปด้วย พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาก็สอบได้ทุนไปเรียนฝึกหัดครูต่อจนจบ ป.กศ.สูง มาเป็นครู ที่โรงเรียนในตัวอำเภอ พี่บุญวังมองเห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน จึงอยากให้น้อง ๆ ได้เรียนและมีอนาคตเช่นเดียวกับตน จึงมาคาดคั้นกับพ่อแม่ให้ส่งผมเรียนต่อโดยอาสาเป็นผู้ส่งเสียค่าเล่าเรียนเอง ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนขณะนั้นเพียง 750 บาท พ่อแม่จึงยอมจำนนด้วยเหตุผลแม้จะไม่ค่อยพอใจนักก็ตาม
        ผมตื่นเต้นกับโรงเรียนในเมืองตั้งแต่วันแรกที่พี่บุญวังพาไปสมัคร ตื่นเต้นกับสถานที่ใหม่เพื่อนใหม่ และครูคนใหม่ ซึ่งต่างจากโรงเรียนบ้านโคกหัวนาโดยสิ้นเชิงกว่าจะปรับตัวได้ก็ใช้เวลานานทีเดียว
       
การเดินทางไปโรงเรียนก็แสนจะลำบาก ผมต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ แต่งชุดนักเรียน หาบผักและผลไม้ในสวนไปขายที่ตลาดสดในเมืองพร้อมกับแม่ใช้ชีวิตเช่นนี้หลายปปี จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา นับเป็นเด็กในหมู่บ้านคนเดียวที่ไปเรียนในเมือง พ่อแม่ผมมักถูกเพื่อนบ้านทักท้วงเสมอว่า คิดอย่างไรที่ส่งลูกไปเรียนในเมือง พ่อแม่ผมก็เห็นคล้อยตาม คอยเหน็บแนมให้ผมออกจากโรงเรียนเสมอ พี่บุญวังคนเดียวที่พ่อแม่เกรงใจ ผมจึงได้เรียนจนจบ แต่ถึงกระนั้น พ่อแม่ก็ยังยื่นเงื่อนไขว่าถ้าสอบตกต้องออกนะและลูกผู้หญิงไม่ให้เรียน ด้วยเหตุนี้พี่สาวและน้องสาวผมอีกสองคนคือบุญพา และบุญศรี จึงหมดโอกาสเรียนต่อด้วย
       
ผมสำนึกเสมอว่า ชีวิตของผมขึ้นอยู่กับโอกาสทางการศึกษาจริง ๆ ไม่ใช่ว่าผมจะเก่งกว่าสมบุญ บรรจง ทองย้อยหรือแม้แต่บุญศรีน้องสาวผม เพียงแต่ผมมีโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า โดยมีผู้หยิบยื่นให้เท่านั้น
        ผมไม่มีวันลืมบุญคุณของพี่บุญวัง ที่สร้างชีวิตใหม่ให้ผมทั้งดุ ทั้งด่า คาดคั้นจนผมเห็นคุณค่าของการเรียนและตั้งใจเรียนจนจบ ได้มาเป็นครูเช่นเดียวกัน
       “ตอนนี้พวกเราทำอะไรกันบ้าง มีลูกกันกี่คนแล้ว”
        ผมถามทุกข์สุขของเพื่อน ๆ ทุกคนต่อ
      “พวกเราทั้งสามคน ตอนนี้ทำงานที่โรงงานกระเบื้อง ที่เขาโป่งแร้ง ตอนแรกก็ทำไร่ ทำนา แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ผลเหมือนแต่ก่อน ดินมันแย่ลง โรคพืชก็เยอะ ฉีดยามาก ๆ ก็อันตราย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เจ้าอนันต์เพื่อนของเราก็ตาย เพราะฉีดยาถั่วฝักยาว ...พ่อแม่เรามีลูกหลายคนแบ่งที่ดินกันแล้ว ก็ได้คนละไม่กี่ไร่ จะไปถางป่าทำไร่ บนเขาเหมือนแต่ก่อน ทางการเขาก็ห้ามแล้ว ทำไปก็ไม่พอเลี้ยงลูก เราก็เลยขายที่ของเราไป ก็ปลูกบ้านได้หลังหนึ่ง ตอนนี้เราก็เลยต้องไปทำงานที่โรงงาน ก็พอกินพอใช้ไปวัน ๆ อาศัยที่ยังพอมีของป่า ปู ปลา หลงเหลือให้เป็นอาหารอยู่บ้างเลยไม่ต้องใช้จ่ายอะไรมากนัก... เรามีลูก 3 คน บรรจงและทองย้อยมีกันคนละ 2 คน ทำหมันกันหมดแล้ว ขืนมีลูกมากยิ่งลำบากกว่านี้” สมบุญ เป็นตัวแทนเล่าให้ผมฟังอย่างยืดยาวแทนเพื่อน ๆ ผมซักต่อ
      “แล้วลูก ๆ ได้เรียนหนังสือกันบ้างหรือเปล่า”
    
ตอนนี้ยังเล็ก ๆ กันทั้งนั้น กำลังเรียนชั้นประถม อีก 2 – 3 ปีจึงจะจบ ป.6 เราคิดจะส่งให้เรียนมัธยมต่อ ไม่รู้จะส่งไหวหรือเปล่า ไม่อยากให้ลำบากเหมือนพ่อแม่”
     
คิดถูกแล้ว ที่จะให้ลูกเรียนต่อ ตอนนี้โรงเรียนมัธยมก็อยู่ใกล้ ๆ แถวนี้เองเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เขาไม่เก็บค่าเล่าเรียน”
      
เรียนฟรีจริง ๆ เหรอ” บรรจงถามด้วยความสนใจ
       “จริงซี นอกจากเรียนฟรีแล้ว ยังมีหนังสือให้ยืมเรียน และเครื่องแบบนักเรียนแจกให้ด้วย”
      “นับเป็นโชคดีของลูกเรานะ ที่จะได้มีความรู้ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่” ทองย้อย พูดอย่างมีความหวัง
        “เรื่องลำบากหรือไม่ลำบากยังบอกไม่ได้ อย่าได้หวังว่าเรียนแล้วจะสบาย ได้เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าคนนายคนเหมือนสมัยก่อนเพราะเดี๋ยวนี้คนมากขึ้น ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการหรืองานประจำมีน้อย
การส่งลูกเรียนก็เพื่อให้เขามีความรู้ได้เห็นช่องทางในการทำมาหากินมากขึ้น และถ้าเขาสามารถไปประกอบอาชีพอิสระได้ก็นับเป็นเรื่องดีทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้ข้าราชการหรือคนที่มีเงินเดือนกินอย่างฉัน ก็พอมีพอกินเท่านั้น ขนาดประหยัดแล้วนะ ไม่เหมือนนักธุรกิจ พ่อค้า หรือพวกที่เขาทำงานอิสระ นอกจากพวกเขาจะรายได้ดีแล้ว ยังไม่มีใครมาเป็นเจ้านายอีก” ผมพยายามพูดให้เพื่อน ๆ คล้อยตาม
        พวกเราต่างเล่าความหลัง พูดคุยกันต่ออย่างเพลิดเพลิน อาหารเย็นมื้อนี้รสชาติถูกปากผมเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะได้ลิ้มรสอาหารที่เคยชอบแล้ว ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศเก่า ๆ ได้พูดคุยกับเพื่อนที่ถูกคออีกด้วย
      
เวลาผ่านไปถึงสองยามโดยไม่รู้ตัว เหล้าขาวสองขวดและกับแกล้วทุกชนิดใกล้หมดลงไปทุกที ลมที่พัดมาต้องกายยามดึกเริ่มรุนแรงและหนาวเหน็บ บรรยากาศภายนอกเงียบกริบได้ยินแต่เสียงอ้อแอ้ พร่ำรำพันวกไปวนมาจนฟังไม่ได้ศัพท์ของเพื่อน ๆ เท่านั้น
       ...
ผมเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นด้วยความหวังว่าลูก ๆ ของเพื่อนผมจะได้เรียนต่อในโรงเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาที่ใกล้บ้าน และนำความรู้มาพัฒนาบ้านโคกหัวนาให้เจริญก้าวหน้า มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 80938เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนคุณครูธเนศ

  • ดีใจที่มีวันนั้น  จึงมีครูธเนศอย่างวันนี้  
  • คนเราถ้าใฝ่ดีก็ประสบความสำเร็จค่ะ  บางคนมีโอกาสแต่ไม่คว้าก็มีถมไป เสียดายแทนสำหรับคนไม่มีโอกาสได้เรียนจริงๆ 
  • ขอบคุณคุณครูจริงๆ ค่ะที่ทำให้ราณีมีเรื่องดี ๆ อ่าน  อ่านทุกเรื่องประทับใจทุกเรื่องเลยค่ะ 
    ขอบคุณอาจารย์ราณี(เรียกตามชื่อบล็อกนะ)  ที่ติดตามจนจบ  อาจารย์สอนมหาวิทยาลัย  แม้พื้นฐานทางโอกาสจะดีกว่าบุญถึง  แต่ในส่วนลึกอาจารย์เป็นครูที่มีจิตใจอ่อนโยน  คิดว่าลูกศิษย์คงรักอาจารย์กันทุกคน (ดูรูปก็รู้) เราคงได้แลกเปลี่ยนกันต่อไปนะ

เรียนคุณครูธเนศ...

  • อ.ราณีแนะนำให้เข้ามาอ่านบันทึกค่ะ  รู้สึกชื่นชมและเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เดียวกับคุณครู...
  • เรื่องราวของคุณครูควรค่าแก่การเผยแพร่มากเลยนะคะ  และหว้าจะเข้ามาใหม่ค่ะ

เรียคุณครูธเนศ

    ราณีเริ่มเข้าไปอ่านตั้งแต่ก่อนบันทึกแรกเลยนะค่ะ    ชื่นชม  จะติดตามผลงานของคุณครูตลอดไปค่ะ

เรียน อ.ลูกหว้า และ อ.ราณี
      ขอชื่นชมอาจารย์ทั้งสองท่านที่เรียน-สอน ทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านธุรกิจ แต่ให้ความสนใจชีวิตของเด็กที่คนส่วนใหญ่เขามองข้ามอย่างบุญถึง 
      หากผู้บริหารหรือผู้มีบทบาทดูแลสังคมให้ความสนใจกับเด็กที่เป็นรากหญ้าจริงๆ เช่นอาจารย์ทั้งสอง เด็กด้อยโอกาสในบ้านเราคงได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีมากขึ้นแน่
     ขอบคุณอีกครั้งครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท