กษัยKM: ธรรมชาติ ธรรมดา แยกส่วน และการจัดการข้อมูล


เรานิยมการทำงานแบบ “วิเคราะห์” แล้วก็แบ่งงานกันไปทำ โดยไม่มีโอกาสมา “สังเคราะห์” หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนเพื่อทำงานของส่วนย่อยของตนเองให้สอดคล้องกับผู้อื่น
 

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดความสับสนของการจัดการความรู้คือ ความพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างดูง่าย เข้าใจง่าย ก็คือการแยกส่วนประกอบ ของสิ่งที่เราต้องการศึกษา ในนามของคำว่า วิเคราะห์ ที่ทำให้สิ่งที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติแบบ องค์รวม และทำงานได้ กลับกลายเป็น แยกส่วน แล้วทำงานไม่ได้

  

การวิเคราะห์นั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้เราเข้าใจองค์ประกอบย่อยบางตัว ที่สามารถกลับมาทำงานใน องค์รวม ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ ไม่ใช่มีไว้ให้เราแยกองค์ประกอบย่อยๆไปแยกกันทำงาน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

  

การแก้ไขปัญหาของการ วิเคราะห์ ที่มีอยู่แล้วก็คือการ สังเคราะห์ ที่เป็นการนำองค์ประกอบย่อยมารวมกัน จนสามารถทำงานได้จริง ที่ จะทำให้เราเข้าใจกระบวนการ และปฏิสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น อย่างน้อยเป็น ๒ เท่าของการวิเคราะห์เสมอ

เนื่องด้วย

 

·        การรู้ว่าแต่ละองค์ประกอบทำงานอย่างไร

 

·        แต่ละองค์ประกอบ ทำงานร่วมกันอย่างไร และ

 

·        เกิดอะไรขึ้นกับการทำงานของแต่ละองค์ประกอบ แต่ละลำดับของการประกอบ

 

·        เข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ ผลกระทบ และสิ่งที่ได้รับโดยรวม

  

แต่ในปัจจุบัน

เรานิยมการทำงานแบบ วิเคราะห์ แล้วก็แบ่งงานกันไปทำ โดยไม่มีโอกาสมา สังเคราะห์ หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนเพื่อทำงานของส่วนย่อยของตนเองให้สอดคล้องกับผู้อื่น

  

และที่สำคัญ นักวิชาการส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่อง นอกหน้าที่ ที่จะทำงานร่วม หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

  

เหตุการณ์แบบนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้น ของการแยกย่อย องค์ประกอบของ “KMธรรมชาติ ที่ทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง ให้ทำงานไม่ได้เลย ในรูปแบบของ “KM ธรรมดา ที่ดูเหมือนว่าจะมีองค์ประกอบครบ แต่ทำงานจริงไม่ได้ ไม่มีชีวิต ไม่เป็นจริง แต่ก็ทำงานได้ง่าย เหมือนกับนักศึกษาแพทย์ผ่าตัดซากศพ ที่ไม่ต้องวางยาสลบ ไม่ต้องห้ามเลือด ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องกลัวผิดพลาด ทำเมื่อไหร่ก็ได้

  

นี่เป็นความรู้สึกของผม เมื่อได้สัมผัสกับนักวิชาการที่ ทำงานโดยใช้หลักการของ KM แบบธรรมดา

  

ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ

การทำงานแบบแยกส่วน ที่แทบไม่มีความสัมพันธ์กับ องค์รวม จะทำอะไรก็ได้ เพียงขอให้ส่วนที่ทำนั้นได้ผลดีที่สุด ส่วนอื่นจะเสียหายอย่างไรไว้ว่ากันทีหลัง

  

ประเด็นนี้เขาชอบเรียกกันว่า ความเป็นเลิศ ทางวิชาการ โดยแทบไม่ประเมินว่าความเป็นเลิศนั้น อาจหรือได้สร้างความเสียหายให้กับใครบ้าง

  

และเป็นที่มาของความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และทุนทางสังคม ในทุกระดับ

  

และสุดท้ายที่เป็นความสับสนมากที่ทำให้การพัฒนา KMธรรมชาติ ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรก็คือ ความเข้าใจว่า ข้อมูล คือ คือความรู้ เมื่อเรามีข้อมูลมาก มักนับว่าเรามีความรู้มาก

  

ถ้าคิดได้แค่นี้ ผู้ที่มีความรู้มากที่สุด ก็ไม่มีทางเอาชนะ คอมพิวเตอร์ได้เลย เพราะข้อมูล ในคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เนต มีมากมายเหลือเกิน และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากเสียด้วย แล้วใครจะหาญกล้าไปแข่งกับระบบข้อมูลนั้นได้

  

แต่ไม่ใช่ครับ ความรู้อยู่ในตัวคนครับ ทุกครั้งที่นำออกไปเป็นเพียงข้อมูล

  

ไม่มีใครสามารถนำความรู้ออกไปได้ อาจแสดงให้ดูได้

  

ดังนั้น การจัดการข้อมูล จึงแตกต่างกับการจัดการความรู้ครับ

  

แต่การจัดการข้อมูลก็สนับสนุนการจัดการความรู้ได้ครับ และดีเสียด้วยครับ เพราะการจัดการความรู้ที่ปราศจากข้อมูลนั้น น่าจะเรียกว่า เพ้อฝัน มากกว่าครับ

  

แต่การจัดการข้อมูลโดยไม่มีความรู้นั้น น่าจะเรียกว่า เล่นขายของ ครับ

  

ดังนั้น เราจึงต้องมีการจัดการข้อมูลเป็นฐาน ทำทุกอย่างให้ชัดและดีที่สุด เพื่อการประกอบเข้ากันเป็นองค์รวมที่สอดประสานกัน มีชีวิต งอกงามเติบโตได้ ทำงานได้ จึงจะเรียกว่า การทำ “KMธรรมชาติ ครับ

 
หมายเลขบันทึก: 78141เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน อ.แสวง

          เพราะทุกคนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่  การแก้ไขจึงไม่เกิด  หรือบางครั้งให้แสดงความคิดเห็น  พอแสดงความคิดเห็นออกไปก็โกรธเขาอย่างงั้นซะ

          ในต่างประเทศการแสดงความคิดเห็นนิยมมาก  มีการทำงานเป็นทีม แต่ในเมืองไทยนิยมแบ่งงานกันทำ  ขนาดทำงานยังชิงดีชิงเด่นกัน ไม่มีความสามัคคีกัน ขาดการแสดงความคิดเห็น หรือถ้าให้ข้อคิด ก็ถูกหมายหัว เข้าทำนองคนพูดตายค่ะ  มันเป็นอย่างนี้จริงๆค่ะในสังคมปัจจุบัน

คุณรานีครับ

บังเอิญผมเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนครับ

และผมหวังว่าการยอมเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ จะทำให้มีคนได้คิด และคิดได้บ้างครับ

 

  • เมื่อก่อนในอุสาหกรรมครัวเรือนการผลิตไม้กวาด คนหนึ่งคนต้องทำทั้งหมดทุกส่วนประกอบ
  • แต่เมื่อสังคมอุตสาหรรมเข้ามามีบทบาท ไม้กวาดหนึ่งด้ามกลับต้องใช้คนทำ ประมาณสามสี่คน แต่ละคนทำคนละส่วน ขาดความเชื่อมโยง
  • เหมือนการผลิตรายการโทรทัศน์ (จากประสบการณ์ครับอาจารย์) หากผมเป็นคนเขียนบทเอง ถ่ายทำเอง ตัดต่อเอง งานจะออกมาดีมากกว่า งานที่เรารับจากการที่คนอื่นถ่าย คนอื่นเขียนบท แล้วโยนมาให้เราตัดต่อ
  • การทำงานแบบมองภาพรวม รู้ทั้งระบบ นั้นดีที่สุดครับ ดีกว่าแยกกันทำ นั่นอากเกิกการผิดพลาด
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ขอบคุณครับคุณบีเวอร์ที่เข้ามาต่อยอด

เราอาจจะทำทุกอย่างไม่ได้ แต่เราก็คิดเชื่อมโยงได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท