สภาพปัญหาระหว่างประเทศ


กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับเด็กและเยาวชนแทนการดำเนินคดีอาญา
                สภาพปัญหาระหว่างประเทศของ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับเด็กและเยาวชนแทนการดำเนินคดีอาญา เด็กและเยาวชนไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ถือว่าเป็นกำลังสำคัญของชาติในการที่จะพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตแต่เนื่องจากสถานการณ์การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนในประเทศไทยที่มีจำนวนมาก คือ มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมและส่งตัวมายังสถานพินิจทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2541–2545 มีจำนวน 38,472 คน,37,388 คน, 35,439 คน, 31,448 คน และ 35,285 คน ตามลำดับ และพบว่าจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมปี 2545 มีอยู่ร้อยละ 40 ที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่มีโทษจำคุกทางอาญา น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจัดว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย และข้อมูลของสถานพินิจพบว่า สถิติการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจมีอยู่ประมาณร้อยละ 15 –19 ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมทั้งหมด เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันยังมีลักษณะที่ผูกขาดโดยรัฐ รัฐมุ่งหมายที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ก่ออาชญากรรมด้วยวิธีการแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) มากกว่าที่จะใช้วิธีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด (Rehabilitation) ซึ่งมิได้ส่งผลให้อาชญากรรมลดลงทั้งทางด้านปริมาณและความรุนแรง ดังนั้น                          กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยเพื่อลดความรุนแรงจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนของประเทศไทยมีแนวความคิดในการจัดตั้งที่แยกมาจากกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ใหญ่โดยมีฐานความคิดมาจากแนวคิดของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งดังนั้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับเด็กและเยาวชนแทนการดำเนินคดีอาญานั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาจำนวนนักโทษเด็กและเยาวชนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและยังเป็นการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดได้กลับตนเป็นคนดีพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติกระบวนการยุติธรรมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำผิดควบคู่ไปกับการลดภาระของเรือนจำ แต่ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังมากเกินกว่าพื้นที่ของเรือนจำจะรับได้ก็ยังดำรงอยู่และขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ภาวะเช่นนี้ทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สถานพินิจมีข้อจำกัด ปัญหาด้านการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำผิดซึ่งมีจำนวนมากและแออัดจึงเป็นไปได้ยาก ก่อเกิดผลต่อเนื่องไปถึงการกระทำผิดซ้ำจนประชาชนทั่วไปมักวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการแก้ไขหรือการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดว่าล้มเหลวแล้วกระนั้นหรือ หรือเป็นเพราะระบบงานยุติธรรมไทยมิได้ปรับตัวเองให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราควรที่จะสร้างทางเลือกสร้างเครื่องมือให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมใช้ในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด จากข้อมูลดังกล่าวนำมาซึ่งแนวคิดที่ว่า ถ้าเด็กและเยาวชนที่ถูกฟ้องในข้อหาที่มีโทษเล็กน้อยได้รับการบำบัดแก้ไขด้วยวิธีการทางเลือกที่ผันเด็กและเยาวชนออกไปจากกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้น จะเป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนเอง อีกทั้งสถานพินิจจะได้ทำหน้าที่ดูแล และบำบัดแก้ไขเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จำเป็นจริง ๆ กับการควบคุมในสถานพินิจเท่านั้น จะทำให้การแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกระทำผิดมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น เด็กและเยาวชนจัดได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่อ่อนด้วยประสบการณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่าง ๆ และขาดความรู้เท่าทันในด้านต่าง ๆ การเรียนรู้ และการอบรมจากผู้ใหญ่รอบข้างจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา และความประพฤติเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เพื่อช่วยพัฒนาและนำพาสังคม ประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรืองต่อไป แต่ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญกับปัญหาการกระทำความผิดจากเด็กและเยาวชนเพิ่มจำนวนขึ้นทำให้เกิดปัญหาเด็กล้นเรือนจำ รวมถึงปัญหาเด็กที่อยู่ในสถานพินิจต่างๆรวมตัวกันหนีออกจากสถานพินิจหลายๆแห่งดังที่เป็นข่าว จึงเกิดคำถามว่าการที่เด็กและเยาวชนนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจนั้นจะทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นมีสภาพชีวิตความเป็นออยู่ที่ดีในอนาคตหรือไม่และเป็นการถูกต้องแล้วหรือไม่ที่จะแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนโดยการคุมตัวไว้ในสถานพินิจเมื่อมีเด็กอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมากการดูแลและฟื้นฟูของเจ้าหน้าที่ก็ทำได้ไม่ทั่วถึง จึงได้มีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาใช้ในคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เนื่องจากประเทศไทยได้ลงนามในภาคยานุวัติสารของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 และมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา อาทิ กำหนดนโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชนไว้ในนโยบายของรัฐบาลหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิเด็กที่มีอยู่ให้สมบูรณ์และแพร่หลายยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริง ปัญหาเกี่ยวกับเด็กก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป อาทิ เด็กจรจัด เด็กที่ได้รับหรือป่วยจากเชื้อโรคเอดส์เด็กที่ได้รับการทรมาน ถูกปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้ายในครัวเรือน เด็กที่ถูกทอดทิ้งโดยบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เด็กที่ติดยาเสพติดและสารที่มีพิษต่อสุขภาพ เด็กที่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ตลอดจนเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมิได้เป็นเพียงปัญหาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องระดมความคิดเห็นและแสวงหาความร่วมมือในการหาทางแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ดังจะเห็นได้จากการมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) และกฎแห่งกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 11 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการประกาศปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) และได้มีการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสร้างความมั่นใจว่ามีการปฏิบัติต่อเด็กที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมและเด็กที่ทำผิดกฎหมายอย่างได้มาตรฐานอีกด้วย กรณีตัวอย่าง ถ้าเกิดเด็กต่างด้าวกระทำความผิดในไทยแล้วกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะมีส่วนช่วยเหลือเขาได้อย่างไรเนื่องจากปัจจุบันมีการนำเอาการประชุมกลุ่มครอบครัวเข้ามาช่วยลดจำนวนเด็กในสถานพินิจโดยการให้ผู้ปกครองเด็กเข้ามามีส่วนร่วมแต่ถ้าเป็นเด็กต่างด้าวเข้าเมืองมาเองเราจะใช้กระบวนกานยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างไรกับเด็กกลุ่มนี้ และรวมถึงมาตรฐานเรื่องอายุของเด็กและเยาวชนด้วยซึ่งของไทยเรานั้นกำหนดต่างจากข้อ1 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เราควรที่จะมีการแก้ไขให้สอดคล้องกันด้วย                                โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนการใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวรวมถึงการที่รัฐจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในดินแดนของตน แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในดินแดนของตน รัฐจะต้องให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวไปพร้อมๆกันกับที่คนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในดินแดนของรัฐก็จะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐเจ้าของดินแดน และรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวเช่นเดียวกันกับคนชาติ แต่หากคนต่างด้าวหรือเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นคนต่างด้าวซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้เข้ามากระทำความผิดในไทยพวกเขาเหล่านั้นก็ควรได้รับการดำเนินคดีเฉกเช่นเดียวกันกับคนชาติ ดังนั้นเมื่อเรานั้นเอากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ก็ควรใช้กับเด็กต่างด้าวที่กระทำผิดด้วยและควรจะมีมาตรฐานในระดับเดียวกันกับคนชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 79843เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท