ความร่วมมือ มรภ. – สคส.


ความร่วมมือ มรภ. – สคส.


          เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.48   ผมได้เล่าเรื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏกับการจัดการความรู้ (เชิญ click) วันนี้ (4 ก.ค.48) ได้รับแฟกซ์จากรองอธิการบดี มรภ. สุราษฎร์ธานี  (ผศ. ดร. ประโยชน์  คุปต์กาญจนกุล)  ส่งร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สคส. กับ มรภ. 12 แห่งได้แก่
                   มรภ. สุราษฎร์ธานี
                   มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
                   มรภ. พระนคร
                   มรภ. นครศรีธรรมราช
                   มรภ. อุบลราชธานี
                   มรภ. นครราชสีมา
                   มรภ. เลย
                   มรภ. มหาสารคาม
                   มรภ. พิบูลสงคราม
                    มรภ. อุตรดิตถ์
                   มรภ. เชียงใหม่
                   และ  มรภ. ราชนครินทร์


          ท่านรองอธิการบดี ดร. ประโยชน์  แจ้งทางโทรศัพท์ว่า   มรภ. ยะลา  ทราบข่าวก็ขอเข้าร่วมด้วยจะได้หรือไม่   ผมได้แจ้งว่าไม่มีปัญหา   แต่จำนวนคนที่จะเข้าร่วม workshop ครั้งแรกขออย่าให้เกิน 60   เพราะจะมากเกินไป   ไม่ได้คุณภาพ


          ปัญหาที่ผมกังวลคือ   คุณภาพของการเข้าร่วมโครงการ   ผมไม่อยากเห็นการเข้าร่วมโครงการแบบตามแห่   โดยไม่ได้มีศรัทธาจริง ๆ ในวิธีการ KM และไม่คิดจะฟันฝ่าทุ่มเททดลองดำเนินการ


          ผมสงสัยว่า  13 มรภ. ที่ต้องการเข้าร่วมเครือข่ายได้ศึกษา KM จาก website  www.kmi.or.th,  blog : http://thaikm.gotoknow.org หรือจากแหล่งอื่น ๆ บ้างแล้วหรือยัง   ถ้ายัง   ท่านก็เป็นสมาชิกด้อยคุณภาพ


          สคส. จะไม่มี “การสอน KM” ให้แก่สมาชิกในเครือข่าย   สมาชิกต้องขวนขวายค้นคว้าอ่านหนังสือ  เว็บไซต์  บล็อก  และเข้าร่วมกิจกรรม KM อื่น ๆ เอาเอง   สคส. จะช่วยเฉพาะด้านการปฏิบ้ติเท่านั้น


          ผมได้เรียนท่านรองอธิการบดี ดร. ประโยชน์ว่า   การพบปะกันในวันที่ 12 ก.ค. ที่ มรภ.พระนคร นั้น   จุดเน้นไม่ใช่การลงนามความร่วมมือ   เราควรเน้นการปรึกษาหารือยุทธศาสตร์ของความร่วมมือ   หรือยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกัน   เป้าหมายคือการทำงาน   วัดจากการปฏิบัติและผลงานที่ผลิตออกมาและผลกระทบที่สร้างสรรค์ให้แก่ชุมชน/ท้องถิ่นของ มรภ. นั้น ๆ


          ดังนั้น   ในการปรึกษาหารือบ่ายวันที่ 12 ก.ค.48   ผมจะยึดถือว่าผู้ที่มาร่วมหารือรู้จัก KM ดีพอสมควรแล้ว      จะไม่มีการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ KM   การเจรจาของผมจึงจะรุกเพื่อสร้าง commitment หรือการทำจริงของ มรภ. แต่ละแห่ง   ถ้าท่านมาโดยไม่รู้เรื่อง KM ท่านก็จะไม่กล้า commit และจะกลายเป็น “สมาชิกคุณภาพต่ำ” ในสายตาของผม   ทำให้ สคส. เลือกที่จะไม่ commit กับ มรภ. นั้น ๆ    สคส. จะไม่ยอมรับความสัมพันธ์ที่ต้องเท่าเทียมกัน   เราจะเอื้อเฟื้อต่อผู้ขวนขวายเอาจริงเอาจังมากกว่าผู้ไม่ช่วยตัวเอง


          ครับ   ผมเป็นคนตรงไปตรงมา   และเน้นงานเป็นหลัก   จึงต้องขออภัยที่ใช้ถ้อยคำไม่ค่อยสุภาพ   ไม่ผ่อนปรน   แต่ผมมีความเป็นมิตรสูงนะครับ   ผมมีความเป็นมิตรต่อผู้ที่ทำงานจริงจังสูงมาก   และทุ่มเทร่วมมือเต็มที่กับผู้เอาจริง   แต่ก็ไม่รีรอที่จะ “ละทิ้ง” ผู้ไม่รับผิดชอบ   หรือทำงานแบบไม่จริงจัง


          การลงนามความร่วมมือมีความหมายน้อย   การลงมือปฏิบัติจริงจังต่างหากที่เป็นตัวความหมาย   นี่คือสิ่งที่ สคส. ยึดถือ


          ความสัมพันธ์ระหว่าง มรภ. กับ สคส. จะต้องเป็นความสัมพันธ์แบบร่วมกันทำงาน   แต่ละสถาบันทำงานเพื่อการเรียนรู้และการสร้างผลงานของตน   ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา   สคส. ไม่ได้เก่งหรือแข็งแรงถึงขนาดที่จะ “อุ้ม” ใครได้   แต่จูงมือกันเดิน (หรือวิ่ง) ได้


          ประเด็นที่จะหารือกันในวันที่ 12 ก.ค. 48 ได้แก่
1.      แผนยุทธศาสตร์   และแผนปฏิบัติ
2.      แนวทางเชื่อมโยงเครือข่าย   เน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ความรู้ปฏิบัติ” แบบ B2B
3.      การประเมินกิจกรรมในช่วง 6 เดือนแรก
4.      การพัฒนา “วิทยากร KM” โดยการฝึกเข้มที่ สคส.
5.      อื่น ๆ


วิจารณ์  พานิช
    4 ก.ค.48

หมายเลขบันทึก: 787เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2005 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท