เรื่องเล่าจากดงหลวง 24 ลักษณะบางส่วนของไทโซ่ดงหลวง 1


ผู้เขียนถามย้ำว่า เอ้า..เจ้าโรคเหี่ยวเขียวที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนนั่น ส่งผลกระทบมากแค่ไหน.. ไม่มีปัญหาครับ..ผมมีวิธี ผมมีเทคนิค ผมไม่กลัวแล้ว.. เทคนิคอย่างไรล่ะครับ ผมไม่บอกเป็นเทคนิคเฉพาะของผม...???

1.        มะเขือเทศส่งโรงงานหลวงเต่างอย: พื้นที่ทำงานของเรามีกิจกรรมใหญ่กิจกรรมหนึ่งคือ งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ใช้งบประมาณไปมากกว่า 40 ล้านบาท ที่พวกเราไปสร้างขึ้นและส่งเสริมให้ชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช ซึ่งกระบวนการ คือ เชิญผู้แทนบริษัทธุรกิจเกษตรมาพบกับชาวบ้าน ผู้จัดการโรงงาน และนักวิชาการมาบรรยายสรุปให้สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำฟัง และทำซ้ำอีกในลักษณะกลุ่มสนใจอีกหลายครั้ง ตกลงกันว่าปีนี้จะปลูก Crop รุ่นแรกๆ ต้นฤดูกาลผลิต เดือนตุลาคมเป็นต้นมา เพื่อจะได้ราคาผลผลิตที่สูงกว่ากลางฤดูและปลายฤดูการผลิต ก็เป็นเรื่องปกติเมื่อมีวัตถุดิบมีปริมาณน้อยราคาก็แพง เมื่อมีปริมาณมากราคาก็ถูกลงมา แต่บังเอิญว่า Crop แรกโดนฝนปลายฤดูกาลเจ้า ช้างสาร นั่นแหละครับ เล่นเอาต้นกล้ามีอาการผิดปรกติไปเลย

 

เมื่อต้นเติบโตขึ้นมาก็พบว่าใบเหี่ยว เฉาลงและตายไป อาการนี้แพร่กระจายไปเกือบทุกแปลงตามการแพร่ของการให้น้ำ  ตกอกตกใจกันใหญ่ นักวิชาการโรงงานเข้ามาดูก็ไม่กล้าสรุปว่าเป็นโรคเหี่ยวเขียว เจ้าหน้าที่ของเราเฝ้าดูด้วยหน้านิ่วคิ้วขมวด ก็สงสารชาวบ้านนะซี โดนโรคที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้  นักวิชาการเกษตรของเราตัดสินใจถอนต้นมะเขือเทศส่งเข้าห้องแลบที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นพิสูจน์ ใช้เวลา 3-4 วันพบว่าเป็นหลายโรค ทั้งเหี่ยวเขียว ไส้เดือนฝอยและ.... เมื่อทราบชัดเจนก็ทำการรักษาโดยสั่งยาพ่น  พอมีเวลาก็เดินทางไปดูการเพาะปลูกที่ยโสธรเพื่อศึกษาประสบการณ์ พบว่าเขาก็เป็นเหมือนกัน แต่เขาเป็นเกษตรกรเก่าที่ทำการผลิตมานานแล้วจึงเข้าใจกระบวนการแก้ไข และไม่ได้ตื่นเต้นตกใจอะไรมากเท่าบ้านพังแดงของเรา ก็มันมือใหม่หัดขับ.. อ่ะ.. มันก็มีเสียว มีตกใจกันบ้าง..

 

2.        ขายผลผลิต: ปลายเดือนธันวาคมผลผลิตเริ่มสุก ทางโรงงานก็จะมารับซื้อ เกษตรกรผู้ปลูกเริ่มทยอยเก็บโดยการนัดกับทางโรงงานว่าจะมารับซื้อเมื่อใดจะได้สั่งเก็บไว้ เกิดเรื่องเข้าอีกแล้ว  ก็เกษตรกรรายหนึ่งของเรา เป็นครอบครัวที่ขยันมากทั้งพ่อทั้งแม่ ลูกชาย ตั้งใจทำการผลิต เราก็สนับสนุนเต็มที่ พบว่าเอาผลผลิตไปขายให้กับพ่อค้าเร่ที่มารับซื้อ ที่สำคัญคือ เก็บแต่ผลผลิตใหญ่ๆ สวยๆขายให้พ่อค้าเร่ แล้วพอทางโรงงานมารับซื้อก็เอาผลผลิตที่เหลือขายให้ซึ่งเหลือแต่ลูกเล็กๆ ไม่สวย เจ้าหน้าที่โรงงานปฏิเสธการรับซื้อทันที..? 

 

เป็นเรื่องละทีนี้....เกษตรกรรายนั้นก็โวยวาย... เป็นหนังเรื่องเก่าสำหรับ Contract farming เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็เกิดเรื่องเช่นนี้มานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเกษตรกรรายใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ ยังไม่คุ้นเคยกันดีพอ โถ..ก็พ่อค้าเร่รับซื้อในราคาที่สูงกว่าโรงงานซื้อ อ่ะ มันเย้ายวนใจใครจะไม่ขายล่ะ.. สัญยง สัญญาอะไร ผมไม่รู้เรื่อง.. ผมขายเอาเงินก่อน..เอาทุนไว้ก่อนแหละ.. เราต้องแก้ปัญหาโดยการอธิบายซ้ำๆว่าสัญญาต้องเป็นสัญญา เวลาเกิดความเสียหายทางโรงงานก็มารับประกันราคาขั้นต่ำให้  ซื้อไปทิ้งก็ยังเคยทำ ขอให้เป็นบทเรียน  ความจริงนิสัยแม่บ้านครอบครัวนี้ก็ชอบคุยโวด้วย ไม่เกรงใจใคร ฉันจะทำอย่างนี้ ฉันพอใจอย่างนี้..

 

3.        เทคนิคการแก้ปัญหาเฉพาะตน: ปกติเราจะจัดประชุมทีมงานเกือบทุกเดือนเพื่อมาคุยกันถึงงานต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคการทำงาน คราวนี้มีผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วมด้วย ดีครับจะได้คุยกันถึงความก้าวหน้าและอุปสรรคต่างๆ หลังจากเรื่องอื่นๆผ่านไป ก็มาถึงเรื่องการปลูกมะเขือเทศส่งโรงงานที่ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำท่านนี้ปลูกอยู่ และผ่านการโดนโรคเหี่ยวเขียว ไส้เดือนฝอย... มาแล้ว ผู้เขียนถามว่าเสียหายมากไหม ได้เก็บขายหรือยัง ผู้นำตอบอย่างคล่องแคล่วผิดปกติ (ปกติไม่ค่อยพูด โดยเฉพาะในที่ประชุม เป็นลักษณะทั่วไปของไทโซ่..) ว่าผมขายครั้งแรกไปแล้วได้เงินมาพอสมควร ผมพอใจ ปีหน้าจะทำอีกและจะเพิ่มมากขึ้น.... ผู้เขียนถามย้ำว่า เอ้า..เจ้าโรคเหี่ยวเขียวที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนนั่น ส่งผลกระทบมากแค่ไหน.. ไม่มีปัญหาครับ..ผมมีวิธี  ผมมีเทคนิค ผมไม่กลัวแล้ว..  เทคนิคอย่างไรล่ะครับ  ผมไม่บอกเป็นเทคนิคเฉพาะของผม...???  ผมนึกในใจว่า ..นี่คืออีกตัวอย่างของลัทธิวีระชนเอกชน..ของพี่น้อง ไทโซ่ ปกปิด เอาใจตัวเองเป็นใหญ่..ทำงานไปก็พบเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้บ่อยๆ..

หมายเลขบันทึก: 78892เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท