นักกีฬามหาวิทยาลัย -- เราเอาเปรียบเขาอยู่หรือเปล่า?


ที่น่าเศร้าใจจริงๆก็คือ มหาวิทยาลัยดูจะไม่พยายามหาทางแก้ไขปัญหานักศึกษาที่เป็นนักกีฬาเลย และดูเหมือนเอาพวกเขาเข้ามาเพื่อใช้ให้พวกเขาเล่นกีฬาเท่านั้น แต่ไม่เคยมองเลยว่าพวกเขาจะเรียนหนังสือ และจบออกไปเป็นบัณฑิตที่พึงปรารถนาของคณะนั้นๆได้หรือไม่

ตอนนี้เทศกาลสอบแห่งประเทศไทยกำลังมาถึง ทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย A-NEt O-Net ที่หวังว่าปีนี้จะไม่มีปัญหาอีก และการสอบปลายภาคของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และกลางภาคของพวกที่เรียนโครงการภาษาต่างประเทศ นักศึกษาจำนวนมากคงง่วนอยู่กับการสอบจำนวนมาก

ในบรรดานักศึกษาทั้งหมด ผมคิดว่าคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองข้าม และบางครั้งถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาก็คือ พวกกลุ่มนักกีฬา โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ...

อาจารย์ที่สอนเด็กนักกีฬามักจะประสบปัญหาว่าเด็กไม่ค่อยเข้าเรียน ไม่ค่อยส่งงาน และทำข้อสอบได้คะแนนไม่ดี นักกีฬามหาวิทยาลัยจำนวนมากต้องจบถึงปี 7 บางรายอาจจะไม่จบด้วยซ้ำ

ตัวผมเอง มีนักศึกษาที่เป็นนักกีฬามาปรึกษาหลายครั้ง ตั้งแต่เทอม-สองเทอมที่แล้ว และขอให้ช่วยในเรื่องของการผ่าน เพราะเค้าไม่มีเวลาจริงๆ ซึ่งเหล่าอาจารย์ปฏิเสธที่จะให้มีการทำงานพิเศษเพื่อให้ผ่านวิชา แต่ผมก็บอกเค้าชัดเจนว่า ถ้าให้ช่วยก่อนสอบนั่นย่อมได้ ผมเลยมีโอกาสได้พบเจอพวกเขาบ่อยๆ และได้พูดคุย

 ที่พบอย่างหนึ่งเลยคือ เหมือนว่า มหาวิทยาลัยมักปล่อยให้นักกีฬาพวกนี้ ดูแลเรื่องการเรียนของตัวเอง ซึ่งผมมองไม่ออกว่าเขาจะทำได้ไง เพราะขนาดเด็กธรรมดาที่ไม่เป็นนักกีฬายังดูแลตัวเองไม่ค่อยจะได้เลย ...

พวกนักกีฬา ตอนมิดเทอม มักจะตรงกับช่วงกีฬามหาวิทยาลัยพอดีเสมอๆ ซึ่งต้องมีการซ้อมอย่างหนัก บ้างต้องเก็บตัวต่างจังหวัด เวลาในกาเรรียน ในการอ่านหนังสือเขาไม่มีเลยจริงๆ พอจะกลับมาสอบมิดเทอมก็ทำไม่ได้ หลายๆคนก็ถอน (W) เพราะคะแนนต่ำมากๆ

สำหรับวิชาผม ผมกระตุ้นให้เด็กๆยังสู้ต่อ แม้จะได้คะแนนต่ำก็ตาม แต่ผมก็ติวให้เขาอย่างเต็มที่เหมือนกัน ...

จากเทอมที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า จริงๆเด็กๆพวกนี้ก็เหมือนเด็กทั่วไป เข้าใจเรื่องต่างๆได้ดี จริงๆแล้วอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางดีด้วยซ้ำไป เพราะนักศกษาที่ผมติวให้เต็มที่ (ไม่เคยบอกข้อสอบเลยนะ สาบานได้) ทำข้อสอบได้ดีมาก จนเขาสามารถผ่านได้เกรด D ได้ จากมิดเทอมได้คะแนนเพียง 6 คะแนน จึงเห็นได้ว่า หากมีเวลามากพอ ที่พวกเขาจะทำความเข้าใจ และมีคนให้ถามได้จริงๆ เขาก็ทำผลการเรียนได้ดี ... ถ้าเขาสามารถมีเวลาเหล่านี้ได้ตั้งแต่ก่อนมิดเทอม เขาน่าจะทำผลการเรียนได้ดีกว่าที่เป็นอยู่มาก

นอกจากเรื่องเวลาเรียนแล้ว ภาพพจน์ที่เขามีต่อตนเองก็สำคัญมากเหมือนกัน การที่เงื่อนไขชีวิตเขาเป็นแบบนั้น ทำให้เขาคิดว่าพวกเขาเรียนอ่อน เลยขาดความมั่นใจที่จะคิด ที่จะทำอะไรต่างๆในเชิงวิชาการหรือการเรียน ส่งผลให้ความทุ่มเทและตั้งใจของเขาด้วย และถ้าอยู่ในหมู่นักกีฬาด้วยกันก็อาจจะพาลไม่เรียนไปเลยก็ได้

ที่น่าเศร้าใจจริงๆก็คือ มหาวิทยาลัยดูจะไม่พยายามหาทางแก้ไขปัญหานักศึกษาที่เป็นนักกีฬาเลย และดูเหมือนเอาพวกเขาเข้ามาเพื่อใช้ให้พวกเขาเล่นกีฬาเท่านั้น แต่ไม่เคยมองเลยว่าพวกเขาจะเรียนหนังสือ และจบออกไปเป็นบัณฑิตที่พึงปรารถนาของคณะนั้นๆได้หรือไม่

ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เห็นแก่ตัวมาก ... ผมเห็นว่าเด็กมีแต่จะเสียประโยชน์อย่างมากในระยะยาว เพราะอาชีพนักกีฬามันก็มีช่วงเวลาของมัน แต่โดยมากก็ไม่เกินวัย 30 - 40 ปี และถ้าในช่วงอายุนั้นจะอยู่ได้ก็ต้องเก่งมากทีเดียว ... แล้วใครจะรับประกันเรื่องันั้น และหลังจากหมดอาชีพนักกีฬา เขาจะมีทางเลือกอะไรเหลืออีก ? หรือแค่ให้เด็กๆเอามหาวิทยาลัยเป็นที่ชุบตัวเท่านั้น? (ซึ่งส่วนใหญ่ก็แทบจะจมบ่อชุบตัว ขึ้นมาไม่ได้)

มหาวิทยาลัยควรจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่การรับเข้าเรียน -- ถ้าเด็กเรียนไม่ได้ก็ควรจะให้เขาเรียนในสาขาอื่น หรือถ้าจะรับเข้ามา กระบวนการในการดูแลเรื่องการเรียนการสอนของนักกีฬา ก็ควรจะจัดให้เป็นการเฉพาะ เช่น มี class นักกีฬา ในช่วงค่ำ หรือช่วงเวลาว่างไปเลย ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยความทุ่มเทของอาจารย์ประกอบกับ เงินชดเชยหรือระบบแรงจูงใจอาจารย์ด้วย

ไม่งั้น ผมก็มองไม่ค่อยเห็นอนาคตของเด็กนักกีฬาเท่าไหร่นัก ... และผมก็จะรู้สึกละอายกับมหาวิทยาลัยนี้ที่หาประโยชน์จากเด็กนักกีฬาโดยที่ไม่ดูแลเขา

หมายเลขบันทึก: 80442เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เห็นด้วยกับคุณชล บุนนาค นะคะว่าจะดูแลเรื่องเรียนของนศ. ที่เป็นนักกีฬาหน่อย
  • สมัยเรียนมัธยมจำได้ค่ะว่า ที่โรงเรียนจะจัดให้นักกีฬาของโรงเรียนอยู่ห้องเดียวกันค่ะ อาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชาเค้าจะได้สะดวกในการดูแลค่ะ นักเรียนห้องนี้ก็เลยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนมากเท่าไหร่ค่ะ
  • แต่สำหรับระดับมหาวิทยาลัยแล้วทำได้ยากค่ะ คงต้องหาวิธีการแก้ไขกันต่อไปค่ะ
ขอบคุณ คุณสุธรามากครับ สำหรับความเห็น ... ถ้าใครมีหนทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็รบกวนช่วยกันระดมด้วยคร้าบ
  • แต่บางครั้งนักกีฬาก็เอาเปรียบสถาบันนะคะ  เข้ามาเรียนในช่องทาง(โควต้า)ของนักกีฬา  แต่ไม่ได้ขยันหมั่นฝึกซ้อม  หรือทำหน้าที่ของตนเองอ่ะค่ะ
  • ส่วนเรื่องหลักสูตรที่เขาจะเรียนนั้น  ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษาหรือสถาบันไม่ดูแลนะคะ   แต่บางทีเจ้าตัวก็ไม่ได้อยากจะเรียนในสาขาที่เราช่วยดูแล  เขาเองก็อยากจะเรียนในสาขาตามความฝันของเขา  เช่น  เคยมีนักกีฬามหาวิทยาลัย  ต้องการจะเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์  แต่เป็นนักกีฬาประเภททีม  การฝึกซ้อมกับการฝึกงาน  จัดสรรเวลายากมากเลยค่ะ  เพราะการฝึกงานของคณะพยาบาลศาสตร์จะไปพร้อมๆกันแบบเป็นชุด  ส่วนการซ้อมกีฬาก็เป็นประเภททีม ต้องซ้อมกับทีม  เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้  หลังๆมา  คณะก็ไม่อยากจะรับนักกฬามหาวิทยาลัยเข้าเรียนอ่ะค่ะ
  • โอ จริงอย่างคุณหนิงว่าครับ ผมมีเพื่อนเป็นอย่างที่ว่าเหมือนกัน ...
  • ผมคิดว่าการตัดสินใจไม่รับนักกีฬามหาวิทยาลัยเข้าเรียนนั่นก็เป็นทางเลือกที่ผมเห็นด้วยนะครับ เพราะเราก็ควรให้เขาได้เรียนในสาขาที่อย่างน้อยก็สอดคล้องกับเงื่อนไขของเขา เพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการเรียน

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนมากๆเลยครับ

มีใครมีความเห็นอื่นมั้ยครับ และถ้ามีทางออกหรือไอเดียดีๆก้ช่วยแลกเปลี่ยนกันครับ

  • ผมเคยเป็นนักกีฬาครับ
  • ขาดเรียนบ่อยมาก จนอาจารย์ว่า เพราะไปแข่งกีฬา
  • ถูกถามว่าจะเลือกเอาเรียนหรือกีฬา
  • เลยเลิกเล่นกีฬาเลย
  • มาขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมครับ

สวัสดีค่ะ คุณชล บุนนาค

ได้อ่านบันทึกก็ต้องบอกว่าสะท้อยสังคมของนักศึกษากลุ่มเล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี ในความคิดของดิฉัน ต้องบอกว่า บางครั้งรู้สึกว่าเด็กกลุ่มนี้เหมือนถูกกดดัน ทั้งเรื่องหน้าที่ในการซ้อมเพื่อที่จะต้องแข่งกีฬา และหน้าที่การเรียน คือทั้ง 2 อย่างไม่อาจทิ้งได้  เรื่องเรียนถ้าเรียนไม่ทันก็ทำให้เสียโอกาสหลาย ๆ อย่าง เรื่องซ้อมกีฬาถ้าไม่ซ้อมก็ขาดทักษะ คงต้องนั่งคิดกันแล้วล่ะค่ะ ว่าจะทำยังไงให้เด็กกลุ่มนี้ เกิดสมดุลทั้ง 2 เรื่องนี้

ต้องขอบคุณ คุณชลมาก ที่สะท้อนความคิดนี้ออกมาค่ะ

  • นักกีฬา เสียสละแรงกาย   แรงใจ   ให้สถาบัน
  • สถาบัน ก็น่าจะมีน้ำใจให้นักกีฬา บ้างตามสมควร   แบบพบกันครึ่งทาง  ดีไหมครับ 
  • ยินดีกับการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่าน ผ่านเวทีนี้  ครับ

ขอบคุณทุกๆท่านมากที่ร่วมแลกเปลี่ยนครับ ... จริงๆผมยังสงสัยอยู่บ้างในเรื่องของการพบกันครึ่งทางที่คุณเม็กดำ 1 ได้บอกเอาไว้

ถ้ามีตัวอย่างก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ

หรือใครมีไอเดียเกี่ยวกับการพบกันครึ่งทางระหว่างการเรียนกับการซ้อมกีฬา ของนักกีฬามหาวิทยาลัยได้ก็จะดีมากเลยครับ ... ลองร่วมแลกเปลี่ยนกันดูครับ

 

  • บางมหาวิทยาลัยมีทุนนักกีฬาสำหรับนักกีฬาครับ แต่มีข้อแม้คือต้องรักษาเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง
  • ถ้านักศึกษาทุนกีฬาเกรดไม่ถึงก็โดนตัดทุน บางคนต้องเลิกเรียนเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ
  • จะโทษเด็กก็ไม่ได้ จะโทษอาจารย์ก็ไม่ได้
  • คงต้องพบกันครึ่งทางอย่างที่คุณเม็กดำบอก
  • ยินดีที่ได้รู้จักครับ

ตอนผมเป็นนักกีฬามหา'ลัย

ทางมหาลัย เค้าก็ไม่ได้สนใจอะไร ดีที่ว่าเป็นกีฬาใช้สมอง จึงไม่ต้องฝึกใช้แรงตลอดเวลา

ไปแข่งก็ไปกันเอง แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร

ตอนเป็นอาจารย์สอน

เจอนักกีฬา ที่อ้างหรือจริงก็ไม่รู้ ว่าต้องไปซ้อมแต่ไม่มีตารางการซ้อมตารางการแข่ง ไม่มีฝ่ายกิจการนศ แจ้ง          เลยไม่รู้ว่าอ้าง หรือจริง

ซึ่งบางครั้งก็จริงบ้างอ้างบ้าง ทำให้จัดการสอนได้ไม่เต็มที่

บ่อยครั้งที่เค้าขาด จนเกิดเป็นความเคยชินจนไม่อยากเข้าเรียน

มันต้องช่วยกันทุกฝ่าย จริงจัง จริงใจ 

ทั้ง นศ. อาจารย์ มหา'ลัย ทำให้เป็นระบบ แล้วจะดีต่อทุกฝ่าย ถ้าทำแค่2ฝ่าย อาจได้ผลไม่ดี 

การเป็นนักกีฬาและนักศึกษาทั้ง2 อย่างนี้สามารถควบคูกันไปได้ค่ะ

ดิฉันเป็นนักกีฬาตั้งแต่สมัยเรียนป.ตรีและเรียนในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกีฬาเลย แต่ก็สามารถเรียนและเล่นกีฬาควบคู่กันจนกระทั่งเข้าเรียนในระดับปริญญาโท(โควต้ากีฬา)เรียนในสาขาที่เราอยากจะเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับ ก็ยังเล่นกีฬาควบคู่ไปกับการเรียนและการทำงานได้เลย ขึ้นอยู่กับการแบ่งเวลาของตัวเราเองค่ะต้องตามเพื่อน ตามงาน ตามอาจารย์และแน่นอนค่ะการเป็นนักกีฬาต้องมีความอดทนและความพยายามมากกว่าบุคคลอื่นอยู่แล้ว จะโทษทางมหาวิทยาลัยก็คงไม่ถูกนักเพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็พยายามรักษามาตราฐานของมหาวิทยาลัยของตนเองเป็นธรรมดา และในเมื่อเราเลือกที่จะเป็นนักกีฬาเราก็ต้องรักษาหน้าที่ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไว้ด้วยเช่นกัน

ลองมองย้อนกลับว่าหากคุณไม่ได้โควต้านักกีฬาเข้ามาเรียนบางที่คุณอาจจะไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยนี้ก็ได้ ก็เท่ากับว่าทางมหาวิทยาลัยก็ให้โอกาสแก่นักกีฬามากกว่านักเรียนทั่วไปอยู่แล้ว

ผมอยากรู้ว่าถ้าใช้โควต้า นักกีฬาเข้าไปแล้ว

แล้วเราซ้อม ไปเรื่อยๆ เกิดเรียนไม่ไหว แล้วเราเลือกเรียน

แล้วไม่ซ้อมกีัฬา จะโดนรีไทล์ไหมครับ ??

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท