เศรษฐกิจพอเพียง


เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นมือใหม่ครับแต่ว่าสมัครไว้ตั้งนานแล้ว...เพิ่งจะมีเวลาได้ขีดๆเขียนๆ กับเขาบ้างครับก็เลยเลือกเอาบทความที่ชอบมาเก็บไว้ในBlog ซะเลย บทความนี้เป็นของ อ.เสรี พงศ์พิศ ผมอ่านแล้วประทับใจก็เลยอยากเก็บไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บทความนี้ชื่อ "เศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทย เกิดขึ้นได้ถ้าใจปรารถนา" ใน นสพ.มติชน ฉบับวันพุธที่ 6 กันยายน 2549 หน้า 7 อ.เสรี พงศ์พิศ ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้=>วันนี้เศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยยังไม่ได้เกิดเต็มตัว แต่มีเหตุผลที่จะเกิดได้เพราะ1. "กระแส" ในเมืองไทย ในโลก เอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแม้กระแสหลักยังแข็งแรงแต่กระแสโลกก็กำลังเปลี่ยน เราจึงได้ยินการพูดถึง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ(GDH)" มากขึ้นเรื่อยๆ พูดถึง HPI (Happy Planet Index) อย่างจริงจัง สหประชาชาติเริ่มกำหนดตัวชี้วัดใหม่ให้เป็น HDI (Human Development Index) มากกว่าการวัดด้วย GDP อย่างที่เคยเป็นกันมานาน จนกระทั่ง UN เองได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลการพัฒนาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ผู้คนในโลกได้หันกลับมาแสวงหา "ธรรมชาติ" ซึ่งตัวเองได้ทำลายลงไปจนทำให้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการสูญเสียความสมดุลของระบบนิเวศ ดินเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ เกิดโรคร้ายแรงรักษายากอย่างมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน และโรคใหม่ๆ อย่างโรคเอดส์ โรคซาร์ส และอื่นๆ อีกหลายๆโรคนอกจากนี้ผู้คนก็ได้มีการตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพการออกกำลังกาย การกินการอยู่ โหยหาสมุนไพร อยากกินผักกินอาหารที่ปลอดสารพิษ อยากกินไก่นา อยากกินปลาแม่น้ำ อยากกินผักป่าผักทุ่ง อยากออกไปจากเมืองใหญ่ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ในธรรมชาติ อยากเห็นทุ่งนาป่าเขา นับวันการท่องเที่ยวมักจะเป็นการไปเพื่อค้นหาสิ่งเหล่านี้ที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเมือง จากบ้านเมืองที่เรียกว่า พัฒนาแล้ว ทั้งหลาย ที่หลั่งไหลไปประเทศ ด้อยพัฒนา ออกไปชนบท ห่างไกลความเจริญ เพื่อค้นหา คุณค่า ที่หายไปในบ้านเมืองของตนเองวันนี้เราจึงเราจึงพูดกันเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวนิเวศ ท่องเที่ยวเกษตร ท่องเที่ยวยั่งยืน พูดเรื่อง โฮมสเตย์ ลองสเตย์ นักท่องเที่ยวอยากไปหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่า ยังมีธรรมชาติ ให้ได้สัมผัส ยังมีประเพณีวัฒนธรรมให้ได้ชมเชย ยังมีผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองให้ได้รับประทาน และที่สำคัญคนชนบทมีเสนห์ มีน้ำใจ อะไรดีๆ ที่ขาดหายไปจากชีวิตของพวกเขา2. สังคมไทยมีศักยภาพที่จะอยู่อย่างพอเพียงอยู่แล้ว ซึ่งศักยภาพ แปลว่า ความสามารถที่ยังไม่พัฒนาหรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ ยังมีทุนอีกจำนวนมากที่สามารถใช้พัฒนาไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง อย่างทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคม เรามีดิน น้ำ แดด ที่อุดมสมบูรณ์ จนส่งออกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพดหวาน เป็นอันดับหนึ่งของโลก และส่งข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงคนในโลก จนกล้าประกาศว่า เราคือครัวของโลก เรามีภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมและสืบทอดกันมานับพันปี เป็นมรดกที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่และวิถีของชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณค่าและมูลค่ามหาศาลแก่ลูกหลายของเราในวันนี้ เรามีคนที่มีความรู้ มีสถาบันการศึกษามากมายทุกระดับอย่างพอเพียง เรามีทุนทางสังคม คือ สิ่งที่ร้อยรัดผู้คนให้เป็นพี่น้อง เป็นชุมชน เป็นสังคมเดียวกัน ทุนซึ่งเป็นทั้งกฎ ระเบียบ จารีตประเพณี วิถีปฏิบัติต่างๆ ทำให้คนยังช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจต่อกัน เรามีทุนที่เป็นเงิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอยู่พอสมควร แม้จะเคยมีปัญหาแต่ก็คลี่คลายมาจนถึงจุดที่มีความมั่นคงได้ในปัจจุบัน3.สังคมไทยมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ แต่ไม่ใช่แข่งขันตามวิถีของทุนนิยมที่เป็นอยู่ เพราะปัจจัยที่จะไปแข่งกับคนอื่นของเรายังไม่ดีพอ (เช่นระดับการศึกษาของคนในประเทศ) และในเมื่อเราแข่งขันด้าน GDP กับคนอื่นไม่ได้ แต่สิ่งที่เราน่าจะพอแข่งขันได้คือ การพัฒนาตัว GDH  และแข่งในเรื่องของการสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติจะดีกว่า เพราะเราเองก็มีศักยภาพในด้านนี้ดีกว่าประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย สังคมไทยเรายังมีทางเลือกที่จะพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนได้ด้วยวิถีทางของเราเอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องปิดกั้นตัวเอง ไม่ได้หมายถึงการทำกินทำใช้เองทั้งหมด อย่าคิดว่าถ้าไม่เอาทุนนิยมแบบอเมริกา ก็ต้องเลือกเป็นแบบพม่าหรือภูฏาน เท่านั้น เรายังไม่ได้มีการพัฒนารูปแบบของเราขึ้นมาเองต่างหาก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจตลาดแบบพอเพียง(Sufficiency Market Economy) จะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่เหมาะสมกับคนไทยก็ได้ - เศรษฐกิจพอเพียงคือการทำให้ตนเองเข้มแข็งก่อนที่จะไปต่อสู้แข่งขันกับผู้อื่น (ผู้เขียน)4.เรามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้กับพสนิกรชาวไทย เป็นศูนย์รวมใจคนทั้งชาติ ซึ่งหากพวกเราผนึกกำลังกันแล้วปรัชญาดังกล่าวก็จะสามารถเป็นจริงได้นอกจากนี้อ.เสรี พงศ์พิช ยังกล่าวต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงอยู่แล้วถ้าหากว่า1.มีเจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริง(Political Will) ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น ตั้งแต่รัฐบาลจนถึงระดับอบต.  ตั้งแต่พรรคการเมืองน้อยใหญ่ไปจนถึงองค์กรประชาชนต่างๆ ซึ่งทำการเมืองภาคประชาชน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือนโยบายการพัฒนาจะต้องทำสิ่งต่างๆ ดังนี้1.1  ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาระแห่งชาติ เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาต ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนจน คนชนบท หรือชาวบ้านในบ้านนอกเท่านั้น1.2  มีนโยบายการพัฒนาที่ปฏิบัติได้จริง (practical) โดยไม่เน้นเป็นพวกปฏิบัตินิยมสุดโต่ง (pragmatic) ที่เน้นแต่เฉพาะผลลัพธ์(out put) โดยละเลยกระบวนการ(process)1.3  มีนโยบายที่จะกระจายอำนาจและธรรมาภิบาล ไม่สร้างระบบอุปถัมภ์ เพื่อครอบงำ ต้องส่งเสริมการช่วยเหลือ หรือพึ่งตนเองได้ของชุมชนให้เกิดขึ้น1.4  รวมใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งในเป้าประสงค์เดียวกัน (purpose) ว่าต้องการแก้ไขความทุกข์ยากของแผ่นดิน ต้องรู้จริงและชัดเจนในหลักการ เหตุผล และวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง มีการศึกษา วิจัย และทดลองปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง2 ชุมชนทั่วประเทศมีการเรียนรู้และมียุทธศาสตร์การพัฒนาของตนเอง หมายถึง การสร้างโอกาสและเงื่อนไขการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับคนในชุมชนทั่วประเทศ เพราะเรายังขาดทุนทางปัญญาอยู่อีกมากซึ่งถ้าชุมชนเรียนรู้ชุมชนจะมีความเข้มแข็งเพราะ2.1 หลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพา มาพึ่งตนเองมากขึ้น2.2 หลุดพ้นจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์เข้าสู่วัฒนธรรมข้อมูลและความรู้ ที่สามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง2.3 หลุดพ้นจากวิธีและวิธีจัดการแบบแยกส่วนมาคิดแบบเชื่อมโยงบูรณาการ2.4 ร่วมสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองเป็นหลัก แทนที่จะวิ่งหาแต่งบประมาณมาทำโครงการนอกจากนี้สิ่งที่จะต้องทำการปรับอย่างเร่งด่วนก็คือกระบวนทัศน์(Paradigm) แบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย1. พอประมาณหมายถึงพัฒนาระบบเศรษฐกิจคุณธรรม(Moral Economy)1.1 ร่วมมือมากกว่าแข่งขัน แบ่งปันมากกว่ารวยคนเดียว1.2 รอดก่อนรวย เอาตัวให้รอดก่อนคิดจะรวย และรอดอย่างยั่งยืน1.3 เลิกใช้เงินนำปัญญา ใช้ปัญญาและคุณธรรมนำหน้า ไม่หลงไปกับตัวเลข GDP มากเกินไป1.4 สมดุลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เอาแต่ด้านเศรษฐกิจ ต้องมองด้านสังคม และด้านอื่นๆ ด้วย2.  มีเหตุผลไม่คิดไปเอง แต่ต้องมาจากการศึกษาและทำวิจัยให้ได้คำตอบที่แท้จริง3. มีภูมิคุ้มกันที่ดีเลิกการพัฒนาแบบมุ่งเน้นแต่ทำโครงการ มาสู่การสร้างเศรษฐกิจภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ระดับท้องถิ่นมีความเข้มเข็ง ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของสังคมต่อไป

จากที่ อ.เสรี พงศ์พิช ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ตัวผมเองค่อนข้างที่เห็นด้วยกับวิถีทางที่ท่านได้นำเสนอมา ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรา คนไทยเรา ตกเป็นทาสของทุน หรือทาสของเงิน มากเกินไป จนสังคมไทยได้ละเลยประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของเราไป และกลับมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย มองวัฒนธรรมแบบตะวันตกว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยกว่า ซึ่งความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่อันตราย เรามีวัฒนธรรม มีประเพณีของเราเอง มีวิถีชีวิตที่เป็นแบบไทยๆ ซึ่งมันก็มีความเหมาะสมในตัวของมันเองอยู่แล้วเราถึงอยู่มาเป็นประเทศไทยได้จนถึงทุกวันนี้ ก็ได้แต่หวังว่าใครหลายๆ คนจะได้หันกลับมาทบทวนบทบาทของตนเองเสียใหม่และปรับใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับแนวทางแบบไทยๆ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้น่าอยู่กันตลอดไปนะครับ…………….

หมายเลขบันทึก: 78134เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท