ร่อนกรวดร่อนทรายค้นหากลุ่มเสี่ยง


การจัดบริการตรวจคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยง ทางลัดป้องกันโรคเบาหวาน จะป้องกันคนเป็นโรคต้องขุดคุ้ยค้นหาคนที่ยังไม่เป็น ใต้ภูเขาน้ำแข็งยังไม่โผล่ขึ้นมาอีกมากมาย

   ยุคนี้ Concept โรคเบาหวานเน้นที่การค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรค ประชาชนต้องรู้และเข้าใจการสร้างเสริมสุขภาพตนเองเพื่อห่างไกลโรค ไม่อยากเห็นผู้สูงอายุของประเทศไทยที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยสภาพที่ไม่สมประกอบ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ อะไรทำนองนี้ในอนาคต

   ที่ผ่านมาผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้ให้บริการตรวจรักษาโดยส่งต่อดูแลต่อเนื่องที่ PCU/สถานีอนามัย ไม่มีการค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนแนวคิด หน้าที่ป้องกันโรคเป็นพวกเขาต้องทำ ไม่ใช่เราทำให้ ประชาชนต้องรู้วัตถุประสงค์ รู้ความเคลื่อนไหวการป้องกัน ควบคุมโรค เราจึงเปลี่ยนจากการกระทำฝ่ายเดียวมาเป็นการกระทำร่วมกัน นั้นคือ จัดอบรมอสม. ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวในชุมชนให้เขาสามารถรับรู้ เข้าใจและสามารถอธิบายโรคได้ ตอบข้อซักถามให้ประชาชนเข้าใจอย่างง่ายๆได้

   ใช้ข้อมูลชุมชนจากการสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรมสุขภาพมาวางแผนร่วมกัน โดยการทำประชาคมสุขภาพ ทุกคนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร วางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกัน สร้างการยอมรับและความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินการ หรือจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง 

    เทคนิคที่สำคัญของการได้ใจจากการมีส่วนร่วมของชุมชน คือ การปฏิบัติเชิงรุกร่วมกับอสม. ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ในการสื่อสารข้อมูลให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำอย่างไรให้ประชาชนที่อยู่ที่ห่างไกลตามท้องไร่ท้องนาที่มาไม่ถึงมารับการตรวจคัดกรอง  สร้างเครือข่ายการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำชุมชน กระจายข่าวสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นเชิงอากาศยิงกระสุนประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวให้มารับการตรวจคัดกรอง ในขณะที่อสม.เป็นเชิงแนวราบมุ่งหน้ารุกเดินเข้าสู่ประตูบ้านทุกหลังคาเรือน "Door to Door"

    การเตรียมความพร้อมการตรวจคัดกรองก่อนลงชุมชนสำคัญที่สุด เราต้องมีการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายจาก FF ดึงคัดแยกรายชื่อกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ  40  ปีขึ้นไป  ออกมาเป็นรายหมู่บ้าน จัดทำรายชื่อกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มเสี่ยงแยกเป็นรายหมู่บ้าน  อสม.มีบทบาทมากในการเข้ามาร่วม Screen รายชื่อผู้ที่ยังไม่เคยรับการตรวจคัดกรองและผู้ที่อยู่จริง ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านแต่ไปทำงานต่างจังหวัด ข้อมูลตรงนี้ต้องชัดเจนน่าเชื่อถือก่อน จากนั้นจัดอบรมอสม. ผู้นำชุมชนให้เขาสามารถเป็นตัวแทนให้ PCU/สถานีอนามัยได้ ในการสื่อสารให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ตอบคำถาม อธิบายโรคได้ เอาให้เข้มข้นเลย จะประชาสัมพันธ์เรื่องโรคเบาหวานอย่างไร อย่าลืมว่าต้องผ่านผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน มีการมานั่งพูดคุยกันว่าจะสื่อสารอย่างไรทางหอกระจายข่าวให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ฟังแล้วไม่เบื่อ 

    มาร่วมกันจัดทำแผนการคัดกรองร่วมกับอสม. ผู้ใหญ่บ้าน เราอย่ามาทำคนเดียว ต้องให้เกียรติ ยกย่องในความสามารถของพวกเขา ช่วยกันทำทั้งหมด จะได้รู้ว่าเราต้องช่วยเหลือ สนับสนุนอะไรให้เขาได้บ้าง  จากนั้นส่งรายชื่อกลุ่มเป้าหมายแยกตามรายหมู่บ้านให้อสม. ผู้ใหญ่บ้าน แยกรับผิดชอบเป็นค้มๆ ตรงนี้เราต้องใช้ระบบนัดมาช่วย ให้อสม.เป็นแนวราบเดินสู่ทุกหลังคาเรือน ออกใบนัดการตรวจคัดกรองเบาหวาน  ตามจิกตามจี้ให้ดีๆ  แต่เราต้องปูพื้นความรู้การใช้บัตรนัดให้อสม.ให้เข้าใจดีๆก่อน

    เมื่อทุกอย่างพร้อม นัดแนะ วัน เวลา สถานที่ การมาตรวจคัดกรอง การเตรียมตัวก่อนมาตรวจคัดกรองทำอย่างไรบ้าง มีใบนัดชัดเจนแล้ว เช้าวันนั้น เริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่ 05.00 -12.00 น. ชาวบ้านมาพร้อมกันเป็นกองทัพ อบต. นักการเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มา เหนือเกินความคาดหมาย เราสามารถประเมินได้เลยว่าที่เราประชาสัมพันธ์ออกไปได้ผลจริง เดี๋ยวนี้ชุมชนบ้านเราเริ่มตระหนักการเป็นโรคเบาหวาน ในรายที่ติดภารกิจมาไม่ได้จริงๆ เรามีแผน 2 วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ดี หรือ หลังเลิกงานตอนเย็นก็ดี เข้าไปทักทายเยี่ยมเยียนสักหน่อยไม่เสียหลาย เทคนิคการทำงานให้ประสบความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งคือ บูรณาการแรงงานจากสถานีอนามัยใกล้เคียงมาร่วมแรงร่วมใจในวันนั้น 

    ผลการคัดกรอง ปี พ.ศ. 2548  กลุ่มเป้าหมาย  39,132  คน  ตรวจคัดกรอง  33,237 คน ร้อยละ  84.93   เป็น กลุ่มปกติ ระดับน้ำตาล < 110 mg%  จำนวน 30,049  คน  ร้อยละ  90.41  กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วย ระดับน้ำตาล 110-125 mg%  จำนวน 2,234 คน  ร้อยละ 6.72 กลุ่มสงสัยเป็นโรค ระดับน้ำตาลมากกว่า 126 mg%  จำนวน  824  คน  ร้อยละ  2.48 กลุ่มสงสัยว่าเป็นโรคส่งต่อพบแพทย์ ระดับน้ำตาลมากกว่า  126 mg% ตรวจซ้ำ 2 ครั้ง จำนวน 647 คน ร้อยละ 1.95 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน จำนวน 239 คน ร้อยละ 36.94 ดังนั้นในปี พ.ศ. 2548 เรารับน้องใหม่ที่เป็นโรคเบาหวานมากถึง 239  คน ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 2,469 คนแล้ว ไม่อยากเห็นสถิติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกเลย  เมื่อร่อนกรวดร่อนทรายแล้วอย่างน้อยเราก็เห็นกลุ่มเสี่ยงมากถึง  2,234  คน เห็นแล้วตกใจมาก ก็อยากจะจัดกิจกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงให้พวกเขากลับคืนสู่กลุ่มปกติโดยเร็วที่สุด ในเบื้องต้นเราได้ให้ความรู้การดูแลตนเองเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค สามารถประเมินตนเองจากการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ลงพุง วัดรอบเอวได้ มีกิจกรรมคืนความรู้สู่ชุมชนโดยสนับสนุนเทป /CD/บทความเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางวิทยุกระจายเสียงบ้าง ทางหอกระจายข่าวบ้างเดือนละครั้ง  สนับสนุนชมรมสร้างสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วมบ้าง  ก็อยากได้ผู้ที่เก่ง/ผู้ที่มีประสบการณ์มาร่วมลุยงานในชุมชนเพื่อช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นให้เขาสามารถมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อสร้างเสริมภูมคุ้มกันต่อไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานโน้นแหละเพื่อคนไทยห่างไกลโรคให้ได้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8079เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2005 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณยุวรีย์ไฟแรงสุดๆ เลย ไม่ทราบว่าเดินทางกลับถึงบ้านเรียบร้อยดีหรือเปล่า

ถ้ามีเวลาเขียนเล่าประสบการณ์ในตลาดนัดความรู้ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท