ทำไมต้องปฏิทินชุมชน??? ลองตามไปดู


ปัญหาที่พบในการทำงานชุมชน ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการทำงานชุมชน เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ยึดเอาเวลาการทำงานของระบบราชการเป็นตัวตั้ง ทำให้หลายครั้งการกำหนดเวลาของกิจกรรมต่างๆจะไม่สอดคล้องกับวิถีชิตของชุมชน บางครั้งไปถึงชุมชแล้วเจอแต่คนแก่และเด็กอยู่บ้านหรือเจอชาวบ้านแต่ไม่ว่างคุยด้วยเพราะง่วนอยู่กับการทำงาน การลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนจึงไม่ได้อะไรคืบหน้า หรือไม่สามารถดำเนินงานตามแผนการทำงานที่วางเอาไว้ได้ การเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนจะช่วยให้เรารู้จังหวะและวงจรการทำงานของชาวบ้านและช่วยให้เราจัดทำแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เครี่องมือสำคัญในการเรียนรู้จังหวะของชีวิตและวิถีชีวิตชุมชนคือการทำ ปฎิทินชุมชน เป้าหมายสำคัญของเครื่องมือ 1. สร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวบ้าน เครื่องมือนี้จะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละรอบปี รอบเดือน หรือในแต่ละวัน ชาวบ้านทำอะไร อย่างไร และเมื่อไรบ้าง การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้จังหวะชีวิต 2. เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เพราะการรู้จักจังหวะและวิถีชีวิตชุมชนคือคือการรู้จักกาลเทศะในชีวิตชาวบ้าน เมื่อเราเข้าหาชาวบ้านได้ถูกจังหวะชาวบ้านจะเกิดความรู้สึกที่ดีและมีความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น 3. ช่วยให้การวางแผนงานชุมชนดีขึ้น เพราะจะทำให้เราสามารถจัดตารางการทำงานที่จะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ และเมื่อเข้าไปหมู่บ้านก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและถูกจังหวะเวลา ซึ่งจะช่วยส่งผลระยะยาวให้การทำงานในระบบบริการสาธารณสุขมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนเพิ่มยิ่งขึ้นด้วย ปฏิทินชมชนคืออะไร ปฏิทินชุมชน คือ การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านว่า ในแต่ละปี แต่ละเดือน หรือในแต่ละวัน ชุมชนมีกิจกรรมอะไรกันบ้าง อะไรที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างไร ทั้งการประกอบอาชีพต่างๆซึ่งในแต่ละชุมชนก็จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป หากชุมชนที่ประกอบอาชีพทำนา วิถีชีวิตหลักก็จะผูกพันอยู่กับการทำนาซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นฤดูฝน จนสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว พอหมดช่วงการทำนาชาวบ้านก็จะมีกิจกรรมต่างๆทำต่อ ซึ่งเราจะต้องศึกษาให้ทราบว่าเขาทำอะไรบ้างในช่วงนั้น เช่น บางส่วนของคนในหมู่บ้านอาจจะเดินทางไปรับจ้างที่ต่างจังหวัด เช่น ไปรับจ้างเป็นกุลีทำสวนยางที่ปักษ์ใต้ พอถึงช่วงสงกรานต์ก็จะกลับมารวมญาติกันอีกครั้ง งานบุญงานประเพณีต่างๆที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในวันเวลาใดบ้าง ต้องเก็บรายละเอียดข้อมูลเหล่านี้มาให้หมด เพื่อจะได้นำมาช่วยวางแผนในการทำงานต่อไป แนวทางการศึกษาปฏิทินชุมชน ในการศึกษาปฏิทินชุมชน สามารถศึกษาชุมชนได้ใน 2 ลักษณะ คือ 1. ปฏิทินทางเศรษฐกิจ เมื่อเราเข้าไปในหมู่บ้าน สามารถใช้วิธีสังเกตและพูดคุยกับชาวบ้านบ่อยๆแล้วเขียนรายละเอียดแจกแจงออกมาได้ว่า อาชีพในหมู่บ้านมีกี่แบบ เดือนไหนชาวบ้านลงนา ถึงประมาณเดือนไหนที่เริ่มเก็บเกี่ยว เดือนไหนเดินทางไปทำงานต่างถิ่น หรือพวกที่ไปลงเรือประมงที่ภาคใต้ ไปเมื่อไร จะกลับช่วงไหน จากการศึกษาและเก็บข้อมูลในลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นชีวิตชุมชนว่ามีหลายแบบหลายลักษณะ หลังจากได้ข้อมูลชุดนี้มาจะวิเคราะห์เรื่องอะไรก็จะง่ายขึ้นมาก เพราะเรารู้เวลา จังหวะชีวิตของเขาเป็นภาพรวม เช่นมองเห็นแง่มุมทางระบาดวิทยาของปัญหาสุขภาพเพราะรู้ว่าตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับเวลา สถานที่ คน แสดงเป็นแบบแผนออกมาให้เห็น 2. ปฏิทินทางวัฒนธรรม / สังคม เป็นการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือพิธีกรรมสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในชุมชนนั้นๆ และมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน เช่น ชาวบ้านอีสานมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นจารีต 12 เดือน ซึ่งเราต้องไปดูว่าเกิดขึ้นช่วงไหนบ้าง อย่างไร เช่น วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา งานบุญเผวส แห่บั้งไฟ กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเราจะสามารถสังเกตการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนอย่างเข้าใจและชัดเจนยิ่งขึ้น
คำสำคัญ (Tags): #สม.4
หมายเลขบันทึก: 78306เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ข้าราชการยุคใหม่ ไม่มีวันหยุดหรอกครับ..สามารถประชุมวันเสาร์/อาทิตย์ได้ ลาพักร้อน..ถ้ามีโรคระบาดก็กลับมาทำงานได้ครับ..เป็นเรื่องธรรมดา การศึกษาชุมชนเป็นเรื่องที่ สนุกสนาน ได้เรียนรู้โลกกว้าง เหมือนกับผู้เชี่ยวชาญ 2 คน มาพบกัน..คือเรา..กับ..ชุมชน ขอให้มีความสุขกับชุมชน ได้เรื่องอย่างไร..ก็มาเล่าให้ฟังอีกนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท