ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน (๓)


สุขภาพชุมชนต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย

ต่อจากบันทึกที่ ๒

เกือบ ๑๐.๐๐ น. เริ่มรายการเสวนา “นโยบายการพัฒนางานสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการ สปสช. คุณวิรัตน์ ทำนุราศี ผอ.สำนักส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ดำเนินรายการคือคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์

 วิทยากรบนเวทีเสวนา

นพ.วินัย สวัสดิกร เปิดใจเล่าว่าเดิมตนเองเคยคิดเคยมองอย่างไร สมัยจบออกมาทำงาน จนเป็น ผอ.รพ. คิดว่ารู้มากกว่าชาวบ้าน ตอนเป็น นพ.สสจ. ความคิดก็ไม่ค่อยแตกต่างจากแรกๆ และได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ สปสช. ระบบบริการสุขภาพที่มุ่งหวัง (แผนยุทธศาสตร์ ปี ๒๕๔๙) สปสช.อยากจะเห็นภาพของหน่วยบริการที่ใกล้บ้านใกล้ใจ เข้าถึงได้สะดวก มีคุณภาพ มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ....และอยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ดังจะเห็นได้จาก พรบ.หลักประกันสุขภาพ ๒๕๔๕ มาตรา ๑๓, มาตรา ๔๗ ได้เรียนรู้เรื่องของการมีส่วนร่วมจากประสบการณ์ในการจัดบริการสำหรับคนกรุงเทพ พบว่าคนกรุงเทพเข้าถึงบริการไม่ได้ง่าย ตอนแรกที่จัดทำนั้นคำนึงถึงการมีส่วนร่วมน้อย สปสช.ดูเอง รับสมัครเอง หลังจากทำไปแล้วเจอปัญหาหลายเรื่อง ทำใหม่อีกครั้งตอนแก้ปัญหาความแออัดที่ รพ.ภูมิพล เล่าวิธีการปรับการจัดการให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม แล้วเขารู้สึกเป็นเจ้าของ เขาจะดูแลของเขาเอง ต่างจากที่ สปสช.คิดเองทำเอง

คุณวิรัตน์ ทำนุราศี ขอเรียกกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นสั้นๆ ว่า “กรมท้องถิ่น” บอกเล่าว่ามีแนวนโยบายและภารกิจอย่างไรบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่าง สธ.และกรมท้องถิ่นระดับพื้นที่มีเต็มร้อย กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่ากรมท้องถิ่นมีหน้าที่อะไรบ้าง อธิบดีอยากให้เน้นด้านสังคม ด้านสุขภาพ และไม่ได้มองเฉพาะตอนปัจจุบัน แต่มองตั้งแต่เกิดจนตาย โดยฝากความหวังไว้ที่ อสม. พร้อมเล่าว่ากรมท้องถิ่นสนับสนุนอะไรบ้างตั้งแต่เกิดจนตาย ระหว่างยังดูแลคนด้อยโอกาส คนชรา ดูแลเรื่องอาหารการกิน เช่น ตลาดดีมีมาตรฐาน การกำจัดขยะ ฯลฯ ขณะนี้ สอ.ตำบลยังไม่ได้ถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่น กำลังดำเนินการอยู่ ถ้าถ่ายโอนภารกิจแล้วก็ต้องเข้าไปดูแลและพัฒนา ส่วนในเรื่องของโรคเรื้อน ยอมรับว่าคนของกรมยังไม่มีความพร้อม

คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ สรุปให้เห็นภาพว่าเม็ดเงินในการดูแลคน ส่วนใหญ่จะมาจากท้องถิ่น ต่อไปการดูแลสุขภาพจะมีคนมาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น ขณะนี้หมออนามัยบางส่วนได้ไหลไปอยู่กับเทศบาลแล้ว

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ พูดในฐานะเจ้าภาพใหญ่ด้านการดูแลสาธารณสุขทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีเจ้าภาพอื่นๆ เข้ามาร่วม เช่น อปท. สปสช. ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีมากๆ ถ้ามีความเข้าใจและประสานกันอย่างดี วันนี้จะเน้นเฉพาะเรื่องของ primary care ท่านรองปลัดเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า รมต.สธ. ไปฟังรับสั่งของสมเด็จพระเทพฯ ว่าชาวบ้านเรียก สอ.กันไม่ถูก มีหลายชื่อ เปลี่ยนเสียใหม่ดีไหม เรียกว่า “สุขศาลา”

นพ.มานิตกล่าวว่าระบบพื้นฐานมีอยู่ทุกที่ เล่าถึงการพัฒนา primary care ที่ผ่านมาโดยยกเอาคำนิยามมาอ้างอิง ซึ่งแสดงว่า primary care เป็นที่ที่สำคัญมาก จะทำหน้าที่นั้นๆ ได้ บุคลากรต้องพร้อม ต้องเก่ง แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย วันนี้จึงต้องคิดใหม่ อปท.ตอนนี้เป็นเสี่ยใหญ่ แต่ยังไม่เป็นระบบ บางแห่งช่วย บางแห่งยังไม่ช่วย จึงต้องคิดใหม่ มีนักวิชาการไปคิดยุทธศาสตร์ ๕ อย่างมีกิจกรรมเป็น ๑๐๐ ท่านอ่านหลายรอบแล้ว ยิ่งอ่านยิ่งงง

ท่านรองปลัดฯ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ ๕ ด้าน ที่ต้องพยายามผลักดันโดยทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่
๑. เพิ่มศักยภาพและขยายบริการ ให้ primary care เป็นที่ที่ประชาชนเข้าถึง ครอบคลุมทั่ว มีคุณภาพ เหมาะสมกับท้องถิ่น
๒. บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบและคนมีความสามารถ
๓. คน ต้องมีเพียงพอ ต้องมีแพทย์อยู่ด้วย
๔. สร้างคุณค่า เอกลักษณ์ และการยอมรับระบบบริการปฐมภูมิ ทุกวันนี้ความเชื่อถือในระบบปฐมภูมิยังไม่ดี ต้องสร้างเครดิต รู้จักใช้การตลาด เพราะ “ของถูกสามารถเป็นผิดได้ โดยสื่อมวลชน”
๕. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบปฐมภูมิ เพราะการพัฒนาต้องอาศัยความรู้

คุณสุรเดชเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุมถามคำถาม มีทั้งผู้เสนอความคิดเห็นและถามคำถามในประเด็นต่อไปนี้
- หญิงสาว นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพที่สังกัดท้องถิ่น แนะวิธีการเข้าไปทำงานกับท้องถิ่นว่า อย่างมองแบบไปลดทอนคุณค่างานของคนอื่น เพราะทุกหน่วยงานต้องมี KPI ของตนเอง
- ชายหนุ่มจาก รพ.ราชวิถี บอกว่า รพ.แน่นมากเพราะระบบการจัดการของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อยากส่งคนไข้กลับไปรับความอบอุ่นจากชุมชน
- พยาบาลสาวจากร้อยเอ็ดที่ทำงานชุมชนมานานถึง ๑๔ ปีถามว่า สธ.มีน้ำทิพย์ประโลมใจอะไรให้บ้าง
- ชายหนุ่มจากกาฬสินธุ์ อยากให้แสดงจุดยืนว่า primary care คืออะไรกันแน่ และตั้งข้อสังเกตว่าหมออนามัยเป็นคนทำงาน แต่ทำไมผลงานกลายเป็นของท้องถิ่น
- ชาว สสอ. รพ.มะขาม ถามเรื่องการผลิตบุคลากร มีแนวโน้มผลิตเพิ่มอย่างไร การจ้างบุคลากรจ้างอย่างไร น้องๆ ที่อยู่อนามัย ตำแหน่ง จพง. เรียนจบวิชาชีพมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ตำแหน่งวิชาชีพ

รองปลัด สธ.ตอบคำถามเรื่องการเปลี่ยนตำแหน่งว่าถ้าเป็นพยาบาลเทคนิค ไปเรียนต่อวิชาชีพจะเปลี่ยนเป็นพยาบาลวิชาชีพทันที แต่ถ้าเป็นตำแหน่ง จพง.เรียนจบวิชาชีพ ต้องเปลี่ยนเป็นพยาบาลเทคนิคก่อน

นอกจากนี้ยังมีคำตอบเกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นว่าไม่จำเป็นต้องเอาหน่วยงานไปอยู่ท้องถิ่นด้วย การกระจายอำนาจทำได้หลายแบบ และทั้ง ๒ ฝ่ายต้องมีความพร้อม เงื่อนไขต่างๆ ลงตัว บุคลากรสมัครใจ

ดิฉันฟังการเสวนาหัวข้อนี้ด้วยความตั้งใจ ทำให้มีความเข้าใจการทำงานในระดับปฐมภูมิมากขึ้น และเข้าใจว่าสุขภาพชุมชนต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย ตอนนี้ที่เห็นๆ คือ สธ. สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งประชาชน การที่จะทำให้หลายๆ ส่วนทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 80449เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตั้งแต่ดิฉันได้เข้าไปคลุกคลีกับผู้สูงอายุ ในพื้นที่ ... ก็เริ่มเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ชุมชนควรมีหน่วยบริการ หรือดูแล หรือ รักษาเบื้องต้น หรือ รักษาระยะยาว กับผู้สูงอายุแล้วละค่ะ เพราะว่าเป็นความลำบากของท่านจริงๆ ที่จะต้องเดินทางเข้าไปรับการรักษาไกลแสนไกล

แต่ก่อน (10 กว่าปีแล้ว) ทำงาน รพช. ก็ไม่ค่อยจะรู้สึก รู้ว่าเป็นธรรมชาติของคนป่วยที่จะต้องเดินทางแต่เช้ามืด เพื่อมารอรับการรักษาที่ รพ. ประจำอำเภอ หรือจังหวัด ... แต่ตอนนี้กลับตรงกันข้าม ทำไมเราไม่เอาบริการเข้าไปใกล้ชาวบ้านให้มากขึ้นนะคะ

เหมือนกับ "ชายหนุ่มจาก รพ.ราชวิถี บอกว่า รพ.แน่นมาก เพราะระบบการจัดการของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อยากส่งคนไข้กลับไปรับความอบอุ่นจากชุมชน"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท