เงื่อนไขของสันตวิธี


ภาคสุดท้ายของสามจังหวัด

    กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้นเปรียบเสมือนก้อนมะเร็งที่กำลังขยายตัวลุก ลามเพราะสภาพร่างกายเอื้ออำนวย   การรักษาโรคมะเร็งนั้นไม่ได้มีแค่การฉายแสง ฉีดเคมี และผ่าตัดเพื่อทำลายเซลมะเร็งเท่านั้น  วิธีการดังกล่าวบ่อยครั้งไม่ได้ผล  เพราะนอกจากจะหยุดการเติบโตของมะเร็งไม่ได้แล้ว  ยังทำให้เซลปกติถูกทำลาย และเกิดผลข้างเคียงกับร่างกาย   ปัจจุบันเราพบว่ามีอีกแนวทางหนึ่งซึ่งไม่ต้องทำลายเซลมะเร็งโดยตรง & amp; amp; nbsp; แต่สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลให้เซลมะเร็งถูกขจัดไปในที่สุด  วิธีดังกล่าวได้แก่การกินอาหารอย่างได้สมดุล การบริหารกายและใจ เช่น เล่นโยคะและทำสมาธิ ฯลฯ  อีกวิธีหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในแนวทางที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงในการทำลาย เซลมะเร็ง  ได้แก่การควบคุมการขยายของเส้นเลือดเพื่อไม่ให้ไปเลี้ยงเซลมะเร็ง ซึ่งทำให้เซลมะเร็งขาดอาหารไปในที่สุด   หรือการจัดการมิให้เซลมะเร็งสามารถลามไป “เกาะ” อวัยวะอื่นได้  วิธีการเหล่านี้จัดได้ว่าเป็น “สันติวิธี” เพราะไม่ได้มุ่งทำลายเซลมะเร็งโดยตรง แต่ก็ทำให้มะเร็งหดตัวได้   ในทำนองเดียวกัน การจัดการกับความไม่สงบก็มิได้มีแต่วิธีรุนแรงที่มุ่งกำจัดตัวผู้ก่อความไม่ สงบเท่านั้น   หากยังมีวิธีอื่นซึ่งมุ่งจัดการกับเงื่อนไขที่บ่มเพาะผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งจัดการกับปัจจัยที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งในที่สุดทำให้ผู้ก่อความไม่สงบอ่อนกำลังลงไปเอง    วิธีดังกล่าวมิใช่อะไรอื่นหากคือสันติวิธีนั่นเอง

http://img.icez.net/show.php?id=0d51dc83f25fe6500ec25518079b05d5

       อย่างไรก็ตามสันติวิธีจะได้ผลต้องอาศัยความอดทนเพราะมักไม่ให้ผลทันทีทันใด เนื่องจากไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  แต่ให้ผลในระยะยาวและยั่งยืนกว่า   ในขณะที่วิธีรุนแรงนั้นดูเหมือนให้ผลทันใจเพราะเห็น “ผู้ร้าย” ตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ปัญหาหาได้หมดไปไม่  ความรุนแรงยังคงอยู่ต่อไปและ “ผู้ร้าย” ก็ยังเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ  เพราะรากเหง้ายังคงอยู่    เหตุการณ์ในไอร์แลนด์เหนือและศรีลังกาซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า ๒๐ ปี น่าเป็นอุทธาหรณ์สอนใจว่าถึงที่สุดแล้ววิธีรุนแรงไม่ได้ช่วยให้ปัญหาสงบลง อย่างรวดเร็ว  ตรงกันข้ามมักสงบลงช้ากว่าการแก้ด้วยสันติวิธีเสียอีก  และในที่สุดก็หนีไม่พ้นที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาขึ้นโต๊ะเจรจาแทน

    สันติวิธียังต้องการความคิดสร้างสรรค์ ที่กล้าคิดนอกกรอบ หรือกล้าคิดสิ่งที่นึกไม่ถึง (thinking the unthinkable)    ชัยชนะของสันติวิธีหลายครั้งเกิดจากการคิดในสิ่งที่คนไม่คาดคิด เช่น การเดินเท้าเกือบ ๓๐๐ กิโลเมตรของคานธีเพื่อทำเกลือเอง (salt march) อันเป็นการต่อต้านกฎหมายของอังกฤษ   ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าเหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่มีพิษสงนี้สามารถสั่น คลอนจักรวรรดิอังกฤษอย่างถึงรากถึงโคน   ในทำนองเดียวกันเมื่อผู้นำศาสนจักรคาทอลิกในฟิลิปปินส์ประกาศให้ประชาชนไป ล้อมค่ายทหารเอาไว้ เพื่อเป็นกำแพงมนุษย์ขวางกั้นมิให้กองทัพของมาร์คอสเข้าไปบดขยี้ฝ่ายต่อต้าน ที่หลบไปลี้ภัยในค่ายดังกล่าว   ปรากฏว่าผู้คนนับแสน ๆ ที่มีเพียงมือเปล่าและสายประคำสามารถต้านทานกองทัพอันทรงอานุภาพของมาร์คอส และเป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้มาร์คอสหมดอำนาจและต้องลี้ภัยไปสหรัฐ

    ในกรณีของไทย  การที่รัฐบาลในสมัยคึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนในปี ๒๕๑๘ ทั้ง ๆ ที่กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศกำลังเข้มข้นและยังมีการสู้รบกับพคท. อยู่นั้น จัดว่าเป็นการกระทำที่ล้ำยุคสมัยที่น้อยคนจะคาดคิด  เวลานั้นรัฐบาล ถูกโจมตีอย่างรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเหตุให้นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์& amp; amp; nbsp;  แต่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าการเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนมีส่วนสำคัญในการ สร้างความอ่อนแอให้แก่พคท.(ซึ่งอิงจีน)ในเวลาต่อมาจนต้องยุติการสู้รบกับ รัฐบาล

    สันติวิธีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้ผลจำต้องอาศัยการกล้าคิดกล้า ทำที่นอกกรอบหรือทวนกระแส    ซึ่งอาจหมายถึงการประกาศนิรโทษกรรมแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสารภาพ ว่าตนได้เคยก่อความรุนแรงที่นอกกฎหมาย การขออภัยอย่างเป็นทางการต่อความผิดพลาดของรัฐในอดีต    การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือการประกาศตั้งปัตตานีมหานคร เช่นเดียวกับกรุงเทพ ฯ หรือพัทยา  เป็นต้น   แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้มีความเสี่ยง  แต่ต้องไม่ลืมว่าการไม่ทำอะไรเลยหรือการทำตามกรอบเดิม ๆ ที่เคยชินก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงเหมือนกัน

    แม้ว่ารัฐไทยจะคุ้นกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อกระทบถึงความมั่นคงหรือความเป็นไทย (ดังกรณี ๖ ตุลา และพฤษภาหฤโหด) แต่ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะใช้สันติวิธีแม้จะต้องเผชิญกับ ความรุนแรง   กล่าวกันว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย   เจ้าหน้าที่ระดับสูงพยายามผลักดันให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อจะได้ใช้ ความรุนแรงกับผู้ประท้วงได้สะดวก  แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเวลานั้นไม่ร่วมมือโดยให้เหตุผลว่า “ผมเป็นพ่อเมือง ไม่อยากยื่นมีดให้ลูกคนละเล่มให้มาฆ่ากัน”    และเมื่อมีการชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมเจบีที่หาดใหญ่  เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่สงขลาปฏิเสธที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพกพา อาวุธไปด้วย  ทั้งยังบอกให้ตำรวจ “ยอมเจ็บ  เพราะถ้าตำรวจไม่เจ็บ ชาวบ้านก็จะเจ็บ”   ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้   แม้มีนาวิกโยธินถูกทำร้ายด้วยระเบิดจนล้มตายไปหลายคน   แต่ผู้บังคับหน่วยบางหน่วยก็ยังขอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอดทนอย่างถึงที่สุด& amp; amp; nbsp; ไม่บันดาลโทสะกับประชาชนหรือตอบโต้ด้วยอารมณ์ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า “ตอนนี้เรากำลังชดใช้กรรมที่บรรพบุรุษของเราได้เคยทำไว้   ...คิดเสียว่าถ้าใครถึงที่ตายก็ต้องตาย  ถ้ายังไม่ถึงที่ก็ไม่ตาย”

    เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยมีความอดทนอย่างยิ่ง และพร้อมใช้สันติวิธีเพื่อเอาชนะใจประชาชน   นี้คือต้นทุนที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย   ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะใช้สันติวิธีเพียงใด และกล้าคิดนอกกรอบหรือไม่  ถ้าหากรัฐบาลมีความมุ่งมั่นและกล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ   ขณะเดียวกันประชาชนทั่วทั้งประเทศก็สนับสนุน การดับไฟใต้ด้วยสันติวิธีย่อมเป็นอันหวังได้อย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 78722เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นกำลังใจให้ครับ ผมมีข้อสังเกตเล็กๆอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับ๓จว.ภาคใต้ ปลายด้ามขวานทองนี้ คือผู้ที่ไม่ได้อยู่และไม่เคยได้สัมผัสกับที่นี่จะมีทัศนคติแตกต่างไปจากผู้ที่เคยอยู่ เคยสัมผัสกับมนเสน่ห์แห่งปลายด้ามขวานนี้(แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม)อย่างค่อนข้างสิ้นเชิงเลย
สำหรับฝ่ายรัฐ ขาดความชัดเจนว่าใครทำ ทำเพื่ออะไร ทำให้ชาวบ้านเกิดความมึนงงสงสัย เพราะพิสูจน์อะไรไม่เคยได้(อย่างไร้ข้อกังขา)สักที จึงสงสัยอยู่สองประเด็น ๑.กลัวลูบหน้าปะจมูก(โตๆ)ของใครหรือเปล่า ๒.ถ้าไม่ใช่อย่างข้อ๑ ก็แสดงว่าไร้น้ำยาจริงๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท