"ปรีดิยาธร" แจงตั้งงบขาดดุลเหตุ "ทักษิณ" หมกหนี้


แจงตั้งงบขาดดุลเหตุ "ทักษิณ" หมกหนี้

           "ปรีดิยาธร" ชี้รัฐบาลทักษิณหมกหนี้ไว้มากเป็นเหตุให้ต้องทำบัญชีงบปี 2551 ขาดดุลต่อเนื่อง "ณรงค์ชัย" เห็นด้วย แต่ระยะเวลาขาดดุลไม่ควรเกิน 3-5 ปี แนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น  หลังการลงทุนและการบริโภคชะลอ            

             ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ความจำเป็นที่รัฐบาลมีนโยบายจัดทำงบประมาณปี 2551 แบบขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2  เพราะรัฐบาลชุดก่อนหน้าหมกหนี้มาเยอะ ทำให้ต้องจัดทำบัญชีแบบขาดดุลถึง 2 ปี บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องใช้งบประมาณแบบขาดดุลเข้ามาช่วย ทั้งนี้ งบประมาณแบบขาดดุลในปี 2551 มีสัดส่วนงบลงทุนจำนวน 25% เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถเบิกจ่ายได้เกิน 25% หรืออยู่ที่ 25.5%  เหตุที่เราทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพราะรัฐบาลชุดก่อนเขาหมกหนี้มาเยอะ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำบัญชีงบประมาณขาดดุลถึง 2 ปีม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว            

             ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เคยออกมาระบุว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซุกหนี้ผ่านสถาบันการเงินของรัฐประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อหนุนนโยบายประชานิยม            

             ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เห็นด้วยกับนโยบายการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 2551 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะภาวะการลงทุนและการบริโภคที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งหากงบประมาณขาดดุลดังกล่าวมีสัดส่วนงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 25% ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณลงทุนมีการเบิกจ่ายจริงไม่ต่ำกว่านั้น และจะยิ่งเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ หากงบประมาณขาดดุลดังกล่าวถูกใช้เพื่อการลงทุนอย่างแท้จริงไม่ใช่เพื่อการบริโภค  การจัดงบประมาณขาดดุลเป็นเรื่องที่ดี หากงบประมาณขาดดุลทำเพื่อการลงทุนไม่ใช่ถูกใช้จ่ายไปเพื่อการบริโภค เพราะสิ่งที่สำคัญกับสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ คือ การลงทุน หากสูตรการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ตั้งใจไว้ที่ 25% ของงบประมาณทั้งหมด ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้การเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 25% ในปีที่แล้วตั้งงบประมาณลงทุนไว้ที่ 24% ก็ทำได้ 25% แต่ปรากฏว่าเม็ดเงินไม่ได้ถูกใช้เพื่อการลงทุนอย่างแท้จริง โดยถูกนำไปใช้เพื่อการชำระหนี้ เช่น ชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. เป็นต้นเขากล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของการทำงบประมาณแบบขาดดุลจะต้องไม่เกิน 3-5%

             เขากล่าวอีกว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยเฉพาะการนำโครงการลงทุน ที่ถูกเลื่อนออกไปจากรัฐบาลชุดก่อน เช่น โครงการเมกะโปรเจค เป็นต้น ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวนั้น ถือว่าไม่จำเป็นมากนัก            

             ด้าน นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 2551 ถือว่า ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดย สศค. ประมาณการรายได้ไว้ที่ 1.51 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5%1 อัตราเงินเฟ้อที่ 3% และหากจะทำให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว งบประมาณจะต้องทำในลักษณะขาดดุล โดยปี 2551 งบประมาณจะขาดดุล 1.2 แสนล้านบาท หรือ 1.3% ต่อจีดีพี             

              ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญของการทำงบประมาณแบบขาดดุลดังกล่าว อยู่ที่การจัดสัดส่วนงบลงทุน โดยต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ 25%   ขณะที่ปีก่อนอยู่ที่ 24% และภาวะเศรษฐกิจในปี 2551 นั้น จะมีรัฐบาลเป็นตัวนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนจะเป็นตัวนำการทุน              

               คณะทำงานพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และได้ข้อสรุปว่ากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 1.635 ล้านล้านบาท โดยมีรายรับสุทธิที่ 1.515 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นงบขาดดุลที่ 1.2 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 1.3% ของจีดีพี ทั้งนี้เป็นการขาดดุลที่ต่ำกว่าปีงบประมาณปัจจุบัน ที่ขาดดุล 1.7%

                                       กรุงเทพธุรกิจ    23  กุมภาพันธ์  2550

คำสำคัญ (Tags): #ปรีดิยาธร
หมายเลขบันทึก: 80242เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท